ข้ามไปเนื้อหา

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออื่นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
สถานะเปิดให้บริการ
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร และ สมุทรปราการ
ปลายทาง
จำนวนสถานี23
เว็บไซต์mrta-yellowline.com ebm.co.th
การดำเนินงาน
รูปแบบรางเดี่ยว
ระบบรถไฟฟ้ามหานคร
ผู้ดำเนินงานบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด
(กลุ่มบีทีเอส)
(สัญญาสัมปทานโครงการสิ้นสุด พ.ศ. 2596)
ศูนย์ซ่อมบำรุงศูนย์ซ่อมบำรุงศรีเอี่ยม
ขบวนรถอัลสตอม อินโนเวีย โมโนเรล 300 (4 ตู้ต่อขบวน)
ผู้โดยสารต่อวัน72,807[1]
ประวัติ
เปิดเมื่อ3 กรกฎาคม 2566 (2566-07-03)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง30.4 km (18.9 mi)[2]
จำนวนทางวิ่ง2
ลักษณะทางวิ่งทางยกระดับ
ระบบจ่ายไฟ750 V DC รางที่สาม
ความเร็ว80 km/h (50 mph)
อาณัติสัญญาณอัลสตอม CITYFLO 650 CBTC ATC ภายใต้ ATO GoA 4 (ระบบควบคุมรถไฟอัตโนมัติเต็มรูปแบบ), พร้อมระบบย่อยของ ATP, ATS และ CBI[3]
แผนที่เส้นทาง

สายเฉลิมรัชมงคล
ลาดพร้าว
สายเฉลิมรัชมงคล
ภาวนา
โชคชัย 4
ลาดพร้าว 71
ลาดพร้าว 83
มหาดไทย
ลาดพร้าว 101
บางกะปิ
แยกลำสาลี
สายสีส้ม
ศรีกรีฑา
หัวหมาก
สายซิตี้
สายนครวิถี
กลันตัน
ศรีนุช
ศรีนครินทร์ 38
สวนหลวง ร.9
ศรีอุดม
ศูนย์ซ่อมบำรุง
เทพรัตน-ศรีเอี่ยม
ศรีเอี่ยม
ศรีลาซาล
ศรีแบริ่ง
ศรีด่าน
ศรีเทพา
ทิพวัล
สำโรง
สายสุขุมวิท

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (ลาดพร้าว–ศรีนครินทร์–สำโรง) (อังกฤษ: Metropolitan Rapid Transit Nakkhara Phiphat Line)[4] หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (อังกฤษ: MRT Yellow Line) ซึ่งเรียกตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ตลอดจนถึงพื้นที่ส่วนเหนือของจังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยได้รับสัญญาสัมปทานจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2561 ก่อนหยุดการก่อสร้างไประยะหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2564 จนในที่สุดได้เปิดให้สาธารณชนทดลองใช้งานในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566 และมีพิธีเปิดทดลองการเดินรถอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มิถุนายน[5] และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคมปีเดียวกัน[6] โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 ในรูปแบบหุ้นส่วนมหาชน-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โดยให้รัฐบาลโดย รฟม. เป็นผู้ลงทุนจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ และเอกชนเป็นผู้ลงทุนในงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินระบบรถไฟฟ้าและกิจการจนครบสัญญา[7]

นาม นัคราพิพัฒน์ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีความหมายว่า "ความเจริญแห่งเมือง" โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับมอบนามเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เส้นทางสายนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2543 โดยเป็นการรวมเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองช่วงรัชโยธิน–ศรีเอี่ยม และสำโรง–ศรีสำโรง ให้เป็นเส้นทางเดียวกัน แต่ได้ถูกนำออกไปเมื่อครั้งปรับปรุงแผนแม่บทปี พ.ศ. 2547 และนำกลับมาอีกครั้งในการปรับปรุงแผนแม่บท พ.ศ. 2549 โดยพิจารณาแยกเส้นทางออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรกให้เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวตั้งแต่รัชดา-ลาดพร้าว จนถึงพัฒนาการแล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้ารางหนักไปจนถึงสถานีสำโรง[8] และใน พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับปรุงเส้นทางสายสีเหลืองให้เป็นรถไฟฟ้าวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ก่อนปรับปรุงใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2553 โดยลดเส้นทางเหลือเพียงช่วงลาดพร้าว–สำโรง และให้ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวทั้งสาย[9]

ภาพรวม

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับเหนือพื้นดินตลอดโครงการ ดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด บริษัทร่วมค้าของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ที่มี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ได้รับสัมปทานโครงการในการร่วมทุนก่อสร้างและดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือ PPP-Net Cost ภายในกรอบระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ตลอดจนพื้นที่ส่วนเหนือของจังหวัดสมุทรปราการ เริ่มต้นเส้นทางจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครตามแนวถนนลาดพร้าว จนถึงบริเวณแยกบางกะปิแนวเส้นทางจะมุ่งลงทิศใต้ตามแนวถนนศรีนครินทร์และเข้าเขตจังหวัดสมุทรปราการ จนถึงแยกศรีเทพาแล้วแนวเส้นทางจะเบนไปทางทิศตะวันตกตามแนวถนนเทพารักษ์ ไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีสำโรง

