จังหวัดบันเติน
จังหวัดบันเติน Provinsi Banten (อินโดนีเซีย) | |
---|---|
คำขวัญ: Iman Taqwa (Faith and Piety) | |
ที่ตั้งจังหวัดบันเตินในประเทศอินโดนีเซีย | |
พิกัด: 6°30′S 106°15′E / 6.500°S 106.250°E | |
ประเทศ | อินโดนีเซีย |
เมืองหลัก | เซรัง |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าการ | วาฮีดิน ฮาลิม |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 9,163 ตร.กม. (3,538 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2010) | |
• ทั้งหมด | 10,644,030 คน |
• ความหนาแน่น | 1,200 คน/ตร.กม. (3,000 คน/ตร.ไมล์) |
Demographics | |
• ชาติพันธุ์ | ชาวบันเติน (47%), ชาวซุนดา (23%), ชาวชวา (12%), ชาวเบอตาวี (10%), ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน (1%) [1] |
• ศาสนา | อิสลาม (96.6%), โปรเตสแตนต์ (1.2%), โรมันคาทอลิก (1%), พุทธ (0.7%), ฮินดู (0.4%)[ต้องการอ้างอิง] |
• ภาษา | ภาษาซุนดา, ภาษาชวา, ภาษาอินโดนีเซีย, ภาษาเบอตาวี |
เขตเวลา | WIB (UTC+7) |
เว็บไซต์ | bantenprov |
บันเติน (อินโดนีเซีย: Banten) เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ที่อ่าวบันเตินทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะชวา มีพื้นที่ 9,160.7 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 9,083,114 คน (พ.ศ. 2548) จังหวัดบันเตินก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 โดยแยกออกจากจังหวัดชวาตะวันตก มีเมืองหลักคือเซรัง
ประวัติศาสตร์
[แก้]บันเติน หรือบันตัมเป็นเมืองเก่าแก่ของอินโดนีเซีย เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรบันเตินที่มีอำนาจในระหว่าง พ.ศ. 2067–2294 อาณาจักรบันเตินเป็นหนึ่งในบรรดารัฐมุสลิมที่ก่อตั้งขึ้นตามแนวชายฝั่งของเกาะชวา มีความรุ่งเรืองและเป็นเอกราชระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21–23 โดยรุ่งเรืองที่สุดในสมัยของสุลต่านอากุง อับดุลฟาตะฮ์ผู้ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2194–2225 สุลต่านแห่งบันเตินนั้นได้ขยายอำนาจไปสู่ชวาตะวันตก จาการ์ตา และชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของกาลีมันตัน เมื่อขยายอำนาจไปถึงที่ใดก็บังคับให้ดินแดนนั้นยอมรับศาสนาอิสลาม ในสมัยเดียวกันนั้น มีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในเกาะชวาอีกแห่งหนึ่งคืออาณาจักรมาตารัมซึ่งต่างฝ่ายต่างคานอำนาจกันอยู่ได้
เมื่อชาวตะวันตกเข้ามาในบันเติน ในช่วงแรกสุลต่านแห่งบันเตินสามารถรักษาผลประโยชน์ของบันเตินไว้ได้ จนกระทั่งเนเธอร์แลนด์เข้ามาและพยายามบีบบังคับการค้าของชนพื้นเมืองอย่างหนัก จนเกิดการกระทบกระทั่งกับบันเตินใน พ.ศ. 2161 และเข้ายึดเมืองจาการ์ตาหรือเมืองปัตตาเวียไว้ได้ และใช้เป็นสถานีการค้า ความขัดแย้งระหว่างบันเตินกับเนเธอร์แลนด์จึงรุนแรงยิ่งขึ้น เนเธอร์แลนด์ยังบังคับให้พ่อค้าชาวอังกฤษและฝรั่งเศสออกไปจากปัตตาเวียด้วย
ต่อมาเกิดกรณีพิพาทแย่งชิงราชสมบัติในบันเตินระหว่างสุลต่านอากุง อับดุลฟาตะห์กับโอรสองค์ใหญ่คือเจ้าชายหะยีอับดุลกาฮาร์ เนเธอร์แลนด์เข้ามาแทรกแซงและสนับสนุนให้เจ้าชายหะยีอับดุลกาฮาร์ได้ขึ้นครองราชย์และต้องลงนามเป็นไมตรีกับเนเธอร์แลนด์ ทำให้ชาวบันเตินไม่พอใจและสนับสนุนสุลต่านพระองค์เดิมให้กลับมาครองราชย์อีก จึงเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นใน พ.ศ. 2196 อับดุลกาฮาร์เป็นฝ่ายชนะและคุมขังพระบิดาไว้ในคุกจนสิ้นพระชนม์
