ย่านเสาชิงช้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ย่านเสาชิงช้า

ย่านเสาชิงช้า เป็นย่านที่ตั้งอยู่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีเสาชิงช้าเป็นศูนย์กลางของย่าน พื้นที่ครอบคลุมแขวงเสาชิงช้า แขวงวัดราชบพิธ (บางส่วน) แขวงสำราญราษฎร์ และแขวงบวรนิเวศ (บางส่วน) มีพื้นที่ประมาณ 0.675 ตารางกิโลเมตร

ประวัติ[แก้]

สร้างเสาชิงช้า[แก้]

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2357 เพื่อประกอบพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (เดิมที่ตั้งของเสาชิงช้าตั้งหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์) จึงมีอิทธิพลการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาวพราหมณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการทำพิธีราชสำนัก แล้วได้ช่วยกันสร้างโบสถ์พราหมณ์จนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2357[1] จนมีชุมชนที่เรียกว่า ตรอกโบสถ์พราหมณ์ นอกจากนั้นยังมีคนไทย คนจีนและคนต่างชาติ เช่น พวกแขกฮินดู อาศัยอยู่รอบ ๆ พื้นที่เสาชิงช้า

ขุดคลอง[แก้]

เมื่อมีการขุดคลองคูเมืองเดิมเชื่อมกับคลองหลอดสองสาย ลัดเข้าสู่พื้นที่เสาชิงช้า ได้แก่ คลองขุดจากในบริเวณในด้านเหนือขึ้นไปของโบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันคือ วัดมหรรณพารามและชุมชนตรอกตึกดิน-ตรอกศิลป์) เลียบไปจนถึงพื้นที่ที่เคยเป็นสวนผลไม้ (ปัจจุบันคือ วัดราชนัดดาและวัดเทพธิดา) ชื่อว่า คลอดหลอดวัดราชนัดดาและคลองหลอดวัดเทพธิดา แล้วไปบรรจบกับคลองรอบกรุง ประชากรจึงเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น มีตลาดน้ำที่ใกล้ที่สุดคือ ตลาดน้ำคลองมหานาค อยู่ทางแยกคลองมหานาคเชื่อมกับคลองรอบกรุง อยู่ติดกับวัดสระเกศ

สภาพของย่านเสาชิงช้าในสมัยนี้เต็มไปด้วยศาสนสถาน วังของพระราชโอรส บ้านของขุนนางและตลาด ย่านการค้า ผู้คนอาศัยกระจุกตัวอยู่รอบ ๆ วัด และแนวลำคลองหลอดสองสาย มีการสร้างบ้านเรือนสลับกับพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ในย่านมีความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย

ตัดถนน[แก้]

อาคารเทศบาลนครกรุงเทพ (ปัจจุบันคือ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร) (ภาพถ่ายจากเครื่องบินบริเวณวัดสุทัศน์ โดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์ ฮันต์ นักบินฝ่ายสัมพันธมิตร ถ่ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2489)

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณเสาชิงช้าได้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น บริเวณนี้ได้กลายเป็นตลาดของชาวพระนคร ที่เรียกว่า ตลาดเสาชิงช้า อีกทั้งยังเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์สำหรับพระนคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ขยายถนนให้กว้างขวางขึ้น แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า ถนนบำรุงเมือง สองข้างถนนจึงค่อย ๆ มีผู้คนเข้ามาปลูกอาคารบ้านเรือน อีกทั้งเจ้านายก็ขยับขยายมาสร้างวังขึ้นตามสองข้างถนน เมื่อปลายรัชกาลก็มีร้านโรงและตึกแถวตลอดทั้งถนน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมืองให้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก พร้อมทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตึกและบ้านเรือนที่อยู่ริมถนนบำรุงเมืองแล้วสร้างขึ้นใหม่ตามแบบที่กำหนด ซึ่งถ่ายแบบมาจากสิงคโปร์[2]