นอกจากนี้ยังมีการเสนอก่อสร้างเส้นทางส่วนต่อขยายจากแยกรัชดา-ลาดพร้าว ขึ้นไปตามแนวถนนรัชดาภิเษก และสิ้นสุดที่แยกรัชโยธิน รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร จากผู้รับสัมปทาน แต่ไม่ได้มีการก่อสร้างจริงเนื่องจากเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) หลัง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ได้คัดค้านการเกิดขึ้นของส่วนต่อขยายด้วยเหตุผลว่าส่วนต่อขยายจะแย่งผู้โดยสารและรายได้ของสายเฉลิมรัชมงคลไป[10] และจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นลำดับสองของบริษัทดังกล่าว จึงต้องรักษาผลประโยชน์ของบริษัทดังกล่าวก่อนผลประโยชน์ของประชาชน

พื้นที่ที่เส้นทางผ่าน

[แก้]
แขวง/ตำบล เขต/อำเภอ จังหวัด
จอมพล, จันทรเกษม จตุจักร กรุงเทพมหานคร
สามเสนนอก ห้วยขวาง
วังทองหลาง, พลับพลา วังทองหลาง
คลองจั่น, หัวหมาก บางกะปิ
พัฒนาการ, อ่อนนุช สวนหลวง
หนองบอน ประเวศ
บางนาเหนือ, บางนาใต้ บางนา
สำโรงเหนือ, เทพารักษ์ เมืองสมุทรปราการ สมุทรปราการ

แนวเส้นทาง

[แก้]
ทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเหนือถนนลาดพร้าว ช่วงเดอะมอลล์บางกะปิ
ทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเหนือถนนลาดพร้าว ช่วงแยกลาดพร้าว 86 จุดตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นจากสถานีลาดพร้าว อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวถนนลาดพร้าว ข้ามทางพิเศษฉลองรัช เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทาส่วนเหนือ ที่สถานีลาดพร้าว 71 จากนั้นมุ่งหน้าต่อจนถึงแยกบางกะปิโดยทางวิ่งจะซ้อนกับสะพานข้ามแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงลงทิศใต้ตามแนวถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีแยกลำสาลี จากนั้นมุ่งหน้าข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 7และทางรถไฟสายตะวันออก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี ที่สถานีหัวหมาก จากนั้นมุ่งหน้าลงใต้จนถึงแยกศรีเอี่ยม แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปใช้พื้นที่ของสำนักงานทางหลวงที่ 13 แขวงทางหลวงสมุทรปราการ เพื่อเข้าสู่สถานีศรีเอี่ยม ซึ่งตั้งอยู่ข้างอาคารจอดแล้วจรเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเงิน จากนั้นมุ่งหน้าลอดใต้ทางพิเศษบูรพาวิถีข้ามถนนเทพรัตน เข้าสู่พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการจนถึงแยกศรีเทพา แนวเส้นทางจะเบี่ยงขวาเข้าถนนเทพารักษ์ และสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีสำโรง อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รวมระยะทาง 30.4 กิโลเมตร

แผนที่เส้นทาง

แผนที่

รายชื่อสถานี

[แก้]
ชื่อและสีของสถานี รหัสสถานี จุดเปลี่ยนเส้นทาง วันที่เปิดให้บริการ
ลาดพร้าว YL01 สายเฉลิมรัชมงคล สถานีลาดพร้าว 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
ภาวนา YL02
โชคชัย 4 YL03
ลาดพร้าว 71 YL04 สายสีเทา สถานีลาดพร้าว 71 (โครงการ)
ลาดพร้าว 83 YL05
มหาดไทย YL06
ลาดพร้าว 101 YL07
บางกะปิ YL08
แยกลำสาลี YL09 สายสีส้ม สถานีแยกลำสาลี (กำลังก่อสร้าง)
สายสีน้ำตาล สถานีแยกลำสาลี (โครงการ)
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าเดอะมอลล์ บางกะปิ
ศรีกรีฑา YL10
หัวหมาก YL11 สายซิตี้ สถานีหัวหมาก
สายนครวิถี สถานีหัวหมาก (โครงการ)
กลันตัน YL12
ศรีนุช YL13
ศรีนครินทร์ 38 YL14
สวนหลวง ร.9 YL15
ศรีอุดม YL16
ศรีเอี่ยม YL17 สายสีเงิน สถานีวัดศรีเอี่ยม (โครงการ)
ศรีลาซาล YL18
ศรีแบริ่ง YL19
ศรีด่าน YL20
ศรีเทพา YL21
ทิพวัล YL22
สำโรง YL23 สายสุขุมวิท สถานีสำโรง

การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ปัจจุบันมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นอื่น ๆ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อกับสายเฉลิมรัชมงคล สถานีแยกลำสาลี เชื่อมต่อกับสายสีส้ม สถานีหัวหมาก เชื่อมต่อกับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และสถานีสำโรง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท[2]

เส้นทางคมนาคมทางราง

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร

[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้ามหานคร ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว
YL01 สถานีลาดพร้าว BL15 สายเฉลิมรัชมงคล : สถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อโดยตรง
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีในอนาคต
YL09 สถานีแยกลำสาลี OR20 สายสีส้ม : สถานีแยกลำสาลี เชื่อมต่อโดยสกายวอล์ค
BR20 สายสีน้ำตาล : สถานีแยกลำสาลี

รถไฟฟ้าบีทีเอส

[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว
YL23 สถานีสำโรง สายสุขุมวิท : สถานีสำโรง เชื่อมต่อโดยสกายวอล์ค

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว
YL11 สถานีหัวหมาก สายซิตี้ : สถานีหัวหมาก โครงการมีแผนก่อสร้างทางเดินยกระดับเชื่อมสถานี แต่เนื่องจากรอความชัดเจนเรื่องตำแหน่งสถานีสายสีแดงอ่อน จึงยังไม่มีการก่อสร้างทางเดินยกระดับ
อย่างไรก็ตาม บจ. เอเชีย เอรา วัน จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทางเชื่อมยกระดับจากสถานีรถไฟฟ้าสายซิตี้ มาเชื่อมต่อสถานีสายสีเหลืองแทน

