หวยในประเทศไทย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หวย เป็นการพนันโดยผู้เสี่ยงทายต้องเลือกหรือซื้อหมายเลขหวยที่ต้องการ แล้วรอการออกรางวัล ตามจำนวนที่ตกลง ในประเทศไทยมีหวยทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ประวัติ

หวยเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2375 รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงขาดแคลน ข้าวยากหมากแพง คนไม่ยอมนำเงินมาใช้ เอาเงินไปฝังไว้ในดิน ต่อมาได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการตั้งหวย จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีไชยบาล (จีนหง) (ภายหลังเลื่อนยศเป็นพระยาศรีไชยบาล) ตั้งโรงหวยขึ้นมาตั้งแต่บัดนั้น

หวยในระยะแรกจะเล่นอยู่ในกลุ่มชาวจีน เรียกว่า "ฮวยหวย" (花會) แปลว่า ชุมนุมดอกไม้ เพราะเริ่มแรกเขียนตัวหวยเป็นรูปดอกไม้ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อคนจีน โดยทำเป็นแผ่นป้ายเล็ก ๆ จำนวน 34 ป้าย แล้วเขียนชื่อของผู้มีชื่อเสียงในสมัยโบราณเอาไว้บนป้าย ให้แทงว่าจะออกเป็นชื่อใคร ถ้าทายถูกเจ้ามือจ่าย 30 ต่อหนึ่ง ต่อมาเมื่อการพนันแพร่ระบาดสู่สังคมไทย จึงได้มีการออกหวยที่เป็นอักษรไทย (ซึ่งใช้ตัวอักษร 36 ตัว) จึงมีชื่อเรียกว่า "หวย ก ข" โดยโรงหวยเป็นของรัฐที่มีเอกชน เป็นผู้ได้รับสัมปทานดำเนินการ ทั้งนี้นายอากรหวย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนบาล" หรือ "ขุนบาน" โดยรายได้จากอากรหวยมีเป็นจำนวนมาก และได้กลายเป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐ

ความต้องการเล่นหวยมีมากกว่าที่รัฐจะจัดให้เล่นได้ จึงได้เกิดขุนบานเถื่อนขึ้นทั่วประเทศ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริ ที่จะยกเลิกการเล่นพนัน แต่เนื่องจากอากรหวยเป็นรายได้ที่สำคัญ จึงได้ทรงยกเลิกอากรบ่อนเบี้ยก่อน และค่อยมีการยกเลิกอากรหวยในสมัยรัชกาลที่ 6

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกล็อตเตอรีขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อหารายได้บำรุงการกุศล และได้มีการออกล็อตเตอรีในวาระพิเศษอีกหลายครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบำรุงสาธารณกุศล เช่นปรากฏข้อความบนหน้าหนังสือพิมพ์ บางกอกไตมส์ ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 ได้ลงประกาศผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลที่ 1 มีมูลค่ารางวัล 145,000 บาท[1]

จนกระทั่งรัฐบาลภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 ได้ให้มีการออกล็อตเตอรี่เป็นประจำ และในปี พ.ศ. 2482 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้มีการออกล็อตเตอรี่เป็นประจำ การเล่นหวยจึงได้เปลี่ยนมาใช้เลขท้าย ของล็อตเตอรี่ เป็นการออกหวยแทนหวย ก ข แบบเดิม

สลากกินแบ่งรัฐบาล

สลากกินแบ่งรัฐบาล คือล็อตเตอรีชนิดหนึ่งในประเทศไทย ผู้ที่ต้องการจะขายต้องขออนุญาตจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อน ในปัจจุบันออกทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ยกเว้น

หมายเหตุ : ในวันที่ 1 มิถุนายน 2558 เลื่อนการออกรางวัลเป็นวันที่ 2 มิถุนายน เนื่องจากเป็นวันวิสาขบูชา วันที่ 16 สิงหาคม 2558 เลื่อนการออกรางวัลเป็นเวลา 11.30 - 13.00 น. วันที่ 16 ธันวาคม 2558 เลื่อนการออกรางวัลเป็นวันที่ 17 ธันวาคม เนื่องจากมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 1 มีนาคม 2561 เลื่อนการออกรางวัลเป็นวันที่ 2 มีนาคม เนื่องจากเป็นวันมาฆบูชา วันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เลื่อนการออกรางวัลเป็นวันที่ 15 กรกฎาคม เนื่องจากเป็นวันอาสาฬหบูชา และในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เลื่อนการออกรางวัลเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นวันมาฆบูชา

