วัดนรนาถสุนทริการาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดนรนาถสุนทริการาม
วัดนรนาถสุนทริการาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดนรนาถ
ที่ตั้งแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นตรี
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระราชสารเมธี (สุริยันต์ จนฺทปญฺโญ)
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดนรนาถสุนทริการาม
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005596
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
วัดนรนาถสุนทริการาม

วัดนรนาถสุนทริการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ[1] ตั้งอยู่เชิงสะพานเทเวศร์นฤมิตร ตรงมุมคลองผดุงกรุงเกษม ตัดกับถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดนรนาถสุนทริการาม เดิมชื่อว่า “วัดเทพยพลี” บางคนเรียกเพื้ยนไปเป็น วัดฉิมพลี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นระหว่างปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงก่อน พ.ศ. 2394 ซึ่งเป็นปีที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม และคลองนี้ได้ตัดผ่าน พื้นที่ของวัดเทพยพลีด้วย ต่อมาสมัยต้นรัชกาลที่ 5 พระยาโชฎีกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) ครั้งยังเป็นพระยานรนาถภักดี กับคุณหญิงสุ่น (ภรรยา) ได้มีจิตศรัทธาสละทรัพย์ทำการปฏิสังขรณ์วัด แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างวัดขึ้นใหม่เพราะ ได้สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ และกุฏิสงฆ์ใหม่หมด แม้แผ่นศิลาสี่เหลี่ยมจำนวนมากที่ปูภายใน บริเวณวัดก็สั่งมาจากเมืองจีน ครั้นปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อย ก็ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงรับไว้ เป็นพระอารามหลวงและได้ทรงแปลงให้เป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกาย พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดนรนาถสุนทริการาม” ตั้งแต่ พ.ศ. 2418 เป็นต้นมา

ครั้นต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ทรงเห็นความทรุดโทรมของวัดในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการซ่อมแซมหมดทั้งวัด ต่อมา พ.ศ. 2475 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี พระราชธิดาในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้ทรงช่วยซ่อมพระอุโบสถ พระวิหาร และกุฏิสงฆ์อีกครึ่งหนึ่ง ในสมัยสงครามเอเชียบูรพา ปูชนียวัตถุภายในวัดแตกร้าวหักพังเพราะแรงสะเทือน ภายหลังเมื่อสงครามสงบแล้ว ต่อมาใน ระยะหลังๆ ทางวัดได้ทำการบูรณะซ่อมแซมบ้างและสร้างกุฏิสงฆ์ศาลาการเปรียญ และตึกสามัคคีเนรมิตเพิ่ม

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

นับตั้งแต่ก่อตั้งมา เท่าที่ปรากฏหลักฐานสืนค้นได้ วัดนรนาถฯ มีเจ้าอาวาสตามลำดับดังนี้[2]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระครูปัณฑรธรรมสโมทาน (สด) พ.ศ. 2418 ?
รักษาการ พระครูพันธสีลาจารย์ (พันธ์) พ.ศ. 2436 ?
2 พระศรีจันทรคุณ (ศรีจันทร์ กนฺตสีโล) พ.ศ. 2436 พ.ศ. 2444
3 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2541
4 พระธรรมบัณฑิต (ศิลา สิทฺธิธมฺโม) พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2550
รักษาการ พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) พ.ศ. 2550 พ.ศ. 2551
5 พระราชสารเมธี (สุริยันต์ จนฺทปญฺโญ) พ.ศ. 2551 ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า 293
  2. ที่ระลึกบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ปีที่ ๑๕, หน้า 19
บรรณานุกรม
  • วัดนรนาถสุนทริการาม. ที่ระลึกบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ปีที่ ๑๕. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], พฤศจิกายน, 2556. 127 หน้า. ISBN 978-616-348-135-1

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′11″N 100°30′10″E / 13.769646°N 100.502884°E / 13.769646; 100.502884