รถไฟทางไกล

[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟ สายตะวันออก ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีรถไฟทางไกล หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว
YL11 สถานีหัวหมาก สายตะวันออก : สถานีหัวหมาก เชื่อมต่อโดยตรงจากทางออกที่ 4

รถไฟฟ้ามหานคร

[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าชานเมืองได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีรถไฟฟ้าชานเมือง หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีในอนาคต
YL11 สถานีหัวหมาก สายนครวิถี : สถานีหัวหมาก โครงการมีแผนก่อสร้างทางเดินยกระดับเชื่อมสถานี แต่เนื่องจากรอความชัดเจนเรื่องตำแหน่งสถานีสายสีแดงอ่อน จึงยังไม่มีการก่อสร้างทางเดินยกระดับ

รถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร

[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังเส้นทางรถไฟฟ้าอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานคร ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีรถไฟฟ้าสายสีเทา หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีในอนาคต
YL05 สถานีลาดพร้าว 83 สายสีเทา : สถานีลาดพร้าว 83 เชื่อมต่อโดยสกายวอล์ค
YL17 สถานีศรีเอี่ยม สายสีเงิน : สถานีวัดศรีเอี่ยม

เส้นทางคมนาคมทางน้ำ

[แก้]

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังเรือโดยสารคลองแสนแสบ ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ท่าเรือ หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว
YL09 สถานีแยกลำสาลี  เรือโดยสารคลองแสนแสบ  : ท่าเดอะมอลล์บางกะปิ เชื่อมต่อโดยสกายวอล์ค

รถบริการรับส่ง

[แก้]

ปัจจุบันมีเอกชนร่วมให้บริการรถรับส่งจากสถานีรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ไปยังสถานที่ แต่ละฝ่ายให้บริการอยู่ โดยปัจจุบันมีดังนี้

  • ศรีเอี่ยม (ทางออกหน้าวัดศรีเอี่ยม) – ศรีอุดม – ไบเทค บางนา – BTS บางนา – เซ็นทรัล บางนา – โตโยต้า มอเตอร์ส ประเทศไทย – โรงพยาบาลไทยนครินทร์
  • ศรีเอี่ยม (ทางออกถนนเทพรัตน) – ไบเทค บางนา – BTS อุดมสุข – เซ็นทรัล บางนา – โตโยต้า มอเตอร์ส ประเทศไทย – โรงพยาบาลไทยนครินทร์
  • ศรีเอี่ยม (ทางออกถนนเทพรัตน) – ไบเทค บางนา – BTS บางนาBTS อุดมสุข – เซ็นทรัล บางนา – โตโยต้า มอเตอร์ส ประเทศไทย – โรงพยาบาลไทยนครินทร์

ทางเดินเข้าอาคาร

[แก้]

ในบางสถานีผู้โดยสารสามารถเดินจากสถานีไปยังอาคารต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้ดังนี้

รูปแบบของโครงการ

[แก้]
  • เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว แบบวางคร่อมราง (straddle-beam monorail)
  • ทางวิ่ง ยกระดับที่ความสูง 17-20 เมตร โดยเฉลี่ยตลอดทั้งโครงการ ยกเว้นช่วงสถานีลาดพร้าวยกสูง 23.07 เมตร ช่วงข้ามแยกต่างระดับกรุงเทพกรีฑาตลอดจนตัวสถานีศรีกรีฑายกสูง 25.79 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่สูงสุดของโครงการ และช่วงยกหนีสะพานข้ามแยกศรีลาซาลตลอดจนสถานีศรีลาซาลยกสูง 24.43 เมตร
  • คานรองรับทางวิ่ง (Guideway Beam) เป็นคอนกรีตหล่อสำเร็จ ควบคู่กับการใช้เหล็กหล่อในบางช่วง มีความกว้าง 69 เซนติเมตร สูง 2 เมตร มีรางที่ 3 ตีขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ

[แก้]

โครงการมีศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถกลางที่ถนนศรีนครินทร์ บริเวณด้านข้างโรงแรมเมเปิล ในพื้นที่เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสถานีศรีเอี่ยม

สิ่งอำนวยความสะดวก

[แก้]

มีอาคารจอดแล้วจร (park and ride) 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานีลาดพร้าว อันเป็นอาคารจอดแล้วจรที่ใช้งานร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคล และบริเวณด้านหน้าศูนย์ซ่อมบำรุงซึ่งติดกับสถานีศรีเอี่ยม สามารถจอดรถได้ประมาณ 2,800 คัน และจะมีร้านค้าเช่าบริเวณชั้นล่างของอาคาร

สถานี

[แก้]
ภาพมุมมองด้านข้างของสถานีศรีเอี่ยม

มีสถานีทั้งหมด 23 สถานี เป็นสถานียกระดับทั้งหมด

รูปแบบสถานี

ตัวสถานีมีความยาว 150 เมตร รองรับขบวนรถไฟฟ้าได้สูงสุด 7 ตู้ ต่อหนึ่งขบวน ใช้รูปแบบชานชาลาด้านข้างทั้งหมด มีประตูกั้นชานชาลาความสูง Half-height ทุกสถานี ตัวสถานีถูกออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงออกแบบให้รักษาสภาพผิวจราจรบนถนนให้ได้มากที่สุด และมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน และบริเวณพื้นที่ว่างในบางสถานี