ปัจจุบันสำนักงานฯ จัดพิมพ์และจำหน่ายสลากงวดละไม่ต่ำกว่า 50 ชุด โดยชุดที่ 01–50 เป็นสลากธรรมดา ชุดที่ 51–100 เป็นสลากการกุศล มีตัวเลข 000000–999999 เหมือนกันทุกชุด (สลากก่อนปี พ.ศ. 2538 จะเป็นแบบตัวเลข 7 หลัก ตั้งแต่ 0000000–9999999) โดยสลากใบจะมีอยู่ 2 ฉบับคู่กัน นั่นคือหนึ่งใบจะมีหมายเลขเดียวกันสองชุด ทำให้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลเป็นสองเท่าจากที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากสลากมีเพียงหมายเลขชุดเดียว อันเนื่องจากการแบ่งขายหรือการพิมพ์ที่ผิดพลาด หากถูกรางวัลก็จะได้รับเงินรางวัลไปชุดเดียว หรือถ้าถูกรางวัลมากกว่าหนึ่งประเภทในสลากใบเดียวกัน ก็รับเงินรางวัลไปตามจำนวนที่ถูก

ตั้งแต่งวด 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ยกเลิกรางวัลที่ 1 พิเศษ (รางวัลแจ็กพอต) แต่เพิ่มเงินรางวัลที่ 1 จาก 2 ล้านบาท เป็น 3 ล้านบาท [2]

ตั้งแต่งวด 1 กันยายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป รางวัลเลขท้าย 3 ตัว 4 รางวัล เปลี่ยนเป็นรางวัลเลขหน้า 3 ตัว 2 รางวัล และรางวัลเลขท้าย 3 ตัว 2 รางวัล [2]

ตั้งแต่งวด 1 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบสลากจาก 1 ใบ มี 2 ฉบับคู่ เป็นฉบับละ 1 ใบ โดยยังจำหน่ายในราคาเดียวกับแบบ 1 ใบมี 2 ฉบับคู่

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดทำโครงการ สลากดิจิทัล หรือ หวย 80 บาท เริ่มจำหน่าย ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ผ่านทางแอปพลิเคชันเป๋าตัง[3]

รางวัล

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนดรางวัลที่ถูกรางวัล[4] ได้แก่

  • รางวัลที่ 1 มีจำนวน 1 รางวัล
  • รางวัลที่ 2 มีจำนวน 5 รางวัล
  • รางวัลที่ 3 มีจำนวน 10 รางวัล
  • รางวัลที่ 4 มีจำนวน 50 รางวัล
  • รางวัลที่ 5 มีจำนวน 100 รางวัล
  • รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 มีจำนวน 2 รางวัล
  • รางวัลเลขหน้า 3 ตัว มีจำนวน 2,000 รางวัล
  • รางวัลเลขท้าย 3 ตัว มีจำนวน 2,000 รางวัล
  • รางวัลเลขท้าย 2 ตัว มีจำนวน 10,000 รางวัล

สลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก

สลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6: L6) หรือเรียกกันว่า หวย L6 เริ่มขายมาตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2566 (ในงวด 1 ตุลาคม) แบ่งเป็นสลากใบ 80 ล้านฉบับ และสลากดิจิทัล 21 ล้านฉบับ โดยสลากใบมีลักษณะเหมือนกับสลากที่ขายอยู่ในปัจจุบันทุกประการ รวมถึงพิมพ์ข้อความ L6 แบบใบ ลงบนสลากด้วย ส่วนสลากดิจิทัลจะไม่มีการจัดพิมพ์ แต่จะมีข้อมูลที่อยู่ในระบบดิจิทัล มีการพิมพ์ข้อความ L6 แบบดิจิทัล บนสลาก และทำการซื้อขายผ่านแอปเป๋าตัง[5]

สลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว

สลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า หวยบนดิน เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ริเริ่ม มีจุดประสงค์เพื่อนำ หวยใต้ดิน ซึ่งผิดกฎหมาย มาผ่านกระบวนการทางกฎหมายและปรับปรุงให้เป็นของรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นการกวาดล้างเจ้ามือหวยใต้ดิน และนำรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ โครงการสำคัญที่นำรายได้จากหวยบนดินไปใช้ คือ โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOS)

