ภาษาชวา
ภาษาชวา | |
---|---|
ꦧꦱꦗꦮ Basa Jawa/Båså Jåwå | |
![]() บาซา (ภาษา) ที่เขียนในอักษรชวา | |
ออกเสียง | bɔsɔ d͡ʒɔwɔ |
ภูมิภาค | เกาะชวา (ประเทศอินโดนีเซีย), ประเทศซูรินาม นิวแคลิโดเนีย |
จำนวนผู้พูด | 85 ล้านคน (ไม่พบวันที่) |
ตระกูลภาษา | |
ระบบการเขียน | อักษรชวา, อักษรละติน |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | jv |
ISO 639-2 | jav |
ISO 639-3 | มีหลากหลาย: jav — ภาษาชวา jvn — ภาษาชวาแคริบเบียน jas — ภาษาชวานิวแคลิโดเนีย osi — ภาษาโอซิง tes — ภาษาเต็งเกอร์ |
ภาษาชวา[1] (ꦧꦱꦗꦮ, basa Jawa; bɔsɔ d͡ʒɔwɔ; เรียกเป็นภาษาพูดว่า ꦕꦫꦗꦮ, cara Jawa; t͡ʃɔrɔ d͡ʒɔwɔ) คือภาษาพูด ของผู้ที่อาศัยอยู่บนตอนกลางและตะวันออกของเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย เป็นภาษาแม่ของมากกว่า 75,500,000 คน ภาษาชวาอยู่ในภาษากลุ่มออสโตรนีเซียน จึงสัมพันธ์กับภาษาอินโดนีเซียและภาษามลายู ผู้พูดภาษาชวา พูดภาษาอินโดนีเซียด้วย สำหรับวัตถุประสงค์ทางการและธุรกิจ และเพื่อสื่อสารกับชาวอินโดนีเซียอื่น ๆ มีชุมชนผู้พูดภาษาชวาขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐเซอลาโงร์และยะโฮร์ (คีร์ โตโย รัฐมนตรีของเซอลาโงร์ เป็นชนพื้นเมืองของชวา) อย่างไรก็ดี ภาษาชวาไม่สามารถเข้าใจกันกับภาษามลายูได้
บทนำ[แก้]
ภาษาชวาอยู่ในกลุ่มย่อยซุนดาของภาษากลุ่มมาลาโย-โพลีเนเซียตะวันตก มีลักษณะทางภาษาศาสตร์ใกล้เคียงกับภาษามลายู ภาษาซุนดา ภาษามาดูรา ภาษาบาหลี และภาษากลุ่มสุมาตราและบอร์เนียวอื่นๆ รวมทั้งภาษามาลากาซีและภาษาฟิลิปิโน ภาษาชวาใช้พูดในบริเวณชวากลางและชวาตะวันออกและชายฝั่งทางเหนือของชวาตะวันตก ภาษาชวาได้ใช้เป็นภาษาเขียนควบคู่ไปด้วย เป็นภาษาในศาลที่ปาเล็มบัง สุมาตราใต้จนกระทั่งถูกดัตช์ยึดครองเมื่อพุทธศตวรรษที่ 23
ภาษาชวาจัดว่าเป็นภาษาคลาสสิกภาษาหนึ่งของโลก มีวรรณคดีมานามถึง 12 ศตวรรษ นักวิชาการแบ่งภาษาชวาออกเป็นสี่ยุคด้วยกันคือภาษาชวาโบราณ เริ่มจากพุทธศตวรรษที่ 14 ภาษาชวายุคกลางเริ่มจากพุทธศตวรรษที่ 18 ภาษาชวายุคใหม่เริ่มจากพุทธศตวรรษที่ 21 และภาษาชวาปัจจุบันเริ่มในพุทธศตวรรษที่ 25 ภาษาชวาเขียนด้วยอักษรชวาที่พัฒนามาจากอักษรพราหมี อักษรอาหรับ-ชวาที่เป็นอักษรอาหรับดัดแปลงสำหรับภาษาชวา และอักษรละติน
