เทศบาลเมืองศรีสะเกษ
เทศบาลเมืองศรีสะเกษ | |
---|---|
ภาพมุมสูงเมืองศรีสะเกษ | |
สมญา: เมืองนครศรีลำดวน | |
คำขวัญ: สังคมอยู่เย็น เป็นสุขร่วมกัน | |
พิกัด: 15°06′25″N 104°19′46″E / 15.10694°N 104.32944°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ศรีสะเกษ |
อำเภอ | เมืองศรีสะเกษ |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | ฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 36.66 ตร.กม. (14.15 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2567)[1] | |
• ทั้งหมด | 38,818 คน |
• ความหนาแน่น | 1,058.87 คน/ตร.กม. (2,742.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 04330102 |
ที่อยู่ สำนักงาน | 987/39 ถนนขุขันธ์ ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 33000 |
โทรศัพท์ | 0 4562 0211-4 |
โทรสาร | 0 4562 0211 |
เว็บไซต์ | sisakettownmunicipality |
เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เป็นเทศบาลเมืองในอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ[2] มีพื้นที่ครอบคลุม 7 ตำบล ภายในเขตเทศบาลเป็นที่ตั้งหน่วยงานการบริหารของอำเภอเมืองศรีสะเกษ รวมทั้งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการบริหาร สถาบันการศึกษา สถานพยาบาลและสาธารณสุข เศรษฐกิจ ตลอดจนการคมนาคมขนส่งของจังหวัดศรีสะเกษ
ประวัติ
[แก้]เทศบาลเมืองศรีสะเกษเดิมชื่อว่า "เทศบาลเมืองขุขันธ์" จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 (87 ปี 340 วัน) มีพื้นที่ 3.26 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 ตำบล คือตำบลเมืองเหนือและตำบลเมืองใต้ ต่อมาได้มีการเปลื่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นจังหวัดศรีสะเกษ จึงทำให้เทศบาลเมืองขุขันธ์ได้รับการเปลี่ยนชื่อตามพระราชกฤษฎีกามาเป็น "เทศบาลเมืองศรีสะเกษ"[3] ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา
ใน พ.ศ. 2530 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2530 กำหนดขอบเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ (ใหม่) โดยขยายพื้นที่เขตเทศบาลจากเดิม 2 ตำบลออกไปครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอีก 5 ตำบล ปัจจุบัน เทศบาลเมืองศรีสะเกษมีพื้นที่ครอบคลุม 7 ตำบล ในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ รวม 36.66 ตารางกิโลเมตร
ภูมิศาสตร์
[แก้]สภาพภูมิประเทศ
[แก้]เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มในเขตลุ่มแม่น้ำมูลตอนปลาย โดยตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฝั่งแม่น้ำมูล ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำมาทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ภูมิสัณฐานจัดเป็นแนวคันดินริมน้ำของลำน้ำสาขาแม่น้ำมูล ประกอบด้วยลำห้วยสำราญและลำห้วยแฮดซึ่งโอบล้อมเขตเทศบาลในทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก นอกจากนั้น ยังมีลำน้ำย่อยซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำห้วยทั้งสองสายไหลหล่อเลี้ยงภายในพื้นที่เขตเทศบาล ลำน้ำย่อยดังกล่าวได้แก่ห้วยระกำ ห้วยปูน และห้วยน้ำคำ ทางตอนเหนือของเขตเทศบาลมีลักษณะเป็นเนินและที่ดอนสูงกว่าพื้นที่ทางตอนใต้
พื้นที่และอาณาเขต
[แก้]มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดใน 2 ตำบลคือตำบลเมืองเหนือ ตำบลเมืองใต้ และครอบคลุมบางส่วนในพื้นที่ตำบลอีก 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลซำ ตำบลหนองครก ตำบลหญ้าปล้อง ตำบลโพธิ์ และตำบลโพนข่า รวมพื้นที่ทั้งหมด 36.66 ตารางกิโลเมตร
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลโพธิ์และตำบลน้ำคำ
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลซำ ตำบลหนองครก และตำบลโพนข่า
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลโพธิ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลหญ้าปล้อง
ตราสัญลักษณ์
[แก้]พระนางศรีสระเกศ หมายถึง พระนางศรี ซึ่งปรากฏชื่อในตำนานเมืองศรีสะเกษ ว่าเป็นธิดาพญาขอม โดยพระนางเป็นผู้นำในการสร้างเมืองศรีสะเกษมาแต่ครั้งสมัยขอมโบราณ รูปพระนางศรีในอิริยาบถกำลังสระผม (เกศ) ดังกล่าวสอดคล้องกับเนื้อความตอนหนึ่งในตำนานว่าพระนางศรีได้ลงสรงน้ำและสระผม (เกษ) ในสระกำแพง ซึ่งเป็นบารายหรือสระน้ำประจำปราสาทสระกำแพงใหญ่และปราสาทสระกำแพงน้อย อันเป็นที่มาของชื่อเมืองว่า "ศรีสระเกศ" ในอดีต หรือ "ศรีสะเกษ" ในปัจจุบัน
