ข้ามไปเนื้อหา

รถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา–ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก รถไฟฟ้าสายสีเงิน)
รถไฟฟ้ารางเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ข้อมูลทั่วไป
สถานะกำลังศึกษา
เจ้าของสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
จังหวัดสมุทรปราการ
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
ปลายทาง
จำนวนสถานี14
การดำเนินงาน
รูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา
ระบบระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร
ผู้ดำเนินงานรอเอกชนร่วมประมูล
ศูนย์ซ่อมบำรุงศูนย์ซ่อมบำรุงธนาซิตี้
ขบวนรถยังไม่เปิดเผย
ประวัติ
แผนการเปิดพ.ศ. 2585
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง24 km (14.91 mi)
จำนวนทางวิ่ง2
ลักษณะทางวิ่งทางยกระดับ
รางกว้าง1,435 mm (4 ft 8 12 in) สแตนดาร์ดเกจ
ระบบจ่ายไฟรางที่สาม
ความเร็ว80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แผนที่เส้นทาง

คูคต – เคหะฯ
บางนา
ประภามนตรี
เทพรัตน 17
เทพรัตน 25
ลาดพร้าว – สำโรง
ศรีเอี่ยม
เปรมฤทัย
เทพรัตน กม.6
บางแก้ว
กาญจนาภิเษก
วัดสลุด
กิ่งแก้ว
ธนาซิตี้
มหาวิทยาลัยเกริก
สุวรรณภูมิ อาคารใต้
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
บ้านทับช้าง – ฉะเชิงเทรา
ดอนเมือง – ฉะเชิงเทรา

โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (บางนา - บางโฉลง - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) เป็นโครงการเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และจังหวัดสมุทรปราการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามแนวถนนเทพรัตน อันเป็นทางหลวงแผ่นดินที่จะมุ่งหน้าไปยังภาคตะวันออก

เส้นทางดังกล่าวปรากฏขึ้นครั้งแรกในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 (แผนแม่บท MTMP) ก่อนถูกปรับปรุงให้เป็นแผนแม่บทเพื่อนำไปสู่การดำเนินการจริงใน พ.ศ. 2539 (แผนแม่บท CTMP) โดยถูกกำหนดให้เป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าธนายง ตอน 1 แต่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อครั้งการปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง พ.ศ. 2543 (แผนแม่บท URMAP) ต่อมาในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 คจร. มีมติให้กรุงเทพมหานครศึกษาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อต่อขยายสายทางภายใน พ.ศ. 2552 เพื่อให้โครงข่ายรถไฟฟ้าครอบคลุมและสอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง กรุงเทพมหานครจึงได้นำเส้นทางดังกล่าวกลับเข้าสู่การพิจารณา ก่อนลดระยะทางให้สิ้นสุดที่บริเวณแยกศรีเอี่ยม (ทางแยกต่างระดับระหว่างถนนบางนา-ตราด และถนนศรีนครินทร์) และได้ปรับปรุงเส้นทางอีกครั้งให้ต่อขยายไปสิ้นสุดที่บริเวณอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทเดิมในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ได้ยื่นคำร้องในการโอนถ่ายโครงการให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นผู้ดำเนินการต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เนื่องจากเล็งเห็นว่าการรวมโครงการไว้ที่เจ้าของเดียวจะทำให้สามารถควบคุมค่าโดยสารไม่ให้สูงเกินความจำเป็นได้

ประวัติของโครงการ

[แก้]

เมื่อครั้งกรุงเทพมหานคร ได้มีการอนุมัติสัมปทานโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้าธนายง หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ในปัจจุบัน) ให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ไปดำเนินการ กรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้พิจารณาร่างเส้นทางส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟฟ้าธนายงเอาไว้ทั้งหมด 5 ระยะ เพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาของตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในการปรับปรุงแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง อันเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปัจจุบัน) และกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2537 แนวเส้นทางนี้ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในฐานะส่วนต่อขยายอย่างเป็นทางการของ รถไฟฟ้าธนายง ตอน 1 ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 (แผนแม่บท BMT) ก่อนปรับปรุงและนำไปสู่การดำเนินการจริงใน พ.ศ. 2539 (แผนแม่บท CTMP) แต่หลังจากประกาศใช้แผนแม่บท CTMP ได้ 1 ปี ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างรุนแรง โครงการดังกล่าวจึงถูกพักอย่างไม่มีกำหนด และได้ยกเลิกลงในคราวการปรับปรุงแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง พ.ศ. 2543 (แผนแม่บท URMAP)