แม้ว่าจะไม่มีสถานะเป็นภาษาราชการ ภาษาชวาถือว่าเป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนที่มีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากประมาณ 80 ล้านคน อย่างน้อย 45% ของประชากรทั้งหมดในอินโดนีเซียเป็นผู้พูดภาษาชวาหรืออยู่ในบริเวณที่ใช้ภาษาชวาเป็นภาษาหลัก และมีอิทธิพลอย่างมากต่อภาษาอินโดนีเซียที่เป็นสำเนียงหนึ่งของภาษามลายู ภาษาชวามีสำเนียงหลักสามสำเนียงคือ ชวากลาง ชวาตะวันออก และชวาตะวันตก
ความสุภาพ[แก้]
การพูดภาษาชวาแตกต่างไปขึ้นกับบริบททางสังคมทำให้มีการแบ่งชั้นของภาษา แต่ละชั้นมีศัพท์ กฎทางไวยากรณ์ และฉันทลักษณ์เป็นของตนเอง การแบ่งชั้นนี้ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของภาษาชวา เพราะพบในภาษาในเอเชียหลายภาษา เช่น ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น แต่ละชั้นของภาษาชวามีชื่อเรียกดังนี้
- Ngoko เป็นการพูดอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเพื่อนและญาติสนิท และใช้โดยคนที่มีฐานะสูงกว่าเมื่อพูดกับคนที่มีฐานะต่ำกว่า เช่น ผู้ใหญ่ใช้กับเด็ก
- Madya เป็นรูปแบบกลางๆระหว่าง Ngoko กับ Krama สำหรับในสถานะที่ไม่ต้องการทั้งความเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
- Krama เป็นแบบที่สุภาพและเป็นทางการ ใช้กับคนที่อยู่ในสถานะเดียวกัน เป็นรูปแบบที่ใช้พูดในที่สาธารณะ การประกาศต่างๆ ใช้โดยคนที่มีฐานะต่ำกว่าเมื่อพูดกับคนที่มีฐานะสูงกว่า เช่น เด็กพูดกับผู้ใหญ่
สถานะในสังคมที่มีผลต่อรูปแบบของภาษาชวากำหนดโดยอายุหรือตำแหน่งในสังคม การเลือกใช้ภาษาระดับใดนั้นต้องอาศัยความรอบรู้ในวัฒนธรรมชวาและเป็นสิ่งที่ยากสำหรับการเรียนภาษาชวาของชาวต่างชาติ
สำเนียงของภาษาชวาสมัยใหม่[แก้]
สำเนียงของภาษาชวาแบ่งได้เป็นสามกลุ่มตามบริเวณย่อยที่มีผู้พูดภาษาเหล่านี้อาศัยอยู่ คือ ภาษาชวากลาง ภาษาชวาตะวันออก และภาษาชวาตะวันตก ความแตกต่างระหว่างสำเนียงอยู่ที่การออกเสียงและคำศัพท์
- ภาษาชวากลางเป็นสำเนียงที่ใช้พูดในสุรการ์ตา และยอร์กยาการ์ตา ถือเป็นสำเนียงมาตรฐานของภาษานี้ มีผู้พูดกระจายตั้งแต่เหนือถึงใต้ของจังหวัดชวากลาง
- ภาษาชวาตะวันตกใช้พูดทางตะวันตกของจังหวัดชวากลางและตลอดทั้งจังหวัดชวาตะวันตก โดยเฉพาะชายฝั่งทางตอนเหนือ ได้รับอิทธิพลจากภาษาซุนดา และยังมีศัพท์เก่าๆอยู่มาก
- ภาษาชวาตะวันออกเริ่มใช้พูดจากฝั่งตะวันออกของกาลี บรันตัส ในเกอร์โตโซโนไปจนถึงบาญูวังกี ครอบคลุมบริเวณส่วนใหญ่ของจังหวัดชวาตะวันออก รวมเกาะมาดูราด้วย สำเนียงนี้ได้รับอิทธิพลจากภาษามาดูรา สำเนียงตะวันออกสุดได้รับอิทธิพลจากภาษาบาหลี
การออกเสียง[แก้]
ชาวชวาส่วนใหญ่ยกเว้นในชวาตะวันตก ยอมรับการออกเสียง a เป็น /ออ/ เช่น apa ในภาษาชวาตะวันตกออกเสียงเป็นอาปา ส่วนภาษาชวากลางและภาษาชวาตะวันออกออกเสียงเป็นออปอ
