วัดทิพยวารีวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดทิพยวารีวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญกัมโล่วยี่
ที่ตั้ง119 ซอยทิพย์วารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
นิกายมหายาน จีนนิกาย
เจ้าอาวาสหลวงจีนธรรมรัตจีนประจักษ์ (เย็นงี้)
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดทิพยวารีวิหาร
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005585
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดทิพยวารีวิหาร (ตัวเต็ม:甘露寺) เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนซอยทิพย์วารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดทิพยวารีวิหาร สร้างในสมัยกรุงธนบุรีโดยชาวญวนอพยพที่ติดตาม องเชียงชุน ราชบุตรเจ้าเมืองเว้ ที่หนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในปีพ.ศ.2319 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงทรงพระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่อาศัยเรียกว่าบ้านญวนและมีวัดฝ่ายมหายานขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องเชียงสือ นัดดาเจ้าเมืองเว้ ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ต่อมาได้ลักลอบหนีกลับเมืองเว้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงแคลงพระทัยชาวญวน จึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีย้ายชุมชนญวนออกไปอยู่ที่อื่น เพื่อให้ห่างจากพระนคร ชุมชนบริเวณนี้จึงเป็นที่อาศัยของคนไทยและจีนแทน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ วัดทิพยวารีวิหาร มีสภาพรกร้างไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่หลายปี

ปี พ.ศ. 2439 พระอาจารย์ไหซัน พระภิกษุจีนชาวมณฑลหูหนาน ได้จาริกมาจำพรรษาที่วัดทิพยวารีวิหาร ท่านจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ โดยความร่วมมือของพุทธบริษัทไทย-จีน นำโดยนายเช็งเต็ก แซ่เจี่ยและนางซิ่วออม แซ่ตัน สองสามีภรรยาคหบดีชาวจีน ผู้ค้าขายในย่านตลาดมิ่งเมือง ครั้งนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่จนเสร็จสมบูรณ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์หลวงจีนไหซัน ให้เป็นที่ หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดซ้ายจีนนิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และต่อมาทรงพระราชทานนามวัดกัมโล่วยี่ ใหม่ว่า “วัดทิพยวารีวิหาร” เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ 2452 จึงได้รับการสถาปนาฟื้นฟูขึ้นใหม่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายจนถึงปัจจุบัน ต่อมาปีพ.ศ. 2489 ได้เกิดเพลิงไหม้ตลาดบ้านหม้อ ไฟลุกลามมาถึงวัด ทำให้พระประธานทั้งสามองค์ชำรุดเสียหายมาก ในปีพ.ศ. 2497 พระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) ได้มอบหมายให้หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (เย็นบุญ) ปลัดขวาจีนนิกาย มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ทำการบูรณะใหม่หมดทั้งวัด กาลเวลาได้ล่วงไป เสนาสนะต่าง ๆ ของวัดได้ทรุดโทรมลง หลวงจีนธรรมรัตจีนประจักษ์ (เย็นงี้) ซึ่งดำรงตนแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาส จึงดำเนินโครงการสร้างอุโบสถหลังใหม่พร้อมบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะด้วย ในการนี้ได้กราบทูลเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์อุโบสถหลังใหม่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2548[1]

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

  1. พระอาจารย์จี้ตง
  2. พระอาจารย์องจี่
  3. หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ (ไหซัน)
  4. หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (โล่วเข่ง)
  5. หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (ฟัดบุ๋น)
  6. หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (เย็นบุญ) พ.ศ. 2497
  7. พระอาจารย์เย็นจุ่น พ.ศ. 2527 เป็นรักษาการ
  8. หลวงจีนธรรมรัตจีนประจักษ์ (เย็นงี้) พ.ศ. 2543 – ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. วัดทิพยวารีวิหาร. อนุสรณ์ ในการทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรรณววดี เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์อุโบสถวัดทิพยวารีวิหาร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร, 2548. หน้า 32-35.