ข้ามไปเนื้อหา

ครุฑ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครุฑ
ครุฑยุดนาคปูนปั้นปิดทอง ประดับรอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ชื่อในอักษรเทวนาครีगरुड़
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤตGaruḍa
ส่วนเกี่ยวข้อง
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองUnnati[2]
บิดา-มารดาพระกัศยปมุนี กับ นางวินตา
พี่น้องอรุณ

ครุฑ (สันสกฤต: गरुड; บาลี: गरुळ; ภาษาพระเวท: गरुळ Garuḷa) เป็นสัตว์ในนิยายในศาสนาฮินดู, พุทธ และเชน[1][3][4] และปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่น มหาภารตะ เล่าว่า ครุฑเป็นพี่น้องกับนาคและทะเลาะกันจนเป็นศัตรู นอกจากนี้ ยังมีปุราณะที่ชื่อว่า ครุฑปุราณะ เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับครุฑ

ครุฑเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศไทย ตราแผ่นดินอินโดนีเซียมีครุฑอยู่ตรงกลาง โดยมีชื่อเรียกว่า การูดาปันจาซีลา (ครุฑปัญจศีล)[5] กองทัพอากาศอินเดียก็ใช้ครุฑบนตราอาร์มGuards Brigade มีการตั้งชื่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษเป็นหน่วยคอมมานโดครุฑตามสิ่งมีชีวิตนั้น และมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับนกตะกราม (Leptoptilos dubius)[6][7]

เทพปกรณัม

[แก้]
ครุฑยุดนาค ภาพเขียนประดับบานประตูพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
ภาพแกะสลักพระนารายณ์ทรงครุฑ ที่ปราสาทนครวัด

เทพปกรณัมของครุฑในศาสนาฮินดู เล่าว่าครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดร และนางวินตา พระกัศยปมุนีองค์นี้เป็นฤษีที่มีฤทธิ์เดชมากองค์หนึ่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดเทพอีกหลายองค์ในศาสนาฮินดู พระองค์มีชายาหลายองค์ แต่องค์ที่เกี่ยวข้องกับครุฑนั้น นอกจากนางวินตาแล้ว ยังมีอีกองค์หนึ่งคือ นางกัทรู ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตาและเป็นมารดาของนาคทั้งปวง

ทั้งสองนางได้ขอพรให้กำเนิดบุตรจากพระกัศยปะ โดยนางกัทรูได้ขอพรว่าขอให้มีบุตรจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอบุตรเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา เมื่อนางคลอดบุตรปรากฏว่าออกมาเป็นไข่สองฟอง นางรออยู่เป็นเวลา 500 ปี ไข่ก็ยังไม่ฟัก นางทนรอไม่ไหวว่าบุตรของตนจะมีหน้าตาอย่างไร จึงทุบไข่ออกมาฟองหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นเทพบุตรที่มีกายแค่ครึ่งท่อนบนชื่อ อรุณ อรุณเทพบุตรโกรธมารดาของตนที่ทำให้ตนออกจากไข่ก่อนกำหนด จึงสาปให้มารดาของตนเป็นทาสนางกัทรู และให้บุตรคนที่สองของนางเป็นผู้ช่วยนางให้พ้นจากความเป็นทาส จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ นางวินตาจึงไม่กล้าทุบไข่ฟองที่สองออกมาดู นางรอต่อไปอีก 1000 ปี รอให้ถึงกำหนดที่บุตรคนที่สองซึ่งก็คือครุฑออกมาจากไข่เอง อนึ่ง เมื่อครุฑแรกเกิดว่ากันว่า มีร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกะพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกทีใด ขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วสี่ทิศ ซึ่งทำให้บรรดาเทวดาทั้งหลายเดือดร้อนอย่างมาก บรรดาเทวดาจึงพากันไปขอร้อง ให้ลดขนาดลงมา

