ข้ามไปเนื้อหา

ถนนราชินี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองคูเมืองเดิม ด้านซ้ายคือถนนอัษฎางค์ ด้านขวาคือถนนราชินี

ถนนราชินี เป็นถนนในแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นถนนเลียบคลองคูเมืองเดิม (ทางทิศตะวันตก) คู่ขนานไปกับถนนอัษฎางค์ เริ่มจากถนนพระอาทิตย์ บริเวณใต้สะพานปิ่นเกล้า เลียบคลองคูเมืองเดิมไปสิ้นสุดที่สะพานเจริญรัช 31 ถนนมหาราช ตรงปากคลองตลาด รวมระยะทาง 2,230 เมตร ชื่อของถนนตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของสยามและเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440

ประวัติ

[แก้]

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากการประพาสสิงคโปร์ ปัตตาเวีย และเซอมารัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับทางดินริมคลองคูเมืองเดิมให้กว้างขวางและเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการสร้างท่าสำหรับคนลงน้ำ และท่าสำหรับช้างม้าลงน้ำ ปลูกต้นขนุน จำปี ริมถนนทั้ง 2 ฟาก มีการสร้างเขื่อนซีเมนต์ ทั้งสองฟากมีการสร้างเว็จ (ส้วม) ลงคลองเป็นแถว[1] โดยสร้างถนนราชินีเมื่อ พ.ศ. 2413 เมื่อแรกสร้างเริ่มต้นจากปากคลองตลาด มาถึงปลายถนนจักรวรรดิวังหน้า

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2438 มีการรื้อพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ขยายถนนสายเดิมไปจนถึงถนนพระอาทิตย์[2]

เมื่อ พ.ศ. 2563 มีการปรับปรุงคลองคูเมืองเดิม ถนนราชินีและถนนอัษฎางค์ โดยนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินตลอดแนวริมคลองคูเมืองเดิมทั้ง 2 ฝั่ง[3]

สถานที่สำคัญ

[แก้]

ถนนราชินีเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง ลักษณะสถาปัตยกรรมบาโรก ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2520 กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ศาลเจ้าพ่อหอกลองเป็นศาลแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509[4] สวนสราญรมย์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร อนุสาวรีย์หมู สำนักประธานศาลฎีกา ศาลฎีกา พระแม่ธรณีบีบมวยผม อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 โรงละครแห่งชาติ

อ้างอิง

[แก้]
  1. อมรรัตน์ ฤทธิทิศ. "การปรับปรุงพื้นที่ริมคลองคูเมืองเดิม กรุงเทพมหานคร" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. "ถนนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : ถนนเก้าสายสั้นๆ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. "กทม.ปรับภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิม"สะพานพระปิ่นเกล้า-ปากคลองตลาด"แหล่งท่องเที่ยวรับรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน". ประชาชาติธุรกิจ.
  4. "ตะลอนเที่ยว : เจ้าพ่อหอกลอง By Mr.Flower". แนวหน้า.