สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
State Enterprise Policy Office | |
![]() ตราสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545 |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | 310 อาคารเอสเอ็มอีแบงก์ ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 |
งบประมาณประจำปี | 44.601 ล้านบาท (พ.ศ. 2566) [1] |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
เว็บไซต์ | www.sepo.go.th |
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการบริหาร พัฒนา เพิ่มมูลค่ารัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ของรัฐ ตลอดจนการดำเนินงานเกี่ยวกับการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน และหน้าที่อื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
ประวัติ[แก้]
คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กรมบัญชีกลางยกฐานะแผนกรัฐวิสาหกิจในกองรายได้เป็นกองรัฐวิสาหกิจตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2520 เพื่อรับผิดชอบดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเน้นการควบคุมและกำหนดนโยบายด้านการเงินการบัญชี และการบริหารงานบุคคลของรัฐวิสาหกิจ
ต่อมากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้ปรับเปลี่ยนภารกิจจากการควบคุมและปฏิบัติการ มาเป็นการกำกับดูแลให้คำปรึกษา แนะนำส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนกระจายอำนาจด้านการเงินการคลังไปให้ส่วนราชการต่าง ๆ และส่วนภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ ได้รวมหน่วยงานที่มีภารกิจความรับผิดชอบในลักษณะใกล้เคียงกันเป็นส่วนราชการเดียวกันโดยมีฐานะสูงกว่ากอง จึงปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการภายในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเสียใหม่ เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพงานดังกล่าว และเนื่องจากการแบ่งส่วนราชการภายในกรมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามนัยมาตรา 8 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัตระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 "กองรัฐวิสาหกิจ" จึงเปลี่ยนฐานะเป็น "สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ" ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2538
ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ภาครัฐได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่รัฐวิสาหกิจ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สินของรัฐ ดังนั้นสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ (สรส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลการดำเนินนโยบายการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สำนักรัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ของรัฐมีความสามารถมากขึ้นในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล จึงได้ยกฐานะ “สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ” เป็น “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 [2]
ภารกิจหลัก[แก้]
ภารกิจการพัฒนาและการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ สคร. มีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลและสนับสนุนรัฐวิสาหกิจให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐ ในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการที่จะบริหารรัฐวิสาหกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมต่าง ๆ เช่น กระแสโลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รัฐวิสาหกิจยุคใหม่ไม่สามารถใช้วิธีบริหารจัดการแบบเดิมได้อีกตอไป จึงเป็นหน้าที่ของ สคร. ในการนำเครื่องมือแนวปฏิบัติต่าง ๆ มาใช้สร้าง แรงจูงใจการพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยเครื่องมือหรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่สำคัญ มีดังนี้
1) คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
2) แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ (แผนชาติด้านรัฐวิสาหกิจ ราย 5 ปี)
3) การกำกับดูแลกิจการที่ดี
4) การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ
5) การกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ
6) ระบบค่าตอบแทน ระบบแรงจูงใจ
7) การชดเชยรายได้รัฐวิสาหกิจ
8) การกำกับและการพัฒนารัฐวิสาหกิจเชิงรุก
9) การเปิดเผยข้อมูล การบริหารจัดการ ผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
10) การแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ
11) การจัดทำแผนปฏิรูป/แผนพลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา
ปัจจุบัน สคร. ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสหกิจ พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ จำนวน 52 แห่ง โดย ณ ปี 2562 รัฐวิสาหกิจมีฐานะการเงินและผลประกอบการ ได้แก่ สินทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาท รายได้รวมกว่า 4.6 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิกว่า 3.2 แสนล้านบาท รวมทั้ง สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 รวมจำนวน 188,861 ล้านบาท การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย ดังนั้น การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ดีย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพย่อมก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างได้เช่นกัน
รายชื่อรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลและการบริหารของ สคร. ตามนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562
1) สาขาเกษตร จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย
องค์การสะพานปลา |
การยางแห่งประเทศไทย |
องค์การคลังสินค้า |
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย |
องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร |
2) สาขาขนส่ง จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย
3) สาขาพลังงาน จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค |
การไฟฟ้านครหลวง |
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) |
4) สาขาทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ |
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ |
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย |
5) สาขาสังคมและเทคโนโลยี จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ |
การกีฬาแห่งประเทศไทย |
องค์การเภสัชกรรม |
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย |
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย |
6) สาขาสถาบันการเงิน จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย |
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม |
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร |
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย |
สำนักงานธนานุเคราะห์ |
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ |
ธนาคารออมสิน |
บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด |
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย |
7) สาขาสื่อสาร จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) |
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด |
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) |
8) สาขาสาธารณูปการ จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย
การประปาส่วนภูมิภาค |
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
การประปานครหลวง |
องค์การจัดการน้ำเสีย |
บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด |
การเคหะแห่งชาติ |
9) สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย
บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด |
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล |
การยาสูบแห่งประเทศไทย |
โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต |
บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด |
องค์การสุรา กรมสรรพสามิต |
โรงพิมพ์ตำรวจ |
องค์การตลาด |
ภารกิจบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ ปัจจุบันภารกิจงานในการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐของ สคร. ประกอบด้วย
1) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐในรัฐวิสาหกิจและกิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด
2) ดำเนินการเกี่ยวกับการวิเคราะห์โครงการร่วมทุนของรัฐ รวมทั้งการจัดหาเงินเพื่อร่วมทุนในกิจการที่รัฐถือหุ้น ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
3) ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การแต่งตั้ง และการกำกับดูแลกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังและ กรรมการอื่นในรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง ในกิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
4) ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ
ปัจจุบัน สคร. ทำหน้าที่ในการบริหารหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังถือครองต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 97 หลักทรัพย์ มูลค่ารวม ประมาณ 352,518 ล้านบาท นอกจากนี้ สคร. ยังทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกองทุนที่สำคัญอีกหลายกองทุน เช่น
- กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการหลักทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเท่ากับ 320,072 ล้านบาท
- กองทุน Thailand Future Fund เป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและลดภาระทางการคลัง เพื่อพัฒนาตลาดทุนของประเทศและเป็นช่องทางให้นักลงทุนและผู้มีเงินออมสามารถลงทุนในทรัพย์สินของภาครัฐที่มีคุณภาพ โดยปัจจุบันกองทุน Thailand Future Fund มีมูลค่าตามตลาดประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท
ภารกิจการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ คือ การอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิแก่เอกชนดำเนินกิจการของรัฐ ทั้งในกิจการเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ซึ่งกิจการของรัฐดังกล่าวต้องเป็นกิจการที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ต้องทำตาม กฎหมาย หรือกิจการดังกล่าวจะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หลักการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
1) ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการดำเนินกิจการและการใช้ทรัพยากรของรัฐ
2) การยึดถือวินัยการเงินการคลัง
3) ประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจจากการดำเนินโครงการ
4) ความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง
5) การจัดสรรความเสี่ยงที่เหมาะสมของโครงการระหว่างรัฐกับเอกชน
6) สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ
7) การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ระหว่างเอกชนที่ประสงค์จะร่วมลงทุน
หน่วยงานในสังกัด[แก้]
|
|
รายนามผู้อำนวยการ[แก้]
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ได้แก่
- นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ (21 ตุลาคม 2545 ถึง 30 กันยายน 2548)
- นายวิชัย จึงรักเกียรติ (1 ตุลาคม 2548 ถึง 28 ธันวาคม 2549)
- ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม (12 มีนาคม 2550 ถึง 30 กันยายน 2552)
- นางสาวสุภา ปิยะจิตติ (1 ตุลาคม 2552 ถึง 30 กันยายน 2553)
- ดร.สมชัย สัจจพงษ์ (1 ตุลาคม 2553 ถึง 30 กันยายน 2554)
- นายประสงค์ พูนธเนศ (1 ตุลาคม 2554 ถึง 30 มิถุนายน 2557)
- นายกุลิศ สมบัติศิริ (1 กรกฎาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558)
- ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (1 ตุลาคม 2558 ถึง 9 พฤษภาคม 2561)
- นายประภาศ คงเอียด (10 พฤษภาคม 2561 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2564
- นางปานทิพย์ ศรีพิมล (9 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงปัจจุบัน)
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, [1] เลม 139 ตอนที่ 57 ก ราชกิจจานุเบกษา 19 กันยายน 2565
- ↑ https://www.sepo.go.th/content/1
- ↑ https://www.sepo.go.th/content/162
- ↑ https://www.sepo.go.th/content/220
- ↑ https://ppp.sepo.go.th/