มหาภารตะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเขียนการรบในมหาภารตะ จากต้นฉบับภาษาสันสกฤต
รูปอรชุนทรงราชรถออกศึก มีพระกฤษณะเป็นนายสารถี (ศิลปะของอินเดีย สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 - 19)

มหาภารตะ (สันสกฤต: महाभारत มหาภารต) บางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า ภารตะ เป็นหนึ่งในสอง ของ มหากาพย์ ที่ยิ่งใหญ่ของ อินเดีย (มหากาพย์อีกเรื่องคือ รามายณะ) ประพันธ์เป็นโศลกภาษาสันสกฤต มหากาพย์เรื่องนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ "อิติหาส" (แปลตามศัพท์ว่า "ประวัติศาสตร์") และเป็นส่วนหนึ่งทึ่สำคัญยิ่งของ เทพปกรณัมในศาสนาฮินดู

ในตามตำนานกล่าวว่าผู้แต่งมหากาพย์เรื่องนี้คือ ฤๅษีกฤษณไทวปายน หรือฤๅษีวยาส เชื่อกันว่าแต่งไว้ราว 800-900 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1] นับเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก[2] ด้วยมีจำนวนคำ 1.8 ล้านคำ นับว่ายาวกว่ามหากาพย์อีเลียด หรือมหากาพย์โอดิสซี ของกรีกโบราณ[1] มีเนื้อหาซับซ้อน เล่าเรื่องอันยืดยาวที่เกี่ยวข้องกับเทพปกรณัม การสงคราม และหลักปรัชญาของอินเดีย ทั้งนี้ยังมีเรื่องย่อย ๆ แทรกอยู่มากมาย ซี่งหลายเรื่องก็เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในเมืองไทย เช่น ภควัทคีตา ศกุนตลา สาวิตรี พระนล กฤษณาสอนน้อง อนิรุทธ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของศาสนาฮินดูด้วย นอกจากนี้ มหาภารตะนี้ยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ศาสนา การเมือง ศิลปะหลายแขนง ประวัติความเป็นมาของวงศ์ตระกูลต่าง ๆ ในเรื่อง และธรรมเนียมประเพณีการรบการสงครามของอินเดียยุคโบราณด้วย

มหาภารตะ เป็นเรื่องราวความขัดแย้งของพี่น้องสองตระกูล ระหว่าง ตระกูลเการพ และตระกูลปาณฑพ ซึ่งทั้งสองตระกูลต่างก็สืบเชื้อสายมาจากท้าวภรต แห่ง กรุงหัสตินาปุระ จนบานปลายไปสู่มหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ซึ่งมีพันธมิตรของแต่ละฝ่ายเข้าร่วมรบด้วยเป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่านี่คือการต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ความดีและความชั่ว ซึ่งในที่สุดแล้ว ฝ่ายปาณฑพก็เป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้

บรรพ[แก้]

มหาภารตะประกอบด้วยบรรพ (อ่านว่าบับ หรือ บับ-พะ แปลว่า ภาคหรือบท) ทั้งหมด 18 บรรพ ดังนี้

