ข้ามไปเนื้อหา

ปฐมบรมราชานุสรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปฐมบรมราชานุสรณ์
ปฐมบรมราชานุสรณ์
แผนที่
ที่ตั้งเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ผู้ออกแบบสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ออกแบบ)
ศิลป์ พีระศรี (ปั้นหุ่นพระบรมรูป)
ประเภทพระบรมราชานุสาวรีย์
วัสดุสำริด
ความกว้าง2.30 เมตร
ความสูง4.60 เมตร
เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2472
สร้างเสร็จพ.ศ. 2475
การเปิด6 เมษายน พ.ศ. 2475
อุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1
ขึ้นเมื่อ16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000033

ปฐมบรมราชานุสรณ์, พระปฐมบรมราชานุสรณ์, อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 หรือ พระบรมนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร สร้างขึ้นในโอกาสฉลองพระนคร 150 ปี

ประวัติ

[แก้]
พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าสมควรจะจัดสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ที่ระลึกแห่งพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในโอกาสฉลองพระนคร 150 ปี โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรียกว่า คณะกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นนายกกรรมการ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอุปนายก และให้อภิรัฐมนตรีกับทั้งเสนาบดีทุกกระทรวงเป็นกรรมการ

ในการประชุมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2470 มีแนวคิดที่จะสร้างพระบรมรูปหล่ออย่างใหญ่ประดิษฐานอยู่หน้าพระวิหารพระศรีศากยมุนี ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และซ่อมแซมพระวิหาร ขยายลานเสาชิงช้าให้กว้างใหญ่ และทำถนนขนาดใหญ่มีสวนยาวตั้งแต่เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ฯ ตรงไปบรรจบถนนราชดำเนินกลาง แต่แนวคิดนี้ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเห็นว่าเป็นการสร้างถนนดังกล่าวอาจอยู่ในประเภทงดงามเฉย ๆ ไม่สู้เป็นสาธารณประโยชน์มากนัก จึงเสนอสร้างสะพานเชื่อมธนบุรีกับกรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบและมีพระราชดำริให้สร้างพระบรมรูปใกล้สะพานนี้[1]

เงินทุนที่ใช้ในการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ราว 4,000,000 บาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง และรัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินช่วยจำนวนหนึ่ง ส่วนเงินอีกจำนวนหนึ่งนั้นมีการประกาศรับเงินเรี่ยไร[2]

สำหรับการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบและอำนวยการสร้าง มีการนำแบบแปลนต่าง ๆ ถวายขอพระราชทานบรมวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วโปรดให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้นหุ่นพระบรมรูป และส่งไปหล่อที่ยุโรป โดยมีนายช่างจากกรมศิลปากรสถานไปกำกับการจนแล้วเสร็จ ระหว่างนั้นได้จัดทำฐานพระบรมรูป จากนั้นได้อัญเชิญพระบรมรูปซึ่งหล่อเสร็จแล้วประดิษฐาน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมราชนาวีและกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในการลำเลียงพระบรมรูป[3]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 เมื่อเวลาอุดมมงคลฤกษ์เวลา 8.15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระแท่นชุมสาย ทรงกดไกไฟฟ้าด้วยค้อนเงินสำหรับตัดกระดาษ ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปและเปิดป้ายชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน

พ.ศ. 2505 มีการเสริมแท่นอนุสาวรีย์ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร ภายหลังยังมีการเสริมซุ้มเบื้องหลังองค์อนุสาวรีย์ให้สูงขึ้นไปอีก หรืออาจจะทำในคราวเดียวกับการเสริมแท่นเมื่อ พ.ศ. 2505[4]

ลักษณะทางศิลปกรรม

[แก้]
เบื้องหลังพระบรมรูปเป็นฉากสูง

พระบรมรูปหล่อด้วยทองสำริดทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ ขนาดสูงจากพื้นถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร[5] พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดเหนือพระเพลา มีแท่นฐานหินอ่อนสี่เหลี่ยมย่อมุมเป็นฐานรองรับอีกชั้นหนึ่งกึ่งกลางแผ่นหินอ่อน สลักรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหันข้างประทับเหนือแท่นซึ่งเป็นตราปฐมบรมวงศ์จักรี เบื้องหน้าแผ่นสลักนี้ตั้งแท่นสำหรับผู้ไปสักการะและกระถางธูปส่วนเชิงเทียนนั้นติดยื่นออกมาจากแนวรั้ว เบื้องหลังพระบรมรูปเป็นฉากสูง ตอนกลางเป็นร่องลึกคล้ายประตู มีเสาหินสลักสองข้าง หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพวงมาลัยเหนือหน้าบันสลักรูปอุณาโลม หลักฉากมีแผ่นหินอ่อน ด้านข้างพระบรมรูปมีบันไดลาดจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าเป็นชั้น ๆ จนถึงพื้นล่าง

จารึกที่ฐานและที่ลับแลหลังพระบรมรูปใช้วิธีเรียงความ แบ่งตัวอักษรเป็น 2 ขนาด คือตัวใหญ่ปนตัวเล็ก ตัวใหญ่ให้อ่านไกล หากอ่านเฉพาะตัวใหญ่จะได้ความย่อ ได้นำเสนอร่างจารึกเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2474 เมื่อร่างผ่านจึงนำไปเขียนแบบและทำจารึกที่ต่างประเทศ[6]

เหรียญที่ระลึก

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญขึ้นพระราชทานแก่ผู้เข้าเรี่ยไรสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์ สร้างเป็น 2 ชนิด คือ ขนาดใหญ่สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 500 บาท และขนาดเล็กสำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาท[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 8.
  2. "เงินทุนดำเนินการก่อสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์".
  3. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 70.
  4. "พระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (อนุสาวรีย์ ร.1)". สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง.
  5. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2551. บทนิทรรศการพระราชประวัติพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ชั้นที่ 3
  6. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 72.
  7. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 112.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. กรมศิลปากร. 2525.
  • กรมศิลปากร, จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525. (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น จำกัด, 2525)