เทศบาลตำบลกำแพง (จังหวัดศรีสะเกษ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทศบาลตำบลกำแพง
สำนักงานเทศบาลตำบลกำแพง
สำนักงานเทศบาลตำบลกำแพง
ตราอย่างเป็นทางการของเทศบาลตำบลกำแพง
ตรา
คำขวัญ: 
เมืองน่าอยู่ มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภคครบครัน สืบสานประเพณี คุณภาพชีวิตดีด้วยธรรมาภิบาล
ประเทศ ไทย
จังหวัดศรีสะเกษ
อำเภออุทุมพรพิสัย
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีปิติ เทพเกษตรกุล
พื้นที่
 • ทั้งหมด1.20 ตร.กม. (0.46 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2554)
 • ทั้งหมด4,034 [1] คน
 • ความหนาแน่น3,362.00 คน/ตร.กม. (8,707.5 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.05331001
ที่อยู่
สำนักงาน
เลขที่ 111 ถนนสุขาภิบาล 1 หมู่ที่ 7 ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ 33120
โทรศัพท์0 4569 1692
โทรสาร0 4569 2497
เว็บไซต์kamphaenglocal.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

กำแพง เป็นเทศบาลตำบลแห่งหนึ่งในอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ[2] เป็น 1 ในจำนวนเทศบาลตำบล 23 แห่งของจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน ถือเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษและในประเทศไทย เขตเทศบาลตั้งอยู่ในบริเวณตอนบนของจังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกโดยทางรถยนต์ประมาณ 24 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอและหน่วยงานการบริหารราชการระดับภูมิภาคอื่น ๆ ของอำเภออุทุมพรพิสัย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสารของอำเภอ

ประวัติ[แก้]

เทศบาลตำบลกำแพง เดิมมีฐานะเป็น"สุขาภิบาลกำแพง" จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2498[3] แล้วได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลกำแพง ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 [4]

ภูมิศาสตร์[แก้]

สภาพภูมิประเทศ[แก้]

เขตเทศบาลตำบลกำแพงตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นดินร่วนปนทราย ความอุดมสมบูรณ์ของดินค่อนข้างต่ำ มีลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ ลำห้วยทับทัน ซึ่งไหลมาจากต้นน้ำในเขตเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดศรีสะเกษกับจังหวัดสุรินทร์

อาณาเขต[แก้]

ครอบคลุมบางส่วนของตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย โดยมีอาณาเขตในทิศทางต่าง ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ตั้งแต่หลักเขตที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่ทิศตะวันออกของทางไปอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ด้านทิศเหนือของถนนราษฎร์บำรุง จากหลักเขตที่ 1 เลียบตามทิศเหนือ ของถนนราษฎร์บำรุง ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงจุดที่อยู่ห่างจากทางไปตำบลแต้ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งเป็นหลักเขตที่ 2
  • ทิศตะวันออก จากหลักเขตที่ 2 ขนานกับถนนไปตำบลทุ่งไชย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านทางรถไฟสายนครราชสีมา – อุบลราชธานี ตรงหลักกิโลเมตรที่ 494 ถึงจุดที่อยู่ห่างจากทางรถไฟ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งเป็นหลักเขตที่ 3
  • ทิศใต้ จากหลักเขตที่ 3 ขนานกับทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถึงเขต อบต.สระกำแพงใหญ่ ซึ่งเป็นหลักเขตที่ 4
  • ทิศตะวันตกจากหลักเขตที่ 4 เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนบรรจบกับหลักเขตที่ 1

เขตการปกครอง[แก้]

เขตการปกครองภายในพื้นที่เทศบาลแบ่งออกเป็น 8 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนตำแย, ชุมชนฝั่งธน, ชุมชนรุ่งทิพย์, ชุมชนเทศบาล, ชุมชนศาลเจ้าปู่ตา, ชุมชนวัดประชานิมิต, ชุมชนตลาดอุทุมพรพิสัย และชุมชนโรงพยาบาล–ตำรวจ

โครงสร้างการบริหารและปฏิบัติราชการ[แก้]

  • ฝ่ายบริหาร ได้แก่ คณะเทศมนตรี ประกอบด้วยนายกเทศมนตรี 1 คน (ปัจจุบันคือนายปิติ เทพเกษตรกุล), รองนายกเทศมนตรี 2 คน, ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี 1 คน และเลขานุการนายกเทศมนตรี 1 คน
  • ฝ่ายนิติบัญญัติ(ควบคุมฝ่ายบริหาร) ได้แก่ สภาเทศบาล และควบคุมฝ่ายบริหาร ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 12 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีประธานสภา 1 คน, รองประธานสภา 1 คน
  • การปฏิบัติราชการ มีปลัดเทศบาล เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและพนักงานจ้างเทศบาล มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย ประกอบด้วยส่วนการบริหารคือ สำนักงานปลัดเทศบาล กองการศึกษา กองคลัง กองช่าง และกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

ตราสัญลักษณ์[แก้]

รูปปราสาทหินภายในพื้นที่รูปวงกลมด้านใน ล้อมรอบด้วยวงกลมเป็นกรอบนอก ครึ่งบนของกรอบวงกลมนอกเขียนข้อความ "เทศบาลตำบลกำแพง" ครึ่งล่างของกรอบวงกลมนอกเขียนข้อความ "จังหวัดศรีสะเกษ"

ปราสาทหิน หมายถึง ปราสาทสระกำแพงใหญ่และปราสาทสระกำแพงน้อย อันเป็นปราสาทขอม โบราณสถานสำคัญของอำเภออุทุมพิสัยและจังหวัดศรีสะเกษ

ประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์[แก้]