ต่อมาในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 คจร. ได้มีมติให้กรุงเทพมหานครศึกษาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อต่อขยายสายทางภายใน พ.ศ. 2552 โดยคำนึงถึงการขยายตัวของเมืองและแนวโน้มการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กรุงเทพมหานครจึงได้นำส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟฟ้าธนายงเดิมทั้ง 5 ระยะกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอีกครั้ง จนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับส่วนต่อขยายทั้ง 5 ระยะ อันได้แก่ ส่วนต่อขยายช่องนนทรี–พระราม 3 ส่วนต่อขยายสนามกีฬาแห่งชาติ–พรานนก ส่วนต่อขยายอ่อนนุช–ลาดกระบัง ส่วนต่อขยายอ่อนนุช–แบริ่ง และส่วนต่อขยายอ่อนนุช–วัดศรีเอี่ยม ซึ่งส่วนต่อขยายสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก และส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง เป็นส่วนต่อขยายที่ถูกเสนอให้บรรจุลงในแผนแม่บท URMAP เมื่อครั้งการปรับปรุงแผนแม่บทเมื่อ พ.ศ. 2543 ก่อนถูกปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงใน พ.ศ. 2547 (แผนแม่บท BMT) ในขณะที่ส่วนต่อขยายอื่นๆ ไม่ได้ถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเนื่องมาจากมีข้อกังขาด้านการลงทุน ประกอบการสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นยังไม่ฟื้นตัวดี

อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครไม่ได้ล้มเลิกโครงการไปทั้งหมด แต่ได้นำเอาเส้นทางอ่อนนุช–วัดศรีเอี่ยม มาดัดแปลงและขยายให้ไปสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามแผนแม่บท CTMP เดิม เพื่อเป็นการขยายเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ไปเชื่อมกับท่าอากาศยานโดยอาศัยเส้นทางตามแนวถนนเทพรัตน จึงได้ริเริ่มจากการก่อสร้างโครงสร้างโยธารองรับไว้บางส่วนเมื่อครั้งการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงอ่อนนุช–แบริ่ง และยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ยินดีสนับสนุนพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการธนาซิตี้เพื่อใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ รวมถึงยังได้รับความเห็นชอบจากบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้มีการปรับแบบการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้โดยเฉพาะ และจากจังหวัดสมุทรปราการที่เห็นชอบและสนับสนุนให้มีระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดเพื่อที่จะได้เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อันเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ

โครงการดังกล่าวถูกนำพิจารณาขึ้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง และได้ถูกนำเสนอขึ้นต่อ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อบรรจุลงแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง แต่ได้รับข้อวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการก่อสร้างเส้นทางอย่างต่อเนื่อง แต่กรุงเทพมหานครก็ยังคงผลักดันแนวคิดของโครงการให้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชานในบริเวณดังกล่าว ซึ่งต่อมาเส้นทางสายนี้เป็นหนึ่งในสี่เส้นทางนำร่องที่ได้รับการบรรจุลงในร่างแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่สอง ซึ่งจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มเติมถึง 10 เส้นทางที่ขยายเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต และกรมการขนส่งทางราง (สถานะปัจจุบันของ สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) ยังได้ร่วมมือกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นได้พิจารณาต่อขยายเส้นทางไปตามถนนสรรพาวุธ และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับโครงการพัฒนาสถานีรถไฟแม่น้ำบริเวณถนนพระรามที่ 3 เพื่อเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จะขนส่งผู้โดยสารเข้าสถานีหลักของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว

ในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ก่อสร้างทางแยกหลังจากออกจากสถานีอุดมสุขไว้ทั้งขาเข้าเมือง (North-Bound) และขาออกเมือง (East-Bound) ที่บริเวณถนนสุขุมวิทช่วงทางแยกต่างระดับบางนา-สุขุมวิท และได้ก่อสร้างตอม่อรูปตัว U คว่ำตั้งแต่ด้านหน้าพื้นที่ก่อสร้างศูนย์การค้าแบงค็อก มอลล์ ไปจนถึงสี่แยกบางนา เพื่อเตรียมไว้สำหรับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้โดยเฉพาะ แต่หลังจากการปรับแบบครั้งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดในการย้ายสถานีปลายทางไปอยู่บริเวณถนนสรรพาวุธด้านหน้าศาลจังหวัดพระโขนง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการติดต่อศาลหรือสำนักงานเขตบางนาให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สถานะก่อน กรมการขนส่งทางราง) ได้ออกแบบเส้นทางต่อขยายจากสถานีบางนาไปตามทางพิเศษเฉลิมมหานครก่อนเบี่ยงออกเข้าถนนทางรถไฟสายเก่าเพื่อมุ่งหน้าสู่สถานีแม่น้ำต่อไป