บรรพ ชื่อบรรพ บรรพย่อย เนื้อหา
1 อาทิบรรพ (บรรพแห่งการเริ่มต้น) 1-19 บทของมหาภารตะ ว่าด้วยตำนานการเล่าเรื่องมหาภารตะ และกำเนิดของเจ้าชายในกุรุราชวงศ์ทั้งฝ่ายปาณฑพและเการพ และชีวิตของเหล่าเจ้าชายขณะยังเยาว์วัย
2 สภาบรรพ (บรรพแห่งสภา) 20-28 การสร้างพระราชวังและสภาแห่งใหม่ของพวกปาณฑพที่นครอินทรปรัสถ์ ซึ่งเป็นอาณาเขตที่ท้าวธฤตราษฎร์แบ่งให้พี่น้องปาณฑพทั้งห้าปกครอง พิธีราชสูยะของท้าวยุธิษฐิระ ชีวิตในราชสำนัก การพนันสการะหว่างยุธิษฐิระกับทุรโยธน์ และการเนรเทศเหล่าปาณฑพ
3 วนบรรพ (บรรพแห่งป่า)
เรียก "อรัณยกะบรรพ" หรือ "อรัณยบรรพ" ก็มี
29-44 การเดินป่าของเหล่าปาณฑพในช่วง 12 ปีแห่งการเนรเทศ
4 วิราฏบรรพ (บรรพแห่งท้าววิราฏ) 45-48 ช่วงที่เหล่าปาณฑพพำนักในราชสำนักของท้าววิราฏในปีที่ 13 แห่งการเนรเทศ
5 อุทโยคบรรพ (บรรพแห่งความพยายาม) 49-59 ฝ่ายเการพและฝ่ายปาณฑพเตรียมการรบ พระกฤษณะพยายามสร้างสันติภาพแก่ทั้งสองฝ่ายแต่ล้มเหลว (อุทโยคะ แปลว่า ความพยายาม) ก่อนสงครามจะเปิดฉาก พระกฤษณะจึงได้สาธยายคำสอนภควัทคีตาแก่อรชุน เพื่อลบข้อสงสัยและความท้อแท้ของอรชุนในการทำสงครามครั้งนี้
6 ภีษมบรรพ (บรรพแห่งภีษมะ) 60-64 ช่วงแรกของมหาสงคราม มีภีษมะเป็นแม่ทัพฝ่ายเการพ ที่สุดแล้วภีษมะก็ต้องธนูของอรชุนจำนวนมากจนบาดเจ็บสาหัส ไม่อาจบัญชาการรบต่อไปได้
7 โทรณบรรพ (บรรพแห่งโทรณาจารย์) 65-72 โทรณาจารย์เป็นแม่ทัพฝ่ายเการพแทนภีษมะ กระทั่งถูกธฤษฏะทยุมันจบชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ในบรรพนี้ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียทหารและแม่ทัพนายกองเกือบทั้งหมด
8 กรรณบรรพ (บรรพแห่งกรรณะ) 73 กรรณะดำรงตำแหน่งแม่ทัพฝ่ายเการพต่อจากโทรณาจารย์จนกระทั่งถูกอรชุนสังหาร ทุหศาสันถูกภีมะฆ่าตาย
9 ศัลยบรรพ (บรรพแห่งท้าวศัลยะ) 74-77 สงครามดำเนินมาถึงวันสุดท้าย ท้าวศัลยะ เจ้าเมืองมัทรเทศ เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายเการพแทนกรรณะ ทุรโยธน์ดวลกระบองกับภีมะที่ริมแม่น้ำสรัสวดีและจบลงด้วยความพ่ายแพ้ กองทัพฝ่ายเการพพ่ายแพ้และพินาศสิ้น
