ประเทศอินโดนีเซีย
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย Republik Indonesia (อินโดนีเซีย) | |
---|---|
เมืองหลวง | จาการ์ตา (ปัจจุบัน) นูซันตารา (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) 6°10′S 106°49′E / 6.167°S 106.817°E |
เมืองใหญ่สุด | จาการ์ตา |
ภาษาทางการ และภาษาประจำชาติ | อินโดนีเซีย |
ภาษาระดับภูมิภาค | มากกว่า 700 ภาษา[3] |
กลุ่มชาติพันธุ์ | มากกว่า 1,300 กลุ่มชาติพันธุ์[4] |
ศาสนา (ค.ศ. 2018)[5] | |
เดมะนิม | ชาวอินโดนีเซีย |
การปกครอง | รัฐเดี่ยว ระบบประธานาธิบดี สาธารณรัฐรัฐธรรมนูญ |
โจโก วีโดโด | |
มะอ์รุฟ อามิน | |
ปูวัน มาฮารานี | |
มูฮัมมัด ชารีฟุดดิน | |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา (MPR) |
• สภาสูง | สภาผู้แทนระดับภูมิภาค (DPD) |
• สภาล่าง | สภาผู้แทนประชาชน (DPR) |
เป็นเอกราช จากเนเธอร์แลนด์ | |
• ประกาศ | 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 |
27 ธันวาคม ค.ศ. 1949 | |
พื้นที่ | |
• พื้นดิน | 1,904,569[6] ตารางกิโลเมตร (735,358 ตารางไมล์) (14th) |
4.85 | |
ประชากร | |
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2020 | 270,203,917[7] (อันดับที่ 4) |
141 ต่อตารางกิโลเมตร (365.2 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 88) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 3.995 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 7) |
• ต่อหัว | 14,535 ดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 96) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 1.289 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 17) |
• ต่อหัว | 4,691 ดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 104) |
จีนี (ค.ศ. 2019) | 38.2[9] ปานกลาง |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021) | 0.705[10] สูง · อันดับที่ 114 |
สกุลเงิน | รูปียะฮ์อินโดนีเซีย (Rp) (IDR) |
เขตเวลา | UTC+7 ถึง +9 (จำนวนมาก) |
รูปแบบวันที่ | วว/ดด/ปปปป |
ไฟบ้าน | 220 โวลต์–50 เฮิร์ซ |
ขับรถด้าน | ซ้าย |
รหัสโทรศัพท์ | +62 |
รหัส ISO 3166 | ID |
โดเมนบนสุด | .id |
อินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย: Indonesia) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย: Republik Indonesia) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรอินโดจีนและทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียวหรือกาลีมันตัน (Kalimantan), ประเทศปาปัวนิวกินีบนเกาะนิวกินีหรืออีรียัน (Papua) และประเทศติมอร์-เลสเตบนเกาะติมอร์ ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ได้แก่ สิงคโปร์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, ปาเลา, และอินเดีย (หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์) อินโดนีเซียยังเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลกด้วยพื้นที่ 1,904,569 ตารางกิโลเมตร (735,358 ตารางไมล์) และมีประชากรราว 278 ล้านคน[11] ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก โดยกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในหมู่เกาะชวา[12] และยังเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก[13][14][15]
อินโดนีเซียเป็นสาธารณรัฐที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งมีสภานิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง และมีทั้งสิ้น 38 จังหวัด โดย 9 จังหวัดมีสถานะพิเศษ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศเป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากที่สุดอันดับสองของโลก[16][17] อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้ที่กว้างใหญ่และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[18] และยังเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากที่สุดในโลก[19] (ประมาณ 17,000 เกาะ)
หมู่เกาะทั้งหมดของอินโดนีเซียเป็นดินแดนการค้าหลักในภูมิภาคมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เริ่มต้นตั้งแต่อาณาจักรศรีวิชัยและต่อมาจนถึงอาณาจักรมัชปาหิตซึ่งทำการค้ากับชาวจีนแผ่นดินใหญ่และพ่อค้าจากอนุทวีปอินเดีย ส่งผลให้ประชากรท้องถิ่นค่อย ๆ ซึมซับอิทธิพลจากต่างประเทศตั้งแต่ศตวรรษแรก ๆ และได้มีการแผ่ขยายของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาจนเกิดความเจริญรุ่งเรือง ต่อมา พ่อค้านิกายซุนนีและลัทธิศูฟีได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่และได้มีอิทธิพลต่อคนในสังคมจนกลายเป็นศาสนาหลักมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมโดยนักสำรวจชาวยุโรป ชาวดัตช์ถือเป็นมหาอำนาจหลักที่ยึดครองดินแดนแห่งนี้ตลอด 350 ปี[20][21] แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้รับการรุกรานจาก โปรตุเกส อังกฤษ และ ฝรั่งเศสบ้าง แนวความคิดการสร้างชาติและการปลดแอกตนเองของชาวอินโดนีเซียในฐานะรัฐชาติได้ปรากฏขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และจบลงด้วยการประกาศอิสรภาพใน ค.ศ. 1945 ตามด้วยการประกาศรับรองอธิปไตยอย่างเป็นทางการจากเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. 1949 ภายหลังจากความขัดแย้งทางการทหารและการทูตระหว่างสองประเทศ[22] ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่าน อินโดนีเซียต้องเผชิญเหตุการณ์มากมาย อาทิ การทุจริตในประเทศ ความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งแยกดินแดน ภัยธรรมชาติ และความผันผวนของเศรษฐกิจ
อินโดนีเซียประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาพื้นเมืองหลายร้อยกลุ่ม โดยชาวชวาเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด และยังมีพหุนิยมทางศาสนา[23][24] ตามคำขวัญที่ว่า "Bhinneka Tunggal Ika"[25] ("Unity in Diversity" ซึ่งหมายถึง "เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย")[26] ซึ่งกำหนดโดยภาษาประจำชาติ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลกโดยวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอันดับ 7 ของโลกโดยวัดจากภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ อินโดนีเซียยังถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[27] และเป็นประเทศอำนาจปานกลางของโลก และยังเป็นสมาชิกขององค์กรพหุภาคีหลายแห่ง รวมถึงองค์การสหประชาชาติ, องค์การการค้าโลก, กลุ่ม 20, ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด, สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และองค์การความร่วมมืออิสลาม
นิรุกติศาสตร์
[แก้]ชื่อประเทศ Indonesia มีที่มาจากภาษากรีกยุคโบราณคำว่า อินดอส (Ἰνδός) และเนซอส (νῆσος) ซึ่งหมายถึง "หมู่เกาะอินเดีย"[28] ซึ่งชื่อ Indonesia เริ่มมีการใช้ในกลุ่มชาติตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก่อนการก่อตั้งรัฐอินโดนีเซีย และใน ค.ศ. 1850 จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล นักชาติพันธุ์วิทยาชาวอังกฤษ ได้บัญญัติคำศัพท์ใหม่ Indunesians หมายถึง "หมู่เกาะอินเดียหรือหมู่เกาะมลายู"[29]
ตั้งแต่ ค.ศ. 1900 ชื่อ Indonesia เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยมีการใช้ทั้งในแวดวงวิชาการและสื่อมวลชน โดย อาด็อล์ฟ บาสเตียน นักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันถือเป็นผู้เผยแพร่ชื่อ Indonesia ให้เป็นที่รู้จักผ่านหนังสือ Indonesien oder die Inseln des Malayischen Archipels
ประวัติ
[แก้]อินโดนีเซียประกอบด้วยหมู่เกาะที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน แต่ต่อมาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์อยู่ประมาณ 301 ปี ในเดือนมกราคม 1942 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นบุกอินโดนีเซีย และทำการขับไล่เนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียออกไปได้สำเร็จ จึงทำให้ผู้นำอินโดนีเซียคนสำคัญในสมัยนั้นให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นแต่ไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับญี่ปุ่นมากนัก เพราะมีเหตุเคลือบแคลงคือ เมื่อผู้รักชาติอินโดนีเซียจัดตั้งขบวนการต่าง ๆ ขึ้นมา ญี่ปุ่นจะขอเข้าร่วมควบคุมและดำเนินงานด้วย
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร อินโดนีเซียได้ถือโอกาสประกาศเอกราชในปี 1945 แต่เนเธอร์แลนด์เจ้าของอาณานิคมเดิมไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย จึงยกกองทัพเข้าปราบปราม ผลจากการสู้รบปรากฏว่าเนเธอร์แลนด์ไม่สามารถปราบปรามกองทัพอินโดนีเซียได้ ระหว่างการเรียกร้องเอกราชทำให้เกิดผู้นำในการเรียกร้องหลายท่านที่ควรค่าแก่การยกย่องดังที่พบในรายนามวีรบุรุษแห่งชาติ (อินโดนีเซีย) เช่น กี ฮาจาร์ เดเวนตารา (Ki Hajar Dewantara) จากนั้นอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรกับเนเธอร์แลนด์จึงเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้ยุติความขัดแย้งกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงลิงกาจาตี (Linggadjati Agreement) เมื่อปี 1946 โดยเนเธอร์แลนด์ยอมรับอำนาจรัฐของรัฐบาลอินโดนีเซียในเกาะชวาและสุมาตรา ต่อมาภายหลังเนเธอร์แลนด์ได้ละเมิดข้อตกลงโดยได้นำทหารเข้าโจมตีอินโดนีเซียทำให้ประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย ได้ยื่นเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้าจัดการ สหประชาชาติได้เข้าระงับข้อพิพาทโดยตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยออสเตรเลีย เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมและได้เรียกร้องให้หยุดยิง แต่เนเธอร์แลนด์ได้เข้าจับกุมผู้นำคนสำคัญของอินโดนีเซีย คือ ซูการ์โนและฮัตตาไปกักขัง ต่อมาทหารอินโดนีเซียสามารถช่วยเหลือนำตัวผู้นำทั้งสองออกมาได้ ในระยะนี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างตำหนิการกระทำของเนเธอร์แลนด์อย่างยิ่งและคณะมนตรีความมั่นคงได้กดดันให้เนเธอร์แลนด์มอบเอกราชแก่อินโดนีเซีย
