ข้ามไปเนื้อหา

การทหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองกำลังทางการทหารของเนโท ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การทหาร เป็นองค์การที่สังคมอนุญาตให้ใช้อำนาจสำหรับสังหาร[1] (lethal force) ซึ่งโดยปกติเป็นการใช้อาวุธสำหรับในการป้องกันประเทศ เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นหรืออยู่ภายใต้การรับรู้

การทหารอาจมีการทำหน้าที่อื่นต่อสังคม เช่น การเดินหน้าวาระทางการเมือง[2] (ในกรณีคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง) สนับสนุนหรือส่งเสริมการขยายทางเศรษฐกิจผ่านจักรวรรดินิยม และเป็นการควบคุมทางสังคมภายในรูปแบบหนึ่ง

คำว่า "การทหาร" หรือ "ทางทหาร" ที่เป็นคำคุณศัพท์ ยังใช้หมายถึง ทรัพย์สินหรือมุมมองของทหาร การทหารทำหน้าที่เป็นสังคมภายในสังคม โดยมีชุมชนทหารเป็นของตนเอง[3]

การจัดหน่วยทหาร

[แก้]

กำลังพลและการจัดหน่วยรบ

[แก้]

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการทหารมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติการทางการทหารก็คือกำลังพลทหารที่เป็นมนุษย์เป็นหลัก โดยในปี 2543 กองทัพอังกฤษได้ระบุไว้ในเอกสารว่า มนุษย์ยังคงเป็นอาวุธชนิดแรกในสงคราม[4]

กำลังพลพร้อมรบ พ.ศ. 2565 (หน่วยเป็นพัน)
ประเทศ กำลังพล
จีน
จีน
2,000
อินเดีย
อินเดีย
1,450
สหรัฐ
สหรัฐ
1,390
เกาหลีเหนือ
เกาหลีเหนือ
1,200
รัสเซีย
รัสเซีย
850
ปากีสถาน
ปากีสถาน
640
อิหร่าน
อิหร่าน
575
เกาหลีใต้
เกาหลีใต้
555
เวียดนาม
เวียดนาม
470
อียิปต์
อียิป
450
ตุรกี
ตรุกี
425
อินโดนีเซีย
อินโดนิเซีย
400
ประเทศพม่า
เมียนมาร์
400
บราซิล
บราซิล
360
ไทย
ไทย
350

แหล่งข้อมูล: Global Firepower Index[5]

ชั้นยศและบทบาทในการรบ

[แก้]

หน่วยงานทางการทหาร มักจะมีลำดับการบังคับบัญชาตามระดับของชั้นยศในการสั่งการ โดยเรียงจากยศที่มีอำนาจสูงที่สุดในการสั่งการกองทัพทั้งหมด (เช่น พลเอก) ไล่ลำดับลงมาจนถึงยศต่ำที่สุดที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใด ๆ (เช่น พลทหาร) นอกจากนี้ยังมีการจัดลำดับตามความอาวุโสและประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อประสิทธิภาพในการตัดสินใจสั่งการไปยังเหล่าทหารที่อยู่ภายในบังคับบัญชา แต่ในบางกองทัพการแต่งตั้งชั้นยศก็ไม่สมกับสัดส่วนอำนาจการบังคับบัญชาในสากลประเทศอื่น ๆ[6]

นอกจากชั้นยศแล้ว บทบาทในการรบก็ถูกแบ่งขึ้นมาเพื่อระบุถึงคุณสมบัติและบทบาทหน้าของกองทหารนั้น ๆ โดยในประเทศไทยเรียกว่า เหล่า[7] เช่น ทหารราบ ทำหน้าที่ในการรบด้วยกำลังทหาร ทหารม้า ทำหน้าที่ในการใช้รถถังหรือพาหนะในการเคลื่อนที่และมีอำนาจการยิงที่รุนแรง ทหารช่าง ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการรบด้านการช่าง การสร้างและดัดแปลงภูมิประเทศ

