ข้ามไปเนื้อหา

สาธร ยูนีค ทาวเวอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สาธร ยูนีค ทาวเวอร์
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
สถานะปิดถาวร
ก่อสร้างพ.ศ. 2533
การใช้งานคอนโดมีเนียม
ความสูง
ชั้นสูงสุด185 เมตร[1]
รายละเอียด
จำนวนชั้น49 (รวมชั้นใต้ดินสองชั้น)
มูลค่าราคาประเมินปัจจุบันราว 3,000 ล้านบาท[2]
บริษัท
สถาปนิกรังสรรค์ ต่อสุวรรณ
ผู้พัฒนาบริษัท สาธร ยูนีค จำกัด

สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ (อังกฤษ: Sathorn Unique Tower) เป็นตึกระฟ้าที่ยังสร้างไม่เสร็จ บนถนนเจริญกรุง ในพื้นที่แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร อาคารนี้ซึ่งวางแผนไว้ว่าเป็นโครงการอาคารชุดสูง ต้องหยุดชะงักลงในระหว่างวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 โดยในขณะนั้นก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 80% ปัจจุบันอาคารสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ถือเป็นอาคารร้างที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักสำรวจเมือง

ประวัติ

[แก้]

โครงการสาธร ยูนีค ถูกวางแผนให้เป็นอาคารชุดสุดหรูขนาด 47 ชั้น จำนวน 600 ยูนิต อาคารนี้ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอาคารในเครือเดียวกับสาธร ยูนีคคือสเตท ทาวเวอร์อีกด้วย โครงการก่อสร้างนั้นเริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ. 2533 มีเจ้าของโครงการคือบริษัท สาธร ยูนีค จำกัด และได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนมากจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ การก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้นปีเดียวกัน โดยมี บริษัท สี่พระยาก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง[3]

บริเวณด้านในตัวอาคารซึ่งถูกทิ้งไว้ให้ทรุดโทรม

ในปี พ.ศ. 2536 ผศ.รังสรรค์ ถูกจับกุมในข้อหาร่วมกันวางแผนลอบฆาตกรรมนายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากมือปืนถูกจับกุมได้ก่อน โดยในปี พ.ศ. 2551 ผศ.รังสรรค์ ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิด แต่สุดท้ายศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ได้ทำการยกฟ้องในปีพ.ศ. 2553 คดีความดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรักษาเงินสนับสนุนโครงการของ ผศ.รังสรรค์ เป็นอย่างมาก และการก่อสร้างอาคารสาธร ยูนีค ก็เผชิญกับปัญหาความล่าช้าหลายครั้งเนื่องจากขาดแคลนเงินทุน[4][5]

จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการล้มละลาย เช่นเดียวกันกับบริษัทไฟแนนซ์ต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการซึ่งก็ประสบปัญหาหนี้สิน โครงการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครต่างพากันหยุดชะงัก โดยมีอาคารหรูกว่า 300 แห่งที่ถูกทิ้งร้าง แต่อาคารส่วนมากได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในภายหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว (อาคารสเตท ทาวเวอร์ ก็ถือเป็นหนึ่งในอาคารดังกล่าว) แต่อย่างไรก็ตาม อาคารสาธร ยูนีค กลับถูกทิ้งร้างไว้ในสภาพเดิมนับแต่นั้นจนเป็นที่รู้จักกันในหมู่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในชื่อของ "Ghost Tower" แม้ว่าจะมีความพยายามในเรื่องการตกลงในเรื่องการซื้อขายและการรีไฟแนนซ์อยู่หลายครั้งโดยนายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ บุตรชายของผศ.รังสรรค์ที่เข้ามารับช่วงต่อจากบิดา[3][5][6] แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากนายพรรษิษฐ์ต้องการที่จะขายอาคารในราคาที่จะสามารถชดเชยเงินต้นให้ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ[7]

ความพยายามขายอาคาร

[แก้]

หลังจากเกิดเหตุอาคารสำนักงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศพม่าที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานการก่อสร้างทั้งอาคารสำนักงานที่พังถล่มดังกล่าวรวมถึงตึกระฟ้าแห่งอื่น ๆ ที่เกิดรอยร้าวหรือสั่นไหว และนำมาเปรียบเทียบกับอาคารสาธร ยูนีค ที่แม้ถูกทิ้งร้างแต่กลับไม่มีโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายมากนัก[8]

