วัดปรินายกวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดปรินายกวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1 ถนนปรินายก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระสุรภีพุทธพิมพ์
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดปรินายกวรวิหาร
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000008
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดปรินายกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

เดิมวัดนี้ชื่อ วัดพรหมสุรินทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2353 (สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพรหมสุรินทร์ จึงตั้งชื่อวัดตามราชทินนามในขณะนั้น วัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยผู้สร้างวัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากกลับจากราชการสงครามกับญวนที่เขมร แต่ไม่ทันสำเร็จก็ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้เป็นพระอารามหลวงและสร้างต่อจนแล้วเสร็จและพระราชทานนามใหม่ว่า วัดปรินายก เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหนายก ณ ขณะนั้น คำว่า ปรินายก มาจากคำว่า ปรินายกรตน แปลว่า "ขุนพลแก้วคู่บารมีมหาจักรพรรดิราช"[1]

เมื่อมีการตัดถนนราชดำเนินเมื่อ พ.ศ. 2442 (สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เส้นทางของถนนได้ตัดเข้ามาในพื้นที่ของวัดปรินายก ทำให้วัดต้องสูญเสียพื้นที่บริเวณวัดไปมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดปรินายกใหม่ทั้งหมด โดยสร้างพระอุโบสถใหม่และนำใบเสมาจากพระอุโบสถเดิมมาประดิษฐานรอบพระอุโบสถใหม่ แม้จะเหลือพื้นที่เป็นวัดเล็ก ๆ แต่พระองค์ก็ได้พระราชทานใบเสมาคู่ จึงทำให้วัดปรินายกยังคงมีสถานะเป็นวัดหลวงอยู่[2] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2443

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2444 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ภายในประดิษฐาน พระสุรภีพุทธพิมพ์ พระพุทธรูปฝีมือช่างสุโขทัย หน้าตัก 3 ศอกคืบ 4 นิ้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อันเชิญมาจากที่ไหนไม่ปรากฎ

ศาลาการเปรียญเป็นตำหนักของพระราชวงศ์ เป็นของเก่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซ่อมปรับปรุง พ.ศ. 2497 หอระฆังในวัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2464 วัดมีสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ประกอบด้วยเรือนไม้หลายหลัง มีกุฏิสงฆ์จำนวน 18 หลัง[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. กนกวลี ชูชัยยะ. (๒๕๔๔). พจนานุกรมวิสามายนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์.
  2. ""วัดปรินายก" วัดใหญ่สมัย ร. 2 เหตุใดจึงเล็กลง ?". มิวเซียมสยาม.[ลิงก์เสีย]
  3. "หนังสือที่ระลึก ในการที่รัฐสภาได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายพระภิกษุที่จำพรรษา ณ วัดปรินายก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 7 พฤศจิกายน 2532" (PDF). คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-08-26.