ในกองทัพและการทหารสมัยใหม่ ระบบชั้นยศนั้นถูกใช้อย่างแพร่หลายในเกือบทุกประเทศ แต่ในอดีตมีบางประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์พยายามยกเลิกระบบชั้นยศในกองทัพ[8] เช่น สหภาพโซเวียต[9] สาธารณรัฐประชาชนจีน[10] แต่ก็ต้องกลับมาใช้งานระบบชั้นยศอีกครั้ง[11]เนื่องจากปัญหาในการบังคับบัญชาและควบคุมการรบ

การสรรหากำลังพล

[แก้]
การสรรหากำลังพลของกองทัพบกสหรัฐ ด้วยวิธีการออกบูธรับสมัครในโรงเรียนมัธยม

กำลังพลของกองทัพที่ใช้ในการปฏิบัติการทางทหารนั้น ปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบของการรับสมัคร และรูปแบบของการเกณฑ์ทหาร ขึ้นอยู่กับระบบของแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่กำลังมีสัดส่วนของผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในกองทัพโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว[12] ในขณะที่ 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกใช้วิธีในการสรรหากำลังพลเฉพาะในช่วงวัยของผู้ใหญ่ มีเพียงบางประเทศที่ยังคงใช้วิธีการสรรหากำลังพลโดยใช้เด็กเป็นกองกำลัง โดยเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

สำหรับในประเทศไทยการสรรหากำลังพลเป็นรูปแบบของการเกณฑ์ทหาร แต่ในปัจจุบันกำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะคงรูปแบบการเกณฑ์ หรือจะปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบสมัครใจ เนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลทหารที่มาจากการเกณฑ์ทหารของกองทัพ ปรากฏออกมาเป็นข่าวในสื่อ[13]และรายงานขององค์กรระหว่างประเทศ[14] ซึ่งกองทัพไทยระบุว่ากำลังศึกษารูปแบบของการสรรหากำลังพลแบบสมัครใจอยู่[15][16]

การฝึก

[แก้]

การฝึกกำลังพลเพื่อจะไปเป็นทหารนั้น โดยพื้นฐานจะต้องฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติการทางทหาร ในการทำร้ายและสังหารข้าศึก การเผชิญสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการรบ เป็นการฝึกทั้งในด้านของร่างกายและจิตใจ โดยอาจจะแบ่งไปตามคุณสมบัติเฉพาะของตำแหน่ง หลักสูตรหรือเหล่าที่เข้ารับการฝึก อาทิ

  • การทำลายตัวตนเดิม เช่น การตัดผมสั้นเกรียน การแต่งกายด้วยเครื่องแบบเหมือนกัน การใช้รหัสแทนการใช้ชื่อ[17][18]
  • กิจวัตรประจำวันที่เข้มงวด เช่น การจัดเตียง การขัดรองเท้า การจัดเสื้อผ้าให้เป็นระเบียบ และมีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด[19][20]
  • การเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจนทำร้ายสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นความต้องการของครูฝึก เช่น การอดนอน การอดอาหารหรือที่พัก การด่า การดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือการทำให้อับอาย

ข่าวกรอง

[แก้]

ในการทหารนั้นจำเป็นจะต้องระบุถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นต่อกองทัพหรือกองกำลังนั้น ๆ จึงได้มีการรวบรวมข่าว ทั้งจากบุคลากรของกองทัพเอง และจากพลเรือน เพื่อระบุตัวตนหรือสิ่งที่เป็นภัยคุกคาม และรักษาความปลอดภัย โดยเรียกว่าข่าวกรองทางทหาร โดยแนวคิดในการรวบรวมข่าวกรองนั้น เป็นการรวบรวมข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของฝ่ายเรา[21] ไม่ว่าจะเป็นแผนการในการก่อความไม่สงบ การเคลื่อนกำลัง หรือแผนการสำหรับการบุกยึด

ส่วนที่สำคัญที่สุดของข่าวกรองทางทหารคือการวิเคราะห์ข่าวกรอง เพื่อประเมินความสามารถทางการทหารของผู้ที่เราคาดว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจำลองรูปแบบการปฏิบัติการ ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการปฏิบัติการนั้น ๆ อาจจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท[21] คือ

  1. ข่าวกรองในการรบ (Combat Intelligence) คือสภาพของข้าศึก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ การวางกำลัง
  2. ข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Intelligence) คือข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการในระดับของนโยบาย และแผนการดำเนินกลยุทธ์ เกี่ยวกับขีดความสามารถในการรบ