พื้นที่เส้นทางผ่าน

[แก้]
แขวง/ตำบล เขต/อำเภอ จังหวัด
ช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพมหานคร
คลองเตย / พระโขนง คลองเตย
พระโขนงใต้ พระโขนง
บางนาเหนือ บางนา
บางแก้ว / บางพลีใหญ่ / ราชาเทวะ / บางโฉลง / หนองปรือ บางพลี สมุทรปราการ

รูปแบบของโครงการ

[แก้]
  • เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (light rail transit) สามารถปรับเปลี่ยนระบบเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก (heavy rail transit) ได้ตามความต้องการของผู้ให้บริการ
  • ทางวิ่ง ช่วงบางนา - ประภามนตรี ยกระดับที่ความสูง 9 เมตร ช่วงประภามนตรี - กาญจนาภิเษก ยกระดับที่ความสูง 20 เมตรตลอดช่วง หลังจากนั้นจะยกระดับขึ้นเป็น 24 เมตรเพื่อข้ามทางแยกต่างระดับวัดสลุด แล้วลดระดับเหลือ 18 เมตรไปจนถึงสถานีปลายทางสุวรรณภูมิ
  • ขนาดราง 1.435 เมตร (standard guage) โดยมีรางที่ 3 ขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ
  • ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ

[แก้]

จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่บนพื้นที่ขนาด 29 ไร่ บริเวณโครงการธนาซิตี้ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเวนคืนที่ดินจำนวนนี้จาก บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการธนาซิตี้แทนการรับการสนับสนุนจากกลุ่มบีทีเอส เพื่อนำไปใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง

สถานี

[แก้]

มีทั้งหมด 14 สถานี (สถานีในอนาคต 2 สถานี) เป็นสถานียกระดับทั้งหมด ตัวสถานียาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 18 เมตร โดยมีสถานีทั้งหมดสามรูปแบบ ดังนี้

  • สถานียกระดับเต็มความสูงแบบเสาเดี่ยว เป็นรูปแบบสถานีพื้นฐานของโครงการ ยกระดับเหนือเกาะกลางระหว่างทางคู่ขนานและทางหลักฝั่งขาออกถนนเทพรัตน มีทั้งหมด 9 สถานี (รวมสถานีส่วนต่อขยาย)
  • สถานียกระดับเต็มความสูงแบบเสาคู่ เป็นรูปแบบสถานีที่ออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงโครงสร้างบางช่วงของทางพิเศษบูรพาวิถี ยกระดับคร่อมทางคู่ขนานถนนเทพรัตน มีทั้งหมด 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีเปรมฤทัย สถานีกาญจนาภิเษก และสถานีธนาซิตี้
  • สถานียกระดับแบบครึ่งความสูง เป็นสถานีรูปแบบพิเศษที่ออกแบบตามข้อจำกัดของพื้นที่ตั้งสถานี โดยมีระดับชานชาลาสูง 9 เมตร และชั้นขายบัตรโดยสารอยู่ในระดับดิน มีหนึ่งสถานี ได้แก่สถานีบางนา

ตัวสถานีออกแบบให้มีประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งความสูง (Half-height) ทุกสถานี หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงออกแบบให้รักษาสภาพผิวจราจรบนถนนให้ได้มากที่สุด และมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างถนน

เส้นทาง

[แก้]

โครงการช่วงบางนา–ธนาซิตี้

[แก้]

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นจากถนนสรรพาวุธ บริเวณด้านหน้าการไฟฟ้านครหลวง เขตบางนา สำนักงานเขตบางนาแห่งใหม่ และศาลจังหวัดพระโขนง วิ่งตามแนวถนนสรรพาวุธ ผ่านสี่แยกบางนาแล้วเบี่ยงเข้าเกาะกลางระหว่างถนนเทพรัตนและทางคู่ขนานเทพรัตนฝั่งขาออกเมือง มุ่งไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ข้ามคลองบางนาเข้าเขตจังหวัดสมุทรปราการ ผ่านแยกต่างระดับกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก แยกต่างระดับกิ่งแก้ว อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโมโนเรล สายกิ่งแก้ว-สุวรรณภูมิ แล้วสิ้นสุดเส้นทางบริเวณถนนเทพรัตน กิโลเมตรที่ 13 ด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุง รวมระยะทางทั้งสิ้น 16.4 กิโลเมตร