ในวันที่ 27 ธันวาคม 1949 อินโดนีเซียได้รับเอกราชแต่ความยุ่งยากยังคงมีอยู่เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่ยินยอมให้รวมดินแดนอีรียันตะวันตกเข้ากับอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายจึงต่างเตรียมการจะสู้รบกันอีก ผลที่สุดเนเธอร์แลนด์ก็ยอมโอนอำนาจให้สหประชาชาติควบคุมดูแลอีรียันตะวันตกและให้ชาวอีรียันตะวันตกแสดงประชามติว่าจะรวมกับอินโดนีเซียหรือไม่ ผลการออกเสียงประชามติปรากฏว่าชาวอีรียันตะวันตกส่วนใหญ่ต้องการรวมกับอินโดนีเซีย สหประชาชาติจึงโอนอีรียันตะวันตกให้อยู่ในความปกครองของอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม 1963
ภูมิศาสตร์
[แก้]อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 1,826,440 ตารางกิโลเมตร มีประมาณ 17,000 เกาะ พื้นที่กว่า 70% ไม่มีผู้คนอาศัย มีภูเขาสูงตามเทือกเขาที่มีความสูงมากอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ตามบริเวณเขามักมีภูเขาไฟและมีที่ราบรอบเทือกเขา ชายเกาะมีความสูงใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล ทำให้มีที่ราบบางแห่งเต็มไปด้วยหนองบึงใช้ประโยชน์ไม่ได้
ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะหลัก 5 เกาะคือ นิวกินี, ชวา, กาลีมันตัน, ซูลาเวซี และสุมาตรา เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะสุมาตรา ส่วนเกาะชวาเป็นเกาะที่เล็กที่สุดในบรรดาเกาะหลักทั้ง 5 เกาะ แต่ประมาณร้อยละ 60 ของประชากรกว่า 200 ล้านคนอาศัยอยู่บนเกาะนี้และเป็นที่ตั้งกรุงจาการ์ตาซึ่งเป็นเมืองหลวง หมู่เกาะเหล่านี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ชายฝั่งของประเทศอินโดนีเซียยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร และมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ปาปัวนิวกีนี และติมอร์-เลสเต
ภูมิอากาศ
[แก้]ลักษณะอากาศแบบศูนย์สูตร ประกอบด้วย 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (พฤษภาคม - ตุลาคม) และฤดูฝน (พฤศจิกายน - เมษายน) อินโดนีเซียมีฝนตกชุกตลอดปี แต่อุณหภูมิไม่สูงมากนัก เพราะพื้นที่เป็นเกาะจึงได้รับอิทธิพลจากทะเลอย่างเต็มที่
บางภูมิภาค เช่น บอร์เนียวและสุมาตรา พบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิระหว่างฤดูกาล ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น นูซาเต็งการา พบความแตกต่างที่เด่นชัดกว่ามากระหว่างความแห้งแล้งในฤดูแล้งและน้ำในฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนแตกต่างกันไปตามภูมิภาค โดยส่วนใหญ่อยู่ในสุมาตราตะวันตก ชวา และภายในของภาคกาลิมันตันและปาปัว และน้อยกว่าในพื้นที่ใกล้ออสเตรเลีย เช่น เกาะนูซาเต็งการา ซึ่งมีแนวโน้มจะแห้งแล้งกว่า ความชื้นของเกาะโดยรอบค่อนข้างสูงโดยอยู่ระหว่าง 70 ถึง 90% มีลมกำลังปานกลางและคาดการณ์ได้โดยทั่วไป โดยมรสุมมักจะพัดมาจากทิศใต้และทิศตะวันออกในเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม และจากตะวันตกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม พายุไต้ฝุ่นและพายุขนาดใหญ่ก่อให้เกิดอันตรายเพียงเล็กน้อยต่อนักเรือ ในขณะที่อันตรายที่สำคัญมาจากกระแสน้ำเชี่ยวกราก เช่น ช่องแคบลอมบอกและช่องแคบซาเป[30]
ปัญหาในปัจจุบัน
[แก้]งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า สภาพที่ตั้งของเกาะทั้งหมดในประเทศก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน[31] และในปัจจุบันการปล่อยมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในประเทศทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 °C (2 °F) ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา[32][33] ก่อให้เกิดภาวะแล้ง การขาดอาหาร ปัญหาต่อภาคการเกษตร และไฟป่าในหลายภูมิภาค นอกจากนี้จากการที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกปีซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง[34] และประชาชนที่อาศัยในภูมิภาคที่ยากจนและห่างไกลตัวเมืองมีโอกาสจะประสบปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นมากที่สุด[35]
การเมืองการปกครอง
[แก้]ประเทศอินโดนีเซียมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ปกครองประเทศ ภายหลังการหมดอำนาจของประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ในปี 1998 โครงสร้างทางการเมืองและการปกครองได้รับการปฏิรูปอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่ปรับปรุงอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยมีการกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานระดับภูมิภาคต่าง ๆ ในขณะที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นรัฐรวม[36] ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซียทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในเวลาเดียวกัน[37] และมีอำนาจสั่งการผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังติดอาวุธแห่งชาติอินโดนีเซีย (Tentara Nasional Indonesia, TNI) และผู้อำนวยการฝ่ายธรรมาภิบาลภายในประเทศ รวมทั้งการกำหนดนโยบาย และบริหารด้านการต่างประเทศ ประธานาธิบดีอาจดำรงตำแหน่งสูงสุดสองวาระ ไม่เกิน 5 ปีติดต่อกัน[38]
ผู้แทนสูงสุดในระดับชาติคือสภาที่ปรึกษาประชาชน (Majelis Permusyawaratan Rakyat, MPR) หน้าที่หลักของคือการสนับสนุนและแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกำหนดโครงร่างของนโยบายของรัฐ MPR สภาผู้แทนราษฎรของประเทศ (Dewan Perwakilan Rakyat, DPR) ประกอบด้วยสมาชิก 575 คน และสภาผู้แทนระดับภูมิภาค (Dewan Perwakilan Daerah, DPD) มีจำนวน 136 คน[39]
การเลือกตั้งและพรรคการเมือง
[แก้]ตั้งแต่ปี 1999 อินโดนีเซียมีพรรคการเมืองหลายพรรคในการลงรับสมัครเลือกตั้ง โดยไม่ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองใดที่สามารถชนะที่นั่งเสียงข้างมากในสภาแต่เพียงผู้เดียวได้ พรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ (PDI-P) ซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2019 เป็นพรรคของ โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน[40] พรรคที่โดดเด่นอื่น ๆ ได้แก่ กลการ์ หรือ พรรคกลุ่มการทำงาน (Golkar), พรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ (Gerindra), พรรคประชาธิปไตย และพรรคยุติธรรมรุ่งเรือง (PKS)
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 38 จังหวัด (provinsi) โดยมีเมืองหลวงหรือเมืองหลักของแต่ละจังหวัด ได้แก่
นโยบายต่างประเทศ
[แก้]อินโดนีเซียมีคณะทูตใน 132 ประเทศ และสถานทูตกว่า 95 แห่งทั่วโลก[41] ประเทศยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่ "เสรีอย่างแข็งขัน" โดยแสวงหาบทบาทในระดับภูมิภาคและเวทีโลกตามสมควร แต่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างประเทศ อินโดนีเซียเป็นสมรภูมิสำคัญในช่วงสงครามเย็น ปัจจุบันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านและเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เช่นเดียวกับโลกมุสลิมส่วนใหญ่ อินโดนีเซียไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลและสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างแข็งขัน อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนได้ชี้ให้เห็นว่าอินโดนีเซียมีความผูกพันกับอิสราเอลแม้จะไม่แสดงออกชัดเจน[42][43] โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าอาวุธปืนที่ผลิตจากอิสราเอล[44]
อินโดนีเซียเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 1950 และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) และองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) อินโดนีเซียเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน กลุ่มแคนส์ องค์การการค้าโลก (WTO) และเป็นสมาชิกโอเปกเป็นครั้งคราว สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการทหารระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย ส่งผลให้อินโดนีเซียถอนตัวจากสหประชาชาติหลังการเลือกตั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก่อนจะกลับมาเข้าร่วมอีกครั้งใน 18 เดือนต่อมา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกมีการถอนตัว อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1966[45][46][47] อินโดนีเซียได้จัดตั้งโครงการความช่วยเหลือในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปลายปี 2019[48]
กองทัพ
[แก้]กองทัพอินโดนีเซีย (TNI) รวมถึงกองทัพบก (TNI–AD) กองทัพเรือ (TNI–AL ซึ่งรวมถึงนาวิกโยธิน) และกองทัพอากาศ (TNI–AU) กองทัพมีบุคลากรประจำการอยู่ประมาณ 400,000 นาย การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศในงบประมาณของประเทศอยู่ที่ 0.7% ของ GDP ในปี 2018 กองทัพของประเทศก่อตั้งขึ้นในช่วงการปฏิวัติแห่งชาติของชาวอินโดนีเซียเมื่อทำสงครามกองโจรพร้อมกับกองทหารอาสาสมัครที่ไม่เป็นทางการตั้งแต่นั้นมา โดยมุ่งเป้าไปที่การรักษาเสถียรภาพภายในประเทศและขัดขวางการคุกคามจากต่างประเทศ กองทัพมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ การปฏิรูปการเมืองในปี 1998 ได้ลดบทบาทของ TNI ลง อย่างไรก็ตาม พวกเขายังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่