โครงสร้างการบริหารและการปฏิบัติราชการ
[แก้]- คณะเทศมนตรี ประกอบด้วยนายกเทศมนตรี ปัจจุบันคือนายฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ ,รองนายกเทศมนตรี จำนวน 3 คน, เลขานุการนายกเทศมนตรี จำนวน 1 คน, ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี จำนวน 2 คน ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร
- สภาเทศบาล ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวนทั้งหมด 18 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและควบคุมฝ่ายบริหาร ปัจจุบันประธานสภาเทศบาลคือนางลลิตา นวเลิศปรีชา รองประธานสภาเทศบาลคือนายนนทวัชร์ เกษชุมพล
- โครงสร้างการปฏิบัติราชการ มีปลัดเทศบาล จำนวน 1 คน , รองปลัดเทศบาล จำนวน 2 คน และ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการบริหารงานเทศบาล จำนวน 1 คน ร่วมกันบังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและพนักงานจ้างเทศบาล มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย ประกอบด้วยส่วนการบริหาร ดังนี้
- สำนักปลัดเทศบาล : ฝ่ายอำนวยการ, ฝ่ายบริหารงานทั่วไป, ฝ่ายปกครอง, ฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ
- สำนักการคลัง : ฝ่ายบริหารงานทั่วไป, ฝ่ายการเงินและบัญชี, ฝ่ายพัสดุและทรัพย์สิน, ฝ่ายพัฒนารายได้, ฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน
- สำนักการช่าง : ฝ่ายบริหารงานทั่วไป, ส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง, ส่วนควบคุมการก่อสร้าง, ส่วนการโยธา, ส่วนการช่างสุขาภิบาล
- สำนักการศึกษา : ฝ่ายแผนงานและโครงการ,ฝ่ายการเจ้าหน้าที่, ฝ่ายกิจการโรงเรียน, ฝ่ายวิชาการ, ฝ่ายการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย, ฝ่ายส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม, ฝ่ายพัฒนาวิชาการ, ฝ่ายพัฒนานิเทศการศึกษา, ฝ่ายวิจัยและประเมินผลทางการศึกษา, ฝ่ายบริการทางการศึกษา
- กองวิชาการและแผนงาน : ฝ่ายบริหารงานทั่วไป, ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ, ฝ่ายวิชาการและเผยแพร่วิชาการ, ฝ่ายนิติการ
- กองสวัสดิการสังคม : ฝ่ายสังคมสงเคราะห์, ฝ่ายพัฒนาชุมชน, ฝ่ายส่งเสริมและสวัสดิการ
- กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม : ฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข, ฝ่ายบริการและส่งเสริมการอนามัย
- งานตรวจสอบภายใน
- งานทะเบียนราษฎร
- งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์
[แก้]ปัจจุบันเทศบาลเมืองศรีสะเกษมีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 41,680 คน[4] จำแนกเป็น เพศชาย จำนวน 19,924 คน และเพศหญิง จำนวน 21,756 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในหลังคาเรือนจำนวน 17,216 หลัง เป็นครอบครัวทั้งหมดจำนวน 17,253 ครอบครัว จัดเป็นเทศบาลเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่ง
กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเขตเทศบาลคือกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ซึ่งพูดภาษาลาว จัดเป็นภาษาถิ่นไทยอีสานภาษาหลักที่พูดกันแพร่หลายในกลุ่มประชากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายของประชากรจากต่างถิ่นมาตั้งถิ่นฐานในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายในพื้นที่เทศบาลแห่งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาลาวและภาษาไทยภาคกลาง (ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาขร้า-ไท) และกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในตระกูลภาษามอญ-เขมร ได้แก่ภาษาเขมรถิ่นไทย (คแมเลอหรือเขมรสูง) ภาษากูย (หรือกวย หรือส่วย) และภาษาเยอ[5]
เทศบาลเมืองศรีสะเกษแบ่งเขตการปกครองออกเป็นชุมชนจำนวน 46 ชุมชน ได้แก่
- ชุมชนคุ้มกลาง
- ชุมชนโนนสวรรค์
- ชุมชนสะพานขาว
- ชุมชนหนองม่วง
- ชุมชนโนนเขวา
- ชุมชนโนนสำราญ
- ชุมชนหนองหล่ม
- ชุมชนหนองแดง
- ชุมชนพันทาน้อย
- ชุมชนโนนสำนักมิตรภาพ
- ชุมชนโนนทรายทอง
- ชุมชนหนองโพธิ์
- ชุมชนกุดหวาย
- ชุมชนโนนเค็ง
- ชุมชนเมืองใหม่สะพานขาว
- ชุมชนวัดเลียบ
- ชุมชนพันทาใหญ่
- ชุมชนไกรภักดี
- ชุมชนหัวนา
- ชุมชนป่าม่วง
- ชุมชนหนองอุทัย
- ชุมชนมงคลสมบัติ
- ชุมชนผดุงธรรม
- ชุมชนศรีสำราญ
- ชุมชนสวนสมเด็จ
- ชุมชนวัดหลวง
- ชุมชนหนองคู
- ชุมชนทุ่งนาดี
- ชุมชนหนองเม็ก
- ชุมชนเมืองเก่าหลักเมือง
- ชุมชนหนองยวน
- ชุมชนสนามบิน
- ชุมชนหนองยาง
- ชุมชนมารีหนองแคน
- ชุมชน ร.ส.พ.