เศรษฐกิจ

[แก้]
งบประมาณทางการทหารในปี พ.ศ. 2564 (หน่วยเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ)
ประเทศ งบประมาณทางการทหาร
สหรัฐ
สหรัฐ
801.0
จีน
จีน
293.0
อินเดีย
อินเดีย
76.6
สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักร
68.4
รัสเซีย
รัสเซีย
65.9
ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศส
56.6
เยอรมนี
เยอรมนี
56.0
ซาอุดีอาระเบีย
ซาอุดิอารเบีย
55.6
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น
54.1
เกาหลีใต้
เกาหลีใต้
50.2
อิตาลี
อิตาลี
32.0
ออสเตรเลีย
ออสเตรเลีย
31.8
แคนาดา
แคนนาดา
26.4
อิหร่าน
อิหร่าน
24.6
อิสราเอล
อิสราเอล
24.3

แหล่งข้อมูล: SIPRI[22]

เศรษฐศาสตร์กลาโหม[23] คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการงบประมาณด้านการทหาร เพื่อสร้างทรัพยากรและบำรุงรักษากองกำลังทางการทหาร รวมไปถึงงบประมาณในการปฏิบัติการทางการทหารและการทำสงคราม

ในการจัดสรรงบประมาณทางการทหารนั้น จะถูกจัดสรรโดยหน่วยงานด้านการเงินในกองทัพของแต่ละประเทศ โดยการจัดซื้ออาวุธของกองกำลังทางการทหารนั้นสามารถกระทำได้ทั้งในยามสงบ และในสภาวะสงคราม แม้แต่ในสภาวะวิกฤตต่าง ๆ เช่นการแพร่ระบาดของโควิด-19[24] ที่หลายประเทศทั่วโลกยังคงมีการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร แต่ก็มีบางประเทศปรับลดเพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาจัดการกับวิกฤตการแพร่ระบดของโควิด-19[25]

การพัฒนาขีดความสามารถ

[แก้]
เครื่องบินขับไล่เฉิงตู เจ-20 ของกองทัพอากาศจีน เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

การพัฒนาขีดความสามารถ[26] หรือมักจะเรียกกันว่าการพัฒนาความแข็งแกร่งของกองทัพ เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน ซึ่งขีดความสามารถของกองทัพนั้นประกอบไปด้วยขีดความสามารถเชิงกลยุทธ เชิงปฏิบัติการ และเชิงยุทธวิธี เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาจจะจัดทำแผนพัฒนาขีดความสามารถ (Defense Capability Development Plan)[26] และการจัดทำเอกสารป้องกันประเทศ (Defense White Paper)[26]

เทคโนโลยีทางการทหาร

[แก้]

หลายครั้งเทคโนโลยีของพลเรือนที่มีการศึกษาวิจัยไม่ได้ครอบคลุมหรือสามารถนำมาใช้ในทางการทหารได้ จึงต้องมีการศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีทางการทหารโดยเฉพาะขึ้นมา[27] โดยปัจจุบันได้มีการแข่งขันกันระหว่างชาติมหาอำนาจหลัก เช่น สหรัฐ[28] จีน[29] ญี่ปุ่น รัสเซีย[30] เพื่อให้มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปได้ไกลกว่าคู่แข่งของตนเอง[29]

เทคโนโลยีทางการทหารถูกใช้งานในแทบทุกส่วนของการทหารในปัจจุบัน อาทิ การออกแบบ พัฒนาอาวุธ อุปกรณ์สนับสนุนทหารราบในการรบ การฝึกในการรบ[31] รวมไปถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจจะนำเข้ามาใช้ในสงครามในอนาคต แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบันว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในทางการทหารจะเกิดผลกระทบร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา[32]

การส่งกำลังบำรุงทางทหาร

[แก้]
เครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี ซี-130 เฮอร์คิวลิส ของกองทัพอากาศไทย