นับตั้งแต่ได้รับเอกราช ประเทศได้ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อต่อต้านการก่อความไม่สงบในท้องถิ่นและขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเจะห์และปาปัว ได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางอาวุธและการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการรายงานระดับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ลดลงตั้งแต่ปี 2004[49]
เศรษฐกิจ
[แก้]โครงสร้าง
[แก้]เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมน้ำมันเป็นแหล่งสำคัญที่สุดในการทำรายได้ให้อินโดนีเซีย นับแต่ยุคหลังได้รับเอกราชตลอดมา ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้นำรายได้มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการขนส่งและการคมนาคมสร้างฐานอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง มุ่งหวังสร้างความแข็งแกร่งให้กับการอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันในตลาดโลกในช่วงระหว่างปี 1980–84 ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอินโดนีเซีย รัฐบาลจึงหันมาส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตเพื่อลดการพึ่งพา รายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ แร่โลหะที่มีค่า สินค้าอุตสาหกรรม ต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้อินโดนีเซียมีข้าวเพียงพอสำหรับเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องนำเข้าอีกต่อไป ยกเว้นบางปีที่ผลผลิตข้าวไม่ดี ขณะเดียวกันรายได้จากการ ส่งออกสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะสินค้า อุตสาหกรรมได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญในปัจจุบัน โดยคิดเป็นร้อยละ 75 ของสินค้าออก ทั้งหมด
ในด้านอุตสาหกรรม อินโดนีเซียได้พัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมต่อเรือที่จาการ์ตา สุราบายา เซอมารัง และอัมบอยนา อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ชนิดต่าง ๆ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมกระจก
เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเรื่องเศรษฐกิจการค้า การเงิน การธนาคาร และการลงทุน เพื่อให้มีความเสรีและสะดวก ยิ่งขึ้น การผ่อนคลายรูปแบบของเศรษฐกิจที่มีรัฐควบคุมอยู่มาก เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนในกิจการหลาย ๆ ภาคที่เคยจำกัดไว้ รวมทั้งด้านสาธารณูปโภค อาทิ การพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม เป็นต้น
ดังนั้น เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจึงมีการขยายตัวและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความมั่นคงทางการเมือง ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และค่าจ้างแรงงานไม่สูงมาก ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการลงทุนของต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การประกอบการที่ดำเนินแต่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ การกู้ยืมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากภายนอกเพื่อลงทุนในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การผลิตและประกอบการที่ไม่มีการแข่งขันเนื่องจากได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตประเทศอื่นได้
การไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการโยกย้ายเงินทุน การโจมตีค่าเงินในภูมิภาค หนี้สินต่างประเทศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย รวมทั้งในอินโดนีเซียในช่วงปี 1997–98 ก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งอินโดนีเซียต้องพึ่งพากู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก
สินค้าออกที่สำคัญของอินโดนีเซีย นอกจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้ว[50] ได้แก่ ไม้อัดพลายวูด เสื้อผ้า ผ้าผืน ยางแปรรูป รองเท้า อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ[51] สินแร่โลหะและผลิตผลทางการเกษตร[52] ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่[53] ญี่ปุ่น สหรัฐ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ส่วน สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ รถยนต์ แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเกาหลีใต้
การคมนาคม
[แก้]การคมนาคมในอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลจากทรัพยากรและประชากรของชาติหมู่เกาะนี้ โดยเฉพาะการขนส่งประชากรกว่า 250 ล้านคน แค่เฉพาะบนเกาะชวาอย่างเดียว[54] การขนส่งในประเทศมีแนวโน้มจะเป็นแบบเกื้อกูลช่วยเหลือกันมากกว่าเป็นการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจ ในปี 2016 เม็ดเงินจากการคมนาคมขนส่งอย่างเดียวคิดเป็น 5.2% ของจีดีพี[55]
ระบบถนนทั้งประเทศมีความยาวรวม 537,838 กิโลเมตร (334,197 ไมล์) (2016)[56] โดยจาการ์ตามีระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษที่ขึ้นชื่อว่ามีเส้นทางเดินรถยาวที่สุดในโลก "ทรานส์จาการ์ตา" (TransJakarta) ด้วยระยะทาง 230.9 กิโลเมตร (143.5 ไมล์) ใน 13 สายที่วิ่งจนถึงชานเมืองจาการ์ตา[57] รถสามล้อ เช่น bajaj, becak และแท็กซี่แบบแบ่งกัน (share taxi) เช่น Angkot และ Metromini เป็นรูปแบบการขนส่งท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไปในประเทศ ระบบการขนส่งทางรางส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในชวา ทั้งขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สำหรับรถไฟฟ้าและโมโนเรลกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในจาการ์ตาและปาเล็มบัง ภายใต้ชื่อ MRT และ LRT[58][59] นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงซึ่งประกาศในปี 2015 ถือเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้[60]
ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียคือ ท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารผ่านเข้าออกมากที่สุดในซีกโลกใต้ ราว 63 ล้านคน ในปี 2017[61] โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติงูระฮ์ ไร และ ท่าอากาศยานนานาชาติจ็วนดา มีผู้โดยสารเข้าออกมากที่สุดรองลงมาตามลำดับ สายการบินประจำชาติ "การูดาอินโดนีเซีย" เปิดตัวในปี 1949 ในปัจจุบันสายการบินชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก และเป็นสมาชิกของสกายทีม ส่วนการคมนาคมทางน้ำมีท่าเรือตันจัง ปริอ็อก เป็นท่าสำคัญที่มีการใช้งานเยอะที่สุดและขึ้นชื่อว่าทันสมัยที่สุดในประเทศ[62] รองรับการขนส่งสินค้ามากกว่า 50% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมดของประเทศ
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
[แก้]งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติถือว่าต่ำ น้อยกว่า 0.1% ของจีดีพีในปี 2017[63] อินโดนีเซียจึงถือว่าไม่ใช่ประเทศที่เป็นผู้นำด้านนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียมีภูมิปัญญาพื้นบ้านอันช่วยให้การดำรงชีวิตของชาวพื้นเมืองสะดวกสบายขึ้นและเป็นที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะภูมิปัญญาพื้นบ้านในการสร้างนาขั้นบันไดที่เรียกว่า เตอราเซอร์ และเรือไม้ของชาวบูกิสและชาวมากัสซาร์ ที่เรียกว่าเรือ "ปีนีซี"[64]
อินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการพัฒนาและคิดค้นอากาศยานในการทหารเป็นของตนเองมาเป็นเวลานาน ในปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียยังเป็นผู้นำในการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ส่งออกให้กับโบอิ้ง และ แอร์บัส[65][66] อินโดนีเซียยังเคยเข้าร่วมโครงการของเกาหลีใต้ในการคิดค้นและสร้างเครื่องบินเจ็ตไล่ล่า รุ่นที่ 5 KAI KF-X.[67]
อินโดนีเซียยังมีโครงการและหน่วยงานด้านอวกาศของตนเอง สถาบันด้านการบินและอวกาศแห่งชาติ (Lembaga Penerbangan dan Antariksa Nasional, LAPAN) ซึ่งในราวทศวรรศปี 1970 อินโดนีเซียเป็นชาติกำลังพัฒนาชาติแรกที่ได้ส่งระบบดาวเทียมขึ้นไปโคจร ชื่อว่าปาลาปา[68] อันเป็นกลุ่มดาวเทียมสื่อสารที่อินโดแซต อูเรอดู เป็นเจ้าของ ดาวเทียมดวงแรกของโครงการ ปาลาปา เอ 1 ได้ถูกส่งขึ้นไปโคจรในอวกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 1976 จากศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา[69] จนถึงปัจจุบันมีดาวเทียมกลุ่มปาลาปา รวม 16 ดวงที่ถูกส่งไปโคจร[70] และ LAPAN ยังยืนยันไม่หยุดพัฒนาเท่านี้ และแสดงเจตจำนงที่จะส่งดาวเทียมจากฐานในประเทศภายในปี 2040[71]
พลังงาน
[แก้]ในปี 2017 อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่อันดับที่ 9 ของโลกด้วยปริมาณ 4,200 เทราวัตต์-ชั่วโมง (14.2 พันล้านหน่วยความร้อนของอังกฤษ) และผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 15 ด้วยจำนวน 2,100 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (7.1 พันล้านหน่วยความร้อนของอังกฤษ)[72] ประเทศมีแหล่งพลังงานมากมาย รวมถึงน้ำมันสำรองทั่วไปและก๊าซธรรมชาติ 22 พันล้านบาร์เรล (3.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร) (ซึ่งสามารถกู้คืนได้ประมาณ 4 พันล้านบาร์เรล) 8 พันล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันจากแก๊สมีเทนจากถ่านหิน (CBM) และถ่านหินที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 28 พันล้านตัน ในขณะที่การพึ่งพาถ่านหินในประเทศและน้ำมันนำเข้าเพิ่มขึ้น[73]