เมื่อมีหน่วยเสียงที่มีโครงสร้างเป็นสระ-พยัญชนะ-สระ โดยสระทั้งสองเสียงเป็นเสียงเดียวกัน ภาษาชวางกลางลดเสียงสระตัวท้าย i เป็น e และ u เป็น o ภาษาชวาตะวันออกลดทั้งสองเสียงส่วนภาษาชวาตะวันตกคงเสียงเดิมไว้ เช่น cilik ภาษาชวากลางเป็น จิเละ ภาษาชวาตะวันออกเป็น เจะเละ ภาษาชวาตะวันตกเป็น จิลิก
คำศัพท์[แก้]
ภาษาชวามีคำศัพท์ที่ต่างกันไปในแต่ละสำเนียง เช่นคำว่าคุณ ชวากลางเป็น kowe ภาษาชวาตะวันออกเป็น kon ภาษาชวาตะวันตกเป็น rika
ประวัติอย่างย่อของภาษาชวา[แก้]
ภาษาชวาโบราณ[แก้]
หลักฐานการเขียนในเกาะชวาย้อนหลังไปได้ถึงยุคของจารึกภาษาสันสกฤต จารึกตรุมเนคระ ใน พ.ศ. 993 ส่วนการเขียนด้วยภาษาชวาที่เก่าที่สุดคือจารึกสุกภูมีซึ่งระบุวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1346 จารึกนี้พบที่เกอดีรีในชวาตะวันออกและเป็นสำเนาของจารึกต้นฉบับที่น่าจะมีอายุ 120 ปีก่อนหน้านั้น แต่หลักฐานเหลือเพียงจารึกที่เป็นสำเนาเท่านั้น เนื้อหากล่าวถึงการสร้างเขื่อนใกล้กับแม่น้ำสรินยังในปัจจุบัน จารึกนี้เป็นจารึกรุ่นสุดท้ายที่ใช้อักษรปัลลวะ จารึกรุ่นต่อมาเริ่มใช้อักษรชวา
ในพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 เป็นยุคที่เริ่มมีวรรณคดีพื้นบ้านในภาษาชวา เช่น สัง ฮยัง กะมาฮะยานีกัน ที่ได้รับมาจากพุทธศาสนา และ กากาวัน รามายานา ที่มาจากรามายณะฉบับภาษาสันสกฤต แม้ว่าภาษาชวาจะใช้เป็นภาษาเขียนทีหลังภาษามลายู แต่วรรณคดีภาษาชวายังได้รับการสืบทอดจนถึงปัจจุบัน เช่นวรรณคดีที่ได้รับมาจากรามายณะและมหาภารตะยังได้รับการศึกษาจนถึงทุกวันนี้
การแพร่กระจายของวัฒนธรรมชวารวมทั้งอักษรชวาและภาษาชวาเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1836 ซึ่งเกิดจากการขยายตัวไปทางตะวันออกของราชอาณาจักรมัชปาหิตซึ่งเป็นอาณาจักรที่นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ไปสู่เกาะมาดูราและเกาะบาหลี ภาษาชวาแพร่ไปถึงเกาะบาหลีเมื่อ พ.ศ. 1906 และมีอิทธพลอย่างลึกซึ้ง โดยภาษาชวาเข้ามาแทนที่ภาษาบาหลีในฐานะภาษาทางการปกครองและวรรณคดี ชาวบาหลีรักษาวรรณคดีเก่าที่เป็นภาษาชวาไว้มาก และไม่มีการใช้ภาษาบาหลีเป็นภาษาเขียนจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24
ภาษาชวายุคกลาง[แก้]