10 เสาปติกบรรพ (บรรพแห่งการหลับใหล) 78-80 ก่อนทุรโยชน์จะเสียชีวิต อัศวัตถามา กฤปาจารย์ และกฤตวรมัน กองกำลัง 3 คนสุดท้ายของฝ่ายเการพที่เหลืออยู่ ลอบทำลายกองทัพปาณฑพขณะกำลังนอนหลับ (เสาปติก แปลว่า การหลับใหล) ฝ่ายปาณฑพรอดชีวิตเพียง 7 คนเท่านั้น
11 สตรีบรรพ (บรรพแห่งสตรี) 81-85 นางคานธารี นางกุนตี และหญิงคนอื่นๆ ต่างโศกเศร้ากับความตายของเหล่านักรบทั้งสองฝ่าย
12 ศานติบรรพ (บรรพแห่งสันติ) 86-88 ท้าวธฤตราษฎร์สละราชสมบัติ ยุธิษฐิระขึ้นครองราชสมบัติเมืองหัสตินาปุระแทน และรับคำสอนจากภีษมะก่อนที่ภีษมะจะละสังขาร (บรรพนี้เป็นบรรพที่ยาวที่สุด)
13 อนุศาสนบรรพ (บรรพแห่งอนุศาสน์หรือคำสอน) 89-90 คำสอนครั้งสุดท้ายของภีษมะก่อนการละสังขาร (เนื้อหาต่อเนื่องจากบรรพที่ 12)
14 อัศวเมธิกบรรพ (บรรพแห่งพิธีอัศวเมธ) 91-92 ยุธิษฐิระทำพิธีอัศวเมธ (การฆ่าม้าบูชายัญ) เพื่อประกาศอำนาจของกรุงหัสตินาปุระ อรชุนเป็นแม่ทัพนำทหารปราบดินแดนต่างๆ ในพิธีนี้ อรชุนรับคำสอน "อนุคีตา" จากพระกฤษณะ
15 อาศรมวาสิกบรรพ (บรรพแห่งอาศรม) 93-95 ท้าวธฤตราษฎร์ออกผนวชพร้อมกับ นางคานธารี นางกุนตี และสัญชัยสารถี ต่อมาเหล่ากษัตริย์ทั้ง 3 องค์สิ้นพระชนม์ด้วยไฟป่า เหลือเพียงสัญชัยเท่านั้นที่รอดชีวิต และไปอาศัยอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัย
16 เมาสลบรรพ (บรรพแห่งไม้ตะบอง) 96 ความพินาศของเหล่ากษัตริย์ยาทวะหรือยาทพจากไม้ตะบอง (เมาสละ แปลว่า ตะบอง) วาระสุดท้ายของพระพลราม พระกฤษณะและกรุงทวารกา
17 มหาปรัสถานิกบรรพ (บรรพแห่งการเดินทางอันยิ่งใหญ่) 97 ยุธิษฐิระสละราชสมบัติและออกผนวชพร้อมเหล่าพี่น้องปาณฑพและนางเทราปตี ทั้งหมดออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่างๆ จนกระทั่งทั้งหมดได้พยายามไต่เขาหิมาลัยเพื่อไปสู่สวรรค์ นอกจากยุธิษฐิระแล้ว ทุกคนล้วนสิ้นชีวิตระหว่างการไต่เขา
18 สวรรคโรหณบรรพ (บรรพแห่งการไปสวรรค์) 98 ยุธิษฐิระเผชิญบททดสอบสุดท้ายจากพระธรรมเทพ (พระยม) ก่อนจะได้ไปยังสวรรค์เพื่อพบพี่น้องปาณฑพและเหล่าญาติมิตรที่สิ้นชีวิตไปก่อนทั้งหมด
ขิละ หริวังสบรรพ (บรรพว่าด้วยพงศาดารแห่งพระหริ) 99-100 ประวัติของพระกฤษณะ (พระหริ) ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ทั้ง 18 บรรพของมหาภารตะ