รัฐบาลอินโดนีเซียเล็งเห็นถึงประโยชน์ในด้านพลังงานทดแทน[74] โดยที่กระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเป็นแหล่งพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด[75] นอกจากนี้ ประเทศยังมีศักยภาพในการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล และการจัดการน้ำในมหาสมุทรอีกด้วย อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 23% ภายในปี 2025 และ 31% ภายในปี 2050 ณ ปี 2015 กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งในประเทศทั้งหมดของอินโดนีเซียอยู่ที่ 55,528.51 เมกะวัตต์
เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้แก่ Jatiluhur มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนด้านพลังงานในประเทศ[76] รวมถึงการจัดหาไฟฟ้าพลังน้ำ การจัดหาน้ำ การควบคุมน้ำท่วม การชลประทาน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เขื่อนถมดินสูง 105 ม. (344 ฟุต) และรองรับอ่างเก็บน้ำ 3.0 พันล้านลูกบาศก์เมตร (2.4 ล้านเอเคอร์) ช่วยในการส่งน้ำไปยังกรุงจาการ์ตา และมีกำลังการผลิตติดตั้ง 186.5 เมกะวัตต์
การท่องเที่ยว
[แก้]รายได้จากภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 28.2 พันล้าน ดอลล่าร์สหรัฐ[77] ในปี 2017 อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวจำนวน 14.04 ล้านคน เพิมขึ้นราว 21.8% จากปี 2016[78] โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินราว 2,009 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคน นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักได้แก่ชาวจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2011 กระทรวงการท่องเที่ยว (อินโดนีเซีย) ได้ประกาศสโลแกนการท่องเที่ยวคือ อินโดนีเซียมหัศจรรย์ (Wonderful Indonesia) ซึ่งยังคงใช้มาจนปัจจุบัน[79] สถานที่ท่องเที่ยวในอินโดนีเซียมีทั้งเชิงสิ่งแวดล้อม เช่น ชายหาดและทะเลที่ขึ้นชื่อและป่าดงดิบจำนวนมากทั่วประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่นแหล่งมรดกโลกสำคัญ อย่าง บุโรพุทโธ และ ปรัมบานัน
แหล่งธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอินโดนีเซีย หมู่เกาะทั้งหมดมีการผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ของภูมิอากาศเขตร้อน หมู่เกาะที่กว้างใหญ่ และชายหาดที่ทอดยาว และมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนานที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของอินโดนีเซีล้วยดึงดูดนักท่องเที่ยวปริมาณมาก อินโดนีเซียยังมีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี โดยมีป่าฝนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 57% ของพื้นที่อินโดนีเซีย (225 ล้านเอเคอร์) ป่าไม้บนเกาะสุมาตราและกาลิมันตันเป็นตัวอย่างของจุดหมายปลายทางยอดนิยม เช่น เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุรังอุตัง นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีแนวชายฝั่งที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีความยาวกว่า 54,716 กิโลเมตร (33,999 ไมล์)
อินโดนีเซียมีแหล่งมรดกโลกรับรองโดยองค์การยูเนสโก 9 แห่ง[80][81] รวมทั้งอุทยานแห่งชาติโกโมโดและเหมืองถ่านหินซาวาลุนโต และอีก 19 รายการในรายชื่อที่รอการขึ้นทะเบียนในอนาคต[82] ซึ่งรวมถึงอุทยานแห่งชาติบูนาเกนและหมู่เกาะราชาอัมปัต สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ มรดกอาณานิคมของ หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ในเมืองเก่าของจาการ์ตาและเซอมารัง และพระราชวังของ Pagaruyung และยกยาการ์ตา
ความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อม
[แก้]ด้วยขนาด ภูมิอากาศ และสภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะของอินโดนีเซียส่งผลให้เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากสุดองโลก[83] และเป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่มีความหลากหลายขนาดใหญ่ที่ระบุโดย Conservation International พืชและสัตว์คือส่วนผสมของสายพันธุ์เอเชียและออสตราเลเซียน[84] หมู่เกาะซุนดาเชลฟ์ (สุมาตรา ชวา บอร์เนียว และบาหลี) ครั้งหนึ่งเคยเชื่อมโยงกับเอเชียแผ่นดินใหญ่และมีสัตว์เอเชียมากมาย สปีชีส์ขนาดใหญ่ เช่น เสือโคร่งสุมาตรา, แรด, อุรังอุตัง, ช้างเอเชีย และเสือดาว ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่มากมายทางตะวันออกของเกาะบาหลี แต่ได้ลดลงอย่างมากด้วยฝีมือมนุษย์ และบางชนิดได้สูญพันธุ์แล้ว เช่น เสือโคร่งบาหลี หลังจากการแยกตัวจากผืนแผ่นดินทวีปมาเป็นเวลานานบริเวณ สุลาเวสี นูซาเต็งการา และมาลูกูได้พัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ ปาปัวเป็นส่วนหนึ่งของผืนดินของออสเตรเลียและเป็นที่อยู่ของสัตว์และพืชพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งนกกว่า 600 สายพันธุ์
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สองรองจากออสเตรเลียในแง่ของจำนวนสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น โดย 36% ของนก 1,531 สายพันธุ์ และ 39% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 515 สายพันธุ์ถือเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น อินโดนีเซียทะเลเขตร้อนล้อมรอบชายฝั่งทะเล 80,000 กิโลเมตร (50,000 ไมล์) และมีระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่หลากหลาย รวมทั้งชายหาด เนินทราย ปากน้ำ ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล โคลนชายฝั่ง ที่ราบน้ำขึ้นน้ำลง สาหร่าย และระบบนิเวศของเกาะเล็ก ๆ อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของปะการัง โดยกว่า 1,650 สายพันธุ์สามารถพบได้ในภาคตะวันออกของอินโดนีเซียเท่านั้น[85][86]
นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ บรรยายถึงเส้นแบ่ง (เส้นวอลเลซ) ระหว่างการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เอเชียและออสตราเลเซียนของอินโดนีเซีย ตามแนวขอบของ Sunda Shelf ระหว่างกาลิมันตันและสุลาเวสี และตามช่องแคบลอมบอกที่ลึกระหว่างลอมบอกและบาหลี พืชและสัตว์ต่าง ๆ ทางตะวันตกของแนวเส้นนี้มักเป็นสายพันธุ์เอเชีย ขณะที่ทางตะวันออกจากลอมบอก มีความเป็นออสเตรเลียมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดแนวเวเบอร์ ในหนังสือของเขาในปี 1869 วอลเลซได้บรรยายถึงสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมายที่มีลักษณะเฉพาะในพื้นที่นี้ บริเวณหมู่เกาะระหว่างแนวของเทือกเขากับนิวกินีปัจจุบันเรียกว่าวอลเลเซีย
ด้วยขนาดประชากรที่เพิ่มสูง และการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง ปัญหาเกิดจากการบริหารที่อ่อนแอและการมีทรัพยากรไม่เพียงพอ ปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ การทำลายพื้นที่พรุ การตัดไม้ทำลายป่า (ทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลมากเกินไป มลพิษทางอากาศ การจัดการขยะและน้ำเสียที่ด้อยคุณภาพ มีส่วนทำให้อินโดนีเซียอยู่ในอันดับต่ำ (อันดับที่ 116 จาก 180 ประเทศ) ในดัชนีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมปี 2020 ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก[87]
ในปี 2018 ป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 49.7% ของพื้นที่ประเทศ ลดลงจาก 87% ในปี 1950 เริ่มต้นในปี 1970 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การผลิตไม้ซุง พื้นที่เพาะปลูกและเกษตรกรรมต่าง ๆ มีผลต่อการตัดไม้ทำลายป่าส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียเป็นแหล่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังคุกคามการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 140 สายพันธุ์ถูกคุกคาม และอีก 15 สายพันธุ์กำลังเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ รวมถึงนกบาหลี อุรังอุตังสุมาตรา และแรดชวา
ประชากรศาสตร์
[แก้]การสำรวจสำมะโนประชากรปี 2020 บันทึกประชากรของอินโดนีเซียไว้ที่ 270.2 ล้านคน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก โดยมีอัตราการเติบโตของประชากรระดับปานกลางที่ 1.3%[88] ชวาเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดในโลก[89] และกว่า 56% ของประชากรในประเทศอาศัยอยู่ในเกาะชวา ความหนาแน่นของประชากรคือ 141 คนต่อตารางกิโลเมตร (365 ต่อตารางไมล์) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 88 ของโลก รัฐบาลอินโดนีเซียคาดว่าจำนวนประชากรจะเติบโตเป็น 295 ล้านคนภายในปี 2573 และ 321 ล้านคนภายในปี 2593[90]
ประชากรประมาณ 54.7% อาศัยอยู่ในเขตเมือง[91] จาการ์ตาเป็นเมืองหลวงของประเทศและเป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก โดยมีประชากรมากกว่า 34 ล้านคน ชาวอินโดนีเซียประมาณ 8 ล้านคนอาศัยอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในมาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย[92]
เชื้อชาติ