การมีขีดความสามารถในการรบนั้น ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติการทางการทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ[33] เนื่องจากหน่วยทหารจำเป็นจะต้องมีกระสุน อาวุธ และเสบียงต่าง ๆ ที่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติการในการรบ[34] การส่งกำลังบำรุงทางทหารจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติการทางการทหารต่าง ๆ ในสงครามยุคปัจจุบัน[35]

สำหรับการส่งกำลังบำรุงทางทหารนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้รถบรรทุกทหาร การใช้รถไฟ ไปจนถึงการใช้เรือขนส่งสินค้า เพื่อที่จะนำกำลังบำรุงเหล่านั้นส่งไปถึงทหารในแนวรบ และพื้นที่นัดหมายที่อาจมีการกำหนดไว้ล่วงหน้า

การส่งกำลังบำรุงถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี พ.ศ. 2565 โดยในระลอกแรกของการเข้าโจมตี กองทัพรัสเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวในการส่งกำลังบำรุงทางการทหาร ทำให้เกิดความสูญเสียต่อกองกำลังของรัสเซียเป็นจำนวนมาก[34][35]

ทหารกับสังคม

[แก้]

ในสังคมตั้งแต่อดีต ทหารถูกเลือกให้เป็นผู้นำในการปกครองมวลชน เนื่องจากมีอำนาจทางทหารและสามารถปกป้องประชาชนภายใต้การปกครองได้ จึงได้รับความไว้วางใจในการเป็นผู้นำ เช่น สังคมญี่ปุ่นในอดีต ที่ทหารซามูไรเป็นวรรณะนักรบที่มีชนชั้นทางสังคมเหนือกว่าผู้อื่นและมีหน้าที่ในการปกป้องรับใช้โชกุน ซึ่งเป็นผู้นำของสังคมในขณะนั้น[36] และสังคมไทยในอดีต ที่พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นผู้บังคับบัญชาในการรบโดยตรง บังคับบัญชาทหารเข้าสู่สงครามต่าง ๆ เพื่อปกป้องเมือง[37] จนกระทั่งเข้าสู่สังคมยุคใหม่ ทหารจึงมีสถานะที่เปลี่ยนไปและทำหน้าที่ในการปกป้องประเทศและประชาชนรวมถึงการป้อมปราม[38]

กองทัพไทยมีบทบาทกับสังคมมากขึ้นหลังการก่อการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557

ในยุคปัจจุบัน ทหารถูกตั้งคำถามถึงคุณค่าและความจำเป็นในการมีอยู่ ในขณะเดียวกันการทหารก็มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่หลายประเทศยกเลิกการมีกองทัพลงไป[39] แต่ในอีกหลายประเทศกับเร่งพัฒนาขีดความสามารถยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อแข่งขันและรับมือกับภัยคุกคามของตนเองที่เกิดขึ้นมา[40]

สังคมของทหารมีลักษณะที่เป็นสังคมซ้อนอยู่ภายในสังคมภายนอกอยู่อีกชั้นหนึ่ง[3] มีระบบบริหารจัดการภายในตัวของตัวเอง อาทิ ศาลทหาร ที่มีไว้สำหรับพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับทหาร หรืออาญาสงครามโดยเฉพาะ ไม่สามารถนำมาตัดสินพลเรือนซึ่งอยู่ภายนอกอำนาจของศาลทหารได้[41][42] แพทย์ทหาร หรือเรียกว่า เสนารักษ์ ที่มีความเชี่ยวชาญเหมือนแพทย์ทั่วไป แต่มีศักยภาพในการปฏิบัติการได้ในสถานการณ์ขับขันหรือการสู้รบ[43] การศึกษา ที่มีโรงเรียนทหารสำหรับเรียนและฝึกสำหรับการเป็นทหารโดยเฉพาะแยกออกมาจากพลเรือน โดยจะแยกตามความเชี่ยวชาญและบทบาทหน้าที่ในกองทัพหลังจากจบการศึกษา เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร[44] โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ทหารกับสังคมการเมือง มีพัฒนาการที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในหลายประเทศ ทหารได้เข้าไปมีบทบาททางการเมือง[45] ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทหารสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ ด้วยวิธีการรัฐประหาร หรือจากระบอบการปกครองที่เอื้ออำนวยอยู่แล้ว ซึ่งปัญหาที่พบคือการแทรงแซงกลไกต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาความโปร่งใสของกองทัพ ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการทางการทหารต่าง ๆ[46] และการจัดการงบประมาณที่เกิดการทุจริตได้ง่าย[47]

