สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
Agricultural Land Reform Office
Emblem of Agricultural Land Reform Office.png
ตราสำนักงาน
ALRO headquarter Ratchadamnoen Nok.jpg
ที่ทำการ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง6 มีนาคม พ.ศ. 2518
เขตอำนาจเขตปฏิรูปที่ดิน 72 จังหวัด
สำนักงานใหญ่ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก
1 ถนนราชดำเนินนอก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

ส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์

166 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
บุคลากร2,398 คน[1]
งบประมาณประจำปี193,201,700 บาท[2]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข, เลขาธิการ
  • วุฒิพงศ์ เนียมหอม, รองเลขาธิการ
  • เอกพงศ์ น้อยสร้าง, รองเลขาธิการ
  • สุรชัย ยุทธชนะ, รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เอกสารหลัก
เว็บไซต์http://www.alro.go.th

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อังกฤษ: Agricultural Land Reform Office: ALRO) หรือย่อว่า ส.ป.ก. เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่จัดการจัดการที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมให้เกษตรกรสามารถทำกินบนพื้นที่นั้นได้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518

ประวัติ[แก้]

ในอดีตเกิดปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกินและการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จึงมีกลุ่มเกษตรกร นักศึกษา นักการเมือง เดินขบวนเรียกร้องหลายครั้ง รัฐบาลในสมัย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518[3]

ความหมายของสัญลักษณ์[แก้]

เครื่องหมายเป็นรูปกลม ลายกลางเป็นภาพพระวรุณถือพระขรรค์ หมายถึง อำนาจบริหารอันทรงไว้ซึ่งความสุจริตยุติธรรม และการตัดสินแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เสด็จลีลามาบนหลังพญานาค หมายถึง สังกัดกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านขวาเป็นภาพเกษตรกรชายกำลังขุดดินเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม ด้านซ้ายเป็นภาพเกษตรกรหญิงถือรวงข้าวอันเป็นผลิตผลทางเกษตรกรรม และมีลายเมฆกับระลอกน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ประกอบอยู่ด้วย เบื้องล่างนอกขอบเครื่องหมายมีอักษรข้อความชื่อสำนักงานเป็นวงโค้งรองรับ[4]

ตราสัญลักษณ์วันคล้ายวันสถาปนา ในทุก ๆ ปีจะมีการประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์ประจำในแต่ละปีเพื่อใช้ในงานวันสถาปนา ส.ป.ก. และใช้ประกอบสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ในปีนั้น โดยจะต้องมีความทันสมัย สร้างสรรค์ และสวยงาม[5]

ภารกิจ[แก้]

ส.ป.ก.กำหนดภารกิจการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้ 3 ประการ ประกอบไปด้วย [6]

รถยนต์ที่มีตราสัญลักษณ์และอักษร ส.ป.ก. ใช้สำหรับปฏิบัติหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
  1. งานจัดที่ดิน
    1. ที่ดินของรัฐ เจ้าหน้าที่จะสำรวจและสอบสวนสิทธิในที่ดิน กระจายสิทธิและแบ่งแยกที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรได้เข้าประโยชน์ตามที่ได้ยืนคำรองไว้ที่ ส.ป.ก. จังหวัด จากนั้นจะได้รับหนังสือรับมอบที่ดิน (ส.ป.ก. 4-28) และหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) และมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินต่อไป ซึ่งที่ดินของรัฐประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพ ที่จำแนกเป็นที่จัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี ที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรเลิกใช้ร่วมกัน ที่สาธารณสมบัติแผ่นดิน และที่รกร้างว่างเปล่าที่อยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร
    2. ที่ดินเอกชน ได้จากการเวนคืนหรือซื้อมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกิน ผู้เช่า หรือผู้มีที่ดินไม่เพียงพอแก่การครองชีพตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่ ส.ป.ก. จังหวัดที่อาศัยอยู่
  2. งานพัฒนา เข้าไปดำเนินการในส่วนที่ไม่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งด้านสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และอำนวยความสะดวกในการประกอบการเกษตร
  3. งานเพิ่มรายได้ ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ตามสภาพพื้นที่ของท้องถิ่นนั้น ๆ ช่วยเหลือในการจัดตั้งสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จัดหาสินเชื่อและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบและมติของ คปก. ด้วยการดำเนินการเองและประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยพัฒนาในพื้นที่