[แก้]ชาวอินโดนีเซียส่วนมากสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าที่พูดตระกูลภาษาออสโตรนีเชียน ภาษาของกลุ่มชนดังกล่าวสามารถที่จะสืบค้นย้อนไปถึงภาษาออสโตรเนเชียนดั้งเดิม ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีต้นกำเนิดในไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชนเผ่าที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ เผ่าเมลาเนเซียน ผู้ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะปาปัว ภาคตะวันออก ของประเทศอินโดนีเซีย ชาวชวา คือ กลุ่มชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุด ซึ่งมีอยู่ราว 42% ของจำนวนประชากร เป็นกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง และวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนชาติหลัก ๆ ที่มีจำนวนพอ ๆ กับชาวชวา เช่น ชาวซุนดา ชาวมลายู และชาวมาดูรา จิตสำนึกของความเป็น ชาวอินโดนีเซีย จะขนานควบคู่ไปกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตนเองอย่างเหนียวแน่น ความตึงเครียดทางสังคม ศาสนา และเชื้อชาติ เป็นสิ่งที่เคยกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง อันน่าสะพรึงกลัวมาแล้ว ชาวอินโดนิเซียเชื้อสายจีน เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ แต่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง มีจำนวนราว ๆ ร้อยละ 3-4 ของจำนวนประชากรอินโดนีเซีย
ศาสนา
[แก้]ในปี 2018[93] ประเทศอินโดนีเซียมีผู้นับถือศาสนา แบ่งได้ดังนี้ ศาสนาอิสลาม 87.2% ศาสนาคริสต์ 7% ศาสนาฮินดู 2.9% ศาสนาพุทธ 0.7% ลัทธิขงจื๊อและศาสนาอื่น ๆ 0.2%
โดยศาสนาฮินดูมีผู้นับถือเป็นหลักบนเกาะบาหลี คิดเป็นราว 84% ของประชากรทั้งหมด นับถือศาสนาฮินดูแบบบาหลี อันต่างจากศาสนาฮินดูในอนุทวีปอินเดียในบางส่วน เช่น มีศาสนสถานที่เรียกว่าปูรา นับถือเทพเจ้าสูงสุดคือ อจินไตย (เทพเจ้า) เป็นต้น
ชาวพื้นเมืองของหมู่เกาะชาวอินโดนีเซียแต่เดิมมีความเชื่อเรื่องผี[94] ซึ่งเป็นความเชื่อที่พบได้ทั่วไปในชาวออสโตรนีเซียน พวกเขาบูชาและเคารพวิญญาณบรรพบุรุษและเชื่อว่าวิญญาณเหนือธรรมชาติ (ฮยัง) อาจอาศัยอยู่ในสถานที่บางแห่ง เช่น ต้นไม้ใหญ่ หิน ป่า ภูเขา หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตัวอย่างระบบความเชื่อของชาวอินโดนีเซีย ได้แก่ Sunda Wiwitan, Dayak's Kaharingan และ Javanese Kejawèn ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่ออื่น ๆซึ่งเห็นได้จากผู้คนจำนวนมาก เช่น ชาวอาบังกันชาวชวา, ชาวฮินดูในบาหลี และชาวดายัคที่นับถือศาสนาของพวกเขา
อิทธิพลของศาสนาฮินดูมาถึงหมู่เกาะตั้งแต่ศตวรรษที่ 1[95] ในขณะที่พุทธศาสนามาถึงราวศตวรรษที่ 6 และประวัติศาสตร์ในอินโดนีเซียมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับศาสนาฮินดู เนื่องจากบางอาณาจักรที่ยึดตามพุทธศาสนามีรากฐานมาจากช่วงเวลาเดียวกัน และแม้จะไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนายังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมชาวอินโดนีเซีย[96][97]
ภาษา
[แก้]ภาษาราชการของประเทศคือภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นภาษามลายู และมีสถานะเป็นภาษากลางของหมู่เกาะมาหลายศตวรรษ ได้รับการส่งเสริมโดยกลุ่มชาตินิยมในปี 1920 และได้รับสถานะอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ บาฮาซาอินโดนีเซีย ในปี 1945[98] และจากการติดต่อกับชาติอื่น ๆ มานานหลายศตวรรษ ภาษาในประเทศอินโดนีเซียจึงได้รับอิทธิพลจากภาษาท้องถิ่นและภาษาต่างประเทศมากมาย เช่น ชวา ซุนดา มินังกาเบา มากัสซารีส ฮินดูสถาน สันสกฤต ทมิฬ จีน อาหรับ ดัตช์ โปรตุเกส และอังกฤษ[99][100]
ชาวอินโดนีเซียส่วนมากสามารถสื่อสารได้มากกว่าหนึ่งภาษานอกเหนือจากบาฮาซา เนื่องจากความก้าวหน้าในด้านการศึกษา วิชาการ การสื่อสาร ธุรกิจ การเมือง และสื่อมวลชนในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่พูดภาษาท้องถิ่นได้อย่างน้อยหนึ่งภาษาจากจำนวนกว่า 700 ภาษา ซึ่งมักเป็นภาษาแม่ของพวกเขามาแต่กำเนิด และส่วนใหญ่อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ในขณะที่ภาษาท้อถิ่นของปาปัวกว่า 270 ภาษาเป็นภาษาพูดในอินโดนีเซียตะวันออก ในจำนวนนี้ ภาษาชวาเป็นภาษาที่พูดกันอย่างแพร่หลายที่สุด และมีสถานะร่วมอย่างเป็นทางการในภูมิภาคพิเศษของยกยาการ์ตา
ในปี 1930 ชาวดัตช์และชาวยุโรปอื่น ๆ และกลุ่มชาวอินโด (Indos) มีจำนวน 240,000 หรือ 0.4% ของประชากรทั้งหมด[101] และยังคงมีลูกหลานสืบเชื้อสายในประเทศอยู่จนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ภาษาดัตช์ไม่เคยได้รับการยอมรับในกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ รวมถึงไม่ได้รับสถานะทางการในบริบทต่าง ๆ แม้ว่าประเทศจะมีความสัมพันธ์กับเนเธอร์แลนด์เกือบ 350 ปี[102] แต่ชนกลุ่มน้อยตามเกาะต่าง ๆ สามารถใช้ภาษาดัตช์ได้อย่างคล่องแคล่วซึ่งส่วนมากเป็นลูกหลานของอาณานิคมชาวดัตช์ที่กล่าวถึงข้างต้น
การศึกษา
[แก้]ระบบการศึกษาในโรงเรียนของอินโดนีเซีย ประกอบด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาชั้นมัธยมและการศึกษาระดับสูง และยังมีการศึกษาก่อนวัยเรียนเพื่อเตรียมควมพร้อมของเด็ก การศึกษาขั้นพื้นฐานของอินโดนีเซียกินเวลา 9 ปี ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นการสร้างเสริมทักษะพื้นฐานให้แก่ ผู้เรียนเตรียมความพร้อมในฐานะปัจเจกชน ประชาชน และมนุษยชาติ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้จัดแบ่งโรงเรียนเป็น 2 ลักษณะ คือ โรงเรียนประถมศึกษาทั่วไป (General primary school) และโรงเรียนประถมศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิการ (Special primary school for handicapped children)
ระบบการศึกษาของอินโดนีเซียตั้งวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาไว้ว่า
- พัฒนาความรู้ของนักเรียนสำหรับการศึกษาต่อเนื่องในระดับที่สูงขึ้นและเพื่อพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์แขนงต่าง ๆ
- พัฒนาความสามารถของนักเรียนในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
โรงเรียนมัธยมศึกษาของอินโดนีเซีย แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 6 แบบ เพื่อผลิตนักเรียนตามความต้องการของผู้เรียนในอนาคต ดังนี้
- การศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั่วไป เป็นการเตรียมความรู้ และพัฒนาทักษะสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป
- การศึกษาระดับมัธยมศึกษาทางวิชาชีพ สามารถแยกการศึกษานี้ออกเป็น 6 กลุ่ม ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ได้แก่ เกษตรกรรมและการป่าไม้ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ธุรกิจและการจัดการ ความเป็นอยู่ของชุมชน การท่องเที่ยว และศิลปะหัตถกรรม
- การศึกษาระดับมัธยมศึกษาด้านศาสนา
- การศึกษาระดับมัธยมศึกษาด้านการบริการ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความรู้ความสามารถสำหรับผู้ที่จะเข้าเป็นพนักงานหรือข้าราชการ
- การศึกษาระดับมัธยมศึกษาพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่พิการทางร่างกายหรือจิตใจ
- การศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรีใช้เวลา 3-4 ปี ปริญญาโท 2 ปี ปริญญาเอก 3 ปี สถาบันที่ให้การศึกษาระดับสูงนี้มีลักษณะเป็นสถาบันวิชาการ โพลีเทคนิค สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่สะท้อนปัญหาความไม่สมดุลในการจัดการศึกษาของอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมากที่สุดในอาเซียนคือ 243 ล้านคน แต่มีผู้เข้าสูงการศึกษาขั้นสูงหรือระดับปริญญาตรีขึ้นไปประมาณ 4.8 ล้านคนเท่านั้น ทั้งกลุ่มคนเหล่านี้ก็สนใจที่จะศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสในการทำงาน เคยมีผลสำรวจระบุว่า นายจ้างในอินโดนีเซียยินดีรับผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศมากกว่าผู้ที่จบในประเทศค่านิยมแบบนี้จึงผลักดันให้เยาวชนอินโดนีเซียต้องออกไปศึกษาต่อขั้นสูงในต่างประเทศแทน
สุขภาพ
[แก้]ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 3.3% ของ GDP ในปี 2016[103] รัฐบาลได้เปิดตัวการประกันสุขภาพแห่งชาติ (Jaminan Kesehatan Nasional, JKN) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2014 โดยครอบคลุมบริการต่าง ๆ จากภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ชาวอินโดนีเซียมีอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น (จาก 62.3 ปีในปี 1990 เป็น 71.7 ปีในปี 2019) และอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่ลดลง (จาก 84 คนเสียชีวิตต่อการเกิด 1,000 คนในปี 1990 เป็น 25.4 คนในปี 2017)[104] ปัญหาสุขภาพในปัจจุบันรวมถึงสุขภาพของแม่และเด็ก โรคจากมลภาวะทางอากาศ ภาวะทุพโภชนาการ อัตราการสูบบุหรี่สูง และโรคติดเชื้อ
วัฒนธรรม
[แก้]วัฒนธรรมดั้งเดิมของอินโดนีเซียนั้นมีมาราว 2 สหัสวรรษ โดยได้รับอิทธิพลจากอนุทวีปอินเดีย จีนแผ่นดินใหญ่ ตะวันออกกลาง ยุโรป (ในช่วงล่าอาณานิคม)[105][106] และชาวเกาะพื้นเมืองออสโตรนีเซียน ล้วนส่งผลให้อินโดนีเซียในปัจจุบันมีวัฒนธรรมแบบพหุวัฒนธรรม พหุเชื้อชาติ และพหุภาษา[3][107] ซึ่งทำให้มีลักษณะที่แตกต่างไปจากชนพื้นเมืองชาวเกาะดั้งเดิม มีความซับซ้อนในวัฒนธรรมสูง ในปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 9 รายการ เช่น มหรสพวายัง (คล้ายหนังตะลุงของไทย), ผ้าบาติก, การเต้นพื้นเมืองบาหลี เป็นต้น[108]
สถาปัตยกรรม
