ข้ามไปเนื้อหา

มวยไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มวยไทย
มุ่งเน้นการชก, การโจมตี
ประเทศต้นกำเนิดไทย
ผู้มีชื่อเสียงรายชื่อนักมวยไทย
ต้นตำรับมวยโบราณ
มวยไทย
เล่นครั้งแรกประเทศไทย กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18
ลักษณะเฉพาะ
การปะทะทั้งตัว
แข่งรวมชายหญิงไม่
หมวดหมู่ศิลปะการต่อสู้
จัดแข่งขัน
ประเทศ ภูมิภาคทั่วโลก
โอลิมปิกไม่ แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลยอมรับ
เวิลด์เกมส์2017

มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้[1][2][3][4] ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและใจ สำหรับการต่อสู้ที่ใช้ร่างกายเป็นอาวุธ โดยเป็นที่รู้จักว่าเป็น "นวอาวุธ" ซึ่งประกอบด้วยการโจมตีจากร่างกายทั้ง หมัด, ศอก, เข่า และเท้า หากมีการเตรียมพร้อมด้านร่างกายดี จะก่อให้เกิดอาวุธที่มีอานุภาพ[5] มวยไทยได้เป็นที่แพร่หลายในระดับนานาชาติในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อเหล่านักมวยไทยสามารถเป็นฝ่ายชนะนักต่อสู้ที่มีชื่อเสียงในแขนงอื่น[6] ซึ่งการแข่งขันมวยไทยในระดับอาชีพ ได้รับการดูแลโดยสภามวยไทยโลก[7][8]

ปัจจุบัน ทางสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) มีแผนที่จะผลักดันกีฬามวยไทยเข้าสู่กีฬาโอลิมปิก[9][10] และใน พ.ศ. 2557 ทางองค์การสหประชาชาติได้ให้การยอมรับมวยไทยเป็นกีฬาแห่งประชาคมโลก โดยได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสภามวยไทยโลก และสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ[11][12]

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

คำ มวยไทย (อังกฤษ: Muay Thai) เป็นคำอาการนามตามหลักภาษาไทย คำว่า "มวย" เป็นคำยืมมีรากมาจากคำสันสกฤตว่า มวฺยติ[13] (สันสกฤต: मव्यति, อักษรโรมัน: mavyati) แปลว่า ดึงเข้าด้วยกัน ทำให้ตาบอด คำว่า "ไทย" มาจากคำว่า ไท[13] (Tai) แปลว่า คนที่พูดภาษาตระกูลขร้า-ไท หรือความเป็นอิสระ แต่เดิมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเรียกมวยไทยว่า การรำหมัดรำมวย[14] แล้วทรงเปลี่ยนให้เรียกว่า มวยไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา คำ "มวยไทย" ที่ชาวบ้านเรียกทั่วไป เช่น เล่นตีมวย เล่นต่อยมวย เป็นต้น

คำ มวย ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการเขียนจดบันทึกพบในใบลานต้นฉบับภาษาไทยถิ่นเหนือ (ล้านนา) ชื่อ มังรายศาสตร์ เป็นกฎหมายมังรายตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1839 รัชสมัยพญามังราย[15]: 30 

คำ ทนายเลือก ใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยา หมายถึง นักมวยสำหรับป้องกันพระเจ้าแผ่นดิน, ชื่อกรม ๆ หนึ่งสำหรับกำกับนักมวย[16] เป็นหน่วยงานราชการมีชื่อว่า กรมทนายเลือก (หรือ กรมนักมวย) พบในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง พ.ศ. 1998 รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปัจจุบันเลิกใช้

คำ ปล้ำพนันเมือง[17][18] หมายถึง มวย[19] พบใน พระราชพงศาวดารเหนือ สมัยอู่ทอง (เมืองศรีอยุทธยา หรือกรุงอโยธยาก่อนสถาปนาอาณาจักรอยุธยา) รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. 1748–1796) และรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุวรรณราชา (พ.ศ. 1823–1844)

พระราชดำรัส

[แก้]

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันชกมวยโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนนักมวยไทยในมูลนิธิอานันทมหิดลว่า:-