ขบวนรถไฟฟ้า

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ เลือกใช้รถไฟฟ้าโมโนเรลรุ่น อินโนเวีย โมโนเรล 300 จากอัลสตอม (บอมบาร์ดิเอร์ เดิม) ผลิตโดยซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น อัลสตอม ทรานสปอร์เทชัน ซิสเท็ม (CRRC-PATS) ในมณฑลอานฮุย ประเทศจีน ขนาดกว้าง 3.147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูง 4.06 เมตร (เมื่อคร่อมรางทั้งหมด) จุผู้โดยสารสูงสุด 356 คนต่อตู้ (คำนวณจากอัตราความหนาแน่นที่ 4 คน/ตารางเมตร) มีทั้งหมด 30 ขบวน 120 ตู้ รับไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ จากรางที่ 3 ที่ติดตั้งด้านข้างคานรองรับทางวิ่งเพื่อป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ตัวยางล้อใช้ยางรุ่น เอ็กซ์ เมโทร จากมิชลิน ประเทศไทย ติดตั้งระบบระบบปรับอากาศและสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ในอนาคตสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารเป็น 7 ตู้ต่อขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ขบวนรถสามารถขับเคลื่อนจากจุดจอดแต่ละสถานีได้เองโดยไม่ต้องใช้คนควบคุมหรือสั่งการ

ระบบในการเดินรถ

[แก้]

ในการเดินรถไฟฟ้าได้นำระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 จากศูนย์ควบคุมการเดินรถ ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมการเดินรถโดยอัตโนมัติ เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ, สะดวกรวดเร็ว, ปลอดภัยสูงสุด และรองรับการเดินรถไฟฟ้าแบบไม่ใช่คนควบคุมขบวนรถ (Driverless Operation)

การให้บริการ

[แก้]

การดำเนินการ

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ใช้วิธีการมอบสัมปทานทั้งโครงการให้เป็นของเอกชนรายเดียวที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำที่สุด โดยสัมปทานเป็นของ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (Eastern Bangkok Monorail; EBM) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เดิม) ระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน แบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39 เดือน) และดำเนินการงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง 30 ปี โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบคือ ซิโน-ไทย เป็นผู้ดำเนินการงานโยธาทั้งหมดของโครงการ รวมถึงเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลจากอัลสตอม และได้จดสิทธิบัตรเป็นของบริษัทฯ ใน พ.ศ. 2562 ราช กรุ๊ป เป็นผู้สนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในโครงการ และบีทีเอส กรุ๊ป เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในโครงการสูงสุด เป็นผู้ติดตั้งงานระบบที่เกี่ยวข้อง และเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว โดยอีบีเอ็มใช้วิธีการว่าจ้างให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งระบบตลอดอายุสัญญา ในส่วนของการพัฒนาและบริหารพื้นที่บนสถานีและป้ายโฆษณาบนสถานีและบนตัวรถ เป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ตลอดอายุสัญญาสัมปทานเช่นกัน

การให้บริการปกติ

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ เปิดให้บริการเดินรถในแต่ละสถานีไม่เท่ากัน โดยเริ่มเดินรถขบวนแรกในเวลา 05.30 น. จากสถานีลาดพร้าว และสถานีสำโรง แต่เปิดทำการห้องจำหน่ายบัตรโดยสารในเวลา 06.00 - 24.00 น. (ปิดรับชำระด้วยบัตรเครดิตเวลา 22.00 น.) โดยมีความถี่การเดินรถปกติที่ 10 นาที/ขบวน และ 5 นาที/ขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน ในส่วนของเวลาปิดให้บริการตามปกติ รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ จะมีขบวนรถไฟฟ้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารจนถึงเวลา 00.45 น.

อัตราค่าโดยสาร

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยจะจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางที่เดินทางจริงตั้งแต่สถานีเริ่มต้นที่ผู้โดยสารเข้าระบบ (สถานีที่ 0) จนถึงสถานีปลายทาง ซึ่งผู้โดยสารจะมีระยะเวลาอยู่ในระบบได้ไม่เกิน 120 นาที หากเกินจากเวลาที่กำหนดจะต้องชำระค่าปรับเป็นอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เรียกเก็บในขณะนั้น อนึ่งอัตราค่าโดยสารที่ประกาศเรียกเก็บมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ 3 กรกฎาคมของปีที่มีประกาศปรับอัตราค่าโดยสารเป็นลายลักษณ์อักษรจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคมในอีก 2 ปีถัดมา หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงจาก รฟม. โดยรอบการปรับค่าโดยสารครั้งล่าสุด เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 สูงสุด 45 บาท

กรณีเดินทางจากรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ภายใต้เงื่อนไขบัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน ผู้โดยสารจะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบและจ่ายอัตราค่าโดยสารเพิ่มตามระยะทาง โดยที่ผู้โดยสารที่เดินทางจากสายสีเหลืองไปสายสีน้ำเงิน จะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าของสายสีน้ำเงิน 14 บาท และผู้โดยสารที่เดินทางจากสายสีน้ำเงินไปสายสีเหลือง ก็จะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าของสายสีเหลือง 15 บาท และเมื่อรวมกับค่าแรกเข้าของสายสีม่วง 14 บาท ผู้โดยสารจะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าสูงสุด 29 บาท ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องชำระค่าโดยสารเต็มจำนวนทั้งสองระบบ และระบบของ รฟม. จะคืนเงินเข้าบัตรเครดิต/เดบิต EMV ภายใน 3 วันทำการ โดยผู้โดยสารต้องแตะบัตรเข้าระบบอีกระบบหนึ่งภายในระยะเวลา 30 นาที นับจากเวลาที่แตะออกจากระบบ มิเช่นนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์การเชื่อมต่อระบบในการเดินทางครั้งนั้น