โครงการช่วงธนาซิตี้–สุวรรณภูมิ

[แก้]

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นจากถนนเทพรัตน กิโลเมตรที่ 13 แล้วเลี้ยวเข้าถนนสุวรรณภูมิ 3 ผ่านศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ และเกริกวิทยาลัยแล้วข้ามคลองหนองปรือกับคลองหนองงูเห่า เข้าพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แนวเส้นทางจะลดระดับลงเป็นเส้นทางใต้ดิน แล้วสิ้นสุดเส้นทางที่ชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้ รวมระยะทางทั้งสิ้น 6.4 กิโลเมตร

ทั้งนี้ แนวเส้นทางดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องรอการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิฝั่งใต้ขึ้นเสียก่อน ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3–4 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการปรับแบบอาคารผู้โดยสารฝั่งนี้เพื่อรองรับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าให้เข้ามาจอดที่อาคารผู้โดยสารได้โดยตรง กรณีนี้จะไม่เหมือนกับสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่การก่อสร้างสถานีไม่ได้สร้างที่ชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสาร แต่ก่อสร้างบริเวณพื้นที่ว่างระหว่างอาคารจอดรถแล้วเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานผ่านชั้นใต้ดิน ซึ่งเดิมเป็นชั้นที่เตรียมไว้สำหรับทำทางเดินไปยังโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ

รายชื่อสถานี

[แก้]
รหัสสถานี ชื่อสถานี จุดเปลี่ยนเส้นทาง
SL01 สถานีบางนา สายสุขุมวิท สถานีบางนา, สถานีอุดมสุข
ท่ารถตู้โดยสารร่วมให้บริการ แยกบางนา
SL02 สถานีประภามนตรี
SL03 สถานีเทพรัตน 17
SL04 สถานีเทพรัตน 25
SL05 สถานีวัดศรีเอี่ยม สายสีเหลือง สถานีศรีเอี่ยม
SL06 สถานีเปรมฤทัย
SL07 สถานีเทพรัตน กม.6
SL08 สถานีบางแก้ว
SL09 สถานีกาญจนาภิเษก ท่ารถตู้โดยสารร่วมให้บริการ เมกาบางนา
SL10 สถานีวัดสลุด
SL11 สถานีกิ่งแก้ว
SL12 สถานีธนาซิตี้
SL13 สถานีมหาวิทยาลัยเกริก
SL14 สถานีสุวรรณภูมิ อาคารใต้ สายซิตี้ สถานีสุวรรณภูมิ