"วงการกีฬามวยไทยก็ก้าวหน้ามาก มีข้อที่สำคัญคือเมืองไทยการชกมวยนับว่าเป็นกีฬาที่เก่าแก่ และเป็นที่นิยมเป็นที่น่าสนใจของประชาชนมาก รู้สึกว่าทุกคนสนับสนุนและอยากจะเห็นการกีฬามวยก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยการจัดงานให้รัดกุมและให้ถูกต้องหลักวิชาให้มากขึ้น ก็จะมีผลดีต่อกีฬามวยอย่างแน่นอน หวังว่าทุกคนที่สนใจในกีฬาก็จะสนใจพัฒนาให้กีฬามวยนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า “ประสิทธิภาพ” สูงยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้เป็นกีฬาดีเด่นของประเทศ มวยในเมืองไทยนี้ก็เป็นที่น่าสนใจหลายอย่างเพราะว่ามีมวยแบบมวยไทยของเราเอง ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพสูงน่าสนใจสำาหรับชาวต่างประเทศ กีฬามวยนี้กับความมั่นคงและความก้าวหน้าของประเทศชาติก็สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะว่ามวยนี้ก็เป็นทางป้องกันตัว เป็นกีฬาที่มาจากการป้องกันตัวของนักรบไทยมาแต่โบราณ มาสมัยนี้เราจะต้องป้องกันตัวด้วยการใช้การต่อสู้ส่วนหนึ่ง และด้วยวิธีที่จะพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่ง นักมวยทราบดีว่าถ้าต่อสู้เฉพาะด้วยกำาลังก็คงแพ้แน่ ต้องมีวิชาการและต้องมีสติที่มั่นคง ที่วิชาการที่จะบุก และวิชาการที่จะหลบ ฉะนั้นการที่มีการต่อสู้มวยเพื่อป้องกันตัว"[15]: 3 

— พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน.

ประวัติศาสตร์มวยไทย

[แก้]

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทยเริ่มมีและใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา โดยมีการใช้นวมขึ้นเพื่อป้องกันการอันตรายที่เกิดขึ้น มวยไทยยังคงได้ชื่อว่า ศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า (บางตำราอาจเป็น นวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือ ทศอาวุธ ซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตี)

มวยไทยสืบทอดมาจากมวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้น ๆ โดยมีสายสำคัญหลัก เช่น มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) มวยโคราช (ภาคอีสาน) มวยไชยา (ภาคใต้) มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) มีคำกล่าวไว้ว่า "หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา"

  • ปัจจุบัน มวยไทย แบ่งเป็น 7 สาย
    • (1) มวยท่าเสา (ภาคเหนือ)
    • (2) มวยไชยา (ภาคใต้)
    • (3) มวยโคราช (ภาคอีสาน)
    • (4) มวยลพบุรี (ภาคกลาง)
    • (5) มวยพระนคร (อยุธยา) (ภาคกลาง)
    • (6) มวยกรมพลศึกษา
    • (7) มวยไทยเลิศฤทธิ์ หรือ มวยไทยแบบทหาร

ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน (สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วน ค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน-ประลอง) โดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่น ๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัตริย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย) และจะมีการแข่งขันต่อสู้-ประลองกันในงานวัด และงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่าง ๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล-เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค

รูปปั้นจำลองของนายขนมต้ม นักมวยคาดเชือกชาวกรุงศรีอยุธยา ในงานรำลึกนายขนมต้ม ในวันที่ 17 มีนาคมของทุกปี

บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อนายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย ในสมัยอยุธยา ตอนปลายได้มีการจัดตั้งกรมทนายเลือกและกรมตำรวจหลวงขึ้นมีหน้าที่ในการให้การคุ้มครองกษัตริย์และราชวงศ์ ได้มีการฝึกหัดวิชาการต่อสู้ทั้งมวยไทยและมวยปล้ำตามแบบอย่างแขกเปอร์เซีย (อิหร่าน) จึงมีครูมวยไทยและนักมวยที่มีฝีมือเข้ารับราชการจำนวนมากและได้แสดงฝีมือในการต่อสู้ในราชสำนักและหน้าพระที่นั่งในงานเทศกาลต่าง ๆ สืบต่อกันมาเป็นประจำ และเป็นที่น่าสังเกตว่า กองทัพกู้ชาติของพระเจ้าตาก ล้วนประกอบด้วยนักมวยและครูมวยที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นจำนวนมาก ถึงกับได้มีการจัดตั้งเป็นหน่วยรบพิเศษ 3 กอง คือ กองทนายเลือก กองพระอาจารย์ และกองแก้วจินดา ซึ่งได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญที่ทำให้คนไทยสิ้นความหวาดกลัวต่อทัพพม่า ในการรบที่บ้านนางแก้ว ราชบุรี จนอาจเรียกได้ว่า มวยไทยกู้ชาติ[ต้องการอ้างอิง]

มวยไทยสมัยรัตนโกสินทร์

[แก้]

กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยุคที่นับว่าเฟื่องฟูที่สุดคือ รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ศึกษาฝึกฝนการชกมวยไทยและโปรดให้จัดการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งโดยคัดเลือกนักมวยฝีมือดีจากภาคต่าง ๆ มาประลองแข่งขัน และพระราชทานแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ ทั้งยังโปรดให้กรมศึกษาธิการ บรรจุการสอนมวยไทยเป็นวิชาบังคับ ในโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา มีการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำจนถึงสมัย รัชกาลที่ 6 ที่วังสวนกุหลาบ ทั้งการต่อสู้ประลองระหว่างนักมวย กับครูมวยชาวไทยด้วยกัน และการต่อสู้ระหว่างนักมวย กับครูมวยต่างชาติ ในการแข่งขันชกมวยในสมัยรัชกาลที่ 6 ระหว่างมวยเลี่ยะผะ (กังฟู) ชาวจีนโพ้นทะเล ชื่อนายจี่ฉ่าง กับ นายยัง หาญทะเล ศิษย์เอกของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีท่าจรดมวยแบบมวยโคราช ซึ่งเน้นการยืดตัวตั้งตระหง่านพร้อมที่จะรุกและรับโดยเน้นการใช้เท้าและหมัดเหวี่ยง และต่อมาได้เป็นแบบอย่างในการฝึกหัดมวยไทยในสถาบันพลศึกษาส่วนใหญ่ สมัย รัชกาลที่ 7 ในยุคแรกการแข่งขันมวยไทยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยเขมร ด้วยหมัดเหวี่ยงควายถึงแก่ความตาย จึงเปลี่ยนมาสวมนวมแทน ต่อมาเริ่มมีการกำหนดกติกาในการชก และมีเวทีมาตรฐานขึ้นแห่งแรกคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนินจัดแข่งขันมวยไทยมาจนปัจจุบัน

แต่คำว่า มวยไทย มีมาใช้ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายชาตินิยม ในยุคที่มี น.ต.หลวงศุภชลาศัย ร.น. เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา มีการออกพระราชบัญญัติมวยไทย ซึ่งแต่เดิมมวยไทยจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น มวยโคราช, มวยไชยา และรวมถึงการก่อสร้างเวทีมวยมาตรฐานจวบจนปัจจุบัน คือ เวทีมวยลุมพินี และเวทีมวยราชดำเนิน[20]

มวยไทยสมัยใหม่

[แก้]

นับแต่กีฬามวยไทยได้มีสนามมวยถาวรแห่งแรก คือ สนามมวยเวทีราชดำเนิน เปิดแข่งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2488 จัดแข่งในวันอาทิตย์ ต่อจากราชดำเนินก็มีสนามมวยถาวรอีกแห่งคือ สนามมวยเวทีลุมพินี เปิดแข่งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2496[21] มวยไทยก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

นักมวยที่จะขึ้นชกในสนามทั้งสองจะแยกตามน้ำหนักตัวที่กำหนดขึ้น เกิดกติกามวยไทยอาชีพเป็นครั้งแรกฉบับ พ.ศ. 2498 แก้ไขปรับปรุงจากฉบับ พ.ศ. 2480 ของกรมพลศึกษา โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2498 มีการถ่ายทอดการชกมวยจากสนามราชดำเนินเป็นครั้งแรก[22] ในยุคที่สนามมวยเวทีราชดำเนินยังไม่มีหลังคา สร้างนักมวยไทยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ อย่าง สุข ปราสาทหินพิมาย, ชูชัย พระขรรค์ชัย, สมพงษ์ เวชสิทธิ์, ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์, สุรชัย ลูกสุรินทร์, สมเดช ยนตรกิจ, ดาวทอง สิงหพัลลภ, อุสมาน ศรแดง และ ประยุทธ์ อุดมศักดิ์

ในยุควงการมวยที่เรียกว่า "ยุคทอง" ในสองทศวรรษหลังช่วงปี 2520 เป็นต้นมา เวทีราชดำเนินได้เทียมบุญ อินทรบุตร สมทบกับ เส่ย ลี้ถาวรชัย มาเป็นโปรโมเตอร์ สร้างนักมวยชื่อดังอย่าง ดีเซลน้อย ช.ธนะสุกาญจน์, ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต, วิชาญน้อย พรทวี, ขาวผ่อง สิทธิชูชัย, เผด็จศึก พิษณุราชันย์, ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา, เริงศักดิ์ พรทวี, ประวิทย์ ศรีธรรม และ หนองคาย ส.ประภัสสร

ขณะที่เวทีลุมพินี มีชนะ ทรัพย์แก้ว เป็นโปรโมเตอร์ ได้สองนักมวยชื่อดังอย่าง ผุดผาดน้อย วรวุฒิ กับ พุฒ ล้อเหล็ก เป็นนักมวยแม่เหล็ก ในยุคทองของโปรโมเตอร์ทรงชัย รัตนสุบรรณ สร้างนักมวยเอกขึ้นมาเป็นที่นิยมตั้งแต่รุ่นเล็กพิกัด 105 ปอนด์ จนถึงรุ่นใหญ่พิกัด 135-140 ปอนด์[23]