บทสรุป[แก้]

  • ฝ่ายเการพที่มีกำลังรบ 11 อักเษาหิณี เหลือรอดชีวิตแค่ 4 คน ได้แก่กฤปาจารย์,กฤตวรมัน,อัศวัตถามา และวฤษเกตุ บุตรชายของกรรณะ(พี่น้องเการพไม่มีใครเหลือรอดชีวิตเลย นอกจากเจ้าหญิงทุหศาลา) โอรสของท้าวธฤตราษฎร์องค์เดียวที่รอดชีวิตคือ ยุยุตสุ (เกิดแต่นางกำนัล) ซึ่งย้ายไปอยู่กับฝ่ายปาณฑพก่อนเข้าร่วมสงคราม
  • ฝ่ายปาณฑพที่มีกำลังรบ 7 อักเษาหิณี เหลือรอดชีวิต 8 คน ได้แก่พี่น้องปาณฑพทั้ง5คน,พระกฤษณะ,ยุยุตสุ และสาตยกีและชนะสงคราม

ตัวละคร[แก้]

กุรุราชวงศ์[แก้]

Add caption here

ฝ่ายเการพ[แก้]

พี่น้องฝ่ายเการพ คือโอรสและธิดาของท้าวธฤตราษฎร์กับนางคานธารีจำนวนทั้งสิ้น 101 องค์ ประกอบไปด้วย ทุรโยธน์ ผุ้เป็นพี่ชายคนโต ทุหศาสัน วิกรรณะ น้องชายอีก 97 คน และน้องสาว 1 คนคือ เจ้าหญิง ทุหศาลา นอกจากนี้ยังมีกรรณะ ผู้เป็นสหายของธุรโยซน์ ซึ่งตั้งตัวเป็นศัตรูกับฝ่ายปาณฑพรวมอยู่ด้วย

คำว่าเการพนี้มีที่มาจากคำว่า กุรุราชวงศ์

กษัตริย์ฝ่ายต่าง ๆ ในเรื่อง[แก้]

  • ท้าวภีษมะ โอรสองค์ที่แปดของพระราชาศานตนุ ภายหลังได้สละสิทธิ์การครองราชย์ เป็นผู้ดูแลราชบัลลังก์กุรุสู้ร่วมกับฝ่ายเการพ ภีษมะถือเป็นแบบอย่างของการเสียสละ ความรับผิดชอบ และความอดทน
  • ท้าวทรุปัท พระราชาแห่งแคว้นปัลจาละ มีโอรสธิดาสามองค์ คือ ศิขัณฑิน ธฤษฏะทยุมัน เทราปที ถูกโทรณาจารย์ฆ่าตาย พ่อตาฝ่ายปาณฑพ
  • ธฤษฏะทยุมัน โอรสองค์โตของท้าวทุรบท เป็นผู้สังหารโทรณาจารย์ในสงคราม
  • ศิขัณฑิน ชาติที่แล้วคือเจ้าหญิงอัมพา กลับมาเกิดเป็นหญิง ภายหลังแลกเพศกับอสูร เป็นคนสำคัญที่ช่วยอรชุนสังหารภีษมะ
  • เทราปตี (อ่านว่า ทะเรา-ปะ-ตี พยางค์หน้าออกเสียง/อะ/ กึ่งมาตรา) ธิดาท้าวทรุปัท ภายหลังเป็นชายาของอรชุนและพี่น้อง
  • พระกฤษณะ อวตารของพระวิษณุ สหายของอรชุน เป็นผู้ให้การสนับสนุนชี้นำฝ่ายปาณฑพ
  • พระพลราม อวตารของพระอนันตนาคราช(บังลังก์ของพระวิษณุอันเป็นนาค) พี่ชายพระกฤษณะ เป็นอาจารย์ของภีมะและทุรโยธน์
  • โทรณาจารย์ (อ่านว่า โท-ระ-นา-จาน พยางค์หน้าออกเสียง/อะ/ กึ่งมาตรา) พระอาจารย์ของอรชุนและเหล่ากษัตริย์ที่ร่วมรบในสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร
  • ท้าวศัลยะ พี่ชายพระนางมาทรี เป็นลุงของนกุลและสหเทพ ร่วมรบกับฝ่ายเการพ ถูกยุธิษฐิระฆ่าตายในวันสุดท้ายของสงคราม
  • อัศวัตถามา ลูกชายของพราหมณ์โทรณา สู้ข้างฝ่ายเการพ เป็นผู้โจมตีค่ายปาณฑพยามค่ำคืนหลังสงครามยุติ ฆ่าธฤษฏะทยุมันตายเพื่อล้างแค้นให้บิดา ภายหลังถูกสาปไห้มีชีวิตต่อไปอีกสามพันปีโดยไม่มีใครรัก (ทางฮินดูเชื่อว่าเขายังมีชีวิตอยู่)
  • กรรณะ โอรสพระนางกุนตี ถูกเลี้ยงโดยสารถี ภายหลังถูกแต่งตั้งไห้เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นอังคะ เป็นแม่ทัพฝ่ายเการพหลังจากการตายของโทรณาจารย์ ถูกอรชุนฆ่าตายขณะที่รถม้าของกรรณะติดหล่ม

