ศาสนาพุทธในประเทศอินโดนีเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประชากรของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่อดีตเคยมีพระพุทธศาสนาแบบมหายานเข้ามาประดิษฐานอยู่ พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมาก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีโบราณสถานที่สำคัญ 2 แห่งอยู่ในอินโดนีเซียคือ บรมพุทโธ (โบโรบุดูร์) ตั้งอยู่ที่ราบเกฑุ (kedu) ในภาคกลางของชวา ห่างจากเมืองยอกจาการ์ตา (Jogjagata) ในปัจจุบันทางเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร และพระวิหารเมนดุต (Mendut) ซึ่งอยู่ห่างจาก โบโรบุดูร์ไปทางทิศตะวันออก 3 กิโลเมตร ต่อมาเมื่ออิสลามได้ขยายอำนาจครอบงำอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2012 ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาขณะที่พระพุทธศาสนาตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมตลอดระยะเวลาอันยาวนาน และเป็นสาเหตุทีทำให้พระพุทธศาสนาแทบจะหายไปจากอินโดนีเซียในอดีต

ประวัติ[แก้]

ยุคเริ่มต้น[แก้]

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศอินโดนีเซียในพุทธศตวรรษที่ 3 คราวที่พระเจ้าอโศกมหาราช ส่งพระโสณะ และพระอุตตระเดินทางมาเผยแผ่พุทธธรรม{[ที่สุวรรณภูมิ]} ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 12 ได้เกิดรัฐมหาอำนาจทางทะเลชื่อว่า อาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya) ซึ่งมีอิทธิพลตั้งแต่อินโดนีเซีย จนถึงคาบสมุทรมลายู รวมไปถึงทางใต้ของประเทศไทย อาณาจักรศรีวิชัยนี้ ศาสนิกชนส่วนใหญ่จะเป็นนิกายมหายาน และแพร่หลายมาก และได้พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย ได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบ และพระโพธิสัตว์ เป็นต้น.

ราชวงศ์ไศเลนทร์[แก้]

บนเกาะชวาทางภาคกลาง ได้เกิดราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ นามว่า ราชวงศ์ไศเลนทร์ ซึ่งในเวลาต่อมา ราชวงศ์ไศเลนทร์ก็มีอำนาจปกครองอาณาจักรศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่ 15 และได้มีการติดต่อราชวงศ์ปาละ แห่งเบงกอล และได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน โดยอาณาจักรศรีวิชัยได้ส่งพระภิกษุไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยรัตทาทุย

ซึ่งกษัตริย์แห่งเบงกอลก็ให้การต้อนรับอย่างดี และทางเบงกอลก็ได้ส่งพระภิกษุ และช่างฝีมือดี มาเผยแผ่พุทธศาสนา และสอนศิลปะสมัยปาละ แก่ชาวนครศรีวิชัยด้วย

ยุคมัชฌปาหิต[แก้]

พระพุทธศาสนาเสื่อมมาก ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลง และทำให้อาณาจักรมัชปาหิตเข้ามามีอำนาจแทน ซึ่งอาณาจักรนี้เป็นฮินดู แต่ต่อมากษัตริย์มัชปาหิตพระองค์หนึ่ง นามว่า "ระเด่นปาทา" ทรงเกิดความเลื่อมใสในศาสนาอิสลาม ทรงยกย่องให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และห้ามเผยแผ่พุทธศาสนา บังคับประชาชนให้นับถืออิสลาม

ยุครัฐสุลต่าน และยุคอาณานิคม[แก้]

ชาวพุทธในอินโดนีเซียช่วงนี้ ไม่ได้มีบทบาทเด่นๆใดๆเลย และกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ภายใต้ชาวมุสลิม ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ และเป็นเช่นนี้เรื่อยๆจนถึงยุคฮอลันดาปกครอง และได้รับเอกราช ชาวอินโดนีเซียพุทธนั้นส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันตกของเกาะชวา เกาะบาหลี เกาะบังกา-เกาะเบลิตุง และบางส่วนของเกาะสุมาตรา

ปัจจุบัน[แก้]