พ.ศ. 2521 มนต์สวรรค์ ลูกเชียงใหม่ แชมป์มวยไทย รุ่นไลท์เวต (135 ปอนด์) ของเวทีราชดำเนิน เดินทางไปป้องกันตำแหน่งกับ โทชิโอะ ฟูจิวาระ นักมวยชาวญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นการป้องกันตำแหน่งแชมป์เปี้ยนเวทีราชดำเนินอย่างเป็นทางการ แต่ผลคือฟูจิวาระชนะน็อกมนต์สวรรค์ ทำให้โตชิโอะ ฟูจิวาระ เป็นนักมวยไทยชาวต่างประเทศคนแรกที่เป็นแชมป์เวทีมาตรฐานของมวยไทย[24]

โด่งดังต่างประเทศและอิทธิพลกีฬาอื่น

[แก้]

20 ธันวาคม พ.ศ. 2502 มีการแข่งขันระหว่างมวยไทยกับคาราเต้ ที่ศาลากลางโตเกียวอาซากูซะ ประเทศญี่ปุ่น ในกติกาปะทะเต็มรูปแบบ หลังการแข่งขันนี้ทัตซึโอะ ยามาดะ ผู้ก่อตั้งนิปปอนเคมโปคาราเต้โด มีแผนที่จะสร้างกีฬาชนิดใหม่หรือต่อมารู้จักในชื่อ คิกบอกซิง[25]

11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 โอซามู โนกูจิ ได้พานักมวยคิกบ็อกซิ่ง 3 ราย มาต่อสู้กับนักมวยไทย ที่สนามมวยเวทีลุมพินี มวยไทยแพ้ 2-1[26] ในขณะที่คู่เอก เป็นการต่อสู้ระหว่าง เค็นจิ คูโรซากิ ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนนักมวยคิกบ็อกซิ่ง และเป็นอดีตนักคาราเต้แถวหน้า พบกับราวี เดชาชัย คูโรซากิเย็บ 3 เข็ม ฟันโยกทั้งปาก ส่วนอีก 2 นักมวยไทยที่แพ้ เนื่องจากทางผู้จัดให้นักมวยไทยระดับพอใช้รับมือเพราะประเมินนักมวยคิกบอกซิงต่ำมาก

นัดการแข่งขันที่ทำให้มวยไทยสร้างความตกตะลึงต่อชาวอเมริกันที่ขณะนั้นมวยไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก เกิดขึ้นเมื่อปี 2531 ที่ลาสเวกัสซึ่งรายการนี้ถ่ายทอดไปทั่วโลก ในการชกระหว่างช้างเผือก เกียรติทรงฤทธิ์ และ ริก รูฟัสซึ่งขณะนั้นยังไม่เคยแพ้ใคร 28-0 และยังเป็นแชมป์โลก KICK Super Middleweight และ PKC Middleweight ช้างเผือกได้แข่งขันในต่างประเทศเป็นครั้งแรกอันเนื่องมาจากเขาไม่มีรายการชกเนื่องจากหาคู่ชกยากอันเนื่องจากน้ำหนักตัว รูฟัสน็อกช้างเผือกลงได้สองครั้งทั้งยังกรามหัก แต่สามารถมาชนะน็อกได้ในยกที่ 4 ด้วยการเตะเจาะยาง แม้กติกาจะเอื้ออำนวยให้กับทางริก รูฟัส[27] จากนั้นรูฟัสเลิกเทควันโดและคาราเต้และหันมาเอาดีในมวยไทยแทน รวมถึงตัวน้องชายเขาด้วย[28]

ส่วนในยุโรป ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 มวยไทยมีความนิยมในกลุ่มคนเล็ก ๆ ในกลุ่มชาวเอเชียที่อพยพในยุโรป กลุ่มใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ในฝรั่งเศส Roger Paschy ครูคาราเต้ชาวเวียดนามอพยพได้ค้นพบมวยไทยระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยวแล้วกลับนำมาเผยแพร่ในฝรั่งเศส ส่วนในอังกฤษผู้มีบทบาทสำคัญเป็นชาวไทยชื่อ Sken และ Toddy ต่อมาในปี 2521 Thom Harinck เจ้าของยิมในเนเธอร์แลนด์ สร้างทีมนักมวยชาวดัตช์เพื่อไปแข่งกับนักมวยไทยที่สนามลุมพินี นักมวยที่นำไปแพ้น็อกตั้งแต่ยกหนึ่งหรือยกสอง หลังการแข่งขัน Thom Harinck อยู่ในประเทศไทย 3 เดือนเพื่อเรียนรู้มวยไทยแล้วนำมาสอนนักมวยที่เนเธอร์แลนด์[29]

ครูมวยไทยที่มีชื่อเสียงในแต่ละยุค

[แก้]

ยุคอดีต

[แก้]

ยุคปัจจุบัน

[แก้]

นักมวยไทยมีชื่อเสียง

[แก้]