ในยุคของราชอาณาจักรมัชปาหิต ได้เกิดภาษาใหม่ขึ้นคือภาษาชวายุคกลางที่อยู่ระหว่างภาษาชวาโบราณและภาษาชวาสมัยใหม่ จริงๆแล้ว ภาษาชวายุคกลางมีความคล้ายคลึงกับภาษาชวาสมัยใหม่จนผู้พูดภาษาชวาสมัยใหม่ที่ศึกษาวรรณคดีสามารถเข้าใจได้ ราชอาณาจักรมัชปาหิตเสื่อมลงเนื่องจากการรุกรานของต่างชาติและอิทธิพลของศาสนาอิสลาม และการคุกคามของสุลต่านแห่งเดมักที่อยู่ทางชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวา ราชอาณาจักรมัชปาหิตสิ้นอำนาจลงเมื่อ พ.ศ. 2021
ภาษาชวาใหม่[แก้]
ภาษาชวาสมัยใหม่เริ่มปรากฏเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 พร้อมๆกับการเข้ามามีอิทธิพลของศาสนาอิสลาม และการเกิดรัฐสุลต่านมะตะรัม รัฐนี้เป็นรัฐอิสลามที่สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมจากยุคราชอาณาจักรมัชปาหิต วัฒนธรรมชวาแพร่หลายไปทางตะวันตก เมื่อรัฐมะตะรัมพยายามแพร่อิทธิพลไปยังบริเวณของผู้พูดภาษาซุนดาทางตะวันตกของเกาะชวา ทำให้ภาษาชวากลายเป็นภาษาหลักในบริเวณนั้น เช่นเดียวกับภาษาบาหลี ไม่มีการใช้ภาษาซุนดาเป็นภาษาเขียนจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 และได้รับอิทธิพลจากภาษาชวามาก คำศัพท์ 40% ในภาษาซุนดาได้มาจากภาษาชวา
แม้ว่าจะเป็นจักรวรรดิอิสลาม แต่ราชอาณาจักรมะตะรัมก็ยังรักษาหน่วยเดิมที่มาจากวัฒนธรรมเก่าไว้และพยายามรวมเข้ากับศาสนาใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ยังคงมีการใช้อักษรชวาอยู่ ในขณะที่อักษรดั้งเดิมของภาษามลายูเลิกใช้ไปตั้งแต่เหลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม โดยหันไปใช้อักษรที่มาจากอักษรอาหรับแทน ในยุคที่ศาสนาอิสลามกำลังรุ่งเรืองราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เกิดภาษาชวาใหม่ขึ้น มีเอกสารทางศาสนาอิสลามฉบับแรกๆ ที่เขียนด้วยภาษาชวาใหม่ ซึ่งมีคำศัพท์และสำนวนที่ยืมมาจากภาษาอาหรับมาก ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากภาษาดัตช์และภาษาอินโดนีเซีย ทำให้ภาษาชวาพยายามปรับรูปแบบให้ง่ายขึ้น และมีคำยืมจากต่างชาติมากขึ้น
ภาษาชวาสมัยใหม่[แก้]
นักวิชาการบางคนแยกภาษาชวาที่ใช้พูด ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 25 ว่าเป็นภาษาชวาสมัยใหม่ แต่ก็ยังคงถือว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษาชวาใหม่
อักษรชวา[แก้]
แต่เดิมภาษาชวาเขียนด้วยอักษรพื้นเมืองคืออักษรชวา ต่อมาจึงเขียนด้วยอักษรอาหรับและอักษรโรมัน อักษร f q v x และ z ใช้เฉพาะคำยืมจากภาษาอาหรับและภาษาในยุโรปเท่านั้น
การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์[แก้]