ในส่วนของการเดินทางจากรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) ผู้โดยสารสามารถออกบัตรโดยสารเที่ยวเดียวจากสถานีในสายนัคราพิพัฒน์หรือจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือใช้บัตรแรบบิทในการเดินทาง จะสามารถเชื่อมต่อระหว่าง 2 ระบบได้ทันทีโดยเสียบบัตรออกที่สถานีสำโรง จากนั้นประตูอัตโนมัติจะคืนบัตรโดยสารใบเดิมให้นำไปใช้เดินทางต่อ ทั้งนี้ผู้โดยสารต้องนำบัตรกลับมาเสียบเข้าอีกระบบภายในเวลา 30 นาที มิเช่นนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์การใช้บัตรโดยสารเที่ยวเดียวในการเชื่อมต่อระบบ อนึ่ง ผู้โดยสารต้องชำระค่าโดยสารของทั้งสองระบบเต็มจำนวน กล่าวคือค่าโดยสารของสายนัคราพิพัฒน์รวมกับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่หากผู้โดยสารเดินทางด้วยบัตร EMV Contactless จากรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ จะต้องออกจากระบบที่สถานีสำโรง แล้วใช้บัตรแรบบิทหรือบัตรโดยสารเที่ยวเดียวของรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าระบบที่สถานีสำโรงอีกแห่งอีกครั้งเพื่อเดินทางต่อเหมือนกับการเดินทางในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสตามปกติ

ทั้งนี้ อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล และ รฟม. มีนโยบายลดค่าโดยสารให้กับผู้ถือบัตรโดยสารแรบบิทแบบเติมเงิน ประเภทผู้สูงอายุ โดยลดค่าโดยสาร 50% จากอัตราปกติที่เรียกเก็บ กล่าวคือผู้ถือบัตรประเภทผู้สูงอายุจะเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8-23 บาท คิดตามจริงตั้งแต่สถานีที่ 0 รวมกับระยะทางที่เดินทางจริง รวมถึงยังมีนโยบายสนับสนุนค่าโดยสารให้กับผู้รับสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้ได้รับสิทธิ์สามารถยื่นบัตรประชาชนเพื่อออกบัตรโดยสารได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ทั้งนี้ต้องไม่เกินงบค่าโดยสารสูงสุด 500 บาท/เดือน หากเกิน อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จะออกบัตรโดยสารที่มีมูลค่าต่ำสุด (15 บาท) ให้ผู้โดยสารแตะเข้าระบบ และผู้โดยสารต้องชำระส่วนต่างเพิ่ม ณ สถานีปลายทาง และไม่สามารถใช้สิทธิ์เชื่อมต่อระบบเพื่อรับสิทธิ์การยกเว้นค่าแรกเข้าในระบบที่สองได้

ผู้พิการ

[แก้]

การออกตั๋วโดยสารให้ผู้พิการ จะต้องออกตั๋วกระดาษ โดยเจ้าพนักงานของรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ต้องเซ็นกำกับที่ตั๋วทุกครั้งและอาจต้องแสดงตั๋วกับพนักงานรักษาความปลอดภัยก่อนออกจากสถานีต้นทาง เมื่อถึงที่หมายจะมีเจ้าพนักงานหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยรับผู้โดยสารบริเวณชานชาลาเพื่ออำนวยความสะดวกในการพาไปยังทางออกที่ต้องการ และมีเจ้าพนักงานมีอำนาจในการเปิดหรือปิดประตูรับตั๋วบริเวณทางออกซึ่งต้องเป็นเจ้าพนักงานของรถรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์เท่านั้น

การช่วยเหลือคนที่มีความต้องการพิเศษ

[แก้]

เจ้าพนักงานของรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยมีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้มีความพิการ อาทิการจูงผู้พิการทางสายตาไปยังสถานี การให้บริการติดตามผู้โดยสารที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น การสนับสนุนสะพานเชื่อมชานชาลา สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยสำหรับรถเข็น การนำพาผู้โดยสารไปยังที่นั่งสำรองพิเศษภายในขบวนรถ หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีโดยให้พนักงานเดินทางไปด้วย เช่นผู้โดยสารที่เดินทางครั้งแรก ฯลฯ เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานที่สถานีทราบเท่านั้น

นอกจากนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ยังอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำสุนัขที่ได้รับการฝึกสำหรับนำทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้โดยไม่ถือเป็นการขัดต่อกฎการให้บริการฯ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยผู้โดยสารต้องแจ้งความประสงค์ให้เจ้าพนักงานที่สถานีรับทราบเพื่ออำนวยความสะดวกเป็นกรณีพิเศษ

อาคารจอดแล้วจร

[แก้]

