เทศบาลเมืองบ้านพรุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทศบาลเมืองบ้านพรุ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันThetsaban Mueang Ban Phru
ศาลาขุนนิพัทธ์จีนนครอนุสรณ์ สุสานบ้านพรุ
ศาลาขุนนิพัทธ์จีนนครอนุสรณ์ สุสานบ้านพรุ
ตราอย่างเป็นทางการของเทศบาลเมืองบ้านพรุ
ตรา
ทม.บ้านพรุตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา
ทม.บ้านพรุ
ทม.บ้านพรุ
ที่ตั้งของเทศบาลเมืองบ้านพรุ
พิกัด: 6°56′52.5″N 100°28′45.5″E / 6.947917°N 100.479306°E / 6.947917; 100.479306พิกัดภูมิศาสตร์: 6°56′52.5″N 100°28′45.5″E / 6.947917°N 100.479306°E / 6.947917; 100.479306
ประเทศ ไทย
จังหวัดสงขลา
อำเภอหาดใหญ่
พื้นที่
 • ทั้งหมด17.97 ตร.กม. (6.94 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2561)[1]
 • ทั้งหมด25,128 คน
 • ความหนาแน่น1,398.33 คน/ตร.กม. (3,621.7 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.04901102
ที่อยู่
สำนักงาน
ถนนเทศบาลใหม่ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90250
เว็บไซต์www.banprucity.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เทศบาลเมืองบ้านพรุ เป็นเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บ้านพรุได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองบ้านพรุ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2545[2]

ประวัติ[แก้]

ประวัติความเป็นมาของเมืองบ้านพรุนั้นไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนเพียงพอที่จะนำมาอ้างถึงทาง วิชาการได้เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่เป็นเพียงการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่สืบต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน และเท่าที่ค้นพบหลักฐาน ที่เป็นการบันทึก ระบุว่าชื่อของตำบลบ้านพรุนั้นมีที่มาจากภูมิประเทศอันเป็นที่ตั้งซึ่งเมื่อก่อนมีสภาพเป็น “พรุ” กระจายอยู่ ทั่วไป ปัจจุบันพรุก็ยังหลงเหลืออยู่ เช่นพรุพลี พรุค้างคาว เป็นต้น สมาชิกคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านพรุ ตามคำบอกเล่ากันมา ระบุว่า “ตางกเง็ก” ที่มีบ้านเดิมอยู่ที่ควนจง โดยเข้ามาบุกเบิกถางพงเพื่อสร้างบ้านเรือนเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน เพราะพื้นที่ของบ้านพรุนั้นเหมาะสำหรับการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก ทำไร่ ทำนา ทำสวน หรือการเลี้ยงสัตว์ ที่เหมาะกว่าควนจง ที่เป็นที่ดอน ซึ่งหลังจาก ตางกเง็กเข้ามาบุกเบิกระยะหนึ่ง ลูกหลานและเพื่อนบ้านแถบควนจง และใกล้เคียงย้ายถิ่นฐานเข้ามาปักหลักเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น และกลายเป็นหมู่บ้านและตำบลจนถึงปัจจุบัน จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาบอกว่า เมื่อก่อนที่นี่ไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน มีแต่ “หัวบ้าน”แต่ต่อมาหลังจากที่มีกฎหมายปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้น จึงได้มีการแต่งตั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านขึ้น ซึ่งมี “นายบุญทอง ศรีสุวรรณโณ” เป็นกำนันคนแรกของตำบลบ้านพรุ

ความเจริญของตำบลบ้านพรุที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการขยายตัวของชุมชน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศตั้งตำบลบ้านพรุยกฐานะเป็น "สุขาภิบาลบ้านพรุ" ตามประกาศลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 82 ตอนที่ 103 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 โดยกำหนดให้มีกรรมการสุขาภิบาล 11 คน มาจากการแต่งตั้ง 7 คน และอีก 4 คน เป็นกรรมการที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต่อมาใน พ.ศ. 2530 สุขาภิบาลได้มีประธานที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนายอำเภอเป็นที่ปรึกษา อย่างไรก็ตามความเจริญของบ้านพรุก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้มีการยกฐานะจากสุขาภิบาลบ้านพรุ เป็น "เทศบาลตำบลบ้านพรุ" ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งชุมชนในตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2536 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 110 ตอนที่ 223 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยมีผลบังคับตั้งแต่ 26 มกราคม พ.ศ. 2537 และได้ยกฐานะเป็น “เทศบาลเมืองบ้านพรุ” ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองบ้านพรุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119 ตอนที่ 53ก ลงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2545 มีพื้นที่ 17.97 ตารางกิโลเมตร

