หุ้นกู้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หุ้นกู้ (อังกฤษ: corporate bond หรือ debenture) คือตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ที่ออกและเสนอขายโดยบริษัทเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อลงทุนขยายกิจการ, เพื่อซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์, หรือเพื่อนำเงินไปชำระเจ้าหนี้รายเดิม เป็นต้น โดยบริษัทจะตอบแทนผู้ถือหุ้นกู้โดยการจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ หุ้นกู้จัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง

กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุของหุ้นกู้ แต่ในทางปฏิบัติผู้ออกหุ้นกู้มักจะเลือกที่จะเสนอขายหุ้นกู้อายุระหว่าง 3 ถึง 7 ปี บ้างอาจเสนอขายหุ้นกู้แบบไม่กำหนดอายุที่เรียกว่าหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ และเนื่องจากหุ้นกู้มีความเสี่ยงจากการที่ผู้ออกหุ้นกู้จะผิดนัดในการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้น ดังนั้น หุ้นกู้จึงต้องให้อัตราผลตอบแทนที่มากกว่าพันธบัตรรัฐบาล แต่การลงทุนในหุ้นกู้ก็ยังเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นสามัญ

การแบ่งประเภทของหุ้นกู้[แก้]

แบ่งตามสิทธิเรียกร้อง (Priority Claim)[แก้]

  • หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Debenture) เมื่อผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องนั้นจะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย
  • หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debenture) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้ จะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์ทดแทนและสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือหุ้นสามัญ

แบ่งตามการมีประกัน[แก้]

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แบ่งการมีประกันออกเป็น 2 แบบ (1) การมีประกันโดยบุคคล หรือ การค้ำประกัน และ (2) การมีทรัพย์เป็นประกัน หรือการค้ำประกันด้วยทรัพย์ ดังนั้น เมื่อแบ่งหุ้นกู้ตามการมีประกันจะแบ่งได้ดังนี้

  • หุ้นกู้ชนิดมีประกัน (Secured Debenture) หุ้นกู้ที่ผู้ออกหุ้นกู้นำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกและเสนอขายหุ้นกู้นั้น และผู้ถือหุ้นกู้จะมีบุริมสิทธิเต็มที่ในทรัพย์ที่วางเป็นประกันเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ หรือในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้จัดให้มีการค้ำประกันโดยบุคคล (บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล) เช่น การให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเป็นผู้ค้ำประกันการออกและเสนอขายหุ้นกู้
  • หุ้นกุ้ชนิดไม่มีประกัน (Unsecured Debenture) หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใดหรือบุคคลใดมาวางไว้เป็นประกันการชำระหนี้ และหากผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วน

แบ่งตามวิธีการจ่ายดอกเบี้ย[แก้]

  • หุ้นกู้ชนิดจ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Debenture)
  • หุ้นกู้ชนิดจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Debenture)
  • หุ้นกู้ชนิดไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย (Zero Coupon Debenture)

แบ่งตามวิธีการจ่ายคืนเงินต้น[แก้]

  • หุ้นกู้ชนิดทยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortization Payment)
  • หุ้นกู้ชนิดชำระคืนเงินต้นเมื่อครบอายุไถ่ถอน (Bullet Payment)

ประเภทนักลงทุนหุ้นกู้[แก้]

  • PP (Private Placement) คือ การขายเป็นวงแคบจำกัดเฉพาะแค่ผู้ซื้อที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การเป็นนักลงทุนรายใหญ่ หรือว่ามีคุณสมบัติตามที่ กลต.(สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) กำหนด
  • PO (Public Offering) คือ การขายให้บุคคลทั่วไปหรือนักลงทุนรายย่อย
  • RO (Right Offering) คือ การจัดสรรให้ตามสัดส่วนของผู้ที่ถือหุ้น
  • HNW (High Net Worth) คือ นักลงทุนรายใหญ่ โดยมีได้ทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีรายได้ตั้งแต่ปีละ 4 ล้านบาทขึ้นไป สินทรัพย์สุทธิไม่รวมที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ 50 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 20 ล้านบาทขึ้นไปเมื่อรวมเงินฝาก ถ้าเป็นนิติบุคคลต้องมีการถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาท ซื้อหุ้นกู้ตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป
  • UHNW (Ultra High Net Worth) คือ นักลงทุนรายใหญ่พิเศษมีได้ทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล กลุ่มนี้จะมีสินทรัพย์มากกว่าแบบ HNW ประมาณ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว
  • II (Institute Investor) คือ การขายให้กับนักลงทุนสถาบันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการเงินต่างๆ กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้ และทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นไม่ว่าจะเป็น PO (Public Offering), PP (Private Placement), RO (Right Offering), HNW (High Net Worth), UHNW (Ultra High Net Worth) และ II (Institute Investor แต่ที่นักลงทุนจะซื้อได้แบบทั่วไปคือหุ้นกู้ที่เป็นแบบ PO (Public Offering)

อ้างอิง[แก้]