ในเขตเทศบาลประกอบด้วยประชากร จำนวนทั้งสิ้น 4,034 คน จำแนกเป็นเพศชาย 1,854 คน เพศหญิง 2,180 คน มีครัวเรือนทั้งสิ้น 1,107 ครัวเรือน [5] กลุ่มชาติพันธุ์หลักในเขตเทศบาลได้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูย (หรือกวยหรือส่วย)ซึ่งพูดภาษากูย,และชาวลาวซึ่งพูดภาษาลาว [6]

โครงสร้างสังคม[แก้]

การศึกษา[แก้]

  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลกำแพง)
  • โรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่ง (โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย, โรงเรียนเคียวนำ ,โรงเรียนสระกำแพงวิทยาคม)
  • สถานศึกษานอกระบบ 1 แห่ง (ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภออุทุมพรพิสัย)

สถาบันและองค์การทางศาสนา[แก้]

  • วัด / สำนักสงฆ์ 1 แห่ง (วัดประชานิมิต)

การแพทย์และสาธารณสุข[แก้]

  • โรงพยาบาลชุมชน (รพช) 1 แห่ง (โรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย)
  • สำนักงานสาธารณสุข 1 แห่ง (สำนักงานสาธารณสุขอำเภออุทุมพรพิสัย)

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน[แก้]

การกีฬาและสันทนาการ[แก้]

  • สวนสาธารณะ 1 แห่ง
  • สวนสุขภาพ 1 แห่ง
  • สนามเด็กเล่น 1 แห่ง
  • สนามกีฬา 1 แห่ง

เศรษฐกิจ[แก้]

ตลาดสดและย่านการค้าหลักในเทศบาลตำบลกำแพง

สภาพโดยทั่วไปทางเศรษฐกิจของประชากรในเขตเทศบาลตำบลกำแพง มาจากการเกษตรและธุรกิจทางการเกษตร การค้าปลีก การบริการ อุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรับจ้าง การรับราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

หน่วยธุรกิจในเขตเทศบาล ได้แก่

  • ประเภทพาณิชยกรรม : ร้านจำหน่ายของชำ, ร้านค้าเสื้อผ้า, ร้านอาหารและเครื่องดื่ม, ร้านอุปกรณ์ไฟฟ้า, ร้านเสริมสวย, ร้านจำหน่ายยานพาหนะ(หนาแน่นทางตอนเหนือและตอนกลางของเขตเทศบาล ตามแนวถนนเพียรพจนกิจ)
  • ประเภทอุตสาหกรรม : โรงซ่อมสร้างเครื่องยนต์, โรงสีข้าว, (หนาแน่นทางตอนใต้ของเขตเทศบาล ตามแนวถนนสุขาภิบาล 2)
  • ประเภทบริการธุรกรรมทางการเงิน : ธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐบาลและเอกชน (ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารไทยพาณิชย์)

โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค[แก้]

การคมนาคมและขนส่ง[แก้]

ถนนสายหลัก ย่านเศรษฐกิจในเทศบาลตำบลกำแพง
  • ทางรถยนต์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (นครราชสีมา-บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี) เส้นทางดังกล่าวนี้เชื่อมระหว่างตัวจังหวัดศรีสะเกษกับเขตเทศบาลตำบลกำแพง(ตัวอำเภออุทุมพรพิสัย) โดยจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ มาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (ช่วงศรีสะเกษ-สุรินทร์)เป็นระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร มีรถโดยสารประจำทางให้บริการคือรถตู้ปรับอากาศสายศรีสะเกษ-สุรินทร์ และรถบัสสายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย

นอกจากนั้น ยังมีบริการรถยนต์โดยสารปรับอากาศจากต้นทางในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอุบลราชธานี หยุดรับส่งผู้โดยสารจากอำเภออุทุมพรพิสัย ปลายทางกรุงเทพมหานคร

  • ทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ(นครราชสีมา-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี)มีบริการรถไฟธรรมดา รถเร็ว รถด่วนและรถด่วนพิเศษ หยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสารที่สถานีรถไฟอุทุมพรพิสัย ในเขตเทศบาลตำบลกำแพง

ระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร[แก้]

  • ชุมสายโทรศัพท์และโทรคมนาคม 1 แห่ง (ชุมสายโทรศัพท์และโทรคมนาคมอุทุมพรพิสัย)
  • ที่ทำการไปรษณีย์ 1 แห่ง (ไปรษณีย์ไทย อุทุมพรพิสัย)

พลังงานไฟฟ้า[แก้]

ได้รับบริการจากสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภออุทุมพรพิสัย

การประปาและแหล่งน้ำธรรมชาติ[แก้]

ได้รับบริการน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค อำเภออุทุมพรพิสัย

อ้างอิง[แก้]

  1. ข้อมูลสรุปเทศบาลตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp
  2. ข้อมูลสรุปเทศบาลตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp เก็บถาวร 2011-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2498
  4. จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9ก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีผลใช้บังคับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
  5. ข้อมูลสรุปเทศบาลตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp เก็บถาวร 2011-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. กรมศิลปากร,วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ, หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ. (ปรุงศรี วัลลิโภดม : บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2544.
  • กรมศิลปากร,วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ, หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ. (ปรุงศรี วัลลิโภดม : บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2544.
  • เทศบาลตำบลกำแพง.จดหมายข่าว เทศบาลตำบลกำแพง.จัดทำโดยเทศบาลตำบลกำแพง (ฉบับเดือนมิถุนายน 2554)
  • เทศบาลตำบลกำแพง.รายงานติดตามประเมินผลการดำเนินงาน เทศบาลตำบลกำแพง ปี 2553.จัดทำโดยเทศบาลตำบลกำแพง

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]