ภาษาชวาเป็นภาษาที่ใช้พูดทั่วอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนเธอร์แลนด์ สุรินาเม นิวคาเลโดเนีย และประเทศอื่นๆ ชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของผู้พูดภาษานี้ อยู่ในชวา 6 จังหวัดและจังหวัดลัมปุงบนเกาะสุมาตรา จากข้อมูล พ.ศ. 2523 ชาวอินโดนีเซีย 43% ใช้ภาษาชวาในชีวิตประจำวัน โดยมีผู้พูดภาษาชวาได้ดีมากกว่า 60 ล้านคน ในแต่ละจังหวัดของอินโดนีเซียมีผู้พูดภาษาชวาได้ดีอย่างน้อย 1%
ในชวาตะวันออก มีผู้พูดภาษาชวาในชีวิตประจำวัน 74.5% ภาษามาดูรา 23% และภาษาอินโดนีเซีย 2.2% ในจังหวัดลัมปุง มีผู้พูดภาษาชวาในชีวิตประจำวัน 62.4% ภาษาลัมปุง 16.4% ภาษาซุนดา 10.5% และภาษาอินโดนีเซีย 9.4% ส่วนในจาการ์ตา มีจำนวนผู้พูดภาษาชวาเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า ในเวลา 25 ปี แต่ในอาเจะฮ์กลับลดจำนวนลง ในบันเต็น ชวาตะวันตก ผู้สืบทอดมาจากรัฐสุลต่านมะตะรัมในชวากลาง ยังใช้รูปแบบโบราณของภาษาชวา มีผู้พูดภาษาซุนดาและภาษาอินโดนีเซียตามแนวชายแดนติดกับจาการ์ตา
จังหวัดชวาตะวันออกยังเป็นบ้านเกิดของผู้พูดภาษามาดูรา แต่ชาวมาดูราส่วนใหญ่พูดภาษาชวาได้ด้วย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา มีการเขียนภาษามาดูราด้วยอักษรชวา ในลัมปุง มีชนพื้นเมืองที่พูดภาษาลัมปุงเพียง 15% ที่เหลือเป็นผู้อพยพมาจากส่วนอื่นๆของอินโดนีเซีย ซึ่งผู้อพยพเข้ามาส่วนใหญ่เป็นผู้พูดภาษาชวา ในสุรินาเมซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของดัตช์ ในอเมริกาใต้ มีผู้ที่เป็นลูกหลานของชาวชวา และยังพูดภาษาอยู่ราว 75,000 คน
ภาษาชวาวันนี้[แก้]
ภาษาชวาไม่ใช่ภาษาประจำชาติโดยมีสถานะเป็นแค่ภาษาประจำถิ่นในจังหวัดที่มีชาวชวาอยู่เป็นจำนวนมาก มีการสอนภาษาชวาในโรงเรียน และมีการใช้ในสื่อต่างๆ ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันเป็นภาษาชวา แต่มีนิตยสารภาษาชวา ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของชวาตะวันออกออกอากาศเป็นภาษาชวาด้วยสำเนียงชวากลางและภาษามาดูราด้วย ใน พ.ศ. 2548 มีการออกนิตยสารภาษาชวา Damar Jati ในจาการ์ตา
สัทวิทยา[แก้]
พยัญชนะ[แก้]
พยัญชนะ:
เอา | ริมฝีปาก | ฟัน | ปุ่มเหงือก | ม้วนลิ้น | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เสียงจากเส้นเสียง |
---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงกัก | p b | t d | ʈ ɖ | tʃ dʒ | k g | ʔ | |
เสียดแทรก | s | (ʂ) | h | ||||
เสียงกึ่งสระ | w | l | r | j | |||
เสียงนาสิก | m | n | (ɳ) | ɲ | ŋ |
สระ[แก้]
สระ:
สระหน้า | สระกลาง | สระหลัง |
---|---|---|
i | u | |
