สภาสูง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สภาสูง (อังกฤษ: upper house) เป็นชื่อเรียกสภานิติบัญญัติสภาหนึ่ง บางประเทศอาจมีสภานิติบัญญัติสองสภาประกอบกันเป็นรัฐสภา อีกสภาหนึ่งเรียก สภาล่าง ซึ่งบางประเทศอาจมีแต่สภาล่างทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดขององค์อธิปัตย์ในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยมีสองสภา สภาสูงเรียก วุฒิสภา สภาล่างเรียก สภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองสภารวมกันเรียกว่า รัฐสภา

ลักษณะทั่วไปของสภาสูง[แก้]

ระบบรัฐสภา[แก้]

ในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา เช่น ประเทศไทย ประเทศอังกฤษ สภาสูงมีหน้าที่ตรวจสอบกฎหมายที่รัฐบาลหรือสภาล่างประกาศใช้ในสถานการณที่มีความจำเป็นรีบด่วน, มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย ซึ่งสภาล่างอาจไม่ปฏิบัติตามก็ได้ เช่น สภาขุนนาง (สภาสูง) ของอังกฤษ ที่กฎหมายไม่ให้อำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย เพียงแต่มีอำนาจในการถ่วงการพิจารณาเอาไว้เพื่อให้รัฐบาลหรือสภาล่างนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ แม้สภาสูงจะไม่มีอำนาจเช่นว่า แต่บรรดาสภาสูงส่วนใหญ่ก็อาจขอให้สภาล่างนำร่างกฎหมายกลับไปพิจารณาใหม่ได้ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองจากการออกกฎหมายโดยไม่มีความรอบคอบ

ในประเทศที่ใช้ระบบดังกล่าว มักเห็นว่าสภาสูงเป็นที่ปรึกษา หรือเป็น "บรรณาธิการ" พิจารณาร่างกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ อำนาจในทางนิติบัญญัติของสภาสูงจึงมีจำกัด คือ

  • ไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร (บางประเทศ) เช่น ในประเทศไทย วุฒิสภามีอำนาจตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ได้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากพบว่ารัฐบาลปฏิบัติการไม่เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งอาจนำไปสู่ความระส่ำระสายของรัฐบาลและการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้
  • มีอำนาจน้อยในการเสนอกฎหมาย เช่น ในประเทศไทย วุฒิสภาไม่อาจเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ แต่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา วุฒิสภามีหน้าที่วิจารณ์ แก้ไข และพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่เสนอมา
  • ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการออกกฎหมาย (ยกเว้นบางประเทศ) โดยเฉพาะเกี่ยวกับร่างกฎหมายด้านการเงิน เช่น ร่างพระราชบัญญัติหรือรัฐบัญญัติงบประมาณ แล้ว สภาสูงไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายได้เลย แต่คงมีอำนาจในการพิจารณาอยู่ (ดูตัวอย่างใน เหตุการณ์วิกฤติทางด้านรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519 (1975 Australian Constitutional Crisis)

อย่างไรก็ดี สภาสูงแห่งบางประเทศหรือบางรัฐก็มีอำนาจมากกว่าที่ระบุไว้ข้างต้น เช่น มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา (ส่วนใหญ่ไม่รวมกฎหมายงบประมาณและการเงิน) กับทั้งบางครั้งรัฐธรรมนูญของบางประเทศอาจกำหนดให้สภาสูงมีอำนาจแก้ไขภาวะทางตันทางการเมืองก็มี

ในระยะหลัง ในบางประเทศมีการยุบเลิกสภาสูงเสีย เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของสภาสูงอีกต่อไป อนึ่ง การร่างรัฐธรรมนูญของหลายประเทศตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา มักกำหนดไม่ให้สภาสูงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของฝ่ายบริหาร เพื่อไม่ให้สมาชิกสภาสูงฝักไฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผลเสียได้

ระบบประธานาธิบดี[แก้]

ในประเทศที่ใช้ระบบประธานาธิบดี สภาสูงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา แต่มักได้รับอำนาจเพิ่มเติมเพื่อชดเชยข้อจำกัด เช่น

  • มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง ถอดถอน หรือโยกย้ายข้าราชการระดับสูง
  • มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการให้สัตยาบรรณ ตลอดกระทำนิติกรรมที่ผลผูกพันประเทศ

โครงสร้างของสภาสูง[แก้]

การได้มาซึ่งสภาสูง อาจกระทำได้โดยหลายวิธี เช่น การเลือกตั้งโดยประชาชน การแต่งตั้ง การได้มาแบบผสมระหว่างการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง เช่นในประเทศไทย และการได้รับสืบทอดตำแหน่งภายในสกุล

มีสภาสูงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน แต่ใช้วิธีการแต่งตั้งโดยหัวหน้ารัฐบาล เนื่องจากต้องการให้สภาสูงประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอย่างแท้จริง ซึ่งการเลือกตั้งมักไม่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิเช่นนั้น อาทิ สมาชิกวุฒิสภาแห่งแคนาดาได้มาด้วยการเลือกสรรของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีแห่งแคนาดานำความกราบบังคมทูลฯ ให้พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรมีพระราชโองการแต่งตั้ง