[แก้]สถาปัตยกรรมอินโดนีเซียนั้นได้รับอิทธิพลจากหลากหลายวัฒนธรรม โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของอินเดียเป็นหลัก ผสมผสานกับอิทธิพลจีน อาหรับ มุสลิม และยุโรป บ้านแบบดั้งเดิมของอินโดนีเซียเรียกรวม ๆ ว่า รูมะฮ์อาดัต (rumah adat) ซึ่งรูมะฮ์อาดัตแต่ละแบบก็ใช้การก่อสร้างและวัสดุในท้องถิ่น ถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองแต่ละเผ่า[109] เช่น รูมะฮ์กาดังที่พบในซูลาเวซีใต้, ตงโกนันหรือบ้านหลังคาทรงเรือ, ศาลาแบบเป็นโดโป, หลังคาแบบจ็อกโล ของวัฒนธรรมชวา, บ้านยาว และ รูมะฮ์เมลายูหรือบ้านมลายู ของชาวดายัก, สถาปัตยกรรมบาหลีที่พบใน โบสถ์พราหมณ์แบบบาหลี (ปูรา) และ โรงนา (ลัมบัง)
วรรณกรรม
[แก้]ในสมัยที่ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาได้เข้าไปเผยแพร่ในอินโดนีเซีย วรรณกรรมของอินโดนีเซียจึงมีความเจริญอย่างรวดเร็ว หนังสือที่มีชื่อเสียงในระยะนั้นได้แก่เรื่องเนการาเกอร์ตากามา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ และอำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ได้รับความนิยมกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องปาราราตัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกษัตริย์อินโดนีเซียในสมัยนั้น เขียนเป็นภาษาชวาโบราณ ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่เข้าไปในอินโดนีเซีย ก็ได้มีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาอิสลาม และตำราหมอดูไว้หลายเล่ม โดยเขียนเป็นภาษาชวา
เครื่องแต่งกาย
[แก้]อินโดนีเซียมีเสื้อผ้าหลากหลายรูปแบบอันเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมอันยาวนานและยาวนาน ชุดประจำชาติมีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมพื้นเมืองของประเทศและประเพณีสิ่งทอแบบดั้งเดิม ผ้าบาติกชวาและเกบายา เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของอินโดนีเซีย[110] แม้ว่าจะมีต้นกำเนิดจากซุนดาและบาหลีด้วยเช่นกัน แต่ละจังหวัดมีการแสดงเครื่องแต่งกายและการแต่งกายแบบดั้งเดิม เช่น Ulos of Batak จากสุมาตราเหนือ; Songket ของมลายูและ Minangkabau จากสุมาตรา; และอิกัตแห่งซาสักจากลอมบอก ผู้คนสวมชุดประจำชาติและระดับภูมิภาคในงานแต่งงานตามประเพณี พิธีการ การแสดงดนตรี การเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐบาลและโอกาสทางการ และมีความแตกต่างกันไปตามเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมจนถึงสมัยใหม่
ดนตรี
[แก้]มหรสพที่มีชื่อเสียงหนึ่งคือ ระบำบารง (Barong Dance) เป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเกาะบาหลี อินโดนีเซีย บารองเป็นสัตว์ในตำนาน ซึ่งมีหลังอานยาวและหางงอนโง้ง และเป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณดีงาม ซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์รักษามนุษย์ต่อสู้กับรังดา ตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณชั่วร้าย ระบำบารงเป็นนาฏกรรมศักดิ์สิทธิ์ การร่ายรำมีท่าทีอ่อนช้อยงดงาม เสียงเพลงไพเราะ[111]
การเต้นรำแบบอินโดนีเซียมีประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีการเต้นรำดั้งเดิมมากกว่า 3,000 แบบ[112] นักวิชาการเชื่อว่าพวกเขามีจุดเริ่มต้นในพิธีกรรมและการบูชาทางศาสนา ตัวอย่าง ได้แก่ ระบำสงคราม การเต้นรำของหมอผี และการเต้นรำเรียกฝนหรือพิธีกรรมทางการเกษตร เช่น ฮูด็อก การเต้นรำของชาวอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลจากยุคก่อนประวัติศาสตร์และชนเผ่า ฮินดู-พุทธ และอิสลามของหมู่เกาะ เมื่อเร็ว ๆ นี้การเต้นรำสมัยใหม่และการเต้นของวัยรุ่นในเมืองได้รับความนิยมเนื่องจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกและของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นาฏศิลป์พื้นเมืองต่าง ๆ รวมทั้งของชวา บาหลี และดายัค ยังคงเป็นประเพณีที่มีอิทธิพลต่อสังคมถึงปัจจุบัน[113]
ศิลปะการแสดง และวงการบันเทิง
[แก้]วายัง (แสดงโดยคน) และ การแสดงละครหุ่นกระบอกเงาของชาวชวา ซุนดา และบาหลี เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีมายาวนาน โดยมักแสดงเป็นเรื่องในตำนานหลายเรื่อง เช่น รามายณะและมหาภารตะ[114] ละครท้องถิ่นรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ ละครภาษาชวา Ludruk และ Ketoprak, เรื่องซันดิวาราซุนดา, เบตาวี เลนอง และละครนาฏศิลป์บาหลีหลายเรื่อง พวกเขารวมอารมณ์ขันและความตลกขบขันไว้ในการแสดง และมักให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการแสดง ประเพณีการแสดงละครบางเรื่องยังรวมถึงดนตรี การเต้นรำ และศิลปะการต่อสู้ เช่น รันไดจากชาวมินังกาเบาในสุมาตราตะวันตก มักใช้ประกอบพิธีและเทศกาลตามประเพณี และอิงตามตำนานกึ่งประวัติศาสตร์และเรื่องราวความรักของมินังกาเบา ศิลปะการแสดงสมัยใหม่ยังพัฒนาขึ้นในอินโดนีเซียด้วยรูปแบบการละครที่โดดเด่น คณะละคร นาฏศิลป์ และคณะละครที่มีชื่อเสียง เช่น Teater Koma มีชื่อเสียงเนื่องจากมักแสดงถึงการเสียดสีทางสังคมและการเมืองของสังคมชาวอินโดนีเซีย
ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผลิตในหมู่เกาะคือ เลิ้ง กะสะเริง (Loetoeng Kasaroeng) เป็นภาพยนตร์เงียบโดยผู้กำกับ แอล ฮิวเวลดอร์ป ชาวดัตช์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ขยายตัวหลังจากได้รับเอกราช โดยมีภาพยนตร์ 6 เรื่องที่ผลิตในปี 1949 เพิ่มขึ้นเป็น 58 เรื่องในปี 1955 อุสมาร์ อิสมาอิล ผู้ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญในวงการบันเทิงในทศวรรษ 1950 และ 1960[115] โดยทั่วไปถือว่าเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์ชาวอินโดนีเซีย และภาพยนตร์ต่างประเทศก็ถูกห้ามฉายในเวลาต่อมา[116] การผลิตภาพยนตร์ได้รับความนิยมถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1980[117] แม้ว่าจะลดลงอย่างมากในทศวรรษต่อมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ภาพยนตร์ที่โดดเด่นในช่วงเวลาหลายทศวรรษมานี้ ได้แก่ Pengabdi Setan (1980), Nagabonar (1987), Tjoet Nja' Dhien (1988), Catatan Si Boy (1989) และภาพยนตร์ตลกของ Warkop[118]
บริษัทสร้างภาพยนตร์อิสระเป็นจุดกำเนิดใหม่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1998 โดยที่ภาพยนตร์เริ่มมีเนื้อหาที่ได้รับการห้ามฉายก่อนหน้านี้ เช่น ศาสนา เชื้อชาติ และความรัก ระหว่างปี 2000 ถึง 2005 จำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[119] ในปี 2016 ภาพยนตร์เรื่อง DKI Reborn: Jangkrik Boss Part 1 ทุบสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศ กลายเป็นภาพยนตร์ชาวอินโดนีเซียที่มีผู้ชมมากที่สุดด้วยยอดขายบัตร 6.8 ล้านใบ[120] อินโดนีเซียได้จัดเทศกาลภาพยนตร์และรางวัลประจำปี ซึ่งรวมถึงเทศกาลภาพยนตร์อินโดนีเซีย (Festival Film Indonesia) ซึ่งจัดขึ้นเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่ปี 1955 โดยมอบรางวัล Citra Award ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1992 เทศกาลนี้จัดขึ้นทุกปีจนถึงปี 2004 และกำลังนำกลับมาจัดอีกครั้งในอนาคต
อาหาร
[แก้]อาหารอินโดนีเซียมีความหลากหลายสูงมาก[121][122] อาหารพื้นเมืองได้รับอิทธิพลจากจีน อาหรับ และยุโรป รวมทั้งเครื่องเทศทั้งที่พบในท้องถิ่นและนำเข้ามาปลูกจากอินเดีย[123] ข้าวเป็นอาหารหลักในอินโดนีเซีย ทานคู่กับอาหารคาว ส่วนมากปรุงรสด้วยเครื่องเทศ พริก กะทิ ปลา เนื้อไก่ เป็นวัตถุดิบหลัก[124]
อาหารขึ้นชื่อเช่น นาซีโกเร็ง, กาโด-กาโด, สะเต๊ะ, โซโต อย่างไรก็ตามกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งชาติได้เลือกให้ ตัมเป็ง เป็นอาหารประจำชาติในปี ค.ศ. 2014[122] นอกจากนี้ยังมีอาหารปาดัง เช่น เร็นดัง เด็นดัง กูไล ซึ่งเมื่อปี 2017 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ภาคการท่องเที่ยว ได้เลือกให้เร็นดัง เป็นอาหารที่อร่อยที่สุด "ในโลก"[125] อาหารหมักดองที่เป็นที่รู้จัก เช่น อนจม, เต็มเป ซึ่งนิยมมากในชวาตะวันตก
หนึ่งในอาหารที่คนไทยรู้จักกันดีคือ กาโด-กาโด เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของอินโดนีเซียคล้ายกับสลัดแขก ซึ่งจะประกอบด้วยถั่วเขียว มันฝรั่ง ถั่วงอก เต้าหู้ ไข่ต้มสุก กะหล่ำปลี ข้าวเกรียบกุ้ง รับประทานกับซอสถั่วที่มีลักษณะเหมือนซอสสะเต๊ะ อย่างไรก็ตาม ด้วยเครื่องสมุนไพรในซอส เช่น รากผักชี หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ทำให้เมื่อรับประทานแล้วจะไม่รู้สึกเลี่ยนกะทิมากจนเกินไป และยังเป็นเหมือนอาหารสำหรับคนรักสุขภาพได้อีกด้วย
กีฬา
[แก้]กีฬาในประเทศมักมีผู้เล่นเป็นเพศชาย และมักเกี่ยวข้องกับการพนันที่ผิดกฎหมาย[126] แบดมินตันและฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยม อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในห้าประเทศเท่านั้นที่คว้าแชมป์ Thomas and Uber Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีมแบดมินตันชายและหญิง ซึ่งนอกจากการยกน้ำหนักแล้ว แบดมินตันยังเป็นกีฬาที่มีส่วนเพิ่มเหรียญโอลิมปิกให้แก่อินโดนีเซียมากที่สุด
ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ลีกาซาตู เป็นลีกสโมสรฟุตบอลชั้นนำของประเทศ ในระดับภูมิภาค อินโดนีเซียได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 1958 และอีก 2 เหรียญทองในซีเกมส์ 1987 และ 1991 และทีมชาติอินโดนีเซียร่วมแข่งชัน เอเชียนคัพ สมัยแรกในปี 1996 และร่วมแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มได้อีกสามครั้งถัดไป แม้ว่าจะยังไม่เคยผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Pancasila". U.S. Library of Congress. 3 February 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 February 2017. สืบค้นเมื่อ 5 February 2017.