ภูมิศาสตร์[แก้]

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

เทศบาลเมืองบ้านพรุ ตั้งอยู่ในตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดสงขลาประมาณ 38 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 965 กิโลเมตร มีอาณาเขตและเขตการปกครองจำนวน 17.97 ตารางกิโลเมตร ดังนี้

  • ทิศเหนือ จด เทศบาลเมืองคอหงส์
  • ทิศตะวันออก จด เทศบาลตำบลบ้านไร่
  • ทิศใต้ จด จด เทศบาลตำบลบ้านไร่
  • ทิศตะวันตก จด เทศบาลเมืองควนลัง, เทศบาลตำบลทุ่งลาน

ภูมิอากาศและภูมิประเทศ[แก้]

สภาพภูมิประเทศ เทศบาลเมืองบ้านพรุตั้งอยู่ที่ราบ โดยทิศตะวันออกเป็นเนินแล้วค่อย ๆลาดต่ำไปทางทิศตะวันตกจนจดคลองอู่ตะเภาและทิศใต้เป็นที่สูงแล้วค่อย ๆ ลาดต่ำไปทางทิศเหนือ สภาพภูมิอากาศ เทศบาลเมืองบ้านพรุ มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน แบ่งเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนที่สุดในเดือนเมษายน แต่เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของเทศบาลเมืองบ้านพรุอยู่ใกล้ภูเขาและไม่ห่างจากทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทยฝั่งตะวันออกมากนัก รวมทั้งสภาพพื้นที่เป็นเขตป่าสวนยางทั่วไป ทำให้สภาพอากาศไม่ร้อนจัด ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมกราคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกชุกต่อเนื่องกันและโดยทั่วไปจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบางช่วง เทศบาลเมืองบ้านพรุ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวมตลอดปีประมาณ 2,268.8 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตก 187 วัน ฝนตกมากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม วัดได้ประมาณ 27 มิลลิเมตร ฝนตกน้อยที่สุดในช่วงเดือนเมษายน วัดได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดทั้งปีประมาณ 22.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดทั้งปีประมาณ 35.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคมเฉลี่ย 21.2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดในเดือนมีนาคมเฉลี่ย 36.7 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ทั้งปีต่ำสุดเฉลี่ยทั้งปี 55 % ความชื้นสัมพัทธ์ทั้งปีสูงสุดเฉลี่ย 95 %

แหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ[แก้]

มีธารน้ำที่สำคัญ คือ คลองอู่ตะเภา คลองหามนม คลองหมอ และคลองวัดพระบาท มีพรุ (ที่ลุ่มมีน้ำขัง) ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ พรุค้างคาว และพรุพลี สำหรับทรัพยากรป่าไม้ ลักษณะป่าไม้มักเป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ ซึ่งไม่ใช่ป่าไม้ตามความ หมายป่าธรรมชาติ แต่เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งยังมีอยู่มากบริเวณฝั่งตะวันออกของถนนกาญจนวนิช และบริเวณริมคลองอู่ตะเภา

ประชากรและชุมชน[แก้]

ประชากร
เทศบาลเมืองบ้านพรุ
(รายปี)
ปีประชากร±%
2537 14,349—    
2538 14,431+0.6%
2539 14,914+3.3%
2540 15,236+2.2%
2541 15,731+3.2%
2542 16,012+1.8%
2543 16,379+2.3%
2544 16,941+3.4%
2545 17,492+3.3%
2546 17,919+2.4%
2547 17,952+0.2%
2548 18,567+3.4%
2549 19,275+3.8%
2550 19,835+2.9%
2551 20,388+2.8%
2561 25,128+23.2%
อ้างอิง: กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

เทศบาลเมืองบ้านพรุมีประชากรในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 25,128 คน[1] ปัจจุบัน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 ชุมชน

เศรษฐกิจ[แก้]

ลักษณะพื้นที่ของเทศบาลเมืองบ้านพรุ เป็นที่ราบลุ่มจึงเหมาะสำหรับการประกอบเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน ประชากรส่วนใหญ่จึงมีอาชีพ ทำไร่ ทำสวน โดยที่เทศบาลเมืองบ้านพรุ มีพื้นที่ต่อเนื่องกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ จึงมีประชากรบางส่วนประกอบอาชีพประกอบการค้าและรับจ้างรองลงมา จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2547 ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจังหวัดสงขลาเฉลี่ย 14,738 บาท/เดือน รายได้เฉลี่ย 15,481บาท/เดือน อัตราของครัวเรือนที่มีหนี้สิน ร้อยละ 45.80 สภาพทางสังคม ราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธประมาณ 85% นับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 14% และนับถือศาสนาอื่น ๆ ประมาณ 1% ไม่มีปัญหาประชาชนกลุ่มน้อย

