ข้ามไปเนื้อหา

สวนรมณีนาถ

พิกัด: 13°44′56″N 100°30′11″E / 13.748796°N 100.502994°E / 13.748796; 100.502994
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนรมณีนาถ
หอสังเกตการณ์
แผนที่
ประเภทสวนชุมชน
สวนหมู่บ้าน
ที่ตั้งถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฏร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พิกัดภูมิศาสตร์13°44′56″N 100°30′11″E / 13.748796°N 100.502994°E / 13.748796; 100.502994
พื้นที่29 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา
เปิดตัว17 สิงหาคม พ.ศ. 2542
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
สถานะ05.00 -21.00 น. ทุกวัน
พิพิธภัณฑ์เปิดวันอังคาร-เสาร์ เวลา 08.30-16.30 น.
ขนส่งมวลชน สามยอด
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (เดิม)
ขึ้นเมื่อ1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000045

สวนรมณีนาถ หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า คุกเก่า เป็นสวนชุมชนที่จัดสร้างขึ้นใหม่ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2535 และได้รับพระราชทานนามว่า "รมณีนาถ" ซึ่งมีความหมายว่า "นางผู้เป็นที่พึ่ง" ตั้งอยู่บริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเดิม ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฏร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งหมด 29 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา

ประวัติ

[แก้]

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างเมื่อ ร.ศ.109 (พ.ศ. 2433) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ที่ต้องขังจองจำผู้กระทำความผิดต้องควบคู่ไปกับศาลสถิตยุติธรรม ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดซื้อที่ดินตำบลตรอกคำ ทำการก่อสร้าง ทรงส่งพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค ณ ป้อมเพชร) ซึ่งเคยไปรับราชการสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปดูรูปแบบที่สิงคโปร์ โดยนำแบบเรือนจำบริกซ์ตัน อันเป็นเรือนจำระดับความมั่นคงสูงสุดมาใช้ การก่อสร้างเสร็จสิ้นสามารถย้ายนักโทษเข้าไปอยู่ได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 109 และได้รับการขนานนามว่า "คุกกองมหันต์โทษ" หรือเรียกกันว่า "คุกใหม่" มีอายุเก่าแก่ถึง 103 ปี และได้เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายใช้ชื่อว่า "เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร"

พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการปรับปรุงทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขน หรือ "เรือนจำกลางคลองเปรม" และได้ย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาควบคุมรวมกัน และให้ปรับปรุงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นสวนสาธารณะ จากการที่สวนรมณีนาถได้ดัดแปลงมาจากเรือนจำ ภายในบริเวณสวนจึงยังคงอนุรักษ์แนวรั้วกำแพง ป้อมยาม ซุ้มประตูทางเข้าไว้เป็นสัญลักษณ์ และเป็นส่วนประกอบของสวน

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสวนรมณีนาถ และพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2542