ประเภทของสลาก แบ่งเป็น

รางวัลของสลากแบ่งออกเป็น 3 ตัวตรง, 3 ตัวโต๊ด, 2 ตัวบน, 2 ตัวล่าง ผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขใดก็ได้กรอกลงในช่อง อีกทั้งยังมีการกรอกชื่อผู้ขาย ส่วนการออกรางวัลนั้นอ้างอิงหมายเลขรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกรางวัลตั้งแต่งวด 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546 จนถึงงวด 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งสิ้น 80 งวด และสามารถทำการตรวจหวยได้ที่นี้ ที่สำคัญเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่ง คิดเป็นจำนวนเงิน 1.34 แสนล้านบาท เป็นกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว 2.95 หมื่นล้านบาท [6]

หลังจากเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2549 การออกหวยบนดินต้องสิ้นสุดลง ด้วยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สั่งยกเลิกนโยบายหวยบนดิน และเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาว่า การออกหวยบนดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 และมาตรา 13 ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 23 และมาตรา 27 แก่คณะรัฐมนตรีชุด พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะกรรมการสลากฯ ในสมัยนั้น รวม 47 คน [6]

สลากออนไลน์

หวยออนไลน์ยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีผลตอบแทนสูงกว่าหวยรัฐเพื่อสร้างแรงจูงใจ ยังมีทั้งหวยไทย มาเลย์ ลาว ไปจนถึงจับยี่กีที่นิยมเล่นกันตามชุมชนในอดีต บางชนิดออกวันละหลายรอบ[7]

หวยนักษัตร

หวยนักษัตร สำนักงานสลากฯ เป็นผู้จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ โดยกำหนดหลักที่ใส่ภาพ 4 หลัก ผู้เล่นเลือกรูปภาพนักษัตรใดก็ได้จากทั้งหมด 12 ภาพ ไปใส่ตามหลักที่มีอยู่ 4 หลัก ให้ครบ 4 รูปภาพ โดยสามารถเลือกรูปซ้ำได้ ผู้ถูกรางวัล คือ ถูกรางวัล 4 ภาพตรง กับถูกรางวัล 4 ภาพสลับหลัก (โต๊ด) โดยโอกาสถูกแบบตรงนั้นอยู่ที่ 1 ต่อ 20,736 รูปแบบ ส่วนถูกแบบโต๊ดอยู่ที่ 42 ต่อ 20,736 รูปแบบ การจ่ายเงินรางวัลนั้น นำมาจาก 60% ของยอดขายสลากในแต่ละงวด ส่วนที่เหลืออีก 40% นำเป็นรายได้ส่งกระทรวงการคลัง[8]

หวยใต้ดิน

หวยใต้ดิน เป็นสลากที่ตั้งขึ้นกันเองภายในชุมชน ผู้เล่นจะเขียนตัวเลขที่ตนเองต้องการเสี่ยงโชค 2-3 หลักลงในรายการเรียกว่า "โพย" ระบุว่าต้องการซื้อหมายเลขนี้จำนวนเท่าใด ในราคาเท่าไร (จำนวน×ราคา) และมีคนเดินโพยคอยรวบรวมโพยเหล่านั้นไปส่งที่เจ้ามือหวยใต้ดินในชุมชน หรือส่งต่อกันไปเป็นทอดในกลุ่มเจ้ามือ การออกรางวัลจะใช้ผลจากเลขรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากออมสินมาเปรียบเทียบ เงินรางวัลไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับอัตราของเจ้ามือ หรือไม่ได้รางวัลเลยถ้าเจ้ามือกินรวบ หวยใต้ดินเป็นสิ่งผิดกฎหมายซึ่งไม่ได้ขออนุญาตการเสี่ยงโชคจากเจ้าหน้าที่ หวยใต้ดินมีศัพท์เฉพาะที่ใช้ในวงการดังนี้

  • 3 ตัวบน - เลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1
  • 2 ตัวบน - เลขท้าย 2 ตัวของรางวัลที่ 1
  • 3 ตัวล่าง - รางวัลเลขท้าย 3 ตัวที่ออก 4 รางวัลตามปกติ
  • 2 ตัวล่าง - รางวัลเลขท้าย 2 ตัวที่ออก 1 รางวัลตามปกติ
  • วิ่งบน - เลขเหมือน 3 ตัวบนอย่างน้อยหนึ่งตัว
  • วิ่งล่าง - เลขเหมือน 2 ตัวล่างอย่างน้อยหนึ่งตัว
  • เต็ง, ตรง - เหมือนกับเลขที่ออกตรงตามหลัก
  • โต๊ด - เหมือนกับเลขที่ออกแต่สลับหลัก