การขนส่ง[แก้]

เส้นทางคมนาคมหลัก ๆ ในเขตเทศบาลเมืองบ้านพรุ ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อกับอำเภอใกล้เคียง ได้แก่

  • ถนนกาญจนวนิช หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (กรุงเทพมหานคร–คลองพรวน) เป็นเส้นทางสายหลัก เชื่อมระหว่างเทศบาลนครหาดใหญ่มุ่งสู่ประเทศมาเลเซียที่ด่านพรมแดนด่านนอกและด่านพรมแดนปาดังเบซาร์
  • ถนนเอเซีย หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (บ้านคลองหวะ–จะนะ) เป็นถนนที่ผ่านทางทิศเหนือสุดของเขตเทศบาลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเทศบาลเมืองบ้านพรุกับเทศบาลเมืองคอหงส์
  • ถนนสายโปะหมอ–บ้านหรั่ง เป็นถนนที่เชื่อมเขตเทศบาลเมืองบ้านพรุกับเขตอำเภอคลองหอยโข่ง ซึ่งสามารถใช้เป็นทางลัดไปสู่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ได้อีกเส้นทางหนึ่ง

การศึกษา[แก้]

ในเขตเทศบาลเมืองบ้านพรุมีสถานศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียน ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา มีทั้งโรงเรียนในสังกัดรัฐบาลและเอกชน โดยมีสถานศึกษาที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองบ้านพรุ ดังนี้

  • ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ปริญญาตรี)
  • โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2 (มัธยมศึกษา)
  • โรงเรียนบ้านโปะหมอ (อนุบาล-ประถมศึกษา)
  • โรงเรียนวัดเทพชุมนุม (อนุบาล-ประถมศึกษา)
  • โรงเรียนกิตติวิทย์บ้านพรุ (เอกชน; อนุบาล-ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา)
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองบ้านพรุ

วัฒนธรรมและประเพณี[แก้]

  • วัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับศาสนา วันสำคัญทางศาสนาและงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา การสมโภชน์และถวายเทียนพรรษา ประเพณีชักพระ วันลอยกระทง การทอดผ้าป่า ทอดกฐิน วันเมาลิค วันฮารีรายอ วันเทศกาลถือศีลอดเดือนรอมฎอน

นอกจากนี้ชาวบ้านพรุยังมีวัฒนธรรมที่นับถือเคารพบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายายอย่างค่อนข้างเหนียวแน่น ซึ่งแสดงให้เห็นในประเพณีสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ ประเพณีวันว่าง และ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ และบางตระกูลก็มีความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอตายาย ตายายโนรา ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนในลักษณะความเป็นเครือญาติ ยังคงมีอยู่มากในสังคมชาวบ้านพรุ

  • ศิลปะการละเล่นในท้องถิ่น ชาวบ้านพรุเป็นผู้ที่มีความนิยมและชื่นชอบในศิลปะการละเล่นอยู่ไม่น้อย โดย 2 สาขาของศิลปพื้นบ้านที่มีมาแต่ดั้งเดิมคือ มโนราห์ และหนังตะลุง ต่อมาระยะหลังก็มีการละเล่นอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาในสังคม เช่น ดนตรีไทย กลองยาว บางยุคเคยมีวงดนตรีสากล (ลูกทุ่ง) อีกด้วย
  • มโนราห์ มโนราห์ดั้งเดิมของตำบลบ้านพรุมี 3 คณะ คือ คณะมโนราห์แสง รักษ์วงศ์ , คณะมโนราห์ไล่ จันทร์ประทีป และ คณะมโนราห์อ่ำ อ่อนสันต์ สำหรับคณะมโนราห์แสง และมโนราห์ไล่ ขณะนี้นายโรงได้เสียชีวิตไปแล้ว ทายาทรุ่นต่อมาก็มิได้รับงานแสดง ส่วนมโนราห์อ่ำ อ่อนสันต์ ก็เพิ่งเสียชีวิต เมื่อประมาณกลางปี 2548 แต่มีนายเจริญ อ่อนสันต์ บุตรชายเป็นหัวหน้าคณะแทนและยังรับงานมโนราห์ลงครูอยู่

