อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ | |
---|---|
อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ อนุสาวรีย์หลักสี่ อนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม | |
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ | |
ประเภท | เสาอนุสรณ์ |
ที่ตั้ง | แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร |
สร้างเมื่อ | พ.ศ. 2479 (เริ่มก่อสร้าง) 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 (พิธีเปิด) |
สร้างเพื่อ | ระลึกถึงชัยชนะของรัฐบาลคณะราษฎรในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช |
รื้อถอน | 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561 |
สถานะ | ถูกรื้อถอน, สูญหาย |
สถาปนิก | หลวงนฤมิตรเลขการ |
สถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ |
ผู้ดูแล | กรมศิลปากร รัฐบาลไทย |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ |
ขึ้นเมื่อ | 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0005462 |
ชื่ออักษรไทย | อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ |
ชื่ออักษรโรมัน | Anusawari Phithak Ratthathammanun |
รหัสทางแยก | N110 |
ที่ตั้ง | แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร |
ทิศทางการจราจร | |
↑ | ถนนพหลโยธิน » สะพานใหม่ |
→ | ถนนรามอินทรา » แยกลาดปลาเค้า |
↓ | ถนนพหลโยธิน » แยกเกษตร |
← | ถนนแจ้งวัฒนะ » แยกหลักสี่ |
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เป็นอนุสาวรีย์ที่เคยตั้งอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช และเพื่อรำลึกถึงทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิต ปัจจุบันมีสถานะสูญหาย ไม่ทราบว่าถูกเคลื่อนย้ายหรือถูกทำลาย
ประวัติ
[แก้]ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม รวมทั้งนายทหารอื่น ๆ ก่อการรัฐประหารโดยนำกองทหารเพชรบุรี นครราชสีมา และอุดรธานี บุกเข้ายึดพื้นที่ดอนเมืองและบางเขนไว้ ภายหลังการปราบกบฏแล้วนั้น รัฐบาลจึงมีดำริก่อสร้างอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐินายทหารและตำรวจของรัฐบาลที่เสียชีวิตในการปฏิบัติการดังกล่าว[1] จึงดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในราวปี พ.ศ. 2479 โดยหลวงนฤมิตรเลขการเป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงประกอบพิธีเปิด
รายละเอียด
[แก้]แนวคิดและลักษณะทางสถาปัตยกรรม
[แก้]อนุสาวรีย์ได้รับการออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเลขการ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยออกแบบลักษณะเป็นเสา และสื่อถึงหลักทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐธรรมนูญ เสาของอนุสาวรีย์มีลักษณะคล้ายลูกปืน สื่อความหมายถึงกองทัพ ประดับกลีบบัว 8 ซ้อนขึ้นไป 2 ชั้น บนฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งหมายถึงทิศทั้งแปดตามคติพราหมณ์ ฐานของอนุสาวรีย์มี 4 ทิศ มีบันไดวนรอบฐาน ส่วนบนสุดของเสาอนุสาวรีย์เป็นพานรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึง รัฐธรรมนูญ[2]
ผนังของเสาแต่ละด้านของอนุสาวรีย์มีการจารึกและประดับในเรื่องราวที่ต่างกันไป โดยผนังด้านทิศตะวันตกหรือผนังที่อยู่ด้านหน้าของถนนพหลโยธินมีการจารึกรายนามของทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิต ด้านทิศตะวันออกนั้นเป็นรูปแกะสลักของครอบครัวชาวนาคือ พ่อ แม่ และลูก โดย ผู้ชายถือเคียวเกี่ยวข้าว ผู้หญิงถือรวงข้าว และเด็กถือเชือก ซึ่งสื่อถึงชาติและประชาชนในชาติ ด้านทิศเหนือเป็นรูปธรรมจักรซึ่งหมายถึงศาสนา และด้านทิศใต้เป็นแผ่นทองเหลืองจารึกโคลงสยามานุสติ ซึ่งเป็นโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสื่อถึงพระมหากษัตริย์
ความหมาย
[แก้]โดยมีการบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายในรวม 17 นาย จึงมีชื่อเรียกอื่น ๆ ได้แก่ อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ อนุสาวรีย์หลักสี่ หรืออนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม[3] มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้งโดยกรมทางหลวง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดโดยรอบอนุสาวรีย์ อาทิ การปรับภูมิทัศน์เป็นสี่แยกและการขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์ และการก่อสร้างสะพานลอยด้านข้างอนุสาวรีย์เพื่อเชื่อมต่อถนนแจ้งวัฒนะกับถนนรามอินทรา ปัจจุบันบริเวณอนุสาวรีย์มีการก่อสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายหมอชิต - คูคต และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ส่วนตัวอนุสาวรีย์นั้นถูกย้ายออกและไม่ทราบว่ามีการนำไปไว้ที่ใด
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้รับการออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเลขการ อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยยึดหลักทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐธรรมนูญ[2] การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2479 มีการทำพิธีเปิดในวันที่ 15 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงประกอบพิธีเปิด
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เคยใช้เป็นสถานที่เพื่อนัดชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) ในปี พ.ศ. 2553[4] นอกจากนี้ยังมีประเพณีตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ ณ บริเวณอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นประจำทุกปี
ปรับปรุงภูมิทัศน์ และสูญหาย
[แก้]การจราจรบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์มีความเนื่องแน่น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2536 กรมทางหลวงได้ปรับปรุงทางจราจรบริเวณอนุสาวรีย์โดยทุบพื้นที่โดยรอบเหลือเพียงแต่เสาอนุสาวรีย์ ทำเป็นสี่แยก ต่อมาได้ยกเลิกการใช้สี่แยกดังกล่าวเนื่องจากได้ขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์แทน ในปี พ.ศ. 2553 กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยในบริเวณวงเวียนหลักสี่ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องเคลื่อนย้ายตัวอนุสาวรีย์ออกไปจากบริเวณเดิม กลุ่มนักอนุรักษ์โบราณคดี และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้านการเคลื่อนย้ายดังกล่าว[5] หากทว่ากรมทางหลวงได้อ้างว่าได้พูดคุยกับกรมศิลปากรแล้ว แต่กรมศิลปากรปฏิเสธและไม่มีนโยบายที่จะเคลื่อนย้ายโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว[6]
ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ได้ย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้างหนองบอน กรุงเทพมหานคร[7] แต่นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ปฏิเสธว่า ไม่ได้นำไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้างหนองบอน และไม่ทราบว่าปัจจุบันตัวอนุสาวรีย์เก็บไว้ที่ใด[8]
สถานที่สำคัญใกล้เคียง
[แก้]- วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
- โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
- มหาวิทยาลัยเกริก
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
- สถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีมหาธาตุ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พะเยาว์ เขียวชะอุ่ม, ณัฏฐิยา วงศ์สุวรรณ อนุเสาวรีย์ของไทย เก็บถาวร 2011-04-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ 2.0 2.1 My First Brain อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เรียกข้อมูลวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ ย้ายแล้วเงียบๆ ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’ สัญลักษณ์ปราบกบฏบวรเดช มติชนออนไลน์ สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559
- ↑ http://www.prachatai.com อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เรียกข้อมูลวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ อำมาตย์รื้อย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏเดือนนี้ เรียกข้อมูลวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ กระทรวงวัฒนธรรม m-culture.go.th[ลิงก์เสีย] กรมศิลป์ฯ - โต้กลับ “คุยกับใคร” ย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ เรียกข้อมูลวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ สัญลักษณ์ประชาธิปไตยล่องหน จากหมุดคณะราษฎรสู่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
- ↑ พบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปจากวงเวียนหลักสี่ ไม่ทราบอยู่ไหน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์