e | ə | o |
(ɛ) | (ɔ) | |
a |
ไวยากรณ์[แก้]
การเรียงประโยค[แก้]
ภาษาชวาสมัยใหม่เรียงประโยคแบบ ประธาน-กริยา-กรรม ในขณะที่ภาษาชวาโบราณเรียงประโยคแบบ กริยา-ประธาน-กรรม หรือ กริยา-กรรม-ประธาน ตัวอย่างเช่น ประโยค "เขาเข้ามาในพระราชวัง" เขียนได้ดังนี้
- ชวาโบราณ: Těka (กริยา) ta sira (ประธาน) ri ng (คำชี้เฉพาะ) kadhatwan (กรรม)
- ชวาสมัยใหม่: Dheweke (ประธาน) těka (กริยา) neng kĕdhaton (กรรม)
คำกริยา[แก้]
ไม่มีการผันคำกริยาตามบุคคลหรือจำนวน ไม่มีการแสดงกาลแต่ใช้การเติมคำช่วย เช่น "เมื่อวานนี้" "แล้ว" แบบเดียวกับภาษาไทย ระบบของคำกริยาในการแสดงความแตกต่างของประธานและกรรมค่อนข้างซับซ้อน
คำศัพท์[แก้]
ภาษาชวามีศัพท์มากมายที่เป็นคำยืมและคำดั้งเดิมของภาษาตระกูลออสโตรนีเซีย ภาษาสันสกฤตมีอิทธิพลต่อภาษาชวามาก คำยืมจากภาษาสันสกฤตมักเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดี และยังคงใช้อยู่ คำยืมจากภาษาอื่นๆมี ภาษาอาหรับ ภาษาดัตช์ และภาษามลายู
ภาษาชวามีคำยืมจากภาษาอาหรับน้อยกว่าภาษามลายู โดยมากเป็นคำที่ใช้ในศาสนาอิสลาม เช่นpikir ("คิด" มาจากภาษาอาหรับfikr), badan ("ร่างกาย"), mripat ("ตา" คาดว่ามาจากภาษาอาหรับ ma'rifah, หมายถึง "ความรู้" หรือ "วิสัยทัศน์"). คำยืมจากภาษาอาหรับนี้มีศัพท์พื้นเมืองและคำยืมจากภาษาสันสกฤตที่มีความหมายเหมือนกันใช้อยู่ด้วย เช่น pikir = galih, idhĕp (ออสโตรนีเซีย), manah, cipta, หรือ cita (ภาษาลันสกฤต), badan = awak (ออสโตรนีเซีย), slira, sarira, หรือ angga (ภาษาสันสกฤต), และ mripat = mata (ออสโตรนีเซีย), soca, หรือ netra (ภาษาสันสกฤต)
ต่อไปนี้เป็นตารางเปรียบเทียบศัพท์จากภาษาต่างๆ
ภาษาชวา | ภาษาอินโดนีเซีย | ภาษาดัตช์ | ภาษาไทย |
---|---|---|---|
pit | sepeda | fiets | จักรยาน |
pit montor | sepeda motor | motorfiets | จักรยานยนต์ |
sepur | kereta api | spoor, i.e. (rail)track | รถไฟ |
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Laurie Bauer, 2007, The Linguistics Student's Handbook, Edinburgh
- W. van der Molen. 1993. Javaans schrift. Leiden: Vakgroep Talen en Culturen van Zuidoost-Azië en Oceanië. ISBN 90-73084-09-1
- S.A. Wurm and Shiro Hattori, eds. 1983. Language Atlas of the Pacific Area, Part II. (Insular South-east Asia). Canberra.
- P.J. Zoetmulder. 1982. Old Javanese-English Dictionary. 's-Gravenhage: Martinus Nijhoff. ISBN 90-247-6178-6