- ↑ Vickers 2005, p. 117.
- ↑ 3.0 3.1 Simons, Gary F.; Fennig, Charles D. "Ethnologue: Languages of the World, Twenty-first edition". SIL International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 June 2019. สืบค้นเมื่อ 20 September 2018.
- ↑ Na'im, Akhsan; Syaputra, Hendry (2010). "Nationality, Ethnicity, Religion, and Languages of Indonesians" (PDF) (ภาษาอินโดนีเซีย). Statistics Indonesia. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 September 2015. สืบค้นเมื่อ 23 September 2015.
- ↑ "Statistik Umat Menurut Agama di Indonesia" (ภาษาอินโดนีเซีย). Ministry of Religious Affairs. 15 May 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2020. สืบค้นเมื่อ 24 September 2020.
- ↑ "UN Statistics" (PDF). United Nations. 2005. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 31 October 2007. สืบค้นเมื่อ 31 October 2007.
- ↑ "Hasil Sensus Penduduk 2020" (PDF) (ภาษาอินโดนีเซีย). Statistics Indonesia. 21 January 2021. p. 9. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2021. สืบค้นเมื่อ 21 January 2021.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 "Report for Selected Countries and Subjects". International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 2022-04-19.
- ↑ "GINI index (World Bank estimate) – Indonesia". World Bank. สืบค้นเมื่อ 15 April 2021.
- ↑ "Human Development Report 2021/2022" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 8 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
- ↑ "Indonesia Population (2021) - Worldometer". www.worldometers.info (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "About Indonesia". www.kbriwina.at. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
- ↑ "How Islam came to dominate Indonesia". How Islam came to dominate Indonesia (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Muslim Population By Country 2021". worldpopulationreview.com.
- ↑ Brackey, Rosemary (2018-11-30). "The Largest Muslim Country Is Not in the Middle East". IMB.
- ↑ "Bloomberg - Are you a robot?". www.bloomberg.com.
{{cite web}}
: Cite ใช้ชื่อทั่วไป (help) - ↑ "Indonesia Population 2021 (Demographics, Maps, Graphs)". worldpopulationreview.com.
- ↑ "Series: Indonesian Forests". news.mongabay.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Facts & Figures – Embassy of the Republic of Indonesia | Washington D.C." (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
- ↑ "Indonesia - Dutch territorial expansion". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Indonesia Colonial History - Dutch Occupation - Dutch East Indies | Indonesia Investments". www.indonesia-investments.com.
- ↑ "The Indonesian Independence War - Counter Narratives". Histori Bersama (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Cultures of Indonesia - Unity in Diversity | Indonesia Investments". www.indonesia-investments.com.
- ↑ "Javanese | people". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Bhinneka Tunggal Ika – Indonesia's Source of Excellence". Jakarta Globe.
- ↑ "Multiculturalism: Some Lessons from Indonesia". www.culturalsurvival.org (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Indonesia | Facts, People, and Points of Interest". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Tomascik, Tomas; Mah, Anmarie Janice; Nontji, Anugerah; Moosa, Mohammad Kasim (1996). The Ecology of the Indonesian Seas – Part One. Hong Kong: Periplus Editions.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-09. สืบค้นเมื่อ 2021-10-09.
- ↑ "Indonesia - Climate". countrystudies.us.
- ↑ Overland, Indra (2017-11-06). Impact of Climate Change on ASEAN International Affairs: Risk and Opportunity Multiplier.
- ↑ http://awsassets.panda.org/downloads/inodesian_climate_change_impacts_report_14nov07.pdf
- ↑ "Impact Map". Climate Impact Lab (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Report: Flooded Future: Global vulnerability to sea level rise worse than previously understood". www.climatecentral.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
- ↑ https://impactlab.org/map/#usmeas=absolute&usyear=1981-2010&gmeas=change-from-hist&gyear=2080-2099&tab=global&gvar=tasmax-over-95F&gprob=0.5&grcp=rcp85
- ↑ Harijanti, Susi Dwi; Lindsey, Tim (2006-01-01). "Indonesia: General elections test the amended Constitution and the new Constitutional Court". International Journal of Constitutional Law. 4 (1): 138–150. doi:10.1093/icon/moi055. ISSN 1474-2640.
- ↑ Chapter II, Article 3, 3rd Clause of the 1945 Constitution.
- ↑ (2002), The fourth Amendment of 1945 Indonesia Constitution, Chapter III – The Executive Power, Article 7.
- ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2019-04-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-17. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Cochrane, Joe (2014-03-14). "Governor of Jakarta Receives His Party's Nod for President". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-09-24.
- ↑ https://kemlu.go.id/portal/id/page/29/kedutaan_konsulat
- ↑ Barton, Greg; Rubenstein, Colin (2005). "INDONESIA AND ISRAEL: A RELATIONSHIP IN WAITING". Jewish Political Studies Review. 17 (1/2): 157–170. ISSN 0792-335X.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
- ↑ https://en.tempo.co/read/1463758/indonesia-imported-us1-3-mln-israel-made-weapons-in-2020
- ↑ http://devinit.org/wp-content/uploads/2013/09/Investments-to-End-Poverty-Chapter-10-Indonesia.pdf
- ↑ "Why does Indonesia seem to prefer foreign aid from China?". East Asia Forum (ภาษาอังกฤษ). 2017-12-01.
- ↑ Cristea, Alexandru (2019-06-25). "Where we work". International Partnerships - European Commission (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Post, The Jakarta. "Indonesia launches international assistance agency". The Jakarta Post (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Indonesia flashpoints: Aceh" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2005-12-29. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
- ↑ AsialinkBusiness. "Indonesia's Exports". Asialink Business (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Restricted Access". santandertrade.com.
- ↑ "Indonesia's Top 10 Exports 2020". www.worldstopexports.com.
- ↑ "Exports of goods and services (% of GDP) - Indonesia | Data". data.worldbank.org.
- ↑ Legge, John D. (April 1990). "Review: Indonesia's Diversity Revisited". Indonesia. 49 (49): 127–131. doi:10.2307/3351057. hdl:1813/53928. JSTOR 3351057.
- ↑ del Olmo, Esmeralda (6 November 2017). "Indonesian Transportation Sector Report 2017/2018". EMIS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2018. สืบค้นเมื่อ 24 October 2018.
- ↑ "Length of Road by Surface, 1957–2015 (Km)" (ภาษาอินโดนีเซีย). BPS. สืบค้นเมื่อ 20 December 2017.
- ↑ "Koridor" (ภาษาอินโดนีเซีย). TransJakarta. สืบค้นเมื่อ 15 August 2017.
- ↑ "MRT and LRT, Jakarta's New Rapid Transportation: Coming Soon". Indo Indians. 25 September 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 January 2018. สืบค้นเมื่อ 17 January 2018.
- ↑ Alexander, Hilda B. (22 October 2016). "Palembang LRT to begin operation in June 2018" (ภาษาอินโดนีเซีย). Kompas. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2016. สืบค้นเมื่อ 29 October 2016.
- ↑ "South-east Asia's first high-speed rail in Indonesia ready for construction: China Railway Corp". The Straits Times. 2 July 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 July 2018. สืบค้นเมื่อ 26 September 2018.
- ↑ "Soekarno-Hatta world's 17th busiest airport". The Jakarta Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 April 2018. สืบค้นเมื่อ 11 April 2018.
- ↑ "The 13,466-island problem". The Economist. 27 February 2016. สืบค้นเมื่อ 16 June 2017.
- ↑ "Indonesia seeking greater funding for R&D". Oxford Business Group. 29 August 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 November 2017. สืบค้นเมื่อ 25 August 2018.
- ↑ Kasten, Michael. "History of the Indonesian Pinisi". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 December 2016. สืบค้นเมื่อ 9 December 2016.
- ↑ Dwi Sutianto, Feby (5 February 2016). "PTDI Ekspor 40 Unit Pesawat, Terlaris CN235" (ภาษาอินโดนีเซีย). detikFinance. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 August 2017. สืบค้นเมื่อ 15 August 2017.
- ↑ "Habibie receives honorary doctorate". The Jakarta Post. 30 January 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2016. สืบค้นเมื่อ 5 March 2016.
- ↑ "KF-X Fighter: Korea's Future Homegrown Jet". Defense Industry Daily. 21 November 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 November 2017. สืบค้นเมื่อ 23 November 2017.
- ↑ Mcelheny, Victor K. (8 July 1976). "Indonesian Satellite to Be Launched". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2018. สืบค้นเมื่อ 2 August 2018.
- ↑ "Planning and Development of Indonesia's Domestic Communications Satellite System PALAPA". Online Journal of Space Communication. 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 May 2015. สืบค้นเมื่อ 18 May 2015.
- ↑ "Satellites by countries and organizations: Indonesia". N2YO. สืบค้นเมื่อ 28 July 2018.
- ↑ Faris Sabilar Rusydi (17 June 2016). "Lapan Target Luncurkan Roket Pengorbit Satelit Pada 2040" (ภาษาอินโดนีเซีย). National Institute of Aeronautics and Space (LAPAN). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2017. สืบค้นเมื่อ 16 August 2016.
- ↑ "International - U.S. Energy Information Administration (EIA)". www.eia.gov.