หลักการชกมวยไทย

[แก้]
วิดีโอมวยไทย

การชกมวยไทยที่ดี มีหลักสำคัญ คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย) และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ เท้าหน้า จรดชี้ไปข้างหน้าวางน้ำหนักครึ่งฝ่าเท้า เท้าหลัง วางทแยงเฉียงกว้างกว่าหัวไหล่วางน้ำหนักเศษหนึ่งส่วนสี่ไว้ที่อุ้งนิ้วหัวแม่โป้ง ขยับก้าวด้วยการลากเท้าหลังตามพร้อมที่จะหลอกล่อ ขยับเข้า ออก ตั้งรับและโจมตีตอบโต้ แขนหน้ายกกำขึ้นอย่างน้อยเสมอไหล่ หรือจรดสันแก้ม แขนหลังยกกำขึ้นจรดแก้ม ศอกทั้งสองข้างไม่กางออกและไม่แนบชิด ก้มหน้าเก็บคาง ตาเขม็งมองไปตรงหว่างอกของคู่ต้อสู้ พร้อมที่จะเห็นการเคลื่อนไหวทุกส่วน เพื่อที่จะรุก รับ หรือตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญที่มีการเปรียบเทียบว่า "ประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์" อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน (แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล (วงนอก) และระยะประชิด (วงใน) และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้[ต้องการอ้างอิง]

และแม่ไม้มวยไทย เป็นท่าต่อสู้ของวิชามวยไทยที่สำคัญที่สุด[33]

มวยไทยกับเยาวชน

[แก้]
การสาธิตศิลปะแม่ไม้มวยไทยของนักเรียนโรงเรียนบ้านโป่งวัวแดง จังหวัดจันทบุรี

ในปี พ.ศ. 2552 นั้นประเทศไทยมีนักมวยเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นจำนวนมากกว่า 20,000 คน[34] นักมวยไทยเยาวชนส่วนมากนั้นอยู่ในพื้นที่ชนบท แม้จะมีความรักและชื่นชอบในมวยไทยอยู่บ้างแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนใหญ่มีความจำเป็นในการเรียนรู้ศิลปะแม้ไม้มวยไทยเพื่อความอยู่รอด หรือใช้สร้างรายได้แบ่งเบาภาระให้กับครอบครัว[35] การเรียนรู้ศิลปะมวยไทยนั้นได้ให้อะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นผลดีแก่เด็ก อาทิ ปลูกฝังวินัยในการใช้ชีวิตจากการฝึกซ้อม ปลูกฝังความรู้ในการใช้มวยไทยเพื่อป้องกันตัวในยามคับขันโดยนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ หรือมีความรู้สึกรักและหวงแหนศิลปะการต่อสู้อันเป็นสมบัติของชาติ[36] แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นการเรียนรู้ศิลปะแม้ไม้มวยไทยแบบเก่าก็ได้ให้ผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่เด็กด้วยเช่นกัน[37] อาทิ ผลกระทบทางสมองของเด็ก อาการบาดเจ็บจากการขึ้นชกบนเวที ต่อมาทางหน่วยงานรัฐบาลจึงมีกฎหมาย[38] ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากอาการบาดเจ็บทางด้านร่างกาย และสมองต่อเด็กเยาวชนโดยที่ไม่เป็นการยกเลิกมวยไทยในเยาวชนเนื่องจากยังเล็งเห็นประโยชน์ของการอนุรักษ์ศิลปะมวยไทยในเด็กเยาวชนให้สืบสานต่อไปได้ จึงทำให้เกิดการร่างกติกาสำหรับมวยเยาวชนขึ้นมาใหม่ อาทิ มีเครื่องป้องกันที่มากขึ้น กติกาห้ามชกแบบรุนแรงบนใบหน้า เน้นการเรียนรู้ในเรื่องการใช้ท่าทางต่าง ๆ เป็นหลักมากกว่าการขึ้นชกมวยบนเวทีแบบเอาเป็นเอาตายของเด็กเยาวชน

ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทย ทั้งหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนยังช่วยปลูกฝังความรักและหวงแหนในศิลปะมวยไทยไปสู่เด็กเยาวชนมาโดยตลอด[39] อาทิ การบรรจุวิชามวยไทยลงในชุดการสอนของกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาเป็นหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ มีการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปะมวยไทยเพื่อการป้องกันตัวให้แก่ครูผู้สอนพลศึกษา[40] ตลอดจนถึงการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นแฟนตาซีผสมผสานกับมวยไทยของเอกชน เรื่อง 9 ศาสตรา[41]

มวยไทยกับการออกกำลังกาย

[แก้]

การออกกำลังกายด้วยวิธีการใช้หมัด เข่า ศอก และเท้า ตามแบบฉบับของมวยไทย ทำให้อวัยวะหลาย ๆ ส่วนของร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว มีส่วนช่วยในการเผาผลาญไขมันส่วนเกิน กระชับสัดส่วน อีกทั้งยังช่วยเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย[42] กล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มีพละกำลังมากขึ้น การชกมวยไทยเพียงหนึ่งชั่วโมงสามารถเผาผลาญแคลอรีได้ถึง 1,000 แคลอรี[43] จากงานวิจัยพบว่าการออกกำลังกายด้วยมวยไทยในกลุ่มผู้สูงอายุมีส่วนช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจดีขึ้น รวมทั้งช่วยในการทรงตัวของร่างกาย[44]

การนำมวยไทยไปประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย ทั้งในดารา นักแสดง ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันอาทิ คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์, ธันย์ชนก ฤทธินาคา, เจนี่ อัลภาชน์, ศุกลวัฒน์ คณารศ และซันนี่ สุวรรณเมธานนท์[45] เป็นต้น ความนิยมนั้นยังมีตลอดไปจนถึงผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย สอดคล้องกับจำนวนยิมฝึกมวยไทยที่มีมากขึ้นในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 21 เหตุผลอันสำคัญหนึ่งที่ทำให้การออกกำลังกายด้วยมวยไทยเป็นที่นิยมนั่นคือความสนุกสนานและท้าทาย[46]

ความนิยมของมวยไทยในชาวต่างชาติ

[แก้]

มวยไทยเริ่มมีชื่อเสียงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีชื่อเสียงอย่างมากในต่างประเทศในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ผ่านการถ่ายทอดทางสื่อต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อันช่วยส่งเสริมมวยไทยในวัฒนธรรมสมัยนิยม อาทิ ภาพยนตร์ และวิดีโอเกม เป็นต้น [47][48]

ชาวต่างชาติที่กำลังฝึกชกกระสอบทรายที่ค่ายมวยในประเทศไทย

ความนิยมของมวยไทยในชาวต่างชาตินั้นสูงขึ้นกว่าในอดีต วัดได้จากการเก็บสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยใน พ.ศ. 2559 โดยพบว่ามีชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเรียนมวยไทยจำนวนมากกว่า 50,000 คน ซึ่ง 10 อันดับแรก มีดังต่อไปนี้ สหราชอาณาจักร จำนวน 11,219 คน ออสเตรเลีย 6,800 คน ฝรั่งเศส 5,852 คน เยอรมัน 4,688 คน สวีเดน 4,253 คน รัสเซีย 2,183 คน เดนมาร์ก 1,855 คน ญี่ปุ่น 1,841 คน นิวซีแลนด์ 1,781 คน และสเปน 1,633 คน[49] ซึ่งความนิยมดังกล่าวยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอีกด้วย โดยที่ใน พ.ศ. 2561 มวยไทยได้สร้างรายได้เข้าประเทศกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ส่งผลให้ในเวลาต่อมาทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของมวยไทย ทำการส่งเสริมโดยจัดทำหนังสือคู่มือมวยไทยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในภาษาอังกฤษ ภายใต้ชื่อ "AWESOME MUAY THAI" [50]ทั้งแบบเป็นหนังสือกระดาษทั่วไปและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์[51]

จากความนิยมของมวยไทยดังกล่าวในชาวต่างชาติ ทำให้ใน พ.ศ. 2556 มีค่ายมวยไทยในต่างประเทศเป็นจำนวนถึง 3,869 แห่ง[52] และมีค่ายมวยไทยในประเทศไทยใน พ.ศ. 2561 เป็นจำนวนถึง 5,100 แห่ง โดย 5 ประเทศที่มีค่ายสอนมวยไทยมากที่สุด มีดังต่อไปนี้ บราซิล 1,631 แห่ง อิหร่าน 650 แห่ง อินเดีย 256 แห่ง โมร็อกโก 220 แห่ง และสหรัฐ 190 แห่ง[53]

การถ่ายทอดการแข่งขัน

[แก้]

การถ่ายทอดสดการแข่งขันที่จัดประจำสัปดาห์ ส่วนมากจะออกอากาศในวันเสาร์ หรือ วันอาทิตย์ มีการพนันอย่างกว้างขวางเพราะมีกฎหมายรองรับ ยกตัวอย่างประเทศที่มีการถ่ายทอดประจำทางโทรทัศน์ดังนี้