ตลาดเสาชิงช้า มีลักษณะของตลาดตึกสามชั้นอยู่มุมถนนบำรุงเมือง เป็นตลาดทันสมัยและสะอาด มีชื่อเสียงเรื่อง ทองเสาชิงช้า มีกิจกรรมเกิดขึ้นในตลาดเช่น ละคร มีโรงบ่อน มีร้านเล็ก ๆ เกี่ยวกับสังฆภัณฑ์บริเวณสองข้างทางบริเวณประตูผี เสาชิงช้า สำราญราษฎร์ กระจายไปถึงถนนบำรุงเมือง ถนนวัดราชบพิธ ถนนตะนาว ทำให้ย่านเสาชิงช้าเป็นย่านที่มีการจำหน่ายสังฆภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในพระนคร และยังมีห้าง และร้านค้าชาวจีน ชาวต่างประเทศ รวมถึงมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ของตกแต่งบ้าน ภายในตึกแถวสองฟากถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และถนนตะนาว

ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการตั้งโรงแก๊สหน้าวัดสุทัศน์ พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มใช้ไฟฟ้าแทนแก๊ส จึงโปรดฯ ให้รื้อโรงแก๊สออก แล้วย้ายเสาชิงช้ามายังที่ตั้งในปัจจุบัน[3]

พ.ศ. 2484 ได้รื้อตลาดเสาชิงช้าออก จากนั้นจึงได้สร้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2516 ทำให้กิจกรรมด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนมาเป็นการค้าใหม่ ๆ เช่น ร้านอาหาร แหล่งรวมสินค้าของข้าราชการ โรงพิมพ์ ร้านตัดชุด คงเหลือแต่การค้าดั้งเดิมคือ จำหน่ายสังฆภัณฑ์[4]

การใช้พื้นที่[แก้]

ตึกแถวบริเวณลานเสาชิงช้า โค้งถนนบำรุงเมือง
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

สถานที่ราชการที่ตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า ได้แก่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ด้านหน้าคือ ลานคนเมือง จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลอง 220 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2545[5] สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 และสำนักงานสรรพากรสาขาพระนคร 2

ศาสนสถานได้แก่ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดเทพมณเฑียรซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนภารตะวิทยา ข้างโรงเรียนเบญจมราชาลัยและเทวสถานโบสถ์พราหมณ์

ตลาดตรอกหม้ออยู่ในตรอกหม้อ หรือซอยเทศา ซึ่งเป็นซอยที่เชื่อมระหว่างถนนบำรุงเมืองกับถนนราชบพิธ เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่ช่วงตี 5 ไปจนถึงราว 9 โมงเช้า[6]

บริเวณถนนดินสอเป็นแหล่งร้านอาหารและร้านขนม โรงเรียนกวดวิชา ร้านเบ็ดเตล็ด ร้านสะดวกซื้อ ด้านหลังของศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเป็นหาบเร่แผงลอย ถนนมหาไชยบริเวณวัดราชนัดดาเป็นตลาดพระเครื่อง ถัดมาซอยข้างในมีโรงพิมพ์ โรงงานต่าง ๆ ถนนตะนาวมีร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านสังฆภัณฑ์ ร้านตัดเสื้อ ฯลฯ ถนนมหรรณพเป็นแหล่งอาหารขึ้นชื่อ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ผัดไทย แทรกด้วยร้านค้าสังฆภัณฑ์ ถนนบำรุงเมืองเป็นแหล่งขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ส่วนมากอยู่บริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้าจนถึงประตูผี

อ้างอิง[แก้]

  1. "ชุมชนโบสถ์พราหมณ์". หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร.
  2. สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร. จดหมายเหตุบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า พุทธศักราช 2549. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (หนึ่งในกลุ่มบริษัททีม). 2551.
  3. "8 เม.ย.2327 กำเนิดเสาชิงช้าวัดสุทัศน์". คมชัดลึก.
  4. วรี จิระรัตน์พันธ์. "แนวทางการพัฒนาย่านเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  5. "เดินเล่น "เสาชิงช้า" ชมย่านเก่า-สะดือเมืองกรุงเทพ". ผู้จัดการออนไลน์.
  6. "เดินเที่ยวกรุงเทพฯ : เพลินๆ เดินย่าน "เสาชิงช้า" หัวใจแห่งเกาะรัตนโกสินทร์". ผู้จัดการออนไลน์.