เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่
Kawilawong Na Chiangmai (1).jpg
เกิด28 พฤษภาคม พ.ศ. 2440
คุ้มเจ้าราชวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่
เสียชีวิต30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 (70 ปี)
คู่สมรสเจ้าศิริประกาย ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2468−2482)
คุณหญิงถนิม ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2490−2510)
บุตรเจ้าพงษ์กาวิล ณ เชียงใหม่
เจ้าศิริกาวิล สิงหรา ณ อยุธยา
เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่
บิดามารดาเจ้าราชวงศ์ (ชมชื่น ณ เชียงใหม่)
เจ้ากรรณนิกา ณ เชียงใหม่

อำมาตย์ตรี เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 − 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510) อดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (2504−2508) และเป็นบิดาของเจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่

ประวัติ[แก้]

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่เป็นบุตรของเจ้าราชวงศ์ (ชมชื่น ณ เชียงใหม่) กับเจ้ากรรณนิกา ณ เชียงใหม่ เมื่อครั้นเจ้าอุบลวรรณาผู้เป็นเจ้ายายเสียชีวิต เจ้ากาวิละวงศ์จึงได้ย้ายไปอยู่กับเจ้าดารารัศมี พระราชชายา พร้อมกับเจ้าเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่ ที่เป็นเจ้าพี่ และเจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่ ธิดาเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่)[1]

เจ้ากาวิละวงศ์ได้รับการเลี้ยงดูจากเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และถูกส่งไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับเจ้าลดาคำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานทุน[1] เมื่อสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมรถไฟ จาก École nationale des ponts et chaussées ประเทศฝรั่งเศส[2] จึงกลับมายังประเทศไทย และได้สมรสกับเจ้าศิริประกาย ณ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2467 (นับศักราชปัจจุบัน พ.ศ. 2468) มีบุตร 3 คน คือ[3]

  1. เจ้าพงษ์กาวิล ณ เชียงใหม่ สมรสกับงามวิไล (สกุลเดิม สุกัณศีล) และสมรสอีกครั้งกับบุญประกอบ (สกุลเดิม ส่วยสุวรรณ) มีธิดาจากการสมรสครั้งหลังชื่อ กาวิลยา สอนวัฒนา
  2. เจ้าศิริกาวิล สิงหรา ณ อยุธยา สมรสกับหม่อมหลวงประสิทธิ์ศิลป์ สิงหรา มีธิดาชื่อ วรางคณา วจะโนภาส
  3. เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ สมรสและหย่ากับพลตำรวจโท ทิพย์ อัศวรักษ์ มีบุตรชื่อ ทินกร อัศวรักษ์

หลังเจ้าศิริประกายเสียชีวิตไปแล้ว เจ้ากาวิละวงศ์สมรสอีกครั้งกับคุณหญิงถนิม ณ เชียงใหม่ (สกุลเดิม นาวานุเคราะห์) อดีตภรรยาของพระยาสุขุมนัยวินิต (สวาท สุขุม) ใน พ.ศ. 2490 แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ณ วัดธาตุทอง

การทำงาน[แก้]

เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ เข้ารับราชการเป็นนายช่าง สังกัดกรมรถไฟหลวง[2] และมีส่วนร่วมในการสร้างสะพานพระราม ๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นพิเศษ ในพิธีเปิดสะพานในครั้งนั้นด้วย ตำแหน่งหน้าที่ราชการในกรมรถไฟหลวงมีดังนี้

  1. พ.ศ. ๒๔๖๙ : ดำรงตำแหน่ง นายช่างบำรุงทางกรุงเทพ (วิศวกรกำกับการกองบำรุงทางเขตกรุงเทพ วบข.กท. ในปัจจุบัน)
  2. พ.ศ. ๒๔๗๐ : ดำรงตำแหน่งนายช่างภาค
  3. พ.ศ. ๒๔๗๑ : ย้ายไปปฏิบัติราชการกรมทาง(สมัยนั้นกรมทางขึ้นอยู่กับกรมรถไฟหลวง)และย้ายกลับมาปฏิบัติราชการที่กรมรถไฟหลวงตามเดิม ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
  4. พ.ศ. ๒๔๗๕ : ดำรงตำแหน่งนายช่างบำรุงทางปราจีนบุรี
  5. พ.ศ. ๒๔๗๖ : ดำรงตำแหน่งนายช่างภาค กองแบบแผน กรมรถไฟหลวง และย้ายไปรับราชการกระทรวงวัง เดือนมิถุนายน ๒๔๗๖

ในสมัยที่เจ้ากาวิละวงศ์รับราชการในสังกัดกรมทางหลวง ดำรงตำแหน่งนายช่างกำกับการภาคอิสาณ ขอนแก่น ท่านได้เป็นผู้ออกแบบและอำนวยการก่อสร้างสะพานข้ามลำโดมน้อยในทางหลวงแผ่นดินสายวารินชำราบ-ช่องเม็ก (ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217 ถนนสถิตนิมานการ) จนสำเร็จ รัฐบาลไทยจึงประกาศให้ขนานนามสะพานนี้ว่า "สะพานกาวิละวงศ์" เมื่อ พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน[4] สะพานแห่งนี้ทำเป็นรูปสะพานโค้ง ถือเป็นสะพานที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กที่ไม่มีเสากลางเป็นแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี นับว่าเป็นของแปลกใหม่สำหรับชาวจังหวัดอุบลราชธานีในยุคนั้น[5]

เจ้ากาวิละวงศ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2502[6] และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ในระหว่างปี พ.ศ. 2504 ถึงปี พ.ศ. 2508

เจ้ากาวิละวงศ์เคยเป็นผู้จัดการตลาดวโรรส ในยุคที่เป็นตลาดของตระกูล ณ เชียงใหม่[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 หนานอินแปง. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2546
  2. 2.0 2.1 "สายลับ พ.27 บทที่ 19". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-23. สืบค้นเมื่อ 2012-09-28.
  3. รายพระนาม นาม เหล่าพระประยูรญาติ และเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ
  4. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่. เล่ม ๖๗, ตอน ๖๗ ง, ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๖๓๗๗.
  5. ภาพเก่าเล่าเรื่อง..เมืองอุบลราชธานี โดย งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (26 ตุลาคม 2558). "สะพานโดม". สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  6. สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  7. เบญจวรรณ บุญโทแสง. พัฒนาการการปรับตัวทางการเมืองของกลุ่มอำนาจท้องถิ่นภายหลังการผนวกดินแดนของสยาม (พ.ศ. 2442-2547): กรณีศึกษาตระกูล ณ เชียงใหม่. เก็บถาวร 2011-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2550
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔๑, ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๖
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๒๒๘๘, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๕
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๙ ง หน้า ๓๐๒๕, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๖
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาต ประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๘๗๘, ๑๐ มิถุนายน ๒๔๗๑