การประชุมโต๊ะกลมดัตช์–อินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย: Konferensi Meja Bundar ดัตช์: Ronde Tafel Conferentie | |
---|---|
Johan van Maarseveen, สุลต่านฮามิดที่ 2แห่งปนตียานัก และโมฮัมหมัด ฮัตตาลงนามในการประชุมโต๊ะกลมดัตช์–อินโดนีเซียในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1949 | |
วันร่าง | 23 สิงหาคม ค.ศ.1949 |
วันลงนาม | 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1949 |
ที่ลงนาม | เดอะเฮก, ประเทศเนเธอร์แลนด์ |
วันมีผล | 27 ธันวาคม ค.ศ.1949 (โอนอำนาจอธิปไตย) |
เงื่อนไข | การให้สัตยาบันโดยการลงนามของเนเธอร์แลนด์และอินโดนีเซีย |
ผู้ลงนาม |
|
ภาคี |
|
ผู้เก็บรักษา | ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ |
ภาษา | ดัตช์ |
การประชุมโต๊ะกลมดัตช์-อินโดนีเซีย จัดขึ้นในเดอะเฮกระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม ถึง 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949 ระหว่างผู้แทนของเนเธอร์แลนด์, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสภาที่ปรึกษาสหพันธ์ (BFO) อันเป็นตัวแทนของรัฐต่าง ๆ ที่เนเธอร์แลนด์จัดตั้งขึ้นในกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย ก่อนหน้าการประชุมนี้ มีการประชุมระดับสูงเกิดขึ้นระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซียแล้วสามครั้ง การประชุมนี้ยุติลงโดยเนเธอร์แลนด์ตกลงถ่ายโอนอธิปไตยให้แก่สหรัฐอินโดนีเซีย
การประชุม
[แก้]ทั้งสองบรรลุความตกลงในการถอนทหารดัตช์ "ภายในระยะเวลาสั้นที่สุดที่เป็นไปได้" และสหรัฐอินโดนีเซียจะมอบ "สถานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง" แก่เนเธอร์แลนด์ นอกจากนั้น จะไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างคนหรือบริษัทสัญชาติดัตช์ และสาธารณรัฐตกลงจะเข้าควบคุมความตกลงการค้าที่เจรจาโดยหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์[1] อย่างไรก็ดี มีอยู่สองประเด็นสำคัญที่ตกลงกันไม่ได้ คือ ว่าด้วยหนี้ในช่วงที่เนเธอร์แลนด์ปกครองในฐานะเจ้าอาณานิคม และสถานะของนิวกินีตะวันตก
การเจรจาว่าด้วยหนี้ในประเทศและหนี้ต่างประเทศของการปกครองอาณานิคมหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ยืดเยื้อออกไป โดยต่างฝ่ายต่างเสนอการคำนวณของตนและโต้แย้งว่าสหรัฐอินโดนีเซียควรรับผิดชอบต่อหนี้ที่เนเธอร์แลนด์ก่อไว้หลังยอมจำนนต่อญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1942 หรือไม่ โดยเฉพาะผู้แทนอินโดนีเซียรู้สึกขุ่นเคืองที่ต้องครอบคลุมสิ่งที่เห็นว่าเป็นราคาการปฏิบัติทางทหารของเนเธอร์แลนด์ต่ออินโดนีเซีย ท้ายที่สุด จากการเข้าแทรกแซงของสมาชิกสหรัฐอเมริกาของคณะกรรมาธิการอินโดนีเซียสหประชาชาติ (UN Commission on Indonesia) ฝ่ายอินโดนีเซียจึงตระหนักว่าการตกลงจ่ายหนี้ส่วนของเนเธอร์แลนด์จะเป็นราคาที่พวกเขาจะต้องจ่ายเพื่อให้ได้รับการถ่ายโอนอธิปไตย วันที่ 24 ตุลาคม ผู้แทนอินโดนีเซียตกลงว่าอินโดนีเซียจะรับภาระหนี้รัฐบาลหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ประมาณ 4,300 ล้านกิลเดอร์ดัตช์[2]
ปัญหาที่ว่านิวกินีตะวันตกควรรวมเข้าหรือไม่เกือบส่งผลให้การประชุมถึงทางตัน ผู้แทนอินโดนีเซียถือมุมมองว่าอินโดนีเซียควรประกอบด้วยดินแดนหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ทั้งหมด ฝ่ายเนเธอร์แลนด์ปฏิเสธที่จะประนีประนอม โดยอ้างว่านิวกินีตะวันตกไม่มีความสัมพันธ์ด้านเชื้อชาติกับส่วนที่เหลือของกลุ่มเกาะ[3] แม้ความเห็นของสาธารณชนดัตช์จะสนับสนุนให้ถ่ายโอนนิวกินีตะวันตกแก่อินโดนีเซีย คณะรัฐมนตรีดัตช์กังวลว่าจะไม่สามารถให้สัตยาบันความตกลงโต๊ะกลมในรัฐสภาหากยอมรับจุดนี้[4] ท้ายสุด ในช่วงเช้าของวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949 มีการบรรลุความประนีประนอม สถานะของนิวกินีตะวันตกจะถูกพิจารณาผ่านการเจรจาระหว่างสหรัฐอินโดนีเซียและเนเธอร์แลนด์ภายในปีที่มีการถ่ายโอนอธิปไตยนั้น[5]
การประชุมดังกล่าวปิดลงอย่างเป็นทางการในอาคารรัฐสภาเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1949 และอธิปไตยถูกถ่ายโอนให้แก่สหรัฐอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ปีเดียวกัน[6]
อ้างอิง
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- Ide Anak Agung Gde Agung (1973) Twenty Years Indonesian Foreign Policy: 1945-1965 Mouton & Co ISBN 979-8139-06-2
- Kahin, George McTurnan (1952) Nationalism and Revolution in Indonesia Cornell University Press, ISBN 0-8014-9108-8