ในกาลต่อมา นางกัทรูและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทรและเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาวส่วนนางกัทรูทายว่าสีดำ ความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรูใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า (บางตำนานว่าให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ) นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสของนางกัทรูถึงห้าร้อยปี

ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่า ต้องไปเอาน้ำอมฤตให้นาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นไท ครุฑจึงบินไปสวรรค์ไปเอาน้ำอมฤตซึ่งอยู่กับพระจันทร์ แล้วคว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมา และเกิดต่อสู้กันขึ้น ฝ่ายเทวดานั้นไม่อาจเอาชนะได้ โดยเมื่อพระอินทร์ใช้วชิระโจมตีครุฑนั้น ครุฑไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่ครุฑก็จำได้ว่าวชิระเป็นอาวุธที่พระศิวะประทานให้แก่พระอินทร์ จึงสลัดขนของตนให้หล่นลงไปเส้นหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อวชิระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้ป็นหัวหน้าของเหล่าเทพ ด้านพระวิษณุหรือพระนารายณ์ก็ได้ออกมาขวางครุฑไว้และสู้รบครุฑด้วยเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระวิษณุให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า

เมื่อครุฑได้หม้อน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์ได้ตามมาขอคืน ครุฑก็บอกว่าตนต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้นาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง ครุฑจึงเอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้ากุศะ (และว่าได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้ากุศะ 2-3 หยด ด้วยเหตุนี้ หญ้ากุศะจึงถือเป็นสิ่งมงคลในทางศาสนาฮินดู) ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดี จึงยอมปล่อยนางวินตาแม่ครุฑให้เป็นอิสระ ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมากินน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคไม่ได้กิน พวกนาคจึงเลียที่ใบหญ้ากุศะด้วยเชื่อว่าอาจมีหยดน้ำอมฤตหลงเหลืออยู่ ทำให้ใบหญ้ากุศะบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว (เรื่องนี้กลายเป็นที่มาว่าทำไมงูจึงมีลิ้นเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้) แต่นั้นครุฑกับนาคจึงเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และครุฑนั้นก็จะจับนาคกินเป็นอาหารเสมอ

ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา โอรสชื่อ สัมปาตีหรือสัมพาที และชฏายุหรือสดายุ

การใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์

[แก้]
ครุฑตราตั้งห้างของประเทศไทย
ครุฑตราตั้งห้าง ประดับเหนืออาคารบริษัทเทเวศร์ประกันภัย กรุงเทพฯ

ด้วยฤทธิ์ของครุฑ จึงได้มีการสร้างรูป ครุฑพ่าห์ (หรือ พระครุฑพ่าห์) หมายถึง ครุฑซึ่งเป็นพาหนะ เป็นรูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น

จากการที่ไทย ใช้ตราครุฑเป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า ธงมหาราช เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ธงมหาราชนี้เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น

สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ 3 ลำคือเรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปครุฑสีชมพูยุดนาค และ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9 แทนเรือพระที่นั่งเดิม

นอกเหนือจากการที่ตราครุฑปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์ม โดยมีข้อความประกอบว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การพระราชทานตรานี้ แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ผู้ได้รับนอกจากจะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง ช่างถ่ายรูป เป็นต้นแล้ว ก็มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน

ปัจจุบัน ต้องยื่นคำขอพระราชทานตราต่อสำนักพระราชวัง เพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวังเรียกคืนเนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทานตาย หรือเลิกประกอบกิจการหรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ

ประเทศอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ใช้ครุฑ (Garuda) เป็นตราประจำแผ่นดิน โดยครุฑของอินโดนีเซียนั้นเป็นนกอินทรีทั้งตัว นอกจากนี้สายการบินประจำชาติของอินโดนีเซียยังใช้ชื่อว่าการูดาอินโดนีเซียและใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน

ชื่อของครุฑ

[แก้]

ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม เช่น

  • กาศยปิ (บุตรแห่งพระกัศยปมุนี)
  • เวนไตย (บุตรแห่งนางวินตา)
  • สุบรรณ (ผู้มีปีกอันงาม)
  • ครุตมาน (เจ้าแห่งนก)
  • สิตามัน (ผู้มีหน้าสีขาว)
  • รักตปักษ์ (ผู้มีปีกสีแดง)
  • เศวตโรหิต (ผู้มีสีขาวและแดง)
  • สุวรรณกาย (ผู้มีกายสีทอง)
  • คคเนศวร (เจ้าแห่งอากาศ)
  • ขเคศวร (ผู้เป็นใหญ่แห่งนก)
  • นาคนาศนะ (ศัตรูแห่งนาค)
  • สุเรนทรชิต (ผู้ชนะพระอินทร์)

ครุฑราชการ

[แก้]
ประติมากรรมครุฑ ที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

ครุฑที่ใช้ในส่วนราชการมีความแตกต่างกันออกไป ครุฑที่เท้าตั้งเฉียงจะใช้ในราชการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น ส่วนการใช้ในหน่วยงานอื่นจะใช้เป็นครุฑเท้างุ้ม

ในบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก ที่มุขหน้าปีกซ้าย-ขวา ประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นครุฑในแบบศิลปะร่วมสมัย ขนาดสูงเป็น 2 เท่าของคนจริง ผลงานของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รูปปั้นครุฑทั้ง 2 นี้ จัดว่าเป็นรูปปั้นครุฑที่ได้เชื่อว่างดงามที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2486 ด้วยมีสรีระร่างกายที่บึกบึนกำยำ เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ อีกทั้งในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่อาคารสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ถูกระเบิดทำลายเสียหาย แต่อาคารไปรษณีย์กลางแห่งนี้กลับไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์ จนทำให้มีความเชื่อกันว่า เป็นเพราะครุฑทั้ง 2 ตนนี้บินไปปัดระเบิดไว้[8][9]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

มีการอ้างอิงถึงครุฑไว้ในวัฒนธรรมร่วมสมัยเช่น ภาพยนตร์ไทยเรื่อง "ปักษาวายุ" ใน พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอ๊คชั่นไซไฟ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับครุฑซึ่งเป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และจับไดโนเสาร์กินจนสูญพันธุ์ และยังคงสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ ออกอาละวาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

หรือในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง เซนต์เซย่า หนึ่งในขุนพลผู้พิพากษาแห่งยมโลกที่ชื่อ "การูด้า ไออาคอส" ก็สวมชุดเซอร์พลีสที่เป็นรูปครุฑด้วยเช่นกัน

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Robert E. Buswell Jr.; Donald S. Lopez Jr. (2013). The Princeton Dictionary of Buddhism. Princeton University Press. pp. 314–315. ISBN 978-1-4008-4805-8.
  2. Daniélou, Alain (December 1991). Gods of India: The Classic Work on Hindu Polytheism from the Princeton Bollingen Series (ภาษาอังกฤษ). Inner Traditions / Bear & Co. p. 161. ISBN 978-0-89281-354-4.
  3. Roshen Dalal (2010). Hinduism: An Alphabetical Guide. Penguin Books. p. 145. ISBN 978-0-14-341421-6.
  4. Helmuth von Glasenapp (1999). Jainism: An Indian Religion of Salvation. Motilal Banarsidass. p. 532. ISBN 978-81-208-1376-2.
  5. "National Symbols". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 August 2013. สืบค้นเมื่อ 17 March 2010.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  6. "Garuda's population now 500 in Bhagalpur, Bihar". Zee News. 21 June 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 July 2015.
  7. "Stork nests spread". The Telegraph. 16 May 2020.
  8. "ครุฑถอดแบบงานบรมครูอ.ศิลป์ พีระศรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-31. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
  9. "70 ปี "ไปรษณีย์กลาง" ความคลาสสิกคู่บางรัก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-13. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]