อำนาจและหน้าที่[แก้]

อำนาจและหน้าที่ของ ส.ป.ก. ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาจาก 2 คณะกรรมการด้วยกันคือ

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม[แก้]

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย มาตรการ ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานการปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. ตลอดจนการควบคุมการบริหารงานของ ส.ป.ก. รวมทั้งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้[7]

การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.)
  1. จัดหาที่ดินของรัฐเพื่อนำมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
  2. พิจารณากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 การจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินตามมาตรา 29 และการกำหนดเนื้อที่ที่ดินที่จะให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรเช่าระยะยาว หรือเช่าซื้อตามมาตรา 30
  3. พิจารณาการกำหนดแผนผังและการจัดแบ่งแปลงที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
  4. พิจารณาอนุมัติแผนงานและโครงการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดจนงบค่าใช้จ่ายของ ส.ป.ก. เสนอรัฐมนตรี
  5. พิจารณากำหนดแผนการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อยกระดับรายได้ และคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร
  6. พิจารณากำหนดแผนการส่งเสริม และบำรุงเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมถึงการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพผลิตผลเกษตรกรรม ตลอดจนสวัสดิการ การสาธารณูปโภค การศึกษาและการสาธารณสุขของเกษตรกร
  7. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตลอดจนแบบสัญญาเช่าและเช่าซื้อที่จะทำกับเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน
  8. กำหนดระเบียบการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและปฏิบัติตามแผนการผลิต และการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรม
  9. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินกู้ยืมจาก ส.ป.ก. ตลอดจนเงื่อนไขของการกู้ยืมโดยอนุมัติรัฐมนตรี
  10. กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการ ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตลอดจนการควบคุมดูแลกิจการอื่น ๆ ภายในเขตปฏิรูปที่ดิน
  11. ติดตามการปฏิบัติงานของ ส.ป.ก. ให้เป็นไปตามแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติ ตลอดจนกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
  12. กำหนดกิจการและระเบียบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของ ส.ป.ก. หรือสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด[แก้]

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครนายก เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของ ส.ป.ก.

มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดมาตรการและวิธีปฏิบัติงานของสำนักงาน การปฏิรูปที่ดินจังหวัด และให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้[8]

  1. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการและค่าใช้จ่ายของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เพื่อเสนอคณะกรรมการ
  2. ติดตามการปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ให้เป็นไปตามแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติ ตลอดจนดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
  3. พิจารณาผลการปฏิบัติงาน เพื่อปรับปรุงแผนงาน โครงการ งบค่าใช้จ่ายและวิธีปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
  4. จัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายตามโครงการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่ละโครงการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ
  5. ดำเนินการเกี่ยวกับเงินและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามระเบียบหรือข้อบังคับหรือมติของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
  6. วางระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ หรือข้อบังคับหรือมติของคณะกรรมการ

หน่วยงานในสังกัด[แก้]

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดำเนินงานปฏิรูปที่ดินภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ในส่วนราชการบริหารส่วนกลาง และในส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค บริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) กำกับดูแลการปฏิบัติงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก.จังหวัด) แต่ละจังหวัด ประกอบไปด้วย[9]

ส่วนกลาง[แก้]

ในส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ส.ป.ก. แบ่งที่ตั้งของสำนักงานออกเป็นสองส่วน คือ

ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก[แก้]

มีที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงานหลักของ ส.ป.ก. ในการบริหารราชการส่วนกลาง

