เขตร ศรียาภัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตร ศรียาภัย
เกิด9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445
จังหวัดชุมพร
เสียชีวิต13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
สัญชาติไทย
รูปแบบมวยไชยา
นักเรียนเด่นทองหล่อ ยาและ

เขตร ศรียาภัย เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับมวยไทย รวมถึงศิลปะการต่อสู้ทุกประเภททั้งในและต่างประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์มวยไทย[1] มีลูกศิษย์ที่เขาไปสอนตามสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ฯลฯ ความรู้ความสามารถของท่านครอบคลุมตั้งแต่การสั่งสอนฝึกฝนมวยตั้งแต่อดีต (สมัยรัชกาลที่ 5) จนถึงการฝึกสอนมวยในปัจจุบัน นอกจากนี้ท่านยังได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์เกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาของความเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริง

ครอบครัว[แก้]

พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ซุ่ย ซุ่ยยัง) ตาทวด (พ่อของย่า) เป็นแม่ทัพไทยตีเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรีมาขึ้นประเทศไทย ปลายรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2366 มีลูกเขยชื่อปาน ซึ่งได้เป็นที่พระศรีราชสงคราม

พระศรีราชสงคราม (ปาน) ปลัดเมืองไชยา (เป็นปู่) มีลูกชายชื่อขำ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 รับใช้สอยในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมและได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงสารานุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองไชยาเมื่ออายุ 25 ปี

หลวงสารานุชิต (ขำ ศรียาภัย) ได้ช่วยปราบจีนจลาจลที่เมืองภูเก็ต ในคราวเดียวกันกับหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดฉลองซึ่งพวกจีนติดสินบนหัว 1,000 เหรียญ เมื่อพวกจีนจลาจลแตกพ่ายหนีกระจัดกระจายลงเรือใบใหญ่ออกทะเล จึงได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบเลื่อนยศเป็น พระยาวิชิตภัคดีศรีพิชัยสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองไชยา พ.ศ. 2422

พวกจีนจลาจลที่ภูเก็ตหนีลงเรือแต่ไม่กลับเมืองจีน ได้เที่ยวปล้นตามหัวเมืองชายทะเล ตั้งแต่ปลายอาณาเขตไทยทางใต้จนถึงเมืองเกาะหลัก คือประจวบคีรีขันธ์ เรือรบหลวง 2 ลำ มีกำลังพล 200 ต้องประจำรักษาเมืองภูเก็ต จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองทำการปราบปราม เวลานั้นพระยาวิชิตภัคดีศรีพิชัยสงคราม เป็นเจ้าเมืองไชยา แต่มีหน้าที่รักษาเมืองชุมพร และกาญจนดิษฐ์ด้วย ได้คิดสร้างลูกระเบิดมือขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย รวบรวมพลอาสาออกปราบปรามโจรจีนสลัดในอ่าวไทยเป็นเวลา 3 ปี โจรจีนสลัดสงบราบคาบ จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ เป็นบำเหน็จโดยลำดับ จนถึง พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น พระยาวัยวุฒิวิเศษฤทธิ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม เพื่อประกาศความดีความชอบที่ได้สร้างลูกระเบิดมือ ซึ่งเป็นอาวุธแปลก ที่ไม่เคยเห็นกันในสมัยนั้น

ต่อมาอีก 7 ปี คือวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2449 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เลื่อนเป็น พระยาวจีสัตยารักษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จนกระทั่งวันถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2457

ชีวิตวัยเด็ก[แก้]

เขตร ศรียาภัย เป็นลูกคนสุดท้องของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ในสมัยเด็กอายุประมาณ 10 ขวบ เขตร ศรียาภัย ได้เข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม อยู่ที่บ้านทวาย ชอบกีฬาประเภทออกแรงทุกชนิด เช่น พายเรือ ว่ายน้ำ วิ่งแข่ง ตี่จับ ฯลฯ ได้เป็นที่ 1 ในชุดวิ่งเปี้ยวชิงชนะเลิศกับชุดโรงเรียนวัดประทุมคงคา ได้ถ้วยและโรงเรียนวัดสุทธิวรารามมีชื่อทางวิ่งเปี้ยวแต่นั้นมา ลาออกเพื่อเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่ออายุได้ 13 ปี เพราะทนถูกรังแกจากนักเรียนที่ใหญ่กว่าไม่ไหว ณ โรงเรียนฝรั่งแห่งใหม่กลับร้ายกว่าโรงเรียนเดิมเพราะมีนักเรียนมากกว่า 3 เท่า เขตร ศรียาภัย ต้องอดทนถูกรังแกอยู่ 3 ปี อันเป็นปฐมเหตุในการพยายามศึกษาวิชาต่อสู้ ซึ่งมีครูดี ๆ รวม 12 ท่าน[2]

เขตร ศรียาภัย เรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญจนถึง พ.ศ. 2460 ได้ถูกบังคับให้เข้าชุดฟุตบอลแข่งขันกับพวกนักเรียนฝรั่งเศสทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ว่าเล่นกันอย่างไร แต่ชุดฟุตบอลนักเรียนอังกฤษก็ชนะ ได้รับเหรียญทองจารึกว่า JUNIOR TOURNAMENT 1917 รวม 11 เหรียญกับถ้วย 1 ใบ ต่อจากนั้นก็ได้เล่นฟุตบอลให้โรงเรียนและสมาคมอัสสัมชัญรวมเป็นเวลาประมาณ 17 ปี ในปี พ.ศ. 2477 โรงเรียนอัสสัมชัญจัดงานฉลองเป็นการใหญ่ที่ได้ตั้งโรงเรียนมาครบ 50 ปีบริบูรณ์ เขตร ศรียาภัย จึงได้รับรางวัลเหรียญทองคำสร้างพิเศษมีคำจารึกเป็นภาษาละตินว่า SEMPER FIDELIS ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ซื่อสัตย์ตลอดกาล อันเป็นเหรียญเดียวที่โรงเรียนมอบให้นักเรียนตั้งแต่สร้างโรงเรียนมาตลอด 90 ปี

ความสามารถด้านอื่น[แก้]

นอกจากการเล่นกีฬาหมัดมวย ฟุตบอล และวิ่งแข่ง กระโดดสูงกระโดดยาว รวมทั้งมวยสากลกับมองซิเออร์ ฟโรว์ คู่ซ้อมของ ยอร์ช กาปังติเอร์ แล้ว เขตร ศรียาภัย ยังสามารถแจวเรือพาย และถือท้ายเรือยาว (เรือดั้ง, เรือแซง) เรือยนต์ เรือกลไฟ ขับรถยนต์ ขี่มอเตอร์ไซค์ รวมทั้งการขี่ม้า ขี่และฝึกช้างตามแบบที่เรียกว่าคชกรรมอีกด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-25. สืบค้นเมื่อ 2011-07-11.
  2. สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 170