สิ่งที่น่าสนใจ

[แก้]
  • ประติมากรรมสังข์สัมฤทธิ์ ตั้งอยู่กลางสระน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ โดยอยู่บนตำแหน่งที่สูงที่สุดของสวน สังข์และพานหล่อด้วยโลหะทำผิวสัมฤทธิ์ ภายในบรรจุแผ่นยันต์มหาโสฬสมงคลและสังข์องค์จริง ออกแบบส่งน้ำในสระไหลจากปากสังข์ลงสู่สระ ปากสังข์หันสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยประติมากรรมมีความหมายดังนี้
    • น้ำที่ไหลออกจากสังข์ แสดงความหมายแทนน้ำพระทัยของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่บริสุทธิ์ดุจสีของน้ำ
    • แปลงดอกไม้รูปร่างคดเคี้ยวในลักษณะธารน้ำ ที่เชื่อมน้ำพุเฉลิมพระเกียรติกับบ่อน้ำพุด้านล่าง แสดงถึงน้ำพระทัยที่ทรงประทานแก่ชาวไทย
    • บ่อน้ำพุด้านล่าง เทียบได้กับพสกนิกรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพร้อมใจกันสรรเสริญ
    • ป้อมยามที่เป็นสิ่งก่อสร้างเดิม กลางน้ำพุ เป็นตัวแทนเหล่าผู้กระทำผิดซึ่งยังคงได้รับพระมหากรุณาธิคุณอยู่
  • สวนสุขภาพ จัดอุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นจุดพร้อมคำแนะนำ มีลานกีฬา เช่น สนามบาสเกตบอล และลานสเก็ต โดยจัดตำแหน่งไม่ให้เกิดการรบกวนระหว่างกิจกรรม พร้อมสนามเด็กเล่นที่จัดไว้อย่างครบครัน สอดคล้องกับแนวคิดของสวนที่เป็น "สวนสุขภาพ"
  • พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ อยู่ด้านถนนมหาไชยประกอบด้วยอาคาร 4 หลังคือ ตึกศาลอาญา ตึกรักษาการณ์ ตึกร้านค้ากรมราชทัณฑ์และอาคารแดน 9 ภายในจัดแสดงเครื่องมือลงฑัณฑ์และวิวัฒนาการของการราชทัณฑ์ไทย
    • อาคารศาลอาญา แสดงเครื่องมือลงทัณฑ์ และวิธีประหารชีวิตสมัยโบราณ รวมทั้งแสดงการประหารชีวิตในปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยวกับเรือนจำและการหลบหนีของนักโทษ
    • อาคารรักษาการณ์ แสดงภาพประวัติและอุปกรณ์เครื่องใช้ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเอกสารเกี่ยวกับประวัติการราชทัณฑ์ในอดีต
    • อาคารร้านค้ากรมราชทัณฑ์ จัดจำหน่ายสินค้าราชทัณฑ์และของที่ระลึก
    • อาคารแดน 9 เป็นเรือนนอนผู้ต้องขังในอดีต แสดงสภาพการใช้ชีวิตประจำวันของนักโทษ ระบบการคุมขังและลักษณะอาคารตามแบบตะวันตก

พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 รวบรวมวัตถุเกี่ยวกับการลงโทษและวัตถุโบราณจากเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศ จัดแสดงที่เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์ บริเวณตรงข้ามเรือนจำกลางบางขวาง จึงได้ขนย้ายมาจัดแสดงที่อาคารศูนย์ฝีกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์เมื่อ พ.ศ. 2515 แล้วย้ายมาจัดแสดงในพื้นที่สวนรมณีนาถเมื่อปี พ.ศ. 2542 พร้อมการเปิดสวนสาธารณะ[1] ก่อนย้ายไปที่ตั้งใหม่ในจังหวัดนนทบุรีและเปิดใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2566[2]

อาคารพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2540

แยกเรือนจำ

[แก้]
สามแยก สวนรมณีนาถ
ชื่ออักษรไทยเรือนจำ
ชื่ออักษรโรมันRuaen Cham
รหัสทางแยกN367 (ESRI), 122 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนมหาไชย
» แยกสามยอด
ถนนหลวง
» แยกวรจักร
ถนนมหาไชย
» แยกสำราญราษฎร์

แยกเรือนจำ (อังกฤษ: Ruaen Cham Intersection) เป็นสามแยกจุดตัดระหว่างถนนมหาไชย กับถนนหลวง ในท้องที่แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้านหน้าของสวนรมณีนาถ โดยบริเวณสามแยกเรือนจำนั้นถนนมหาไชยเป็นถนนประเภทไปกลับ 2 เลน ไม่มีเกาะกลาง และบริเวณถนนหลวงนั้นเป็นถนนประเภท 4 เลน ไปโดยไม่มีทางกลับ

รูปแบบของทางแยก

[แก้]
  • ถนนระดับดินผ่านตลอดเมื่อรถที่มาจากถนนหลวงต้องการเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมหาไชย
  • สัญญาณไฟจราจรของรถในถนนหลวงที่ต้องการเลี้ยวขวา
  • สัญญาณไฟจราจรของรถในถนนมหาไชยที่ต้องการตรงไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์". กรมราชทัณฑ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-22. สืบค้นเมื่อ 2024-04-22.
  2. อัสมา หลีเยาว์ (2023-08-17). "พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ การลงทัณฑ์กับเวลาที่เปลี่ยนผ่านสู่สังคมแห่งการให้โอกาส". พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้มิวเซียมสยาม. พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้มิวเซียมสยาม. สืบค้นเมื่อ 2024-04-22.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′56″N 100°30′11″E / 13.748796°N 100.502994°E / 13.748796; 100.502994