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ มีบริการอาคารจอดรถและจุดจอดรถจักรยานยนต์ 2 แห่ง ได้แก่ อาคารจอดรถ 5 ชั้นบริเวณสถานีศรีเอี่ยม ถนนศรีนครินทร์ ให้บริการโดยบีทีเอสซี และอาคารจอดรถ 9 ชั้นบริเวณสถานีลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก ให้บริการโดย รฟม. ผู้ที่ใช้บริการจะได้รับบัตรจอดรถซึ่งผู้โดยสารจะต้องแตะบันทึกส่วนลดที่สถานีศรีเอี่ยม หรือรับคูปองเพื่อบันทึกส่วนลดที่สถานีลาดพร้าว จากนั้นผู้โดยสารจะต้องนำบัตรมาคืนที่จุดคืนบัตรจอดรถอัตโนมัติ พร้อมชำระค่าจอดรถและรับรถคืนภายในเวลาที่กำหนด กล่าวคือเฉพาะเวลา 05.00-01.00 น. เท่านั้น แต่หากลืมแตะบัตรจะคิดในราคาเท่ากับผู้ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ คือ 20 บาทต่อชั่วโมง การจอดรถนานเกินช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอัตราโทษปรับตามเกณฑ์ที่กำหนดในขณะนั้นๆ ปัจจุบันคือ 400 บาท รวมกับค่าจอดรถของวันที่มารับรถ เนื่องจากไม่รับฝากรถข้ามคืน อนึ่ง ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรแรบบิทแตะเข้าอาคารจอดแล้วจรสถานีศรีเอี่ยมได้โดยไม่ต้องออกบัตรจอดรถ และสามารถใช้บัตรแรบบิทใบเดิม ชำระค่าจอดรถและนำรถออกจากอาคารจอดแล้วจรได้ทันที ทั้งนี้หากผู้โดยสารทำบัตรจอดรถหาย หรือทำบัตรแรบบิทที่ใช้เข้าจอดรถหาย จะต้องชำระค่าปรับในการนำรถออกจากอาคาร 400 บาท หากจอดรถค้างคืนด้วย จะต้องชำระเพียงค่าจอดรถค้างคืนตามอัตราที่บีทีเอสซีกำหนด

นอกจากอาคารจอดแล้วจร 2 แห่งแล้ว รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ยังมีพื้นที่จอดรถสำหรับการจอดรถรายวันที่ลานจอดรถยนต์บริเวณสถานีหัวหมาก ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และพื้นที่จอดรถเอกชนตามสถานีต่าง ๆ

บริการอื่น ๆ

[แก้]
  • ร้านค้า มีบริการร้านค้าขนาดย่อม ให้บริการโดยซุปเปอร์ เทอร์เทิลทุกสถานี ซึ่งรวมทั้งร้านค้าบริการ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต "เทอร์เทิล" กับร้านยา "เซฟดรัก" และร้านกาแฟ "เทอร์เทิล คอฟฟี" บริเวณชั้น Concourse และตู้จำหน่ายสินค้าบริเวณชานชาลา โดยรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ได้มีการอนุโลมให้ผู้โดยสารสามารถรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ซื้อจากร้านค้าภายในสถานีภายในบริเวณพื้นที่ตรวจบัตรโดยสารแล้วรวมถึงพื้นที่ชานชาลาได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำอาหารหรือเครื่องดื่มที่ยังรับประทานไม่เสร็จเข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้า จนกว่าจะจัดเก็บให้มิดชิดก่อนเข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้า
  • ตู้ถอนเงิน มีบริการตู้ถอนเงินในทุกสถานีจากหลากหลายธนาคาร
  • โทรศัพท์ โครงการได้ร่วมมือกับ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เอช ในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย และวางเสาสัญญาณ 3จี 4จี และ 5จี ในสถานีและตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสำหรับให้บริการลูกค้าของแต่ละเครือข่าย

ส่วนต่อขยาย

[แก้]

ในแผนระยะแรก รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ มีแผนเส้นทางเพียงแค่ รัชดาฯ-ลาดพร้าว-สำโรง และมีแผนเส้นทางส่วนต่อขยายจากสถานีสำโรง โดยวิ่งไปตามแนวถนนปู่เจ้าสมิงพราย และข้ามเขตไปยังฝั่งธนบุรีต่อไป แต่เนื่องจากนักวิชาการและประชาชนเล็งเห็นว่า ในส่วนสถานีรัชดาฯ-ลาดพร้าว ควรต่อขยายเส้นทางออกไปจนถึงรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทที่สถานีรัชโยธิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส สามารถเดินทางข้ามเขตจากสายสีเหลืองได้ทันที โดยไม่ต้องไปเปลี่ยนสถานีซ้ำซ้อนที่สถานีพหลโยธิน หลังจากมีข้อติในเรื่องดังกล่าว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้ออกแผนศึกษาเส้นทางด่วน และพบว่าเส้นทางดังกล่าวสามารถขยายเส้นทางออกไปได้ แต่ยังไม่มีความพร้อมและหลักประกันผู้โดยสาร จึงคงเส้นทาง รัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ไว้เป็นส่วนต่อขยายต่อไป

ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้ยื่นข้อเสนอพิเศษในการก่อสร้างเส้นทาง รัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ไปพร้อมกับเส้นทางหลัก โดยให้ รฟม. พิจารณาพร้อมกับข้อเสนออื่นๆ ตามเอกสารที่ยื่นประมูลไป โดยโครงการดังกล่าวจะประกอบไปด้วยสองสถานีเพิ่มเติม คือ สถานีจันทรเกษม ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลอาญากลางรัชดา ศาลแพ่งกลางรัชดา และศาลยุติธรรม ใกล้ ๆ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และสถานีพหลโยธิน 24 ตั้งอยู่ด้านหน้าสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นทั้งโครงการตามแผน รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะต่อเชื่อมกันเป็นวงแหวนกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงสถานีพหลโยธิน 24 ถึงสถานีสำโรง

