หญ้าทะเล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หญ้าทะเล
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 70–0Ma
Zostera marina - National Museum of Nature and Science, Tokyo - DSC07663.JPG
Zostera marina – สปีชีส์หญ้าทะเลที่พบมากสุดในซีกโลกเหนือ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ e
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
อันดับ: อันดับขาเขียด
R.Br. ex Bercht. & J.Presl
วงศ์

ดูอนุกรมวิธาน

หญ้าทะเล (อังกฤษ: seagrass) เป็นกลุ่มของพืชดอกเพียงกลุ่มเดียว ที่ได้มีวิวัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในทะเล โดยมีลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายคลึงกับหญ้าที่เจริญอยู่บนบก ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1.ราก เป็นส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอารหารและแร่ธาตุจากในดิน ทั้งยังช่วยในการยึดเกาะกับพื้นดินทำให้หญ้าทะเลมีความมั่นคง

2.เหง้า เป็นส่วนของลำต้นที่เจริญคืบคลานไปใต้พื้นผิวดิน

3.ใบ เป็นส่วนที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหาร มีรูปร่างแตกต่างกันตามแต่ชนิดของหญ้าทะเล มีทั้งชนิดที่ใบมีลักษณะเป็นแผ่นแบน และชนิดที่เป็นท่อกลม ใบของหญ้าทะเลใช้เป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิดของหญ้าทะเล

หญ้าทะเล เดิมเคยเป็นพืชที่อยู่บนบกมาก่อน ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตโบราณแบบเดียวกับฟองน้ำหรือปะการัง จึงมีโครงสร้างแบบพืชบนบกในปัจจุบันปรากฏให้เห็น[1]

การสืบพันธุ์[แก้]

หญ้าทะเลสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธีคือ

1. การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการผลิตดอกและมีการถ่ายละอองเกสรโดยใช้น้ำและคลื่นลมเป็นตัวพัดพา จากนั้นมื่อมีการปฏิสนธิดอกตัวเมียจะพัฒนาเป็นผลซึ่งภายในมีเมล็ดที่ใช้ในการแพร่ขยายพันธ์ต่อไปได้

2. การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกแขนงของลำต้นใต้ดินและเจริญเป็นต้นใหม่ขึ้นมาจากผิวดิน

การแพร่กระจาย[แก้]

ทั่วโลกพบหญ้าทะเลทั้งสิ้นประมาณ 50-60 ชนิด โดยสามารถพบเจอได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำหรับในประเทศไทยพบหญ้าทะเลทั้งสิ้น 13 ชนิด โดยพบทางฝั่งอ่าวไทย 12 ชนิด และพบทางฝั่งอันดามัน 12 ชนิด ดังนี้

1. Enhalus acoroides (L.f.) Royle (หญ้าคาทะล, หญ้าชะเงา, หญ้าชะเงาใบยาว, ว่านน้ำ, หญ้าเงา, หญ้างอ, หญ้าหางหมู)

2. Halodule uninervis (Forsskal) Ascherson (หญ้ากุยช่ายทะเล, หญ้าชะเงาใบแคบ, หญ้าชะเงาเขียวปลายใบแฉก)

3.Halodule pinifolia (Miki) den Hartog (หญ้ากุยช่ายเข็ม, หญ้าชะเงาฝอย, หญ้าผมนาง)

4.Thalassia hemprichii (Ehrenberg) Ascherson (หญ้าชะเงาเต่า, หญ้าเงาเต่า, หญ้าเต่า)

5. Cymodocea serrulata (R. Brown) Ascherson et Magnus (หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย, หญ้าชะเงาสั้นปลายหนาม, หญ้าชะเงาใบสั้นปล้องยาว)

6. Cymodocea rotundata Ehrenberg et Hemprich, ex Ascherson (หญ้าชะเงาใบมน, หญ้าชะเงาสั้นปลายมน, หญ้าชะเงาใบสั้นสีน้ำตาล)

7. Syingodium isoetifolium (Ascherson) Dandy (หญ้าใบสน,หญ้าต้นหอมทะเล)

8. Halophila ovalis (R. Brown.) Hooker f. (หญ้าเงา, หญ้าใบมะกรูด, หญ้าใบกลม, หญ้าอำพัน)

9. Halophila decipiens Ostenfeld (หญ้าเงาใส, หญ้าใบมะกรูดขน)

10.Halophila minor (Zollinger) den Hartog (หญ้าใบมะกรูดแคระ,หญ้าเงาใบเล็ก, หญ้าเงารูปไข่)

11. Halophila beccarii Ascherson (หญ้าใบพาย, หญ้าเงาแคระ)

12. Halophila major (Zoll.) Miquel (หญ้าใบมะกรูดยักษ์, หญ้าเงาใบใหญ่) ซึ่งในปัจจุบันนี้มีรายงานพบเฉพาะทางฝั่งอันดามัน [2]

13. Ruppia maritima Linnaeis (หญ้าตะกานน้ำเค็ม) ซึ่งพบเฉพาะในฝั่งอ่าวไทย[3] [4]

โดยแหล่งที่มีหญ้าทะเลกระจายพันธุ์อยู่มากที่สุดในโลก คือ อ่าวชาร์ก ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย มีหญ้าทะเลขึ้นเป็นพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางไมล์[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชีวิตใต้ทะเล, สารคดีทางไทยพีบีเอส: อาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2556
  2. Tuntiprapas, P., Shimada, S., Pongparadon, S., Prathep, A. 2015. Is Halophila major (Zoll.) Miquel a big H. ovalis (R. Brown) J.D. Hooker? An evaluation based on age, morphology, and ITS sequence. ScienceAsia, 41: 79-86. 
  3. สมบัติ ภู่วชิรานนท์, กาญจนา อดุลยุโกศล, ภูธร แซ่หลิ่ม, อดิศร เจริญวัฒนาพร, ชัยมงคล แย้มอรุณพัฒนา, จันทร์เพ็ญ วุฒิวรวงศ์.2549. หญ้าทะเลในน่านน้ำไทย. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน
  4. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน.2550. การประเมินผลกระทบธรณีพิบัติคลื่นใต้น้ำสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ต่อแหล่งหญ้าทะเลฝั่งทะเลอันดามัน
  5. Shallow Seas, "Planet Earth" . สารคดีทางบีบีซี: 2006

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]