พฤติกรรมการเล่นหวย

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำเงินส่งรายได้แผ่นดินร้อยละ 23 จากรายได้การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล[9] จากข้อมูลปี 2560 สำนักงานสลากฯ นำส่งรายได้แผ่นดิน 30,947.72 ล้านบาท[10] ข้อมูลในปีเดียวกันนี้คนไทยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล 21.434 ล้านคน เฉลี่ย 9 งวดต่อปี[11]

จากข้อมูลปี 2544 มีผู้เล่นหวยใต้ดินทั่วประเทศสูงถึง 23.7 ล้านคน วงเงินการค้าหวยใต้ดิน มีมูลค่าระหว่าง 92,000 ถึง 542,000 ล้านบาท กำไรบางส่วนของการขายหวยใต้ดิน เป็นส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้มีอิทธิพลมากกว่าปีละ 11,000 ล้านบาท[12]

จากข้อมูลปี 2561 พบว่าร้อยละ 25 ของชาวไทยซื้อลอตเตอรี่และหวยใต้ดิน รวมเป็นเงินกว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี และในปี 2552 ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ระบุว่ารายจ่ายในการซื้อลอตเตอรี่และหวยใต้ดิน ของคนไทยอยู่ที่ 340 บาท/เดือน หรือคิดเป็น 2.1% ต่อรายได้ทั้งหมด เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่เศรษฐกิจไทยฟื้น รายจ่ายในด้านนี้อยู่ที่ 452 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 2.1% ต่อรายได้ทั้งหมด และจากข้อมูลปี 2560 นี้ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีการซื้อลอตเตอรี่และหวยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 680 บาท คิดเป็น 1.2% ของรายได้ ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซื้อเฉลี่ย 350 บาท คิดเป็น 2.2% ของรายได้ สำหรับกลุ่มคนวัยสร้างครอบครัว (อายุ 35-55 ปี) ซื้อเฉลี่ยเดือนละ 500 บาท และวัยเกษียณที่เฉลี่ยต่อเดือนราว 400 บาท จากสถิตินี้ยังพบว่าร้อยละ 10 ของนักเรียนและนักศึกษาซื้อหวยต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 187 บาท[13]

อ้างอิง

  1. "หวยเบอร์ "วันของเรา"". สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  2. 2.0 2.1 เพิ่มรางวัลที่ 1เริ่มงวดนี้ รวย3ล้าน![ลิงก์เสีย], ข่าวสด
  3. "วิธีซื้อ "หวย" ผ่านแอปฯ "เป๋าตัง" 80 บาท ไม่โก่งราคา เริ่ม 2 มิ.ย.65". กรุงเทพธุรกิจ.
  4. "รางวัลที่ 1 ไม่มีแค่รางวัลเดียว! สงสัยไหม? ทำไมคนถูกหวยเยอะจัง?". อมรินทร์ทีวี.
  5. "ราชกิจจาฯ ออกสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก หวย L6 มีผลงวด 1 ต.ค.ลุ้น 180 ล้าน". ไทยรัฐ.
  6. 6.0 6.1 รัฐบาลบิ๊กตู่คืนชีพ"หวยบนดิน" ใช้แผนกิน2ต่อก่อน"เข้าฮอส"
  7. "รายงานพิเศษ : สนง.สลากฯ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ข่มหวยออนไลน์". ช่อง 7. 15 กรกฎาคม 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-14. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  8. "สลาก 12 นักษัตร...สู้ๆ". ไทยรัฐ. 13 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  9. "การจัดสรร รายได้นำส่งรัฐ". สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  10. "เปิดรายได้กองสลาก จากลอตเตอรี่ล้วนๆ ถูกกระจุกเสียกระจาย?". 2 สิงหาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  11. พลวุฒิ สงสกุล (15 สิงหาคม 2561). "กองสลากฯ บ่อเงินรัฐบาล 10 ปีคนไทยซื้อลอตเตอรี่ 6.7 แสนล้านบาท ถูกรางวัล 4.3 แสนล้านบาท". สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  12. "หวยและพฤติกรรมเล่นหวยคนไทย". กรมสุขภาพจิต. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  13. "คนไทยติดงอมแงม หวยรัฐ-หวยใต้ดิน". ไทยรัฐ. 21 ธันวาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น