แต่อย่างไรเสีย กลับมีการคัดค้านการเกิดขึ้นของส่วนต่อขยายนี้จาก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะเป็นกังวลว่าส่วนต่อขยายนี้จะทำให้บริษัทเสียรายได้ที่ควรจะได้ จากพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนไปของผู้โดยสาร ซึ่งบีอีเอ็มได้ประเมินไว้ก่อนการลงทุนส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินว่าผู้โดยสารของสายสีเหลืองจะต้องลงที่สถานีลาดพร้าวทั้งหมด เพื่อต่อสายสีน้ำเงินไปยังสายสีเขียวที่สถานีพหลโยธิน-ห้าแยกลาดพร้าว หรือสถานีสวนจตุจักร-หมอชิต แต่การเกิดขึ้นของส่วนต่อขยายนี้จะทำให้ผู้โดยสารไม่ลงที่สถานีลาดพร้าวทั้งหมด และต่อไปยังสถานีใหม่ที่จะเชื่อมกับสายสีเขียวแทน ซึ่งต่อมา รฟม. ได้มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและพบว่าส่วนต่อขยายนี้จะทำให้ยอดผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินลดลงประมาณ 1% ของผู้โดยสารสายสีเหลืองทั้งหมด และจะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงปีที่ 30 ของสัญญาสัมปทาน แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าด้วยจำนวนผู้โดยสารเท่านี้ จะสร้างความเสียหายมากมายให้บีอีเอ็ม จึงทำให้บีทีเอสที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ยืนยันว่าจะไม่ชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสใด ๆ ให้บีอีเอ็ม จนกระทั่งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 อีบีเอ็มระบุว่าข้อเสนอการก่อสร้างสถานีส่วนต่อขยายได้ถูกยกเลิกลงเนื่องจากพ้นระยะตามที่ระบุในข้อเสนอคือต้องอนุมัติโครงการก่อนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยหลังจากนี้หาก รฟม. สนใจที่จะก่อสร้าง และหาข้อสรุปกับบีอีเอ็มได้ชัดเจน อีบีเอ็ม ก็จะไม่ดำเนินการก่อสร้างให้ฟรีตามข้อเสนอ เนื่องจากกินระยะเวลาสัมปทาน และการก่อสร้างภายหลังอาจไม่คุ้มค่าอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี กรมการขนส่งทางราง ได้นำเอาข้อเสนอของโครงการมาพิจารณาต่อขยายเพิ่มเติมไปยังทางแยกรัชวิภา เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยาที่สถานีจตุจักร, รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมที่สถานีวงศ์สว่าง, รถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถีที่สถานีบางกรวย-กฟผ. และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีบางอ้อ รวมถึงเชื่อมต่อการเดินทางบนแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าวัดสร้อยทองได้อีกด้วย

อุบัติเหตุ

[แก้]

เหตุล้อประคองรถหลุดร่วงลงถนน

[แก้]

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลาประมาณ 18.30 น. เกิดเหตุล้อประคองรถไฟฟ้า (Guide Wheel) ของสายสีเหลืองตกจากราง บริเวณระหว่างระหว่างสถานีศรีเทพา และสถานีศรีด่าน (ถนนเทพารักษ์ กม.3) ส่งผลให้รถแท็กซี่ของประชาชนได้รับความเสียหาย 1 คัน[11] ต่อมา อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล แถลงถึงผลการตรวจสอบ สาเหตุเกิดจากเบ้าลูกปืนล้อแตกซึ่งเกิดจากขั้นตอนการผลิตขบวนรถไฟฟ้าที่ไม่ได้คุณภาพ แม้ว่าขบวนรถยังสามารถวิ่งต่อได้ตามปกติ[12] เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล รวมถึงนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล ผู้รับสัมปทานสายสีชมพู จะทำการตรวจสอบขบวนรถไฟฟ้าทุกขบวนเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ทั้งนี้อัลสตอมระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นเหตุครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในโลกของรถไฟฟ้าตระกูลอินโนเวีย โมโนเรล โดยครั้งแรกเกิดขึ้นที่ประเทศจีน

โดยในระหว่างการตรวจสอบ รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ ประกาศปรับรูปแบบการเดินรถเป็นทุก ๆ 15 นาที/ขบวน และงดเว้นการจัดเก็บค่าโดยสารชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม พ.ศ. 2567 และจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติตั้งแต่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยอัลสตอมผู้ผลิตและผู้รับเหมาซ่อมบำรุงโครงการ จะดำเนินการเปลี่ยนชิ้นส่วนล้อประคองรถไฟฟ้าให้กับขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองใหม่ทั้งหมด 1,440 ชิ้นในขบวนรถไฟฟ้าทั้งหมด 30 ขบวน ซึ่งกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยเน้นกลุ่มขบวนรถไฟฟ้าล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดอุบัติเหตุก่อน[13]

เหตุวัสดุและเศษอะไหล่ร่วงหล่น และรางนำไฟฟ้าตกระดับ

[แก้]

วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 8.33 น. เกิดเสียงระเบิดดังบริเวณถนนศรีนครินทร์ บริเวณช่วงสถานีศรีนุช ถึงสถานีศรีนครินทร์ 38 รวมถึงมีเศษอะไหล่ตัวยึดรางจ่ายไฟฟ้าหล่นบนทางซ่อมบำรุงตั้งแต่ช่วง สถานีกลันตัน ถึงสถานีศรีอุดม ซึ่งบางส่วนได้หล่นลงบนพื้นถนนทำให้รถยนต์ของประชาชนได้รับความเสียหาย 12 คัน[14] หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้อพยพผู้โดยสารไปยังสถานีศรีนุชตามแผนการอพยพผู้โดยสารก่อนประกาศปิดให้บริการในเวลา 9.00 น. แต่เนื่องจากปรากฎคลิปที่ผู้โดยสารถ่ายระหว่างการอพยพ จึงทำให้เป็นกระแสต่อต้านและวิพากษ์การดำเนินงานของกลุ่มบีทีเอสอย่างหนัก