ชาวอินโดนีเซียที่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายานอยู่นั้นจะมีอยู่บนเกาะชวาได้แก่ ชาวชวา (นับถือพุทธศาสนาร้อยละ 1) และชาวซุนดา และจะมีชาวบาหลีบนเกาะบาหลี ซึ่งบางคนก็นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแบบพื้นเมืองควบคู่กันไป และมีชาวซาซะก์บางคนที่นับถือศาสนาพุทธ และลัทธิวตูตลู ซึ่งเป็นศาสนาอิสลาม ที่รวมกับความเชื่อแบบฮินดู-พุทธ อยู่บ้างบนเกาะลอมบอก รวมไปถึงชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยบนเกาะชวา ทุกๆปี ศาสนิกชนเหล่านี้จะมาประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาที่บุโรพุทโธ ที่เมืองมุนตีลาน ที่อินโดนีเซียนี้ได้จัดตั้งสมาคมเพื่อสอนพระพุทธศาสนาแก่เยาวชน มีการบรรยายธรรม ปฏิบัติสมาธิ ออกวารสาร เช่น วารสารวิปัสสนา และวารสารธรรมจารณี ซึ่งการปกครองดูแลศาสนิกชนในอินโดนีเซียจะขึ้นกับพุทธสมาคมในอินโดนีเซีย มีสำนักงานใหญ่ในกรุงจาการ์ตา มีสาขาย่อย 6 แห่ง

ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซีนได้เริ่มมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยการริเริ่มจากพระสงฆ์ชาวศรีลังกา และชาวพื้นเมือง ที่ได้รับการอุปสมบทจากประเทศพม่า และที่ประเทศไทย ในวัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเบญจมบพิตร ปัจจุบันศาสนาพุทธนั้นมีศาสนิกอยู่ประมาณ 1,500,000 คน หรือประมาณร้อยละ 1 ของประชากรชาวอินโดนีเซียทั้งหมด[1][2] ซึ่งสังคมอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและไม่ได้ต่อต้านศาสนาอื่น

ศาสนสถาน[แก้]

ประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันมีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ประมาณ 150 วัด ในจำนวนนี้ 100 วัด เป็นวัดฝ่ายมหายาน อีก 50 วัดเป็นวัดฝ่ายหีนยาน (เถรวาท) ซึ่งเป็นวัดไทย 4 แห่ง ได้แก่ วัดพุทธเมตตา วัดวิปัสสนาคราหะ วัดเมนดุตพุทธศาสนวงศ์ และวัดธรรมทีปาราม วัดเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของฝ่ายฆราวาส เพราะพระภิกษุมีจำนวนน้อย การปกครองดูแลพุทธศาสนิกชนขึ้นอยู่กับพุทธสมาคม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองจาการ์ตา นครหลวงของอินโดนีเซีย และมีสมาชิก 6 แห่ง ตั้งอยู่ตามเมืองต่างๆ รวมมีสมาชิกทั้งสิ้นประมาณ 150,000 คน

มีคัมภีร์ทางพุทธศาสนาแบบชวาที่สำคัญ 2 เล่ม ได้แก่ คัมภีร์สังหยังกามาหานิกัน (Sang hyang Kamahaanikan) และคัมภีร์กามาหายานันมันตรานายา (Kamahayanan Mantranaya)

การฟื้นฟูพระพุทธศาสนา[แก้]

การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อประมาณ 10 กว่าปีมานี้ เป็นการริเริ่มโดยพระสงฆ์ชาวลังกาและพระสงฆ์ชาวพื้นเมืองที่ได้รับการอุปสมบทไปจาก วัดบวรนิเวศวิหารและวัดเบญจมบพิตรในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2512 คณะสงฆ์ไทยได้ส่งพระธรรมทูตจากประเทศไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซียทั้งชวาภาคกลาง ภาคตะวันออก และตะวันตก ขณะนี้ยังมิได้สร้างวัดไทยขึ้นแต่ก็ได้เตรียมการที่จะสร้างวัดไทยขึ้นในสถานที่ไม่ห่างไกลจากมหาสถูปโบโรบุดูร์ไว้แล้ว ปัจจุบันพระธรรมทูตจากประเทศไทยมีสำนักงานเผยแผ่เป็นศูนย์กลางอยู่ที่สำนักงานพุทธเมตตา ตั้งอยู่เลขที่ 59 ถนนเตอรูซานเล็มบังดี กรุงจาการ์ตา

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-14. สืบค้นเมื่อ 2009-07-11.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-29. สืบค้นเมื่อ 2009-07-11.
  • จำนงค์ ทองประเสริฐ, พระพุทธศาสนาในเซียอาคเนย์, (กรุงเทพฯ:มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ, 2514), หน้า 99-1000