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Fighting into the night". Malaysia Star. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-22. สืบค้นเมื่อ 2010-12-07.
  2. Colman, David (2005-01-09). "It's Hand-to-Hand for a Keeper of Faces". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-08-10.
  3. Fuller, Thomas (2007-09-16). "Sugar and Spice and a Vicious Right: Thai Boxing Discovers Its Feminine Side". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-08-10.
  4. Perry, Alex (2001-06-11). "Fighting for Their Lives". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-30. สืบค้นเมื่อ 2010-12-07.
  5. Get fit the Muaythai way
  6. "The History of Muay Thai Boxing". www.horizonmuaythai.com. July 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-22. สืบค้นเมื่อ 2011-08-28.
  7. "IFMA Governing body of Muay Thai". www.ifmamuaythai.org. January 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-15. สืบค้นเมื่อ 2013-01-15.
  8. "World Muaythai Council for Professional Muaythai". www.wmcmuaythai.org. January 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-10. สืบค้นเมื่อ 2013-01-15.
  9. ผลักดันมวยไทยเข้าโอลิมปิก
  10. หนุนมวยไทยสู่โอลิมปิก
  11. ไทยรัฐ. ปีที่ 65 ฉบับที่ 20551. วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557. ISSN 1686-4921. หน้า 21, 29
  12. "ยูเอ็น รับ มวยไทย เป็นกีฬาแห่งประชาคมโลก‏ - Mthai". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-20. สืบค้นเมื่อ 2016-03-07.
  13. 13.0 13.1 Williams, M. (1899). Monier-Williams Sanskrit-English dictionary. p. 1,072. ISBN 978-588-5-01438-0
    • Prayukvong, K. and Junlakan, L. D. (2001). Muay Thai: A Living Legacy Vol. 1. Bangkok: Spry Publishing. p. 16. ISBN 978-974-8-85537-0
    • Böhtlingk, O. N., and Roth, W. R. (1865). Sanskrit-Wörterbuch: Heraushegeben von der Kaiserlichen Akademie der Wissenschaften. St. Petersburg: Vierter Thiel. p. 383.
    • Liamputtong, P., La Trobe University Australia. (2014). Contemporary Socio-Cultural and Political Perspectives in Thailand. New York: Springer Science+Business Media Dordrecht. p. 242. ISBN 978-940-0-77243-4
  14. Lawniczak, L. "Historical Basis And Evolution Thai Martial Arts – Muay Thai And Krabi-krabong (Up To The 20th Century); HISTORYCZNE PODSTAWY I EWOLUCJA TAJSKICH SZTUK WALKI – MUAY THAI I KRABI-KRABONG (DO XX W.) (in Polish) ", Gdanskie Studia Azji Wschodniej 3 (2013) :140. ISSN 2084-2902
    • Cusick, P. (2013). "Genesis of A Global Fighting Art", Muay Thai Lords of the Ring: World Champions and Greatest Heroes The Chronicles of Muay Thai from Ancient Battlefields to 21st Century Warriors. [n.p.]: Booksmango. p. 15. ISBN 978-616-2-22258-0
  15. 15.0 15.1 กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สนามกีฬาแห่งชาติ. (2559). ประวัติศาสตร์มวยไทย History of Muay Thai. กรุงเทพฯ: บีทีเอส เพรส. ISBN 978-616-297-337-6
  16. สมบัติ พลายน้อย. "เกร็ดโบราณคดี เรื่อง กรมนักมวย โดย ส.พลายน้อย (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์) ", วารสารวัฒนธรรมไทย, 8 (2511) :36.
    • ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์. (2525). พัฒนาการของพลศึกษาในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2325-2525. กรุงเทพฯ: กรมพลศึกษา. หน้า 37. อ้างใน รายงานผลการวิจัย เรื่อง พัฒนาการพลศึกษาในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2325-2525. โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย ภาควิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  17. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). "พระราชพงศาวดารเหนือ," ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 124–125. ISBN 974-419-215-1
  18. หอสมุดวชิรญาณ. (2506). "เรื่องพระบรมราชา," ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑ (ประชุมพงศาวดาร ภาค ๑ ตอนต้อน). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 84.
  19. บริหารเทพธานี (เฉลิม กาญจนาคม), พระ. (2514). พงศาวดารชาติไทยสมัยศรีอยุธยา ภาคแรก. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ๕ สิงหาคม ๒๕๑๔. พระนคร: บพิธ. หน้า 4–5.
  20. หน้า 114-115, รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เหตุแห่งการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕. สัมภาษณ์. นิตยสารสารคดี "๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕" ฉบับที่ ๑๗๒: มิถุนายน ๒๕๔๒
  21. "ย้อนที่มา ทำไม "นักมวยไทย" ถึงต้องมีชื่อค่ายต่อท้าย?". ศิลปวัฒนธรรม.
  22. ทรงยศ กมลทวิกุล. "มวยไทย ลมหายใจไม่เคยหยุดนิ่ง". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
  23. พิเชษฐ์ เรือนอินทร์. "บนเส้นทาง 3 ทศวรรษในอาชีพ ผู้สื่อข่าวมวยไทย". การกีฬาแห่งประเทศไทย.
  24. "คลิปตำนานมวย!! ไฟต์ประวัติศาสตร์ "นักมวยต่างชาติคนแรก" ครองแชมป์มวยไทย". ข่าวสด.
  25. Martin, Ashley (2012-04-16). The Complete Martial Arts Training Manual. Tuttle. ISBN 9781462905553. OVXRAgAAQBAJ&pg=PT53&dq=osamu+noguchi+kickboxing#v=onepage&q=osamu%20noguchi%20kickboxing&f=false.
  26. Sylvie von Duuglas-Ittu. "Origins of Japanese Kickboxing – The Karate vs Muay Thai Fight That Started It All". 8 Limbs. December 28, 2015
  27. "Kickboxing vs. Muay Thai: The fight that changed history".
  28. "WATCH: Muay Thai Vs. Taekwondo (Videos)".
  29. "The epic of Dutch Muay Thai champions". SIAM FIGHT MAG.
  30. "ครูสุนทร (กิมเส็ง) ทวีสิทธิ์ ค่ายทวีสิทธิ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-18. สืบค้นเมื่อ 2007-09-05.
  31. มวยไทยไชยา
  32. ครูแปรง มวยไชยา
  33. "แม่ไม้มวยไทย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-10. สืบค้นเมื่อ 2016-04-05.
  34. เปิดมุมมองต่างชาติ ว่าด้วยชีวิตบนสังเวียนเลือด 'นักมวยเด็ก' กับผลปย.ในวงการมวยไทย
  35. หัวใจไม่ยอมแพ้ "แชมป์โลก" มวยไทยเยาวชน
  36. "๒.คุณค่าและประโยชน์ของกีฬามวยไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-06-29.
  37. "เน้นสวยงาม-จำกัดอายุ-แก้กฎกติกา"...ถึงเวลาปฏิรูปนักมวยเด็ก
  38. มวยเด็ก การพบกันครึ่งทางระหว่างกีฬากับกฎหมาย : โดย อุดมศักดิ์ โหมดม่วง
  39. กลุ่มไทอชิร ปรัชญามวยไทยใส่วิถีเยาวชน
  40. "สวธ.ติวเข้มศิลปะมวยไทยให้ครูพละ-แก้ขาดแคลน". bangkokbiznews.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  41. 9 ศาสตรา: อ๊อด และภาพสะท้อนของรามเกียรติ์
  42. "มาต่อยกันไหม!?! 8 ประโยชน์เริ่ดๆจากการชกมวย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-24. สืบค้นเมื่อ 2021-02-06.
  43. เปรียบเทียบ 10 วิธีออกกำลังกาย แบบไหนผอมเร็วสุด
  44. ออกกำลังด้วย “มวยไทย” ฝึกทรงตัว-ช่วยระบบหายใจ
  45. Wanwisa (2019-01-11). "หลงเสน่ห์มวยไทย ส่องยิม 4 ค่ายมวยดาราคนดัง น่าไปเตะขารีดน้ำหนัก ปั๊วะ! ปั๊วะ!". UndubZapp (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  46. www.mainstand.co.th. "มวยไทย กิจกรรมออกกำลังกายยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือน มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?". www.mainstand.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-13. สืบค้นเมื่อ 2021-02-06.
  47. Tony Jaa Kicks Open Cultural Doors
  48. "10 ปี องค์บาก เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-01. สืบค้นเมื่อ 2020-06-30.
  49. Who is a BIG Fan of Thai Boxing
  50. TAT pushes sports tourism with ‘Awesome Muay Thai’ guidebook
  51. "หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ "AWESOME MUAY THAI". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-24. สืบค้นเมื่อ 2021-07-24.
  52. ‘ธุรกิจ มวยไทย 4.0’ ต้นแบบธุรกิจกีฬาเกื้อหนุนธุรกิจท่องเที่ยว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปไกลกว่าเดิม
  53. "มวยไทย KEEP FIGHTING". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-01. สืบค้นเมื่อ 2020-06-30.