ต่อมา เอ็นบีเอ็ม ได้ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับ รฟม. พบว่าแผ่นเหล็ก (Finger Plate) ที่ติดตั้งระหว่างรอยต่อของทางวิ่ง (Expansion Joint) ได้มีการเลื่อนออกจากตำแหน่ง และเมื่อขบวนรถไฟฟ้าเคลื่อนผ่าน ทำให้แผ่นเหล็กดังกล่าวเคลื่อนตัวไปกระแทกรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกจากตำแหน่ง[15] สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้สั่งยุติการให้บริการถึงเที่ยงคืนในวันดังกล่าว[16][17] ต่อมาเอ็นบีเอ็มแถลงถึงผลการสอบสวน พบว่าเกิดจากความประมาทในการซ่อมบำรุงที่ดูแลไม่ทั่วถึง จนทำให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น เอ็นบีเอ็มจะชดเชยค่าเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุดังกล่าว รวมถึงจะดำเนินการตรวจสอบสภาพการขันทอร์คของนอตที่ยึดแผ่นเหล็ก (finger plate) บริเวณรอยต่อรองรับการขยายตัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (expansion joint) ของคานทางวิ่ง (guideway beam) ทั้งหมด พร้อมทั้งพิจารณาเปลี่ยนนอตบริเวณดังกล่าวทั้งหมดตลอดเส้นทาง และพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าให้มีความมั่นคงแข็งแรง และอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน[18] คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน[19][20] โดยระหว่างนี้ เอ็นบีเอ็มได้จัดแผนการเดินรถใหม่ โดยช่วงลาดพร้าว-หัวหมาก ให้บริการแบบทางคู่ ช่วงหัวหมาก-ศรีเอี่ยม ให้บริการแบบ Shuttle Train โดยใช้เพียงชานชาลาเดียว และช่วงศรีเอี่ยม-สำโรง ให้บริการแบบทางคู่ พร้อมทั้งปรับลดอัตราค่าโดยสารจากเดิมลง 20% จนกว่าการซ่อมบำรุงจะแล้วเสร็จ

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 เอ็นบีเอ็มเปิดเผยว่าการซ่อมแซมระบบการเดินรถช่วงสถานีกลันตัน - สถานีศรีอุดม ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและจะเปิดให้บริการเดินรถเต็มระบบตลอดเส้นทาง ในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป[21]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Yellow Line monorail experiences technical problem".
  2. 2.0 2.1 "ตำแหน่งที่ตั้งสถานี + จุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนอื่น".
  3. "Alstom's automated Innovia monorail system enters service in Bangkok". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-23. สืบค้นเมื่อ 2023-06-26.
  4. ในหลวง พระราชทาน รถไฟฟ้าสายสีเหลือง "นัคราพิพัฒน์"
  5. "19 มิ.ย. "นายกฯ" กดปุ่มเปิด "รถไฟฟ้าสีเหลือง" ให้ใช้บริการฟรีตลอดสาย "ลาดพร้าว-สำโรง"". เดลินิวส์.
  6. "เคาะเก็บค่าโดยสาร 'สายสีเหลือง' 3 ก.ค.นี้". ไทยโพสต์.
  7. "ทำความรู้จัก รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โมโนเรลสายแรกของประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-25. สืบค้นเมื่อ 2023-06-25.
  8. ประวัติความเป็นมาเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์
  9. "ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวทั้งสาย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-07-22. สืบค้นเมื่อ 2013-06-19.
  10. 'บีทีเอส'ปัดชดเชย 'บีอีเอ็ม'ผลกระทบรถไฟฟ้า'สายสีเหลือง'
  11. https://www.thaipbs.or.th/news/content/335561
  12. https://www.thaipbs.or.th/news/content/335562/
  13. “คีรี” เปิดศูนย์ซ่อม 'สีเหลือง' แจงปมล้อหลุด ยันโมโนเรลใช้ทั่วโลก เร่งเปลี่ยนของใหม่เรียกคืนเชื่อมั่น
  14. sunitsa (2024-03-28). "วัสดุหล่นจาก 'รถไฟฟ้าสายสีเหลือง' ทำรถเสียหาย 12 คัน". www.thebangkokinsight.com.
  15. Promrup, Kunsuda (2024-03-29). "BTS ลบ 2.68% กังวลลดค่าโดยสารสายสีเหลือง 20% ชดเชยเหตุขัดข้องจากชิ้นส่วนแผ่นเหล็กหลุดร่วง : อินโฟเควสท์". สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  16. ""รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ปิดให้บริการทุกสถานี เบื้องต้นแจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้อง". Thai PBS.
  17. "คมนาคม สั่งหยุด! 'รถไฟฟ้าสายสีเหลือง' หลังรางนำไฟฟ้าหล่นใส่รถเสียหาย 3 คัน - 77 ข่าวเด็ด". 2024-03-28.
  18. Siripanjana, Maneerat. ""กรมราง" ย้ำ "EBM" หมั่นตรวจเช็ก-เปลี่ยน "นอต" ยึดแผ่นเหล็กคาน "สายสีเหลือง" ทั้งเส้น". เดลินิวส์.
  19. "ขนส่งทางรางฯ ไล่บี้แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเหลือง". สำนักข่าวไทย อสมท (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-03-31.
  20. "กรมขนส่งทางราง ลุยตรวจ 'สายสีเหลือง' เผยเหตุสุดผวาตัวยึดรางและนอตยึดรอยต่อหลุด - บี้ 'EBM' บริษัทลูกบีทีเอสดูแลความปลอดภัย | MATICHON ONLINE". LINE TODAY.
  21. "16 มิ.ย.นี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเหลือง' กลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบ". bangkokbiznews.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]