ข้ามไปเนื้อหา

แยกราชเทวี

พิกัด: 13°45′10″N 100°31′54″E / 13.752643°N 100.531681°E / 13.752643; 100.531681
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สี่แยก ราชเทวี
แผนที่
ชื่ออักษรไทยราชเทวี
ชื่ออักษรโรมันRatchathewi
รหัสทางแยกN018 (ESRI), 018 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนพญาไท และแขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนพญาไท
» แยกพญาไท
ถนนเพชรบุรี
» แยกประตูน้ำ
ถนนพญาไท
» แยกปทุมวัน
ถนนเพชรบุรี
» แยกอุรุพงษ์

แยกราชเทวี เป็นสี่แยกในเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เป็นจุดตัดของถนนพญาไทและถนนเพชรบุรี

แต่ดั้งเดิม ณ สถานที่นี้ เคยเป็นที่ตั้งของสะพานพระราชเทวี หรีอที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า สะพานราชเทวี อันเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองประแจจีน บนฝั่งถนนพญาไทก่อนถึงถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุครบ ๕๐ พรรษา ด้วยการบริจาคพระราชทรัพย์สร้างสะพาน และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามและทรงประกอบพระราชพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ต่อมาตัวสะพานได้ถูกรื้อถอนไป เพื่อเปิดทางให้มีการถมคลองเพื่อขยายถนนและสร้างเป็นวงเวียนน้ำพุขึ้นมาในราว ปี พ.ศ. 2503–04 โดยที่ป้ายโลหะจารึกชื่อของสะพานถูกเก็บรักษาไว้ยังพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จึงทำให้แยกราชเทวีในอดีตมีสภาพเป็นวงเวียน และมีจุดเด่น คือ น้ำพุ ขนาดใหญ่พร้อมกับการปลูกดอกไม้จากต่างประเทศ เช่น กุหลาบ เพื่อความสวยงามรอบ ๆ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่มีการเปิดไฟสลับสีก็ยิ่งทำให้มีความสวยงามโดดเด่นยิ่งขึ้น แต่ในเวลาต่อมาเมื่อถนนมีความจำเป็นต้องขยายตัวก็ได้ถูกรื้อถอนออกไปเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นสี่แยก แต่ทว่ายังคงสภาพของน้ำพุไว้เหมือนในอดีตที่มุมทั้งสี่ของทางแยก และคำว่า "ราชเทวี" นี้ก็ยังได้กลายมาเป็นชื่อเขตราชเทวีด้วย เมื่อมีการกำหนดเขตใหม่ในปี พ.ศ. 2532

แยกราชเทวี ในราว พ.ศ. 2520–30 นับเป็นย่านที่มีความคึกคักมาก ด้วยเคยเป็นสถานที่ตั้งบ้านพักอาศัยของขุนนางและคหบดีหลายคน, โรงภาพยนตร์ชั้นนำหลายแห่ง รวมถึงโรงเรียนสอนเสริมสวยด้วย และมีสะพานลอยข้ามทางแยกฝั่งถนนเพชรบุรี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 แล้วเสร็จและเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยมีการนำเอารถบรรทุกหินคลุกหลายสิบคันขึ้นไปจอดบนสะพานเพื่อทดสอบความแข็งแรงด้วย ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยถือว่าเป็นสะพานลอยข้ามทางแยกแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร

การจัดการจราจรบริเวณทางแยก

[แก้]
  • ทิศทางจากแยกปทุมวันมุ่งหน้าเข้าสู่ทางแยกสามารถเลี้ยวซ้ายไปยังแยกเพชรพระราม หรือตรงไปยังแยกพญาไท เท่านั้น ไม่สามารถเลี้ยวขวาไปยังแยกประตูน้ำได้ โดยรถที่จะเลี้ยวขวาจะต้องตรงไปกลับรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • ทิศทางจากแยกพญาไทมุ่งหน้าเข้าสู่ทางแยกสามารถเลี้ยวซ้ายไปยังแยกประตูน้ำ ตรงไปยังแยกปทุมวัน หรือเลี้ยวขวาไปยังแยกเพชรพระรามได้ (ในทิศทางนี้ห้ามเลี้ยวขวาเวลา 6:00 น. ถึงเวลา 20:00 น. ยกเว้นรถประจำทางที่เลี้ยวได้ตลอดเวลา)
  • ทิศทางจากแยกประตูน้ำหน้าเข้าสู่ทางแยกสามารถเลี้ยวซ้ายไปยังแยกปทุมวัน หรือตรงไปยังแยกเพชรพระราม เท่านั้น ไม่สามารถเลี้ยวขวาไปยังแยกพญาไทได้ โดยรถที่จะเลี้ยวขวาจะต้องเลี้ยวซ้ายไปกลับรถใต้สะพานเฉลิมหล้า 56
  • ทิศทางจากแยกเพชรพระรามมุ่งหน้าเข้าสู่ทางแยกสามารถเลี้ยวซ้ายไปยังแยกพญาไท ตรงไปยังแยกประตูน้ำ หรือเลี้ยวขวาไปยังแยกปทุมวันได้
  • สะพานข้ามทางแยกในแนวถนนเพชรบุรีมีทิศทางจากแยกเพชรพระรามมุ่งหน้าแยกประตูน้ำเท่านั้น มีขนาด 2 ช่องจราจร

สถานที่สำคัญบริเวณทางแยก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • มดตัวน้อยตัวนิด. "ถนนเก่า เล่าอดีต". โพสต์จังดอตคอม.
  • "ราชเทวี". ราชบัณฑิตยสถาน. 2012-03-23.
  • "ประวัติความเป็นมา". สำนักเขตราชเทวี. 2012-03-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-07. สืบค้นเมื่อ 2018-06-07.
  • ตรีน้อยใส, ปริญญา; โชติพานิช, รัชดา (2018-03-04). "เขต พระ ราชเทวี". มติชน.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′10″N 100°31′54″E / 13.752643°N 100.531681°E / 13.752643; 100.531681