วันถัดมา (29 มีนาคม) มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โพสต์ประกาศขายอาคารสาธร ยูนีค โดยตั้งราคาเริ่มต้นที่ 4,000 ล้านบาท[9] และ 4 วันหลังจากนั้น (2 เมษายน) ผู้ใช้ดังกล่าวกลับระบุว่าตึกดังกล่าวถูกขายออกเรียบร้อยแล้ว[10] อย่างไรก็ตาม บรรจง ชีวมงคลกานต์ ผู้ประกาศข่าวช่องเวิร์คพอยท์ ระบุในเวลาต่อมาว่าผู้ใช้ดังกล่าวมีพิรุธเนื่องจากลบโพสต์ดังกล่าวและปิดบัญชีเฟซบุ๊กของตนอย่างรวดเร็วหลังจากเป็นประเด็นเกิดขึ้น และมีผู้เล่าเพิ่มว่า ผศ.รังสรรค์ ไม่ได้ขายอาคารสาธร ยูนีค และกำลังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง[11] ในที่สุด ในวันเดียวกัน ตามโพธ ต่อสุวรรณ บุตรชายของ ผศ.รังสรรค์ ได้ระบุว่าบิดาของตนมิได้ประกาศขายอาคารสาธร ยูนีค ตามที่นายหน้ารายดังกล่าวโพสต์ไว้แต่อย่างใด เนื่องจากมีข้อพิพาทและคดีความเป็นจำนวนมากที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 และเชื่อว่าบิดาจะดำเนินคดีดังกล่าวทั้งหมดต่อไปจนกว่าบิดาจะเสียชีวิต[12]

ตัวอาคาร

[แก้]
ภาพมุมสูงจากด้านบนตึก

สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ตั้งอยู่ในเขตสาทร ตัวอาคารใกล้กันกับถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ระหว่างซอย 51 กับ 53 เยื้องกับวัดยานนาวา โดยเป็นบริเวณที่ใกล้กับจุดสิ้นสุดของถนนสาทรใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีสะพานตากสิน ในเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีทั้งหมด 49 ชั้น (รวมชั้นใต้ดินสองชั้น) มีพื้นที่รวม 2 ไร่ เชื่อมติดกับอาคารที่จอดรถสูงสิบชั้น ในการออกแบบนั้น ผศ.รังสรรค์เป็นที่รู้จักจากรูปแบบการออกแบบอาคารที่มักจะใช้ โดยอาคารแห่งนี้ได้เลือกใช้องค์ประกอบของความเป็นศิลปะกรีก-โรมันสมัยใหม่เหมือนกับตึกสเตท ทาวเวอร์ โดยเฉพาะในส่วนของเสาและระเบียง ก่อนที่การก่อสร้างทั้งหมดจะหยุดชะงักลง การก่อสร้างได้เสร็จสิ้นไปกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ตัวโครงสร้างหลักของอาคารที่เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยและได้รับการยืนยันในเรื่องความปลอดภัยแข็งแรงของโครงสร้างแล้ว อย่างไรก็ตาม งานออกแบบภายในและการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และงานส่วนกำแพงและรายละเอียดต่างๆเองก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นบนของอาคาร[13]

กราฟฟิตี้ด้านบนตึก

อาคารแห่งนี้ได้กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทาย และยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย แม้จะมีการปิดไม่ให้บุคคลใดเข้าถึงตัวอาคาร แต่ก็มีรายงานว่าผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปในตัวอาคารได้ด้วยการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใต้อาคาร และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 อาคารแห่งนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งหลังจากที่มีการพบศพชายชาวสวีเดนในสภาพแขวนคอ เสียชีวิตบนชั้นที่ 43 โดยสาเหตุการเสียชีวิตนั้นได้มีการยืนยันว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งทางสำนักข่าวหลายแห่งก็ได้มีการตั้งข้อสงสัยถึงความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของอาคารแห่งนี้

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ซึ่งได้เข้ามาเป็นหนึ่งสมาชิกบอร์ดบริหารของบริษัท สาทร ยูนีค จำกัด ได้เปิดเผยว่าได้ทำการแจ้งความข้อหาบุกรุกอาคารสถานที่แก่บุคคลทั้งหมด 5 คน ที่ได้โพสต์รูปและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการเข้ามาในอาคารลงบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติสองคนที่ได้ทำวิดีโอที่พวกเขาแสดงการวิ่งฟรีรันนิ่งบนตึกแห่งนี้[14][15] นายพรรษิษฐ์ได้กล่าว่าเขาต้องการให้การแจ้งความครั้งนี้เป็นตัวอย่างและหยุดยั้งคนที่จะเข้ามาปีนป่ายบนตึกที่มีความอันตราย เขาได้ระบุเพิ่มว่าจำนวนผู้เข้ามาในตัวอาคารอย่างผิดกฎหมายนั้นเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการเผยแพร่เรื่องอาคารแห่งนี้ในโลกออนไลน์กันมากขึ้น โดยในบางสัปดาห์นั้นมีผู้เข้าไปยังตัวอาคารมากกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งตนก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้ยามรับสินบนจากผู้เข้าชมตึกได้เนื่องจากไม่สามารถเฝ้าตึกด้วยตัวเองตลอดทั้งวัน[16]

