ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ศาสนา
ศาสนาศาสนาพื้นเมืองไทย
เขตเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
เทพพระหลักเมือง
หน่วยงานกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร
ปีที่อุทิศพ.ศ. 2325
ที่ตั้ง
ที่ตั้งถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง
ประเทศประเทศไทย
สถาปัตยกรรม
สถาปนิกอาวุธ เงินชูกลิ่น (ศาลาทรงขอมตามภาพ)[1]
ประเภทสถาปัตยกรรมขอม
สถาปัตยกรรมไทย
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ลงเสาเข็ม21 เมษายน พ.ศ. 2325 (พระราชพิธีนครฐาน)
ทิศทางด้านหน้าทิศตะวันตก
ชื่อทางการ: ศาลหลักเมือง
แต่งตั้ง17 มิถุนายน พ.ศ. 2518
หมายเลขอ้างอิง0000012
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

จุดสำคัญของศาลหลักเมืองคือ เสาหลักเมือง ซึ่งได้กระทำพิธียกเสาขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เดิมทีเสาหลักเมือง มีเพียงศาลาปลูกไว้กลางแดดกันฝนเท่านั้น จนชำรุดลงอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2395[2] จึงโปรดเกล้าฯให้ทำขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครมีเสาหลักเมือง 2 ต้น นับจากนั้นเป็นต้นมา

สำหรับศาลาศาลหลักเมืองหลังปัจจุบันนี้ มีรูปแบบเป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาในอดีต ได้รับการออกแบบโดย พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ในเวลาต่อมา) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบครั้งนี้ด้วย[3][1] โดยมีการบูรณะระหว่างปี พ.ศ. 2425-2529

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 นาฬิกา การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า พระราชพิธีนครฐาน ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มี เส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้ขุดเสาหลักเมืองเดิม และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด เป็นแกนไม้สัก ประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร และอัญเชิญหลักเมืองเดิม และหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองที่สร้างใหม่ มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช 2395

ศาลหลักเมืองได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2523 มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525 ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม ด้านทิศเหนือจัดสร้างซุ้มสำหรับประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง 5 คือเจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี มีการจัดละครรำ ละครชาตรี ให้ผู้ต้องการบูชา ว่าจ้างรำบูชาศาลหลักเมืองอยู่ด้านข้าง

แนวคิดว่าด้วยศาลหลักเมือง[แก้]

ปรากฏหลักฐานในหนังสือที่บันทึกโดยนักบวชชาวฝรั่งเศส ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว (ฝรั่งเศส: Jean-Baptiste Pallegoix,ค.ศ. 1805-1862/พ.ศ. 2348-2405) หรือที่รู้จักในนามพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ที่บันทึกในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยาม (Description du Royaume Thai ou Siam) อันเกี่ยวกับ "ศาลหลักเมือง" ดังข้อความที่ว่า [4]