มหาภารตะในประเทศไทย[แก้]

การแสดงมหาภารตะ
การแสดงมหาภารตะ

ในประเทศไทยมีผลงานเกี่ยวกับมหาภารตะในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

งานแปลหรือดัดแปลงเนื้อหาจากมหาภารตะทั้งหมด
  • มหาภารตยุทธ์ แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับของ ฐากูรราเชนทรสิงห์ โดย ร.อ.หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2460
  • สงครามภารตะคำกลอน แต่งเป็นกลอนสุภาพ โดย พระยาอุปกิตศิลปสาร เนื่องในโอกาสสมโภชพระนครครบ 150 ปี พ.ศ. 2475
  • มหาภารตะยุทธ เป็นการเล่าเรื่องมหาภารตะโดยสังเขป แบ่งเนื้อหาเป็นบรรพต่าง ๆ ตามเรื่องเดิม เรียบเรียงโดย กรุณา - เรืองอุไร กุศลาศัย
  • ศึกมหาภารตะ เป็นการเล่าเรื่องมหาภารตะในรูปแบบการ์ตูน ผลงานของอารีเฟน ฮะซานี
  • เรื่องเล่าจากมหากาพย์มหาภารตะ เป็นหนังสือปกแข็งเรียบเรียงโดย วีระ ธีรภัทร จัดพิมพ์ 4 เล่ม คือ กำเนิดพี่น้องเการพ-ปาณฑพ เหตุแห่งสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร สงครามบนทุ่งกุรุเกษตร และ อวสานสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร
  • เรื่องเล่าจากมหากาพย์มหาภารตะ (ซีดี) เป็นการรวบรวมเรื่องมหาภารตะที่ วีระ ธีรภัทร เล่าผ่านทางรายการวิทยุ ปัจจุบันมี 64 แผ่นและยังไม่มีกำหนดทำเพิ่ม ตั้งแต่เริ่มเรื่องจนสงครามจบในวันที่สิบแปด โดยมีการเล่าเรื่องแทรกและเกร็ดต่างๆแทรกอยู่เป็นระยะ
เรื่องย่อยในมหาภารตะที่มีการประพันธ์ใหม่ในภาษาไทย
อนุศาสน์ภควัทคีตา
เรื่องพระนล
เรื่องอุณรุท
เรื่องอื่นๆ

แผนผัง[แก้]

 
 
 
ปฐมกษัตริย์กุรุ
 
 
 
 
พระแม่คงคา
 
ท้าวศาสตนุ
 
พระนางสัตยวดี
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ภีษมะจิตรางคทะวิจิตรวีรยะ
 

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จุดประกาย 4 บันเทิง, Ranclamoozhan จากบทกวีสู่หนังอินเดียที่ 'แพง' ที่สุด. "โลกนี้มีมายา" โดย ลีนาร์. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10441: วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560
  2. "แฟนพันธุ์แท้ 11 เมษายน 2557 - มหาภารตะ". แฟนพันธุ์แท้. 11 April 2014. สืบค้นเมื่อ 12 April 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

เอกสารต้นฉบับออนไลน์ (ภาษาสันสกฤต)
มหาภารตะฉบับย่อ (อังกฤษ)
ฉบับแปลโดย กิสารี โมหัน กังกุลี (อังกฤษ)
บทความเกี่ยวกับมหาภารตะ (อังกฤษ)