นอกจากนี้ที่โรงเรียนวัดเทพชุมนุม ขณะนี้ได้มีการฝึกสอนมโนราห์แก่เด็กนักเรียน โดยมีอาจารย์วินัส ทองรัตน์ เป็นอาจารย์ผู้สอน ซึ่งนักเรียนที่เรียนก็มีความสามารถแสดงได้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม และได้รับการเชิญให้ไปแสดงตามงานต่าง ๆ อยู่เสมอ

  • หนังตะลุง หนังตะลุงรุ่นดั้งเดิมของตำบลบ้านพรุ เท่าที่หาข้อมูลได้ ได้แก่ หนังคงทอง หนังเกตุ หนังสงค์ หนังนวน หนังหนูแก้ว หนังศรีทุ่ม ซึ่งล้วนเสียชีวิตไปหมดแล้ว สำหรับยุคปัจจุบันมีนายหนังคนสำคัญที่มาพำนักอาศัยอยู่ในตำบลบ้านพรุคือ นายหนังอาจารย์นครินทร์ ชาทอง (ศิษย์หนังกั้น ทองหล่อ) ศิลปินผู้มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลเกียรติยศหลายรางวัล อาจารย์นครินทร์ได้สอนลูกศิษย์ไว้มาก และหลายคนกลายเป็นนายหนังผู้มีความสามารถและมีงานแสดงไม่ขาดสาย ซึ่งในบ้านพรุปัจจุบันมีหนังตะลุงทั้งที่เป็นลูกศิษย์ และหลานศิษย์ของอาจารย์นครินทร์ ประมาณ 15 โรง
  • ดนตรีไทย ปัจจุบันในเทศบาลบ้านพรุมีผู้ทำกิจกรรมดนตรีไทยอยู่ 2 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่ม “วงศาคณาญาติ” มีนายปรีชา มุสิกะไชย เป็นหัวหน้ากลุ่ม ได้รวมตัวผู้สนใจและมีความสามารถทางดนตรี ร่วมฝึกซ้อมและแสดงช่วยเหลือตามงานศพของญาติมิตรในเทศบาลบ้านพรุ ในลักษณะการช่วยงาน มิใช่การรับจ้าง ลักษณะวงดนตรีเป็นเครื่องดนตรีไทยผสมกับเครื่องดนตรีสากล
  2. กลุ่ม “สินพัฒนวิทย์” มีนายสาย จันทรพัฒน์ เป็นบุคลากรหลักลักษณะกิจกรรมมุ่งไปทางด้านการสอนดนตรีไทยแก่เยาวชนกลุ่มนี้ไม่ค่อยออกแสดงมากนัก แต่เน้นการสร้างเยาวชน โดยในปี 2546 ได้ส่งวงเข้าประกวดในระดับภาคใต้
  • กลองยาว ปัจจุบันมีผู้สนใจกิจกรรมกลองยาวได้รวมกลุ่มฝึกซ้อมจนสามารถออกแสดงตามงานต่างๆ อยู่ 2 กลุ่มคือ คณะแม่เรือน (นางบุญเรือน งามศิริ) และคณะหนังหนุ้ง (นายจุมพล หนูอุไร)

กีฬาและนันทนาการ[แก้]

กีฬาบ้านพรุเกมส์ เป็นกีฬาประเพณีสำคัญของชาวบ้านพรุที่จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลา 36 ปี สมัยก่อนเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างชุมชน โดยจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี ประกอบด้วยการแข่งขันกีฬาหลายประเภท ซึ่งประเภทที่สำคัญและได้รับความสนใจมากที่สุด คือ กีฬาฟุตบอล สำหรับสถานที่เล่นกีฬา ปัจจุบันมีสนามกีฬาเมืองหลักพรุค้างคาว ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขตเทศบาลเมืองบ้านพรุ เป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ อยู่ในความดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย

สถานที่ออกกำลังกายอื่น ๆ ของชาวบ้านพรุ ได้แก่ สนามฟุตบอลวัดเทพชุมนุม สนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านโปะหมอ สนามฟุตบอลสถานีรถไฟบ้านพรุ นอกจากนี้ยังมีลานกีฬา และสวนหย่อมต่าง ๆ ส่วนสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านพรุที่สำคัญคือ สวนสาธารณะพรุค้างคาว ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 250 ไร่ เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะโดยเทศบาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2561 ท้องถิ่นเทศบาลเมืองบ้านพรุ". ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองบ้านพรุ พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]