ในประเทศที่สามารถแยกทหารออกจากการแทรกแซงทางการเมืองได้นั้นใช้วิธีการคานอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่ายของประเทศให้เกิดความสมดุล[45]คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รวมถึงการปฏิรูปธุรกิจหรือกิจการของฝ่ายทหารเพื่อลดอำนาจการต่อรองลง โดยองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือฝ่ายทหารเอง ที่ต้องยินยอมที่จะปรับตัวและอยู่ภายใต้พลเรือน[45] เช่นเดียวกับประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอื่น ๆ ปฏิเสธที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง[48]

จริยธรรมทางการทหาร

[แก้]
กองทัพไทยส่งทหารร่วมภารกิจค้นหาและกู้ภัยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล ด้วยเครื่อง ซี-130เอช ในปี พ.ศ. 2558

จริยธรรมในการทำสงครามและปฏิบัติการทางการทหารนั้นถูกพัฒนาเรื่อยมา โดยมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ในชื่อของอนุสัญญาเจนีวา แต่ในหลักความเป็นจริง อนุสัญญาดังกล่าวถูกปฏิบัติเฉพาะในช่วงเวลาสงครามตามรูปแบบ แต่ไม่ถูกนำมาปฏิบัติในการชุมนุมทางการเมือง[49][50]และการลุกฮือต่าง ๆ ของประชาชน[51]

ในแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ ได้มีการห้ามใช้อาวุธบางชนิด โดยเฉพาะอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) นอกจากนี้ยังมีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการก่อให้เกิดอาชญากรรมสงคราม โดยจัดให้มีการดำเนินคดีต่ออาชญากรสงครามในศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับผู้ที่ละเมิดและกระทำผิด[52] และตามบทบัญญัติกฎหมายทางการทหารโดยเฉพาะของแต่ละประเทศ เช่น ประมวลกฎหมายยุติธรรมทหาร ของสหรัฐอเมริกา[41] พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 ของไทย[53][54]

นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติการทางทหารเพื่อมนุษยธรรมที่ได้รับการยอมรับโดยแพร่หลาย อาทิ การบรรเทาสาธารณภัย[55] การปกป้องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ[56] และการรักษาสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้ง[57]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Miller, Seumas (2016), "Military Use of Lethal Force", Shooting to Kill, Oxford University Press, doi:10.1093/acprof:oso/9780190626136.001.0001/acprof-9780190626136-chapter-7, ISBN 978-0-19-062613-6, สืบค้นเมื่อ 2022-05-05
  2. "ทฤษฎีว่าด้วยความเข้มแข็งของทหาร". สยามรัฐ. 2016-10-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-05. สืบค้นเมื่อ 2022-05-05.
  3. 3.0 3.1 บำรุงสุข, สุรชาติ (2017-12-18). "รัฐซ้อนซ่อนรัฐ! อภิมหา'กอ.รมน.'กับอนาคตการเมืองไทย : สุรชาติ บำรุงสุข". มติชนออนไลน์.
  4. British Army (2000). "Soldiering: The military covenant" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2022-05-04.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "Active Military Manpower (2022)". www.globalfirepower.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-05-04.
  6. "สื่อญี่ปุ่นชี้ "นายพลไทย" ล้นกองทัพ ชาติอื่นใช้ "นายพัน" ทำหน้าที่เดียวกัน". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2022-05-04.
  7. "ทหารมีกี่เหล่า หน้าที่เหล่าทหารมีอะไรบ้าง ข้อมูลก่อนตัดสินใจเรียน". M Thai. 2021. สืบค้นเมื่อ 2022-05-04.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "ถ้ายกเลิกระบบยศทหาร จะมีผลดีผลเสียอย่างไรครับ มีทหารประเทศไหนไม่มียศไหมครับ". Pantip.
  9. Rosignoli, Guido (1984). World Army Badges and Insignia Since 1939. Dorset: Blandford Press.
  10. "China Announces Reform of Military Ranks". Jamestown (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  11. "สี จิ้นผิง เลื่อนยศตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทหารครั้งใหญ่ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในระบบเลื่อนขั้นยศตำแหน่ง". mgronline.com. 2019-12-19.
  12. "UK armed forces biannual diversity statistics: April 2021". GOV.UK (ภาษาอังกฤษ).
  13. "'ทัพเรือ' ตั้งกรรมการสอบ 'จ่าทักษิณ' บังคับทหารเกณฑ์กินน้ำอสุจิ". เดลินิวส์.
  14. "Thailand: "We were just toys to them": Physical, mental and sexual abuse of conscripts in Thailand's military". Amnesty International (ภาษาอังกฤษ).
  15. "โอกาส-ความเป็นไปได้ปรับการเกณฑ์ทหารสู่ระบบทหารอาสา". Thai PBS. 2021-03-09.
  16. "บิ๊กตู่ Rebrand กองทัพ เล็ง เลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ "ทหารประจำการอาสา" ต้อง ปลด "ตื้บ เตะ ต่อย ตาย" ในค่ายทหาร ต้อง "เพิ่มเงิน-เลี้ยงข้าวฟรี"". สยามรัฐ. 2021-01-29.
  17. Hockey, John (1986). Squaddies : portrait of a subculture. Exeter, Devon: University of Exeter. ISBN 978-0-85989-248-3. OCLC 25283124.
  18. McGurk, Dennis; และคณะ (2006). "Joining the ranks: The role of indoctrination in transforming civilians to service members". Military life: The psychology of serving in peace and combat. Vol. 2. Westport, Connecticut: Praeger Security International. pp. 13–31. ISBN 978-0-275-98302-4.
  19. Hockey, John (1986). Squaddies : portrait of a subculture. Exeter, Devon: University of Exeter. ISBN 978-0-85989-248-3. OCLC 25283124.
  20. Bourne, Peter G. (1967-05-01). "Some Observations on the Psychosocial Phenomena Seen in Basic Training". Psychiatry. 30 (2): 187–196. doi:10.1080/00332747.1967.11023507. ISSN 0033-2747. PMID 27791700.
  21. 21.0 21.1 แจ่มจำรัส, พล ท ทวี (2016-03-02). "งานการข่าว เครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้ภารกิจของทุกองค์กรประสบผลสำเร็จ โดย พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส". มติชนออนไลน์.
  22. "Stockholm International Peace Research Institute (2022)". www.sipri.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-05-04.
  23. เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง, ดร อัลเฟรด โอห์เลอร์ส/ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค อิโนะอุเอะ. "เศรษฐศาสตร์ กลาโหม | Indo-Pacific Defense Forum".
  24. "งบฯ การทหารภายใต้สถานการณ์โควิด พบไทยติดอันดับ 27 ของโลก". prachatai.com.
  25. "ปี 63 งบทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นแม้โควิดระบาด". สำนักข่าวไทย อสมท. 2021-04-26.