อับดุลกาฮาร์ได้ตอบแทนเนเธอร์แลนด์ที่สนับสนุนพระองค์โดยยกเลิกสิทธิของบันเตินเหนือรัฐเชรีบอนในชวาตะวันออก และยอมรับอำนาจของเนเธอร์แลนด์ ต่อมาใน พ.ศ. 2291 เกิดสงครามชิงราชสมบัติอีกครั้งระหว่างฝ่ายที่เนเธอร์แลนด์หนุนหลังกับฝ่ายที่ต่อต้านเนเธอร์แลนด์ เหตุการณ์วุ่นวายสงบลงใน พ.ศ. 2296 โดยปะแงรัน กุสตีที่เนเธอร์แลนด์เช่นกันได้ขึ้นครองราชย์ และได้ลงนามในสนธิสัญญายอมเป็นประเทศราชของเนเธอร์แลนด์ เมื่อเนเธอร์แลนด์ประสบปัญหา บริษัทดัตช์อีสต์อินดีสต์ล้มละลายใน พ.ศ. 2322 และต้องขูดรีดภาษีจากชนพื้นเมืองมากขึ้น ชาวบันเตินจึงลุกฮือขึ้นต่อต้านเนเธอร์แลนด์ นอกจากนั้น อังกฤษยังได้ยกพลขึ้นบกที่เซอมารังและปิดล้อมปัตตาเวียไว้ ในที่สุด เนเธอร์แลนด์จึงเสียบันเตินให้อังกฤษเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2354
ในสมัยของอังกฤษ เกิดสงครามชิงราชสมบัติในบันเตินอีกครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2354–2358 อังกฤษจึงแก้ปัญหาโดยการลดสิทธิและอำนาจสูงสุดของสุลต่านลง อังกฤษคืนบันเตินให้เนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2359 หลังจากนั้น เนเธอร์แลนด์ได้นำระบบเพาะปลูกมาใช้ ทำให้ชาวบันเตินต้องทำงานหนัก จึงเกิดกบฏบันเตินใน พ.ศ. 2431 ต่อมา บันเตินได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียที่ก่อกบฏใน พ.ศ. 2469 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบันเตินได้เข้าร่วมในขบวนการกู้ชาติเพื่อขับไล่เนเธอร์แลนด์ออกไปจากอินโดนีเซีย
หน่วยการบริหาร
[แก้]พื้นที่จังหวัดบันเตินแบ่งออกเป็น 4 อำเภอหรือกาบูปาเต็น 4 นครหรือโกตา และ 155 ตำบลหรือเกอจามาตัน[2][3]
- อำเภอ
- อำเภอเซรัง (Kabupaten Serang)
- อำเภอตาเงอรัง (Kabupaten Tangerang)
- อำเภอปันเด-กลัง (Kabupaten Pandeglang)
- อำเภอเลอบัก (Kabupaten Lebak)
- นคร
- เซรัง (Serang; เมืองหลัก)
- จีเลอกน (Cilegon)
- ตาเงอรัง (Tangerang)
- ตาเงอรังใต้ (Tangerang Selatan)
ภาษา
[แก้]ภาษาที่ใช้กันมากที่สุดคือ ภาษาซุนดา[4][5] ชนพื้นเมืองที่อาศัยในจังหวัดบันเตินจะพูดภาษาถิ่นซุนดา ซึ่งเปลี่ยนแปลงมากจากภาษาซุนดาโบราณ ภาษาถิ่นนี้จัดเป็นภาษาไม่เป็นทางการ หรือชั้นหยาบในภาษาซุนดาสมัยใหม่ ซึ่งมีหลายชั้นเช่นเดียวกับภาษาชวา[6]
อย่างไรก็ตาม ในเมืองเซรัง และจีเลอกน กลุ่มชาติพันธุ์ชวาได้ใช้ภาษาชวาถิ่นบันเตินด้วย[5] และในทางตอนเหนือของตาเงอรัง ยังมีการใช้ภาษาอินโดนีเซียถิ่นเบอตาวี ในหมู่ผู้อพยพชาวเบอตาวี และใช้ภาษาอินโดนีเซียพูดกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่กลุ่มชาติพันธุ์ผู้อพยพอื่น ๆ จากส่วนอื่น ๆ ของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากใจกลางเมือง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Indonesia's Population: Ethnicity and Religion in a Changing Political Landscape. Institute of Southeast Asian Studies. 2003.
- ↑ Statistik Indonesia 2021 (ภาษาอินโดนีเซีย). สำนักงานสถิติแห่งประเทศอินโดนีเซีย. 2021-02-26. pp. 45–47. สืบค้นเมื่อ 2021-12-05.
- ↑ "Peraturan Kepala Badan Pusat Statistik Nomor 120 Tahun 2020 Tentang Klasifikasi Desa Perkotaan dan Perdesaan di Indonesia Tahun 2020" (PDF) (ภาษาอินโดนีเซีย). สำนักงานสถิติแห่งประเทศอินโดนีเซีย. สืบค้นเมื่อ 2021-12-05.
- ↑ Language maps of Indonesia (Java and Bali)
- ↑ 5.0 5.1 "ECAI - Pacific Language Mapping". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-22. สืบค้นเมื่อ 2009-05-13.
- ↑ Purwo, Bambang K. (1993). "Factors influencing comparison of Sundanese, Javanese, Madurese, and Balinese".
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
[แก้]- สุพรรณี กาญจนัษฐิติ. (2539). บันเติน. ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. น. 380-383. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
- Dinar Boontharm. (2003). The Sultanate of Banten AD 1750-1808: A Social and Cultural History (Ph.D. thesis). Hull: University of Hull.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Official website เก็บถาวร 2006-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อินโดนีเซีย)