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • สำราญ สุขแสวง. (2560). ตำราศาสตร์และศิลปะมวยไทย. วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง. 204 หน้า.
  • Kraitus, Panya (1992), Muay Thai The Most Distinguished Art of Fighting, Phuket: Transit Press, ISBN 974-86841-9-9
  • Muay Thai The Essential Guide To The Art of Thai Boxing. Tony Moore. New Holland. ISBN 1 84330 596 8.
  • Boykin, Chad (2002), Muay Thai Kickboxing – The Ultimate Guide to Conditioning, Training and Fighting, Boulder, CO: Paladin Press, ISBN 1-58160-320-7
  • Prayukvong, Kat (2006), Muay Thai: A Living Legacy, Bangkok, Thailand: Spry Publishing Co., Ltd, ISBN 974-92937-0-3
  • Hartig, Bastian (2018-12-04). Thai boxing: The dangerous fight against poverty (Video). Deutsche Welle. สืบค้นเมื่อ 2018-12-06.
  • Nusch, Florian (2017-12-09). Child Thai boxers: A fighting chance (Video). Deutsche Welle. สืบค้นเมื่อ 2018-12-06.
  • Wei, Lindsey (2020) Path of the Spiritual Warrior: Life and Teachings of Muay Thai Fighter Pedro Solana. Auckland: Purple Cloud Press, ISBN 979-8651807901