ทั้งนี้ สำหรับการได้รับสืบทอดตำแหน่งภายในสกุล เช่น (ในประเทศเยอรมัน), สภาขุนนางของประเทศอังกฤษ (มีจวบจนปัจจุบัน) และสภาขุนนางของญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นยกเลิกวิธีการนี้เมื่อ พ.ศ. 2490)

สำหรับการเลือกตั้งโดยประชาชนมีทั้งแบบทางตรงและทางอ้อม แบบทางตรงคือ ประชาชนเลือกผู้แทนประชาชนแล้ว เมื่อผลการเลือกตั้งเป็นที่รับรอง ผู้แทนนั้นก็เป็นสมาชิกสภาสูงทันที, ส่วนแบบทางอ้อมคือ ผู้แทนนั้นไปคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นสมาชิกสภาสูงอีกที

อย่างก็ดี โดยทั่วไปแล้วสภาสูงมักประกอบด้วยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เช่น วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 17 เมื่อ พ.ศ. 2456 แต่ในประเทศที่สมาชิกสภาสูงมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มักมีสัดส่วนต่ำกว่าสภาล่าง เช่น วุฒิสภาของออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งการกำหนดจำนวนสมาชิกที่ได้จากการเลือกตั้งของรัฐต่าง ๆ ไว้ตายตัวตามจำนวนรัฐโดยไม่ใช้จำนวนประชากร

การยุบเลิกสภาสูง[แก้]

ปัจจุบัน รัฐหรือประเทศหลายแห่ง เช่น เดนมาร์ก สวีเดน โครเอเชีย เปรู เวเนซุเอลา นิวซีแลนด์ และเกือบทุกจังหวัดของแคนาดา เคยมีสภาสูงมาก่อน ก่อนที่จะยุบเลิกไปเหลือสภาล่างเป็นสภานิติบัญญัติสภาเดียว

เหตุการณ์สำคัญในการยุบเลิกสภาสูง เช่น ในรัฐควีนส์แลนด์ของประเทศออสเตรเลีย ได้ยุบเลิกสภาสูงไปเสียใน พ.ศ. 2465 เนื่องจากพบว่าสมาชิกสภาสูงไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องภายในรัฐหรือประเทศนั้น ๆ ยังคงมีหลายประเทศที่ใช้ระบบสองสภาอยู่ในปัจจุบัน

ชื่อต่าง ๆ ของสภาสูง[แก้]

  • วุฒิสภา (Senate) - เป็นชื่อที่ใช้มากที่สุดรวมทั้งประเทศไทยในปัจจุบัน
    • พฤฒสภา (Elder Council) - เป็นชื่อของสภาสูงของไทยก่อนเปลี่ยนมาใช้คำว่า วุฒิสภา
  • สภานิติบัญญัติ (Legislative Council) - ใช้ในบางประเทศ
  • สภาซีแนดอีแรน (Seanad Éireann) แห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (มีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2462 - ปัจจุบัน)
  • สภาขุนนาง (House of Lords) แห่งสหราชอาณาจักร
  • ช็องบร์เดแปร์ (Chambre des Pairs, สภาขุนนาง) แห่งประเทศฝรั่งเศส (มีขึ้นตั้งแต่ภายหลังการฟื้นฟูราชสำนักในสมัยราชวงศ์บูร์บอง)
  • สภาแมกเนตส์ หรือ Főrendiház แห่งราชอาณาจักรฮังการี
  • ที่ประชุมปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (Chinese People's Political Consultative Conference, จีน 中国人民政治协商会议) (ไม่มีอำนาจนิติบัญญัติ, เป็นแต่ที่ปรึกษา)
  • สภาเอร์สต์คาเมอร์ (ดัตช์ Eerste Kamer, แปลว่า สภาแรก) แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ (บางครั้งใช้คำว่า Senaat)
  • สภาชูรา (Shura Council, แปลว่า สภาที่ปรึกษา) แห่งอียิปต์
  • สหพันธรัฐสภาแห่งรัสเซีย (Federation Council of Russia)
  • สภาบุนเดสแรตแห่งเยอรมัน (Bundesrat, แปลว่า สภาแห่งสหพันธรัฐ)
  • รัฐสภาแห่งออสเตรเลีย(Council of States of Australia)
  • ราชยสภาแหงอินเดีย (Rajya Sabha)
  • ราชมนตรีสภา (参議院 ซังงิ-อิง) แห่งญี่ปุ่น
  • สภาแห่งชาติ (National Council) แห่งสโลวีเนีย
  • วุฒิสภาแห่งโซมาลีแลนด์ (House of Elders of Somaliland) - สภาสูงของสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์ สภาสูงนี้มีรูปแบบเหมือนสภาขุนนางในสหราชอาณาจักร อนึ่ง ประเทศนี้ยังไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ

ดูเพิ่ม[แก้]