เหรียญจักรพรรดิมาลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญจักรพรรดิมาลา
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
อักษรย่อร.จ.พ.
ประเภทเหรียญบำเหน็จในราชการ
วันสถาปนาพ.ศ. 2436
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
แพรแถบ
ผู้สมควรได้รับพระมหากษัตริย์, สมเด็จพระบรมราชินี, พระบรมวงศานุวงศ์, ข้าราชการพลเรือน
มอบเพื่อสำหรับบุคคลที่มีคุณงามความดี ข้าราชการพลเรือนที่รับราชการไม่น้อยกว่า 25 ปี
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายล่าสุด11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์
รองมาเหรียญศารทูลมาลา
เหรียญลูกเสือสรรเสริญ ชั้นที่ 1
เสมอเหรียญจักรมาลา
หมายเหตุพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์ หากได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา จะไม่ได้รับพระราชทานเหรียญจักรมาลา

เหรียญจักรพรรดิมาลา ใช้อักษรย่อว่า ร.จ.พ. เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการสำหรับข้าราชการพลเรือน[1] สถาปนาขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเมื่อปีมะเส็ง ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เนื่องในการพระราชพิธีรัชดาภิเษก สมโภชสิริราชสมบัติครบ 25 ปี[2]

ลักษณะของเหรียญ[แก้]

เหรียญจักรพรรดิมาลา ตามพระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา ร.ศ. 114 ด้านหน้าและด้านหลัง

เหรียญจักรพรรดิมาลาเมื่อแรกสถาปนาในปี พ.ศ. 2436 มีลักษณะตามที่กำหนดในภายหลัง ตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา ร.ศ. 114 ซึ่งตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2438 ดังนี้

"เหรียญจักรพรรดิมาลานี้มีสัณฐานเปนรูปจักร ด้านน่ามีพระบรมราชสาทิศฉายาลักษณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหาพิไชยมงกุฎ ยอดมีรัศมีแลพวงมาไลใบไชยพฤกษ์วงโดยรอบ ที่ขอบจักรมีอักษร แสดงพระบรมราชนามาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช สยามินทร์" ด้านหลังที่ขอบจักร มีอักษรแสดงคุณของผู้ที่จะได้รับพระราชทาน และแสดงศกที่ได้ทรงสร้างเหรียญนี้ว่า "สำหรับปรนนิบัติราชการดี รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒" ที่กลางเหรียญมีอักษรว่า "พระราชทานแก่" แลจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามผู้ที่จะได้รับพระราชทานลงในกลางเหรียญที่ใต้พวงมาไล อันมีช่อดอกไม้รับรองอยู่นั้น เหรียญนี้จะได้ห้อยแพรแถบสีเหลืองริมชมภู ห้อยกับเข็มอันมีอักษรจารึกว่า "ราชสุปรีย์" สำหรับติดที่รังดุมเสื้อ ณ อกข้างซ้าย"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขรูปแบบเหรียญจักรพรรดิมาลาให้มีลักษณะใกล้เคียงกับเหรียญจักรมาลาซึ่งพระราชทานสำหรับข้าราชการฝ่ายทหาร ปรากฏความตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา ร.ศ. 130 ว่า

"เหรียญจักรพรรดิมาลาเทียบเหรียญจักรมาลาของทหาร เปนเหรียญเงินมีสัณฐานเปนรูปจักร์ ด้านหน้ามีรูปพระครุฑพาหอยู่ในวงจักร์ ด้านหลังมีรูปช้างอยู่ในวงจักร์ มีอักษรจาฤกรอบวงว่า "บำเหน็จแห่งความยั่งยืนแลมั่นคงในราชการ" ข้างบนเหรียญมีเข็มวชิราวุธห้อยกับแพรแถบสีแดง ขอบสีเหลืองกับสีเขียว มีเข็มเงินเบื้องบนแพรแถบจาฤกอักษร ราชสุปรีย สำหรับติดที่อกเสื้อข้างซ้าย"

ในปี พ.ศ. 2484 ได้มีการปรับปรุงลักษณะของเหรียญจักรพรรดิมาลาอีกครั้ง โดยยังคงลักษณะของเหรียญเดิมที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา ร.ศ. 130 เกือบทั้งหมด แต่ไม่มีเข็มคำว่า "ราชสุปรีย" ประดับที่ตอนบนของแพรแถบเหรียญ ตามความบรรยายในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา พ.ศ. 2484 ดังนี้

"เหรียญจักรพรรดิมาลามีลักษณะเป็นเหรียญเงินกลมรูปจักร ด้านหน้ามีรูปครุฑพ่าห์อยู่ในวงจักร ด้านหลังมีรูปช้างอยู่ในวงจักร จารึกอักษรโดยรอบว่า “บำเหน็จแห่งความยั่งยืนและมั่นคงในราชการ” เบื้องบนเหรียญมีเครื่องหมายพระวชิราวุธห้อยกับแพรแถบกว้าง 3 เซนติเมตร สีแดงขอบสีเหลืองกับสีเขียว ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย"

การพระราชทาน และการส่งคืน/การเรียกคืน[แก้]

เหรียญจักรพรรดิมาลาเมื่อประดับร่วมกับเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่ระลึกชนิดต่างๆ
  • สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ที่รับราชการมาด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 25 ปี การนับเวลาราชการ ให้นับโดยคำนวณเวลาราชการทั้งหมดของผู้นั้นรวมกัน แต่ถ้าผู้นั้นเข้ารับราชการก่อนอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ให้นับตั้งแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์
  • ทหารหรือตำรวจ ที่รับราชการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี หากยังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะรับพระราชทานเหรียญจักรมาลาก็ให้ได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาแทน
  • พระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ให้ทายาทโดยธรรมเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึกได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ประดับ
  • ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญนี้จะได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกรด้วย
  • ถ้าผู้ได้รับพระราชทาน หรือทายาทโดยธรรม ประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ ถ้าส่งคืนไม่ได้ ด้วยประการใด ๆ ภายในกำหนดสามสิบวัน จะต้องใช้ราคาของเหรียญแก่ทางราชการตามราคาของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น

ผู้ที่ได้รับพระราชทาน[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552 เล่มที่ 126 ตอนที่ 62
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา เล่ม ๑๒ ตอน ๔๙ หน้า ๔๘๐