"...มงซเญอร์  บรูกิแอรส์ (Monseigneur Brugiueres) ได้เล่าไว้ในจดหมายของท่านเกี่ยวกับประเพณีการถือโชคลาภของอนารยะอันมีอยู่ในประเทศสยามทุกครั้งเมื่อจะมีการสร้างประตูเมืองใหม่  ข้าพเจ้าเองก็เคยอ่านพบเหตุการณ์คล้าย ๆ นี้ในพงศาวดารสยามเหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่ยื่นยันว่าจะเป็นความจริงดังที่เล่าลือกันนัก เขาว่ากันดังนี้  เมื่อสร้างประตูเมืองใหม่ในกำแพงพระนคร หรือแม้เพียงซ่อมขึ้นใหม่ ไม่ทราบว่าเขาใช้กำหนดกฎถือโชคถือลางข้อไหนที่ว่าต้องฆ่าคนที่บริสุทธิ์คือไม่มีความผิดเสียสามคน การกระทำอันป่าเถื่อนนั้นมีดังนี้ คือ หลังจากที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงปรึกษากับขุนนางผู้ใหญ่เป็นการลับแล้ว ก็ส่งราชบุรุษคนหนึ่งไปที่ประตูเมืองที่จะดำเนินการซ่อมแซมนั้น นาน ๆ ครั้งราชบุรุษนั้นจะทำทีตะโกนเรียกหาใครคนหนึ่งนั้นขึ้นมาดัง ๆ เขาออกชื่อประตูเมืองนั้นซ้ำซากหลายครั้งหลายหนปรากฏอยู่เนือง ๆ ว่าประชาชนที่ผ่านไปมา เมื่อได้ยินเสียงร้องเรียกทางเบื้องหลังก็มักจะเหลียวหน้ามาดู ทันใดนั้นราชบุรุษกับพวกก็จะเข้ารุมล้อมจับเอาคนที่เหลียวหน้ามาดูนั้นไปสามคน  อันเป็นที่แน่ว่าชะตาชีวิตของเขาถึงฆาตแล้ว ไม่มีการปฏิบัติใด ๆ สัญญาประการใด ๆ หรือการเสียสละใด ๆ ที่จะช่วยชีวิตเขาไว้ได้ เขาขุดหลุมใหญ่ขึ้นในช่องประตูเมืองนั้น แล้วผูกเสาคานใหญ่ชักขึ้นไปเหนือหลุมนั้นในระดับสูงพอสมควร โยงไว้ด้วยเส้นเชือกสองเส้นหัวท้ายให้เสาหรือซุงนั้นแขวนอยู่ตามทาง นอนเหมือนอย่างลูกหีบ (Presoir) ฉะนั้น ครั้งถึงวันกำหนดที่จะกระทำการอันอรุณนี้ ก็เลี้ยงดูผู้เคราะห์ร้ายให้อิ่มหนำสำราญแล้วแห่แหนไปที่หลุมนั้น พระเจ้าแผ่นดินและข้าราชบริพารก็จะเสด็จและไปให้ความเคารพด้วย พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสามนั้นเฝ้าประตูเมืองไว้ด้วย และให้เร่งแจ้งข่าวให้รู้เกลือกว่ามีอริราชศัตรูหรือผู้คิดกบฏจะยกเข้าโจมตีพระนคร ครั้นแล้วเขาก็ตัดเชือกปล่อยให้เสาหรือซุงหล่นลงมาบนศีรษะผู้เคราะห์ร้าย ผู้ตกเป็นเหยื่อของการถือโชคลางนั้น บี้แบนอยู่ในหลุม คนไทยเชื่อว่าผู้เคราะห์ร้าย ผู้ตกเป็นเหยื่อของการถือโชคลางนั้น จะกลายสภาพเป็นอารักษ์จำพวกที่เรียกกันว่า ผี (phi) ราษฎรสามัญบางคนก็กระทำการฆาตกรรมแก่ทาสของตนในทำนองเดียวกันนี้ เพื่อใช้เป็นผีเฝ้าขุมทรัพย์ที่ตนฝังซ่อนไว้..."

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๙), ArtBangkok .สืบค้นเมื่อ 15/12/2559
  2. เหตุใด "เสาหลักเมือง" กรุงเทพมหานคร จึงมีสองต้น เก็บถาวร 2017-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, pisit site .สืบค้นเมื่อ 15/12/2559
  3. 9 สถาปัตย์ศิลป์ที่ "ในหลวง" ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบ[ลิงก์เสีย], ผู้จัดการออนไลน์ .สืบค้นเมื่อ 15/12/2559
  4. พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์.เล่าเรื่องกรุงสยาม (Description du Royaume Thai ou Siam).แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. กรุงเทพฯ, ก้าวหน้า, 2520. หน้า 338. ISBN: 9749489233 (2549).

ดูเพิ่ม[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′09″N 100°29′39″E / 13.752537°N 100.494084°E / 13.752537; 100.494084