  • สำนักบริหารกลาง

สำนักบริหารกลาง (สบก.) มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านสารบรรณของสำนักงาน งานอำนวยการและงานเลขานุการ การดำเนินงานเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ การประสานราชการและตรวจราชการ ดูแลยานพาหนะ อาคารสถานที่ ระบบการสื่อสารของสำนักงาน งานด้านการพัฒนาระบบงานคลัง การเงิน การบัญชี งบประมาณ การพัสดุ และตรวจสอบใบสำคัญ พร้อมทั้งรับผิดชอบงานที่มิได้กำหนดให้เป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น ๆ ของสำนักงาน

  • กองการเจ้าหน้าที่

กองการเจ้าหน้าที่ (กกจ.) มีหน้าที่ในการจัดทำแผนและดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ยกเว้นด้านการฝึกอบรม ดำเนินงานด้านเสริมสร้างระเบียบวินัยและระบบคุณธรรมของสำนักงาน

  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทรวมถึงแผนในการปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดระบบในการสำรวจ จัดเก็บ และใช้ประโยชน์ข้อมูลภายในหน่วยงาน เป็นศูนย์กลางในการจัดการข้อมูลในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของประเทศไทย บริหารและพัฒนาในส่วนของระบบสารสนเทศ ดำเนินการเกี่ยวกับระบบข้อมูลที่ดินและแผนที่ รวมถึงระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม[10]

  • สำนักกฎหมาย

สำนักกฎหมาย (สกม.) มีหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง งานเกี่ยวกับการเจรจา ระงับข้อพิพาท แก้ไขปัญหาที่ดินของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย รวมไปถึงการดำเนินการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินและการคุ้มครองที่ดิน ด้านสาธารณูปโภค ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสนับสนุนเกี่ยวเนื่อง และการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรรายบุคคล

  • สำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน

สำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน (สจก.) มีหน้าที่ในการจัดหาที่ดินเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดิน และศึกษา วิเคราะห์ ติดตามงานจัดที่ดินทั้งในส่วนของที่ดินของรัฐ และที่ดินเอกชน การสอบสวนสิทธิ เจรจากระจายสิทธิ การปรับปรุงสิทธิการถือครองที่ดิน กาติดตามการจัดซื้อที่ดิน การเช่า การซ์อ และการโอนกรรมสิทธิให้เกษตรกร รวมไปถึงงานประกาศเขตปฏิรูปที่ดินและกำหนดเขตที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน ศึกษาวิเคราะห์และกำหนดแนวทางในการพัฒนาในที่ดินพระราชทาน

  • สำนักบริหารกองทุน

สำนักบริหารกองทุน (สบท.) มีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์ในการกำหนดนโยบายและแผนของกองทุน ให้บริการสินเชื้อเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อพัฒนารายได้และติดตามประเมินผล บริหารเงินกองทุน สินทรัพย์ ระบบบัญชี ตรวจสอบติดตามเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนให้แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ

  • สำนักวิชาการและแผนงาน

สำนักวิชาการและแผนงาน (สวผ.) มีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์ จัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติราชการและงบประมาณของสำนักงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการบริหารราชการแผ่นดินและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามประเมินผลความสำเร็จของหน่วยงานในสังกัด รวมถึงการติดต่อประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างประเทศด้านความร่วมมือทางวิชาการ และความช่วยเหลือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน ศึกษาวิเคราะห์ ตรวจสอบติดตาม และประเมินผลโครงการพิเศษต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง วิจัยและพัฒนาระบบงานวิจัยรวมทั้งการบริหารโครงการวิจัยและส่งเสริมงานวิจัยของสำนักงาน และดำเนินการเกี่ยวกับงานของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.)

  • กองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ

กองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ (กปร.) มีหน้าที่ในการดำเนินงานโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับ ส.ป.ก. จำนวน 16 โครงการ และโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 72 จังหวัด โดยอาศัยการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมตามแนวทางพระราชดำริ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง[11]

  • กลุ่มตรวจสอบภายใน

กลุ่มตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่เลขาธิการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการภายในหน่วยงาน โดยติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานในการพัฒนา พร้อมทั้งประสานและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ และหน่วยงานภายใน[12]

  • กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

มีหน้าที่ในการดำเนินงานทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ประสานงานและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน่วยงาน

ส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์[แก้]

ที่ทำการ ส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นสำนักงานอีกแห่งของ ส.ป.ก. ส่วนกลาง

มีที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ เลขที่ 166 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงานอีกแห่งของ ส.ป.ก. ในการบริหารราชการส่วนกลาง มีอาณาเขตบางส่วนของสำนักงานเป็นที่ตั้งของบ้านจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

  • สำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน

สำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน (สผส.) มีหน้าที่ในการดำเนินการด้านวิชาการและกำหนดมาตรฐานในการทำแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ การสำรวจรังวัด การควบคุมและการตรวจสอบการจัดทำแผนที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมไปถึงงานสารบบและทะเบียนที่ดิน

  • สำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน

สำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน (สพป.) มีหน้าที่ในการให้บริการในด้านของวิชาการ วิชาชีพ หรือทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมเกษตร และการนำผลการศึกษาวิเคราะห์งานทางด้านวิชาการมาพัฒนาในแต่ละพื้นที่เพื่อนำไปปฏิบัติจริง โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  • สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี

สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพท.) มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน รวมทั้งเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งด้านวิชาการและแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและเกษตรกร พัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมถึงดำเนินงานในส่วนของ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการปฏิรูปที่ดิน (ศกร.) และศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ (ศพส.)

ส่วนภูมิภาค[แก้]

หมุดหลักเขตที่ดิน ส.ป.ก.

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด จำนวน 72 จังหวัด ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม มีหน้าที่ในการดำเนินงานตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินและกฎหมายอื่น ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมไปถึงแผนงานและนโยบายของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.)

นอกจากนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนั้นยังมีภารกิจในการดำเนินงานในพื้นที่ ทั้งด้านการรังวัด สอบสวนสิทธิ งานข้อมูลสารบบที่ดินและแผ่นที่ งานกองทุน คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การเจรจาไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท งานคดี งานความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ งานออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน และการพัฒนาพื้นที่ การส่งเสริมพัฒนาเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดของตน และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

โครงสร้างภายในของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแต่ละจังหวัดประกอบไปด้วย[9]

  • ฝ่ายบริหารทัวไป
  • กลุ่มยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่ดิน
  • กลุ่มการเงินบัญชีและจัดเก็บผลประโยชน์
  • กลุ่มกฎหมาย
  • กลุ่มงานช่างและแผนที่

เขตปฏิรูปที่ดิน[แก้]

เครื่องจักรกลหนักจากสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน กำลังปรับพื้นที่แปลง คทช. ใน จ.สุราษฎร์ธานี

เขตปฏิรูปที่ดิน คือพื้นที่ที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม[7] โดยเขตปฏิรูปที่ดินสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท[13] ได้แก่

  • ที่ดินชุมชนเดิมที่ถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมทั้งตำบลหรืออำเภอ
  • ที่ดินที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเดิมซึ่งราษฎรครอบครองทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ต่อมาถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมทั้งตำบลหรืออำเภอ
  • ที่ดินป่าเสื่อมโทรมที่ไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้อีก ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้โอนพื้นที่ดังกล่าวไปให้ ส.ป.ก. จัดเกษตรกรเข้าทำประโยชน์

พื้นที่เขตดำเนินการ คือพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ ส.ป.ก. ได้นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จัดเกษตรกรเข้าทำประโยชน์หรือ ส.ป.ก. ได้เข้าดำเนินการในพื้นที่[14]

หนังสือแสดงสิทธิในเขตปฏิรูปที่ดิน[แก้]

ส.ป.ก. 4-01[แก้]

หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01)[15] เป็นหนังสือแสดงสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน [16] เขตปฏิรูปที่ดินหมายถึง ที่ดินที่เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาก่อน ที่ดินที่เป็นไร่สวนทำกินของราษฎรตั้งแต่บรรพบุรุษ และที่ดินป่าเสื่อมโทรม หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก ไม่รวมถึงป่าในเขตอนุรักษ์เช่นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ หรือเขตต้นน้ำลำธาร [16]

เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายที่ดิน หากมีการซื้อขายในขณะที่เอกสารสิทธินี้ยังมีผลอยู่จะเป็นโมฆะ [17] แต่สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกให้แก่บุคคลในครอบครัวได้แก่ สามีภรรยา บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา และหลาน สามารถเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อเกษตรกรรม (ไม่อนุญาตให้เช่าเพื่อจุดประสงค์อื่น) ไม่สามารถจดทะเบียนจำนองได้ เว้นแต่เป็นโครงการของรัฐบาลที่อนุญาตให้ใช้เอกสารสิทธิเป็นประกัน สิทธิในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ ประชาชนสามารถคืนที่ดินให้รัฐหากไม่ต้องการ และรัฐสามารถเรียกคืนที่ดินได้หากตรวจสอบพบว่าประชาชนมิได้ใช้ทำการเกษตร

สำหรับ ส.ป.ก. 4-01 นั้นมีการจำแนกได้อีก โดยใช้ตัวอักษรภาษาไทยกำกับด้านหลัง อาทิ

  • ส.ป.ก. 4-01 คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน[18] แบ่งเป็น
    • ส.ป.ก. 4-01, ส.ป.ก. 4-01 ก คือหนังสือที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามร่วมกับปฏิรูปที่ดินจังหวัดในเอกสาร[19][20] ปัจจุบันไม่มีการออกเพิ่มเติมแล้ว[21]
    • ส.ป.ก. 4-01 ข คือหนังสือที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้ลงนามในเอกสาร[22] ปัจจุบันใช้หนังสือนี้ในการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร[21]
    • ส.ป.ก. 4-01 ค คือหนังสือที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้ลงนามในเอกสาร และนำภาพถ่ายดาวเทียมของรูปแปลง มาตราส่วน 1:4,000 มาประกอบในเอกสาร[23][24] ปัจจุบันไม่มีการออกเพิ่มเติมแล้ว[21]
  • ส.ป.ก. 4-01 ช คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่อาศัย[25]
  • ส.ป.ก. 4-01 ส คือ หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สำหรับสถาบันเกษตรกร)[26]

ส.ป.ก. 4-31 ก[แก้]

หนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-31 ก) เป็นการอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรม โดยเป็นไปเพื่อส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน[27] อาทิ การสร้างวัด[28]

โครงการในพระราชดำริ[แก้]

พื้นที่ตั้งของโฉนดหมายเลข 1 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นส่วนนึงของที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 เพื่อปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกร[29]

ส.ป.ก. มีโครงการในพระราชดำริอยู่ในการดูแลประกอบไปด้วย

  • ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมดำเนินงานโดย ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ (ศพส.) สังกัด สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี

  • ธนาคารอาหารชุมชน ในโครงการเกษตรวิชญา

ธนาคารอาหารชุมชน ในโครงการเกษตรวิชญา ดำเนินงานโดย กองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ (กปร.)