  26. 26.0 26.1 26.2 "การสัมมนาการจัดทำแผนพัฒนาขีดความสามารถกองทัพ". www.dti.or.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "ส่องเทรนด์ MilitaryTech เทคโนโลยีทางทหารสำหรับโลกอนาคต". Techsauce.
  28. "ส่องเทรนด์ MilitaryTech เทคโนโลยีทางทหารสำหรับโลกอนาคต". Techsauce.
  29. 29.0 29.1 "เทคโนโลยีทหารจีน...แซงหน้า? ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ อาจกำลังตกที่นั่งลำบาก ผู้เชี่ยวชาญชี้ ควรผนึกกำลังกันต้านจีน". www.tnnthailand.com. 2021-09-30.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  30. "ยอดการสูญเสียกำลังพลของรัสเซียในยูเครน อาจเป็นคำตอบที่ว่าทำไมการบุกรัสเซียจึงหยุดลง". thaiarmedforce. 2022-03-22.
  31. "กองทัพสหรัฐฯ พัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยลดโอกาสเสียชีวิตระหว่างการฝึกทหาร". VOA.
  32. "ปัญญาประดิษฐ์: ภัยมืดทางการทหารของโลก - ThaiPublica". thaipublica.org. 2021-07-08.
  33. บำรุงสุข, สุรชาติ (2022-03-28). "หนึ่งเดือนแห่งความล้มเหลว! : สุรชาติ บำรุงสุข". มติชนออนไลน์.
  34. 34.0 34.1 https://www.pptvhd36.com. "ชาติตะวันตกประเมินรัสเซียหยุดบุก เจอปัญหาส่งกำลังบำรุงทางทหาร". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  35. 35.0 35.1 "สงครามสร้างความเสียหายให้รัสเซียมากแค่ไหน". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2022-05-04.
  36. "รอบรู้เรื่องซามูไร". All About Japan.
  37. "การทหารของไทยสมัยสุโขทัย". www.sukhothai.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-21. สืบค้นเมื่อ 2022-05-05.
  38. 육군, 아서 툴락전 대령/미국. "ยุคใหม่ แห่งการป้อมปราม | Indo-Pacific Defense Forum".
  39. "ประเทศที่ปราศจากกองทัพ". THESTATESTIMES (ภาษาอังกฤษ).
  40. "จีนกำลังขยายแสนยานุภาพ สร้างความกังวลให้โลกตะวันตก". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2022-05-05.
  41. 41.0 41.1 "ส่องบัลลังก์ศาลทหาร'สหรัฐฯ-อังกฤษ' ชี้ชัดเขตอำนาจ-แยกลายพราง-พลเรือน". www.tcijthai.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  42. ตัญจพัฒน์กุล, ณรจญา (2021-07-22). "ขุนศึก ศักดินา ประชาธิปไตย: มองอำนาจและข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ กับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี". The 101 World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  43. ""แพทย์ทหาร" กับ "แพทย์" ต่างกันยังไงหนอ?". www.unigang.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-29. สืบค้นเมื่อ 2022-05-05.
  44. Admin (2017-11-25). "โรงเรียนเตรียมทหาร ที่ดีที่สุดในโลก The United States Military Academy". Campus : Campus Star (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  45. 45.0 45.1 45.2 "แยกทหารจากการเมือง อินโดนีเซียปฏิรูปกองทัพสำเร็จได้อย่างไร ? คุยกับ อ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล". thematter.co.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  46. "ทุจริต GT200 ศาลไทยตัดสินจำคุกผู้นำเข้า 9 ปี". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2022-05-05.
  47. "จีนปลด 2 นายพลพ้นกองทัพ หลังพบทุจริต". www.posttoday.com. 2018-10-18.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  48. "ทหารอเมริกันไม่อยากยุ่ง 'เลือกตั้ง' | THE MOMENTUM" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-11-02.
  49. "วิเคราะห์สิ่งที่เราเห็น 1 สัปดาห์แห่งการชุมนุม". workpointTODAY.
  50. "ทะลุฟ้า!ยื่นหนังสือสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ โวยรัฐไทยสลายชุมนุมผิดหลักสนธิสัญญา​เจนีวา​". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: zero width space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 77 (help)
  51. Fact check: It's true tear gas is a chemical weapon banned in war (usatoday.com)
  52. "เปิดเงื่อนไขดำเนินคดีปูติน "ก่ออาชญากรรมสงคราม"". bangkokbiznews. 2022-04-05.
  53. "คดีอาชญากรสงครามในประเทศไทย พ.ศ. 2488-2489 / อังคณา เกียรติศักดิ์นุกูล = War criminal trials in Thailand,1945-1946 / Angkana Kiattisaknukul". www.car.chula.ac.th.
  54. พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 (parliament.go.th)
  55. "ชาวเนปาล ปลื้มทีมแพทย์ทหารไทย". bangkokbiznews. 2015-05-03.
  56. "โปแลนด์ส่งทหาร 15,000 นายกันผู้อพยพ จวกเบลารุสก่อวินาศกรรม". www.thairath.co.th. 2021-11-11.
  57. ประชาชาติ, ซีเอสอาร์ (2021-08-24). "สหประชาชาติ ขอบคุณไทยส่งกองกำลังเข้าร่วมรักษาสันติภาพ". ประชาชาติธุรกิจ.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]