- ↑ https://web.archive.org/web/20150330035251/http://www.mckinsey.com/~/media/McKinsey%20Offices/Indonesia/PDFs/Ten_ideas_to_reshape_Indonesias_energy_sector.ashx
- ↑ "Renewable Energy Prospects: Indonesia". /publications/2017/Mar/Renewable-Energy-Prospects-Indonesia (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ https://www.pwc.com/id/en/energy-utilities-mining/assets/power/power-guide-2017.pdf
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-09. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อTTCR
- ↑ "BPS records 14.04 million tourist arrivals in 2017". The Jakarta Post. 1 February 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 February 2018. สืบค้นเมื่อ 5 October 2018.
- ↑ Erwida, Maulia (6 January 2011). "Tourism Ministry set to launch 'Wonderful Indonesia' campaign". The Jakarta Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 March 2014. สืบค้นเมื่อ 12 March 2014.
- ↑ Susanti (2020-02-25). "9 Incredible World Heritage Sites in Indonesia". FactsofIndonesia.com (ภาษาอินโดนีเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-25. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
- ↑ Centre, UNESCO World Heritage. "Indonesia". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Centre, UNESCO World Heritage. "Indonesia". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ https://islamonline.net/en/indonesias-natural-wealth-nation-and-people/
- ↑ Whitten, T.; Henderson, G.; Mustafa, M. (1996). The Ecology of Sulawesi. Hong Kong: Periplus Editions Ltd. ISBN 978-962-593-075-6.
- ↑ https://en.antaranews.com/news/71545/coral-reef-destruction-spells-humanitarian-disaster
- ↑ Severin, Tim (1997). The Spice Island Voyage: In Search of Wallace. Great Britain: Abacus Travel. ISBN 978-0-349-11040-0.
- ↑ https://epi.yale.edu/sites/default/files/files/IDN_EPI2020_CP.pdf
- ↑ "Waspada Online | Pusat Berita dan Informasi Medan Sumut Aceh" (ภาษาอินโดนีเซีย). 2020-10-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
- ↑ "Highest population, island". Guinness World Records (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ https://www.bps.go.id/website/pdf_publikasi/watermark_Proyeksi%20Penduduk%20Indonesia%202010-2035.pdf
- ↑ "Share of people living in urban areas". Our World in Data.
- ↑ "Tapping the Indonesian Diaspora Potential – Forum for International Studies". web.archive.org. 2017-12-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-20. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ [1] Religion in Indonesia
- ↑ Ooi, Keat Gin, ed. (2004). Southeast Asia: A historical encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor (3 volume set). ABC-CLIO. p. 177.
- ↑ Gonda, Jan (1975-01-01). Handbook of Oriental Studies. Section 3 Southeast Asia, Religions, Religionen (ภาษาอังกฤษ). BRILL. ISBN 978-90-04-04330-5.
- ↑ "Influence of Hinduism and Buddhism on Indonesian culture". Sanskriti - Hinduism and Indian Culture Website (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-12-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-15. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
- ↑ Rachman, T. (2013). "'Indianization' of Indonesia in an Historical Sketch". International Journal of Nusantara Islam. 1 (2).
- ↑ "History of Indonesian Language | Language Translation, Inc". web.archive.org. 2016-03-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-11-04.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "The Indonesian Language (James N Sneddon) - book review". dannyreviews.com.
- ↑ Anwar, Khaidir (1976). "Minangkabau, Background of the main pioneers of modern standard Malay in Indonesia". Archipel. 12 (1): 77–93. doi:10.3406/arch.1976.1296.
- ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2011-07-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-23. สืบค้นเมื่อ 2021-11-04.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Ward, Kerry (2009). Networks of Empire: Forced Migration in the Dutch East India Company. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 322–342. ISBN 978-0-521-88586-7.
- ↑ "WHO South-East Asia | World Health Organization". www.who.int (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Child mortality rate". Our World in Data.
- ↑ Forshee, Jill (2006). "Culture and Customs of Indonesia" (PDF). Greenwood Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 10 October 2017. สืบค้นเมื่อ 10 October 2017.
- ↑ Henley, David (2015). "Indonesia". The Wiley Blackwell Encyclopedia of Race, Ethnicity, and Nationalism. The Wiley Blackwell Encyclopedia of Race, Ethnicity, and Nationalism. John Wiley & Sons, Inc. pp. 1–7. doi:10.1002/9781118663202.wberen460. ISBN 978-1-118-66320-2.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อExpat
- ↑ "Indonesia – Intangible heritage, cultural sector". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 21 December 2017.
- ↑ Reimar Schefold; P. Nas; Gaudenz Domenig, บ.ก. (2004). Indonesian Houses: Tradition and Transformation in Vernacular Architecture. NUS Press. p. 5. ISBN 978-9971-69-292-6.
- ↑ "Cultural feast at ASEAN Fair". web.archive.org. 2011-12-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ http://department.utcc.ac.th/thaiculture/index.php/360/51-barong-dance
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
- ↑ "Indonesia - Theatre and dance". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Southeast Asian arts - Shadow-puppet theatre". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Sitorus, Rina (2017-11-30). "The Reformation of Indonesian Film". Culture Trip.
- ↑ Contemporary Asian cinema : popular culture in a global frame. Internet Archive. Oxford ; New York : Berg. 2006. ISBN 978-1-84520-236-1.
{{cite book}}
: CS1 maint: others (ลิงก์) - ↑ Lee, Maggie; Lee, Maggie (2017-05-22). "World Notices Indonesian Film Resurgence". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Sepuluh Tahun Terakhir Perfilman Indonesia - Sabtu, 02 Juli 2005". web.archive.org. 2008-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Sepuluh Tahun Terakhir Perfilman Indonesia - Sabtu, 02 Juli 2005". web.archive.org. 2008-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Lee, Maggie; Lee, Maggie (2017-05-22). "World Notices Indonesian Film Resurgence". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "About Indonesian food". Special Broadcasting Service. 13 May 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 May 2015. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.
- ↑ 122.0 122.1 Natahadibrata, Nadya (10 February 2014). "Celebratory rice cone dish to represent the archipelago". The Jakarta Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2014. สืบค้นเมื่อ 14 July 2014.
- ↑ Witton, Patrick (2002). World Food: Indonesia. Melbourne: Lonely Planet. ISBN 978-1-74059-009-9.
- ↑ Brissendon, Rosemary (2003). South East Asian Food. Melbourne: Hardie Grant Books. ISBN 978-1-74066-013-6.
- ↑ Cheung, Tim (12 July 2017). "Your pick: World's 50 best foods". CNN Travel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 October 2017. สืบค้นเมื่อ 11 October 2017.
- ↑ Witton, Patrick (2003). Indonesia. Melbourne: Lonely Planet. ISBN 978-1-74059-154-6.
บรรณานุกรม
[แก้]- Cribb, Robert (2013). Historical atlas of Indonesia. Routledge.
- Crouch, Harold (2019). The army and politics in Indonesia. Cornell UP.
- Effendy, Bahtiar (2003). Islam and the State in Indonesia. Institute of Southeast Asian Studies.
- Emmers, Ralf (2005). "Regional Hegemonies and the Exercise of Power in Southeast Asia: A Study of Indonesia and Vietnam". Asian Survey. University of California Press. 45 (4): 645–665. doi:10.1525/as.2005.45.4.645. JSTOR 10.1525/as.2005.45.4.645.
- Fossati, Diego; Hui, Yew-Foong (2017). The Indonesia national survey project: Economy, society and politics. ISEAS Publishing.
- Friend, T. (2003). Indonesian Destinies. Harvard University Press. ISBN 0-674-01137-6.
- Hadiz, Vedi R.; Robison, Richard (2014). "Beyond Oligarchy". The political economy of oligarchy and the reorganization of power in Indonesia (PDF). Cornell UP. p. 35–56.
- Indonesia, Statistics. Statistical yearbook of Indonesia 2009 (PDF). Statistics Indonesia, 2019.
- Kitley, Philip (2014). Television, nation, and culture in Indonesia. Ohio University Press.
- Melvin, Jess (2018). The Army and the Indonesian Genocide: Mechanics of Mass Murder. Routledge. ISBN 978-1-138-57469-4.
- Mietzner, Marcus; Muhtadi, Burhanuddin (2018). "Explaining the 2016 Islamist mobilisation in Indonesia: Religious intolerance, militant groups and the politics of accommodation". Asian Studies Review. 3 (42): 479–497. doi:10.1080/10357823.2018.1473335. S2CID 150302264.
- Ricklefs, Merle Calvin (2001). A history of modern Indonesia since c. 1200 (3rd ed.). Basingstoke; Stanford, CA: Palgrave; Stanford University Press. ISBN 978-0-8047-4480-5.
- Robinson, Geoffrey B. (2018). The Killing Season: A History of the Indonesian Massacres, 1965–66. Princeton University Press. ISBN 978-1-4008-8886-3.
- Schwarz, A. (1994). A Nation in Waiting: Indonesia in the 1990s. Westview Press. ISBN 1-86373-635-2.
- Taylor, Jean Gelman (2008). Indonesia. Yale University Press.
- Vickers, Adrian (2005). A History of Modern Indonesia. Cambridge University Press. ISBN 0-521-54262-6.
- Whitten, T.; Soeriaatmadja, R. E.; Suraya, A. A. (1996). The Ecology of Java and Bali. Hong Kong: Periplus Editions.
- Winters, Jeffrey A. "Oligarchy and democracy in Indonesia." in Beyond Oligarchy (Cornell UP, 2014) pp. 11–34. online
- Witton, Patrick (2003). Indonesia. Melbourne: Lonely Planet. ISBN 978-1-74059-154-6.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Indonesia. The World Factbook. Central Intelligence Agency.
- Indonesia from the BBC News
- Key Development Forecasts for Indonesia from International Futures
รัฐบาล
[แก้]- Minister of The State Secretary (ในภาษาอินโดนีเซีย)
- Statistics Indonesia
- Chief of State and Cabinet Members เก็บถาวร 2014-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ทั่วไป
[แก้]- Indonesia UCB Libraries GovPubs
- ประเทศอินโดนีเซีย ที่เว็บไซต์ Curlie
- Indonesia Encyclopædia Britannica
- Wikimedia Atlas of Indonesia
- ดูข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ ประเทศอินโดนีเซีย ที่โอเพินสตรีตแมป
- Official Site of Indonesian Tourism