รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล)
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
ต้นแบบสถานีโครงสร้างใต้ทางด่วน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะโครงการ (เตรียมประกวดราคา)
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งจังหวัดนนทบุรี, กรุงเทพมหานคร
ปลายทาง
จำนวนสถานี20
การดำเนินงาน
รูปแบบรางเดี่ยว
ระบบรถไฟฟ้ามหานคร
ผู้ดำเนินงานรอเอกชนร่วมประมูล
ขบวนรถยังไม่เปิดเผย
ประวัติ
เปิดเมื่อพ.ศ. 2571 (คาดการณ์)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง21 km (13.05 mi) (est.)
จำนวนทางวิ่งรางเดี่ยว 2 ทาง
ลักษณะทางวิ่งทางยกระดับ
ระบบจ่ายไฟรางที่สาม
ความเร็ว80 km/h (50 mph)
แผนที่เส้นทาง

สีม่วง บางกระสอ
ศูนย์ราชการนนทบุรี
สีชมพู แคราย
สีม่วง กระทรวงสาธารณสุข
งามวงศ์วาน 2 (อัคนี)
งามวงศ์วาน 18 (จุฬาเกษม)
ชินเขต
สีแดงเข้ม วัดเสมียนนารี – ทุ่งสองห้อง
แอร์พอร์ตลิงก์
บางเขน
เกษตรฯ ประตู 2
สายสุขุมวิท กรมป่าไม้ – เสนานิคม
แยกเกษตร
คลองบางบัว
ประเสริฐมนูกิจ-ลาดปลาเค้า
ประเสริฐมนูกิจ-เสนานิคม
สตรีวิทยา 2
สายสีเทา นวลจันทร์ – คลองลำเจียก
ทางต่างระดับฉลองรัช
คลองลำเจียก
นวลจันทร์
ประเสริฐมนูกิจ-นวมินทร์
โพธิ์แก้ว
อินทรารักษ์
นวมินทร์ภิรมย์
สายสีส้ม ศรีบูรพา – รามคำแหง 34
สายสีเหลือง ศรีกรีฑา – บางกะปิ
แยกลำสาลี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) เป็นโครงการศึกษาการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อบรรจุลงในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) โครงการได้รับการกำหนดให้ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือรถไฟฟ้าโมโนเรล มีระยะทางทั้งสิ้น 21 กิโลเมตร โดยรถไฟฟ้าสายนี้จะเชื่อมต่อเมืองด้านฝั่งแคราย กับฝั่งเกษตร-นวมินทร์ที่มีอัตราการเติบโตสูงเข้าด้วยกัน และยังเป็นโครงข่ายสายรองเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าหลักอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม และโครงข่ายรองอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีเทา ของกรุงเทพมหานคร

พื้นที่ที่เส้นทางระบบขนส่งมวลชนผ่าน[แก้]

ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด
บางกระสอ, บางเขน เมืองนนทบุรี นนทบุรี
ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ลาดยาว, เสนานิคม จตุจักร
ลาดพร้าว, จรเข้บัว ลาดพร้าว
นวลจันทร์, คลองกุ่ม, นวมินทร์ บึงกุ่ม
คลองจั่น, หัวหมาก บางกะปิ

แนวเส้นทาง[แก้]

แนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากนั้นจะวิ่งตรงเข้าสู่ถนนงามวงศ์วาน ผ่าน ทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (คลองเปรม) โรงพยาบาลคลองเปรม เรือนจำกลางคลองเปรม แยกบางเขน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม จากนั้นเบี่ยงซ้ายเข้าสู่พื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรงมาถึงแยกเกษตรแล้วเบี่ยงขวากลับเกาะกลางถนน เชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท จากนั้นผ่านแยกเกษตรตรงมาบนถนนประเสริฐมนูกิจ และเบี่ยงทางออกจากกันเพื่อลดระดับไปอยู่ใต้ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ผ่านจุดตัดทางพิเศษฉลองรัช ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา จากนั้นจะตรงไปแยกนวลจันทร์-นวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนนวมินทร์ แล้วตรงไปตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกบางกะปิ แนวเส้นทางศึกษาจะแยกออกเป็นสองสายเพื่อสิ้นสุดที่บริเวณแยกลำสาลีที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยในกรณีผู้ให้บริการเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ แนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาเข้าถนนลาดพร้าวก่อนยกระดับเหนือเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่จุดตัดถนนลาดพร้าว-ศรีนครินทร์ เพื่อสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีแยกลำสาลีของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองซึ่งจะปรับแบบให้เป็นสถานีร่วม แต่หากผู้ให้บริการไม่ใช่กลุ่มบีทีเอส หรือกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ แนวเส้นทางจะวิ่งตรงเข้าสู่ถนนพ่วงศิริและสิ้นสุดที่จุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนพ่วงศิริ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วยทางเดินยกระดับ

รายละเอียดปลีกย่อย[แก้]

  • เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว แบบวางคร่อมราง (straddle-beam monorail)
  • ทางวิ่ง ยกระดับที่ความสูง 12 เมตรตลอดทั้งโครงการ
  • มีรางที่ 3 ตีขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ
  • ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 3.147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูงประมาณ 4.06 เมตร (เมื่อคร่อมรางทั้งหมด) ความจุ 356 คนต่อคัน (คำนวณจากอัตราความหนาแน่นที่ 4 คน/ตารางเมตร) ต่อพวงได้ 2-8 คันต่อขบวน ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ ป้อนระบบขับเคลื่อนรถ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 24,100 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
  • ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ[แก้]

เดิมโครงการมีการศึกษาศูนย์ซ่อมบำรุงไว้ที่บริเวณจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชแต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวกรุงเทพมหานครจะเวนคืนเพื่อก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา โครงการจึงมีแนวคิดย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงไปอยู่พื้นที่บริเวณใกล้ ๆ กัน หรือย้ายไปบริเวณแยกบางกะปิซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีแยกลำสาลี

เบื้องต้นศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการจะมีพื้นที่ทั้งหมด 44 ไร่ ประกอบไปด้วยอาคารโรงจอด ศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารเปลี่ยนล้อ ส่วนควบคุมระบบจัดการเดินรถ และสำนักงานบริหารจัดการโครงการ

สิ่งอำนวยความสะดวก[แก้]

มีจุดจอดแล้วจร (park and ride) บริเวณถนนเสรีไทยใกล้สถานีลำสาลีของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม จอดรถได้ประมาณ 2,000 คัน

สถานี[แก้]

มีทั้งหมด 20 สถานี เป็นสถานียกระดับทั้งหมด

รูปแบบสถานี

โครงการออกแบบรูปแบบสถานีไว้ทั้งหมดสองรูปแบบ ดังต่อไปนี้

  • สถานีโครงสร้างปกติ สถานีมีความยาวประมาณ 150 เมตร มีประตูชานชาลา (platform screen door) ความสูงแบบ Half-Height ทุกสถานี ออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดินและบนดินและรักษาสภาพผิวจราจรบนถนนมากที่สุด มีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน และมีชั้นจำหน่ายบัตรโดยสารอยู่ใต้ชานชาลา มีจำนวน 10 สถานี
  • สถานีโครงสร้างใต้ทางด่วน สถานีมีความยาวประมาณ 150 เมตร มีประตูชานชาลา (platform screen door) ความสูงแบบ Half-Height ทุกสถานี ออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดิน บนดิน และทางด่วน และรักษาสภาพผิวจราจรบนถนนให้มากที่สุด มีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 จุดจำหน่ายบัตรโดยสารจะอยู่ในบริเวณอาคารทางเข้าสถานี ซึ่งจะแยกฝั่งไปนนทบุรีกับฝั่งลำสาลีขาดกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้โครงการศึกษาให้มีการก่อสร้างสะพานคนข้ามในทุกสถานี หรืออาจมีการก่อสร้างทางเดินเชื่อมฝั่งในทุกสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกในการข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง มีจำนวน 10 สถานี

รายชื่อสถานี[แก้]

รหัส ชื่อสถานี ชานชาลา จุดเปลี่ยนเส้นทาง วันที่เปิดให้บริการ ที่ตั้ง
BR01 ศูนย์ราชการนนทบุรี 6 สายสีม่วง สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
สายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
พ.ศ. 2568 นนทบุรี
BR02 งามวงศ์วาน 2 (อัคนี) 2
BR03 งามวงศ์วาน 18 (จุฬาเกษม) 2
BR04 ชินเขต 2 กรุงเทพมหานคร
BR05 บางเขน 4 สายสีแดงเข้ม สถานีบางเขน
BR06 งามวงศ์วาน 48 2
BR07 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4 สายสุขุมวิท สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
BR08 คลองบางบัว 2
BR09 ประเสริฐมนูกิจ-ลาดปลาเค้า 2
BR10 ประเสริฐมนูกิจ-เสนานิคม 2
BR11 สตรีวิทยา 2 2
BR12 ทางต่างระดับฉลองรัช 4 สายสีเทา สถานีต่างระดับฉลองรัช
BR13 คลองลำเจียก 2
BR14 นวลจันทร์ 2
BR15 ประเสริฐมนูกิจ-นวมินทร์ 2
BR16 โพธิ์แก้ว 2
BR17 อินทรารักษ์ 2
BR18 สวนนวมินทร์ภิรมย์ 2
BR19 การเคหะแห่งชาติ 2
BR20 แยกลำสาลี 6 สายสีส้ม สถานีแยกลำสาลี
สายสีเหลือง สถานีแยกลำสาลี
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าเดอะมอลล์บางกะปิ

ความคืบหน้า[แก้]

  • สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการขอเชิญเข้าร่วมการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การออกแบบเบื้องต้นโครงการ แนวเส้นทาง รูปแบบและองค์ประกอบของโครงการรวมทั้งมาตรการในการจัดการกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะนำไปพิจารณาประกอบการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อเสนอแนะมาตรการในการจัดการกับผลกระทบ ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับปรุงผลการศึกษาความเหมาะสม และใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบเบื้องต้นของโครงการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น ชั้น 4 อาคารคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร[1]
  • 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเผยว่าจากการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ได้ข้อสรุปให้มีการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ไปพร้อม ๆ กัน โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินงาน และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนนงาน และให้มีการประมูลโครงการแยกขาดจากกันแต่ช่วงที่ใช้โครงสร้างร่วมกันให้ดำเนินการพร้อมกันไปพลางก่อน ทั้งนี้การประมูลโครงการทั้งสองโครงการได้พิจารณาให้เป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน แต่ยังไม่สรุปว่าให้เป็นรูปแบบ Netcost หรือ Grosscost[2]
  • 10 มกราคม พ.ศ. 2562 - นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล หลังจากที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบในผลการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินโครงการว่า รฟม. เตรียมยื่นรายงานการศึกษาเพื่อขออนุมัติการดำเนินโครงการกับคณะรัฐมนตรี โดยหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก็จะส่งแผนการศึกษากลับไปให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ รฟม. ก็จะจัดทำรายงานการร่วมทุนกับเอกชนเพื่อนำเสนอบอร์ดพีพีพีแบบคู่ขนานกันไป โครงการมีวงเงินการลงทุนประมาณ 48,000 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนเป็น PPP-Netcost แบบเดียวกับสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนและรับผิดชอบในการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนและรับผิดชอบในงานก่อสร้างโยธา ตลอดจนการจัดหาระบบรถไฟฟ้า เดินรถไฟฟ้า ดูแลรักษาระบบรถไฟฟ้า และรับผลประโยชน์จากค่าโดยสารต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของโครงสร้างที่ใช้งานร่วมกันกับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ N2 รฟม. จะขอให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินงานในส่วนฐานรากและต่อม่อรถไฟฟ้าไปพลางก่อน จากนั้นเมื่อได้เอกชนก็จะขอให้เอกชนเป็นผู้ชำระคืนให้แก่ กทพ. ต่อไป โดย รฟม. คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการได้เร็วที่สุดภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้[3]
  • พ.ศ. 2565 รฟม. เปิดเผยว่ามีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาทบทวนรายละเอียดการออกแบบ พร้อมจัดทำเอกสารประกวดราคา และรายงานผลการศึกษาโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP วางงบประมาณว่าจ้าง 60 ล้านบาท แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565 จากนั้นเมื่อศึกษาจะส่งรายงานเสนอแก่บอร์ด PPP ในเดือนมิถุนายน 2566 แล้วเสนอแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อทำการอนุมัติโครงการ ในเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2566[4][5]
  • มีนาคม พ.ศ. 2566 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบรายละเอียดการวิเคราะห์ของโครงการฯ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.PPP) หลังจากนั้นจะเสนอต่อบอร์ด รฟม. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณา เพื่อนำโครงการฯเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบภายในปี 2567 ทั้งนี้ หากโครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ PPP หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี2568[6]
  • มกราคม พ.ศ. 2567 กรมการขนส่งทางราง มีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นำผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลกลับไปศึกษาใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องประเด็นของความเหมาะสมในการเลือกใช้ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล หลังจากเกิดอุบัติเหตุจากโครงการสายสีชมพูและสายสีเหลืองขึ้นพร้อมกัน ทั้งนี้กรมรางฯ ได้ขอให้รฟม. พิจารณาเลือกใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบารูปแบบอื่นแทนโมโนเรล

อ้างอิง[แก้]

  1. กำหนดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3[ลิงก์เสีย]
  2. เล็งเปิดประมูลพีพีพี สร้างรถไฟฟ้าสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี ทางด่วนบนตอม่อถนนเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมระบบขนส่งรถไฟฟ้า 7 สาย
  3. รฟม. เล็งเปิดประมูลรถไฟฟ้าสีน้ำตาล 4.8 หมื่นล้าน ปลายปีนี้
  4. อีไฟแนนซ์ไทย, สำนักข่าว. "รฟม. จัดงบ 60 ลบ.ทบทวนแบบ-เอกสารประมูลรถไฟฟ้าสีน้ำตาล คาดชง ครม.ปี 66". efinancethai.com.
  5. "รฟม.เดินหน้า PPP รถไฟฟ้า "สีน้ำตาล" 4.98 หมื่นล้านบาท ฟังความเห็นเอกชน คาดชง ครม.เคาะลงทุนปลายปี 66". mgronline.com. 2022-11-18.
  6. "อัปเดต! รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล 'แคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)' 22.1 กม. มูลค่า 4.9 หมื่นล้าน คาดเริ่มสร้างปี 69 เปิดให้บริการปี 72". transportjournal newspaper.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]