  • ที่ดินพระราชทาน

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รับพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรมในปี พ.ศ. 2518 เป็นพื้นที่จำนวน 8 จังหวัด ต่อมาได้กันพื้นที่ที่มีผลพูกพันกับหน่วยงานอื่นและไม่มีศักยภาพในการทำเกษตรกรรมออก คงเหลือเพียงพื้นที่ 5 จังหวัด เนื้อที่ 44,321 ไร่ 39.46 ตารางวา ประกอบไปด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครนายก จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่อีกส่วนกันไว้สำหรับพัฒนาโครงสร้างและสาธารณูปโภค[30]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. โครงสร้างการแบ่งงานภายในของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำนวนอัตราข้าราชการตามที่ อ.ก.พ. กำหนด รวมกับจำนวนของลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ
  2. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2518/A/054/10.PDF
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ (ฉบับที่ ๗๘) เล่ม 98 ตอนที่ 31 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 หน้า 8 - 9
  5. ประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง ผลการตัดสินการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา ส.ป.ก. ครบรอบ 47 ปี ประกาศ ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-07. สืบค้นเมื่อ 2019-08-31.
  7. 7.0 7.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เล่ม 92 ตอนที่ 54 วันที่ 5 มีนาคม 2518 หน้า 20 - 22
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เล่ม 92 ตอนที่ 54 วันที่ 5 มีนาคม 2518 หน้า 22 - 23
  9. 9.0 9.1 โครงสร้างองค์กร - สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (alro.go.th)
  10. ราชกิจจานุเบกษา. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557[ลิงก์เสีย] (soc.go.th) เล่ม 131 ตอนที่ 88 ก, วันที่ 30 ธันวาคม 2557, หน้า 17-19
  11. กองประสานงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ (alro.go.th)
  12. ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2022-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่มที่ 126 ตอนที่ 6 ก วันที่ 27 มกราคม 2552, หน้า 9 - 16
  13. Pafun (2022-02-08). "ที่ดิน สปก. คืออะไร ? ซื้อขายได้หรือไม่ ?". ประชาชาติธุรกิจ.
  14. บันทึกข้อตกลง ระหว่าง กรมที่ดินกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2558 เก็บถาวร 2019-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มีผลวันที่ 24 กันยายน 2558
  15. คู่มือปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน [1] เก็บถาวร 2021-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน้า 7
  16. 16.0 16.1 ส.ป.ก.4-01 ผิดที่คนหรือกฎหมาย ? เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์.
  17. อ้างตัวกฎหมายใน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2552.
  18. หนังสือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ กษ ๑๒๐๖/ว ๗๒ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๙เรื่อง กำหนดแบบและขั้นตอนการออก แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิก เพิกถอน และออกใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ค) เก็บถาวร 2022-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (alro.go.th)
  19. isranews (2014-12-11). "เมียอดีต ส.ส.ลพบุรีครองที่ดิน สปก.4-01 10 ไร่ 1 ล้านอ้างได้ตั้งแต่อายุ 24 ปี". สำนักข่าวอิศรา.
  20. "ส.ส.ก้าวไกลตราดยัน ได้ที่ส.ป.ก.มา24ปีมีคุณสมบัติครบ โอนให้ลูกชายแล้ว". thansettakij. 2022-04-12.
  21. 21.0 21.1 21.2 การจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักกฎหมาย (alro.go.th)
  22. ราชกิจจานุเบกษา. ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการออก แก้ไขเพิ่มเติม เพิกถอนและออกใบแทน หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2540 เก็บถาวร 2022-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม 114 ตอนพิเศษ 49 ง, วันที่ 24 มิถุนายน 2540. หน้า 28-30
  23. คำสั่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ 29/2549 เรื่อง กำหนดแบบและขั้นตอนการออก แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิก เพิกถอน และออกใบแทน หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ค) (alro.go.th)
  24. "รูปลักษณ์ใหม่ 'ส.ป.ก.4-10ค.' ทันสมัยไม่ตกเทรนด์". www.phtnet.org.
  25. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ. คู่มือการพิจาณาเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อขอรับรองมาตรฐานระบบการผลิต GAP Organic ฉบับทบทวน ปี 2563 (acfs.go.th)
  26. รองนายกฯ ประวิตร มอบ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ส สองสหกรณ์เกษตรเขตปฏิรูป คทช.กระบี่[ลิงก์เสีย] alro.go.th
  27. "การให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจกรรมอื่นๆ". www.alro.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  28. "มอบประกาศจังหวัดสกลนคร อนุญาตให้สร้างวัด สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ในเขตบ้านท่าเจริญ". snk.onab.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. ชอุ่มผล, มัณฑนา (2021-04-14). "เจ้าของ "โฉนดที่ดิน" ฉบับแรกของไทย กับจุดเริ่มต้นการทำแผนที่และโฉนดแบบใหม่". ศิลปวัฒนธรรม.
  30. "ที่ดินพระราชทาน 5 จังหวัด". www.alro.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-10. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′28″N 100°30′22″E / 13.757833°N 100.506170°E / 13.757833; 100.506170