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2560 นายพรรษิษฐ์ได้อนุญาตให้มิวเซียมสยามจัดการสัมมนาที่ตัวอาคาร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการระลึก 20 ปีของวิกฤติเศรษฐกิจ[17] นอกจากนี้ยังอนุมัติให้จีดีเอชใช้ตึกนี้เป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง เพื่อน..ที่ระลึก อีกด้วย[18]

นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะรู้จักและเรียกชื่ออาคารแห่งนี้กันว่า "Ghost Tower" และเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทายและต้องการถ่ายภาพมุมสูง[19]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Sathorn Unique Tower". Emporis. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  2. ข่าวดังข้ามเวลา : Ghost Tower ระทึกตึกร้างในตำนาน [คลิปเต็มรายการ], สำนักข่าวไทย TNAMCOT .วันที่ 7 ม.ค. 2019
  3. 3.0 3.1 "ระบุสาธรยูนิคใกล้ได้ข้อสรุป เผยเจรจาหนี้เสร็จ-นักลงทุนสนซื้อเพียบ". Manager Online. 25 February 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-05. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  4. Waites, Dan (2014). CultureShock! Bangkok. Marshall Cavendish International Asia Pte Ltd. ISBN 9789814516938.
  5. 5.0 5.1 "รังสรรค์ 70 ปี ไม่มีวันสาย พ่อผม ยังฝันจะทำโครงการที่สูงที่สุดในประเทศ". Prachachat Turakij Online. No. 22 September 2010. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  6. Barta, Patrick (27 July 2007). "High-Rise Relics: Ghost Structures Haunt Bangkok". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  7. "เปิดใจเจ้าของตึกร้างระฟ้า 'สาธรยูนีค' อนุสรณ์ 20 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง". Thairath Online. 1 March 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-17. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
  8. "รู้จัก 'ตึกสาทรยูนีค' แข็งแรงยืนหนึ่ง สร้างไม่เสร็จแต่ยังทนทุกดรามา". ทีเอ็นเอ็น. 29 มีนาคม 2025. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2025.
  9. "ประกาศขาย 4 พันล้าน สาทร ยูนีค ทาวเวอร์ ตึกร้างกลางกรุง". อมรินทร์ทีวี. 29 มีนาคม 2025. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2025.
  10. "ปิดการขายแล้วจ้า! "สาธร ยูนีค" 4 พันล้านขายได้แล้ว เผยคนไทยซื้อเปิดตัวทุกคนรู้จักหมด". เดลินิวส์. 2 เมษายน 2025. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2025.
  11. ""เฮียบรรจง" จับพิรุธนายหน้าโพสต์ขายตึกสาธร ยูนีค หลังล่าสุดลบโพสต์ทิ้งแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 2 เมษายน 2025. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2025.
  12. "ลูกเจ้าของตึกยันเอง ไม่ได้ขาย สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด". ข่าวสด. 2 เมษายน 2025. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2025.
  13. "ตึกร้างพันล้าน สาธร ยูนีค EP.1 สร้างต่อ-รื้อทิ้ง!? ไขปมโอกาสพังถล่ม". Thairath Online. 10 December 2014. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  14. Campbell-Dollaghan, Kelsey (13 February 2014). "Inside Bangkok's Abandoned, Half-Finished Ghost Tower". Gizmodo. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  15. Kang, Dake (1 March 2017). "Ghost Tower haunts Bangkok 20 years after financial crisis". AP. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
  16. "Man's death puts spotlight on access to 'ghost tower'". The Nation. 8 December 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-28. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.
  17. "พลิกวิกฤตเป็นโอกาส! เสวนา "สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540"". Museum Siam. National Discovery Museum Institute. 16 February 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-03. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
  18. ที่ระลึก ปี 40 (YouTube video). GDH 559. 1 August 2017. สืบค้นเมื่อ 2 August 2017.
  19. "ตึกร้างพันล้าน สาธร ยูนีค EP.3 ไขรหัสปรับฮวงจุ้ย เสริมบารมี ฟื้นที่ดินทำเลทอง". Thairath Online. 12 December 2014. สืบค้นเมื่อ 24 March 2015.