วัดยานนาวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดยานนาวา
พระเจดีย์บนเรือสำเภาสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3
แผนที่
ชื่อสามัญวัดยานนาวา
ที่ตั้งถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท สังกัดมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระธรรมวชิรโมลี (ทองสูรย์ สุริยโชโต ป.ธ.8 ,ดร.)
ความพิเศษพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดยานนาวา พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดคอกควาย" เนื่องจากมีชาวทวายมาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวทวายจะนำกระบือที่เลี้ยงไว้มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน หมู่บ้านบริเวณนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันต่อมาว่า "บ้านคอกควาย" ปัจจุบันมี พระธรรมวชิรโมลี (ทองสูรย์ สุริยโชโต) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส

ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะวัดคอกควายขึ้นเป็นพระอารามหลวง เรียกชื่อใหม่ว่า "วัดคอกกระบือ" ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดคอกกระบือเป็น "วัดยานนาวา"

ด้านในมีพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าให้สักการะ

อาคารเสนาสนะ[แก้]

สำเภายานนาวา มีความยาววัดจากหงอนข้างบนถึงท้ายบาหลี มีห้องขนาดเล็ก 21 วา 2 ศอก ความยาวส่วนล่างวัดที่พื้นดิน 18 วา 1 ศอกเศษ ความกว้างตอนกลางลำเรือ 4 วา 3 ศอก ความสูงตอนกลางลำเรือ 2 วา 3 ศอก นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์องค์ใหญ่และเล็กอยู่ในลำสำเภารวม 2 องค์ ที่ห้องบาหลีมีรูปหล่อของพระเวสสันดรกับพระกัญหาบริเวณท้ายเรือชาลีประดิษฐานอยู่ อันเนื่องมาจากเนื้อความในมหาชาติคำหลวง ที่พระเวสสันดรโน้มน้าวใจพระโอรสธิดาให้อุทิศตนร่วมกับพระบิดาสร้างมหากุศล เสมือนเรือสำเภาใหญ่พามนุษยชาติข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพาน โดยปรากฏเรื่องราวในหนังสือ เรื่องคติของฝรั่งเข้ามาเมืองไทย (2493) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุเรื่องราวของเรือสำเภาวัดยานนาวาไว้ ความว่า "...เรื่องนี้มีอนุสาวรีย์ที่แปลกประหลาดปรากฏอยู่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ ทรงพระราชดำริห์ว่าต่อไปภายหน้าสำเภาจีนจะต้องเลิก เพราะสู้เรือกำปั่นของฝรั่งไม่ได้ และครั้งนั้นกำลังทรงปฏิสังขรณ์ (Restoration) วัดคอกกระบือซึ่งอยู่เหนืออู่บางกอกเดี๋ยวนี้ จึงโปรดฯ ให้สร้างรูปเรือสำเภาจีนเป็นฐานเปนฐานพระเจดีย์ขึ้นไว้ที่วัดนั้น ดำรัสต่อไปถึงชั้นลูกหลานไม่รู้ว่าเรือสำเภาจีนเปนอย่างไร จะได้ไปดูที่วัดนั้น และให้เรียกชื่อวัดว่าวัดยานนาวา ท่านทั้งหลายยังจะดูได้จนทุกวันนี้"[1]

ด้านหลังบานประตูในพระอุโบสถ (ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1) มีภาพจิตรกรรมสำคัญที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้วาดขึ้น คือรูปกระทงใหญ่ ตามแบบที่ทำในพระราชพิธีลอยพระประทีป และโถยาคูตามแบบอย่างที่ทำเลี้ยงพระในพระราชพิธีสารทในรัชสมัยของพระองค์

ในปี พ.ศ. 2530 วัดก่อสร้างอาคารมหาเจษฎาบดินทร์ ในวาระมหามงคลครบรอบ 200 ปี พระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารอเนกประสงค์ทรงไทย สูง 3 ชั้น ประดับด้วยยอดปราสาท 5 ยอด ใช้เป็นศาลาการเปรียญ บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรม และเป็นหอประชุม นอกจากนั้นสร้างหอพระไตรปิฎกเป็นอาคารทรงไทย 3 ชั้น ประดับยอดปราสาท 3 ยอด ใช้เป็นห้องสมุด มีทั้งหนังสือทั่วไปและหนังสือธรรมะ และยังเก็บรักษาตู้พระไตรปิฎกเขียนลวดลายลงรักปิดทองของโบราณ[2]

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

นับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วัดยานนาวามีเจ้าอาวาสมาแล้ว 11 รูป ดังนี้[3]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระโพธิวงศ์ (มี) ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
2 พระครูแก้ว ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
3 พระครูน้อย ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
4 พระครูอ้ำ ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
5 พระครูพรหมจริยาจารย์ (โหมด) ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
6 พระครูพรหมจริยาจารย์ (ยิ้ม) ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
7 พระราชธรรมจริยาจารย์ (เทียน) ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
8 พระธรรมราชานุวัตร (ไสว ฐิติธมโม) พ.ศ. 2508 พ.ศ. 2530[4]
9 พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2544[5]
10 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร) พ.ศ. 2544 พ.ศ. 2564
11 พระธรรมวชิรโมลี (ทองสูรย์ สุริยโชโต) พ.ศ. 2564 ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. เรื่องคติฝรั่งเข้ามาเมืองไทย. พระนคร : ฉัตรา, 2493. หน้า 17
  2. "สำนักสถาปัตยกรรม ห่วงฐานานุศักดิ์ ของ...สถาปัตยกรรมไทย". โพสต์ทูเดย์. 16 ตุลาคม 2554.
  3. "ลำดับเจ้าอาวาสวัดยานนาวา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-20. สืบค้นเมื่อ 2021-09-20.
  4. https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=14906 พระธรรมราชานุวัตร (ไสว ฐิติธมฺโม ป.ธ.๗)
  5. https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=14909 พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°43′1″N 100°30′49″E / 13.71694°N 100.51361°E / 13.71694; 100.51361