- ชุมชนโนนหนามแท่ง
- ชุมชนต้นโก
- ชุมชนศรีนครลำดวน
- ชุมชนตลาดนอก
- ชุมชนหนองกะลา
- ชุมชนท่าเรือ
- ชุมชนหนองตะมะ
- ชุมชนศรีมงคล
- ชุมชนวัดเจียงอี
- ชุมชนวัดพระโต
- ชุมชนศิริทรัพย์ทวีโชค
การศึกษา
[แก้]เขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา ประกอบด้วยสถานศึกษาที่สำคัญในแต่ละระดับ ดังนี้
ระดับอุดมศึกษา
ระดับอาชีวศึกษา |
ระดับมัธยมศึกษา |
ระดับอนุบาลและประถมศึกษา
|
สาธารณสุข
[แก้]- โรงพยาบาล จำนวน 3 แห่ง
- โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
- โรงพยาบาลศูนย์ศรีสะเกษ 788 เตียง
- โรงพยาบาลเอกชน
- โรงพยาบาลประชารักษ์เวชการ 66 เตียง
- โรงพยาบาลพริ้นซ์ศรีสะเกษ
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 5 แห่ง
- คลินิกทางการแพทย์ 33 แห่ง
การพาณิชยกรรมและบริการ
[แก้]
สถานประกอบการด้านพาณิชยกรรม
|
สถานประกอบการด้านบริการที่พักและโรงแรม
|
สถานประกอบการด้านบริการธุรกรรมทางการเงิน
|
โครงสร้างและบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน
[แก้]
การประปา แหล่งน้ำและระบบชลประทาน
|
ถนนและพื้นผิวการจราจรทางบก
|
พลังงานไฟฟ้าและแสงสว่าง
|
การกีฬาและสันทนาการ
[แก้]- สวนสาธารณะ 7 แห่ง
- พื้นที่สีเขียวเพื่อภูมิทัศน์ 7 แห่ง
- ลานกีฬากลางแจ้งพร้อมอุปกรณ์ออกกำลังกาย 21 แห่ง
- สนามกีฬามาตรฐาน 2 แห่ง : 1. สนาม "ศรีนครลำดวน" สนามกีฬากลางจังหวัดศรีสะเกษ 2. สนามกีฬากลางจังหวัดศรีสะเกษ
- สระว่ายน้ำมาตรฐานขนาด 50 เมตร 3 สระ
- สระว่ายน้ำมาตรฐานขนาด 25 เมตร 2 สระ
- สนามมวย 1 แห่ง
- อาคารยิมเนเซียมและอินดอร์สเตเดี้ยม 15 แห่ง
สถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ
[แก้]เป็นสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ แห่งแรกของประเทศ ที่รัฐบาลประกาศจัดตั้งขึ้นจำนวน 12 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ใน พ.ศ. 2523 โดยมีมติเลือกพื้นที่ป่าธรรมชาติดั้งเดิมบริเวณนี้เพื่อดำเนินการปรับปรุงพัฒนาจัดตั้งเป็น "สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ" จนแล้วเสร็จและเปิดใน พ.ศ. 2524 บนเนื้อที่ 237 ไร่ ทั้งนี้ มูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานและระดมทุนทั้งเป็นค่าก่อสร้างและกองทุนสำหรับการดูแลรักษา โดยเป็นผู้ดูแลร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของสวน
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขตเทศบาล เป็นสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเมืองศรีสะเกษ มีความชุ่มชื้นและสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แวดล้อมด้วยลำห้วยปูน ห้วยระกำ เป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าไทยและต่างประเทศหลายชนิด อาทิ ไก่ฟ้าหลายพันธุ์ กวาง เม่น นกกระจอกเทศ จระเข้ งู นกแร้ง เต่า ตลอดจนฮิปโปโปเตมัส และสัตว์อื่นๆ อีกจำนวนมาก สัตว์หลายชนิดเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นอาศัยอยู่เดิมในพื้นที่ป่าอันเป็นที่ตั้งของสวน ซึ่งเปิดให้เข้าชมในลักษณะสวนสัตว์ขนาดย่อมสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งทัศนศึกษาของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง
ลักษณะเด่นของสวนคือความเขียวชอุ่มด้วยสวนพฤกษศาสตร์ไม้ดอกนานาพรรณและไม้ยืนต้น อันเป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ "ลำดวน" และ " ดอกลำดวน" ซึ่งถือเป็นต้นไม้และดอกไม้สัญลักษณ์ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ที่ขึ้นหนาแน่นอยู่ในพื้นที่นี้จำนวนมากกว่า 50,000 ต้น ระหว่างเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ต้นลำดวนออกดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลทั้งในเขตสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ และพื้นที่เขตเทศบาลซึ่งมีต้นลำดวนปลูกอยู่ตามแนวถนนทุกสาย เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดให้มี"เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ" ขึ้นบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ เป็นประจำทุกปี เป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