ความคืบหน้า

[แก้]
  • 9 เมษายน พ.ศ. 2561 - นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยแผนการจัดทำร่างแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องระยะที่ 2 (M-Map Phase 2) โดย สนข. ได้ยกเส้นทางสายนี้เข้าเป็นหนึ่งในสี่เส้นทางนำร่องเพื่อพัฒนาเป็นแผนแม่บทต่อไป
  • 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยแผนการจัดทำร่างแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องระยะที่ 2 (M-Map Phase 2) ร่วมกับทางไจก้า โดยทางไจก้าเสนอให้ต่อขยายเส้นทายสายนี้เพิ่มเติมจากบริเวณแยกสรรพาวุธไปยังสถานีแม่น้ำ ถนนพระรามที่ 3 เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากย่านสมุทรปราการเข้าสู่สถานีแม่น้ำที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร โดยให้แนวทางพาดผ่านพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าถึง พร้อมกับพิจารณาตัดเส้นทางส่วนธนาซิตี้-วัดศรีวารีน้อยออกเพื่อลดระยะทาง และยกระดับโครงการเป็นรถไฟฟ้ารางหนักเพื่อลดภาระของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่จะเปลี่ยนเป็นรถไฟความเร็วสูงแทน
  • 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 - กรุงเทพมหานครเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการฯ ว่าปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แต่เพื่อให้โครงการเดินหน้าโดยเร็ว กรุงเทพมหานครได้จัดทำเอกสารร่างขอบเขตงานเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP-Netcost Model) ระยะเวลาสัญญา 30 ปีควบคู่ไปด้วย ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้นได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งมีนโยบายให้ใช้วิธีการเวนคืนที่ดินสำหรับก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการบริเวณโครงการธนาซิตี้จาก บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) แทนการรับการสนับสนุนจากกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป เนื่องจากเกรงว่าเอกชนที่ได้งานจะเป็นคนละรายกัน
  • 19 กันยายน พ.ศ. 2561 นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ภายในปี 2561 กรุงเทพมหานครจะพยายามผลักดันเร่งรัดให้เกิดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าไลท์เรล สายบางนา-สุวรรณภูมิ และรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ให้ได้ โดยให้สำนักการจราจรและขนส่ง ติดตามผลการจัดทำรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของรถไฟฟ้าไลท์เรล สายบางนา-สุวรรณภูมิ ในขณะที่สายสีเทา ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานครจะไปหารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เนื่องจากจำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยบางส่วนในการก่อสร้างโครงการ[1]
  • 16 กันยายน พ.ศ. 2562 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพเร่งผลักดันให้เริ่มนโยบายสายสีเทา ช่วงระยะที่ 1 วัชรพล-ทองหล่อ รวมถึงระยะที่ 3 นราธิวาส-พระราม 3 อยู่ในขั้นตอนจ้างที่ปรึกษาดูรายละเอียดใหม่ทั้งหมด เพราะต้องปรับรายละเอียดให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป และไลท์เรลสายบางนา-สุววรณภูมิ ในต้นปี 2563 โดยไลท์เรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ ปัจจุบันกทม.ประสานขอใช้พื้นที่กับกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากจะต้องสร้างบนถนนบางนา-ตราด ซึ่ง กทม.จะเร่งดำเนินการเปิดร่วมทุน PPP [2]
  • สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้จัด การประชุมสัมมนาปฐมนิเทศน์โครงการ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการออกแบบเบื้องต้น โครงการระบบรถไฟรางคู่ขนาดเบา (LRT) สายบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564 ผ่านแอปพลิเคชันซูม ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลาศึกษาอีก 6 เดือน การศึกษาจะแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอต่อคณะกรรมการพีพีพีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการได้ในปีเดียวกัน
  • 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564 นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าปัจจุบันมีความพร้อมในการดำเนินสูง คาดว่าสามารถสรุปผลการศึกษาที่เหมาะสมภายในต้นปี 2565 และอนุมัติโครงการภายในปี 2566 และเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลในปี 2567 ใช้เวลา 4 ปี (2568-2571) คาดการณ์จะเปิดให้บริการปี 2572[3]
  • 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ที่มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโอนภารกิจโครงการรถไฟฟ้าที่จะต้องลงทุนก่อสร้างใหม่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับคืนไปให้กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสายสีเงิน สายสีเทา และสายสีฟ้า โดยกรณีของสายสีเงินสาเหตุมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวงซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม และเส้นทางเกินครึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ[4]

การปรับเปลี่ยนเส้นทาง

[แก้]
  • พ.ศ. 2559 - กรุงเทพมหานครมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนเส้นทางและเพิ่มความถี่ของสถานีให้มากขึ้น โดยปรับเส้นทางจากเดิมที่จะเริ่มต้นจากสถานีอุดมสุขของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ให้ไปเริ่มต้นที่บริเวณแยกสรรพาวุธ ด้านหน้าศาลจังหวัดพระโขนง และสำนักงานเขตบางนาแห่งใหม่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มีต้องการติดต่อศาลสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก
  • พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - สนข. และไจก้าได้พิจารณาเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้ใหม่ทั้งหมด และมีความเห็นให้ต่อขยายเส้นทางจากปลายฝั่งสรรพาวุธลัดเลาะไปตามถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ เข้าถนนอาจณรงค์ ไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครแล้วเลี้ยวเข้าถนนพระรามที่ 3 ก่อนไปสิ้นสุดที่สถานีแม่น้ำซึ่งจะพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ยังได้พิจารณายกเลิกเส้นทางสายแยก ธนาซิตี้-วัดศรีวารีน้อย เพื่อลดระยะทางจากเดิมเป็นเน้นขนคนจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแทน ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวยังเป็นเส้นทางศึกษาเพื่อบรรจุลงเป็นแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนระยะที่ 2

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]