[แก้]ใน พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ไว้ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ บริเวณทางเข้า เพื่อเป็นราชสักการะและถวายพระเกียรติหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม
อนุสาวรีย์พระนางศรีสระเกศ
[แก้]ประดิษฐานอยู่ทางตอนเหนือของเขตเทศบาล บนถนนศรีสะเกษ ใกล้กับสถานีรถไฟศรีสะเกษและวัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) องค์พระนางศรี เป็นประติมากรรมรูปหล่อสร้างด้วยทองเหลืองรมดำ ประดิษฐานอยู่เหนือแท่นหินอ่อน บนฐานล่างทรงกลม รูปหล่อพระนางศรีประทับนั่งในอิริยาบถกำลังสระเกศ (เส้นผม) สอดคล้องกับนามเมือง "ศรีสระเกศ" หรือ "ศรีสะเกษ" ดังปรากฏในตำนานเมือง กล่าวว่าพระนางศรีผู้เป็นธิดาพญาขอม ได้เป็นผู้สร้างเมืองศรีสะเกษตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรขอม พระนางศรีได้สรงน้ำและสระเกศ (ผม) ที่สระกำแพงซึ่งเป็นบารายหรือสระน้ำประจำเทวสถานสำคัญในสมัยนั้นคือปราสาทสระกำแพงใหญ่และปราสาทสระกำแพงน้อย จึงเป็นที่มาของชื่อ "ศรีสะเกษ" ("ศรีสระเกศ")
อนุสาวรีย์พระนางศรีสระเกศ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวศรีสะเกษ และถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของเมือง นอกจากนั้น บริเวณอนุสาวรีย์พระนางศรีสระเกศ เป็นที่รู้จักของชาวเทศบาลเมืองศรีสะเกษและประชาชนชาวศรีสะเกษโดยทั่วไปในชื่อ "วงเวียนแม่ศรี" หรือ "วงเวียนพระนางศรี" ซึ่งเป็นวงเวียนการจราจรอีกแห่งหนึ่งภายในเขตเทศบาล
อ้างอิง
[แก้]- ↑ [1] ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง
- ↑ ข้อมูลเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp เก็บถาวร 2011-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามเทศบาลเมืองขุขันธ์ จังหวัดขุขันธ์ เป็นเทศบาลเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พุทธศีกราช ๒๔๘๑ เก็บถาวร 2012-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 ตอน 0ก 6 มีนาคม พ.ศ. 2481
- ↑ ข้อมูลเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp เก็บถาวร 2011-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เทศบาลเมืองศรีสะเกษ.แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลเมืองศรีสะเกษ (พ.ศ. 2554-2559) .จัดทำโดยเทศบาลเมืองศรีสะเกษ, 2554.
- ↑ ข้อมูลการให้บริการน้ำประปาในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ณ เดือนเมษายน 2554 จากการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดศรีสะเกษ
- ↑ ข้อมูลการให้บริการไฟฟ้าในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 จากกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดศรีสะเกษ
- เทศบาลเมืองศรีสะเกษ.แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลเมืองศรีสะเกษ (พ.ศ. 2554-2559) .จัดทำโดยเทศบาลเมืองศรีสะเกษ, 2554
- เทศบาลเมืองศรีสะเกษ.แผนการดำเนินงานเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ประจำปีงบประมาณ 2555.จัดทำโดยเทศบาลเมืองศรีสะเกษ, 2554
- เทศบาลเมืองศรีสะเกษ.แผนพัฒนาเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ระยะสามปี (พ.ศ. 2555-2557) เพิ่มเติม ฉบับที่ 1.จัดทำโดยเทศบาลเมืองศรีสะเกษ, 2554