ธง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เป็นธงร้านพอใจ

ธง เป็นวัตถุใช้เป็นเครื่องหมายเพื่อสื่อสาร เช่น บอกชาติ ตำแหน่งในราชการ โดยมีกำหนดกฎเกณฑ์เป็นต้น เช่น ธงชาติ ธงแม่ทัพนายกอง ใช้เป็นเครื่องหมายตามแบบสากลนิยม เช่น ธงกาชาด บอกที่ตั้งกองบรรเทาทุกข์, ธงขาว บอกความจำนนขอหย่าศึกหรือยอมแพ้, ธงเหลือง บอกเป็นเรือพยาบาลคนป่วยหรือเรือที่มีโรคติดต่ออันตราย, ธงแดง บอกเหตุการณ์อันเป็นภัย ใช้เป็นเครื่องหมายเรือเดินทะเล คณะ สมาคม อาคารการค้า ใช้เป็นอาณัติสัญญาณ ใช้เป็นเครื่องตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริงหรือถือเข้ากระบวนแห่เป็นต้น

ส่วนใหญ่ธงจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ยังมีธงสามเหลี่ยมหรือธงรูปร่างแบบอื่นต่างกันไป

ประวัติ[แก้]

ธงชาติเดนมาร์ก เป็นธงราชการที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

ไม่ทราบที่มาของธง แต่ในสมัยโบราณ ป้ายสนามหรือมาตรฐานถูกใช้ในสงครามที่สามารถจัดประเภทเป็น vexilloid หรือ 'flag-like' มีต้นกำเนิดในอียิปต์โบราณหรืออัสซีเรีย ตัวอย่าง ได้แก่ มาตรฐานการต่อสู้ Sassanid Derafsh Kaviani และมาตรฐานของกองทัพโรมัน เช่น นกอินทรีของกองทัพที่ 10 ของจักรพรรดิเอากุสตุสหรือมาตรฐานมังกรของ Sarmatians อันหลังปล่อยให้โบยบินไปอย่างอิสระในสายลม ที่คนขี่ม้าถืออยู่ แต่ดูจากการพรรณนาว่ามันคล้ายกับว่าวมังกรยาวกว่าธงธรรมดา

ธงที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ทำจากผ้าที่เป็นตัวแทนของตัวตนเฉพาะ ถูกประดิษฐ์ขึ้นในอนุทวีปอินเดียหรือราชวงศ์โจวของจีน (1046-256 ก่อนคริสตศักราช) ธงจีนที่เป็นรูปสัตว์หลากสีสันและธงของราชวงศ์จะต้องได้รับการเคารพในระดับเดียวกันกับผู้ปกครอง ธงอินเดียมักเป็นรูปสามเหลี่ยมและตกแต่งด้วยสิ่งที่แนบมา เช่น หางของจามรีและร่มของรัฐ ประเพณีเหล่านี้แพร่กระจายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน และถูกส่งไปยังยุโรปผ่านโลกของชาวมุสลิมซึ่งมีการใช้ธงสีเรียบๆ อันเนื่องมาจากข้อบัญญัติของอิสลาม

ในยุโรป ในช่วงยุคกลาง ธงถูกนำมาใช้เป็นหลักในการต่อสู้เพื่อให้ระบุอัศวินได้ง่ายกว่าเฉพาะจากอุปกรณ์พิธีการที่วาดบนโล่ ในช่วงยุคกลางสูงและเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายยุคกลาง รัฐในเมืองและชุมชนต่างๆ เช่น สมาพันธรัฐสวิสเก่า ก็เริ่มใช้ธงเป็นสัญญาณภาคสนาม ธงกองร้อยสำหรับแต่ละหน่วยกลายเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงยุคต้นยุคใหม่

ประเภทของธงที่สำคัญ[แก้]

ในการศึกษาเกี่ยวกับธงนั้นสามารถจะจำแนกธงได้หลายประเภท ตามลักษณะของธงและจุดประสงค์การใช้งาน เช่น

ธงชาติ[แก้]

ธงชาติไทย

ธงชาติ คือ ธงที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐชาติต่าง ๆ ซึ่งบรรจุความหมายของความเป็นชาติ หรืออุดมการณ์ของรัฐ หรือสิ่งที่เป็นของดีประจำชาติไว้ภายใน ธงนี้เป็นธงที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในทุก ๆ ประเทศ เพราะประชาชนในรัฐชาติสามารถจัดหามาไว้เองได้ทั่วไปหากต้องการแสดงความเป็นชาติของตนเอง

ธงชาติของทุกประเทศล้วนได้รับรองจากรัฐของตนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะรับรองด้วยกฎหมายเกี่ยวกับธงโดยเฉพาะหรือรัฐธรรมนูญก็ตาม แน่นอนว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติก็ต้องออกกฎหมายรับรองลักษณะของธงชาติฉบับใหม่ด้วย

อนึ่ง ธงนี้เป็นเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบธงอื่น ๆ ที่สื่อความหมายถึงชาติและได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับธงด้วย เช่น ธงราชนาวี ธงฉาน เป็นต้น

ธงราชนาวี[แก้]

ธงราชนาวีไทย

ธงราชนาวี หมายถึง ธงที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือประจำชาติต่าง ๆ โดยชักขึ้นตามสถานที่ราชการและเรือรบในสังกัดกองทัพเรือ (ชักขึ้นที่เสากาฟฟ์และท้ายเรือรบ) ธงนี้มีความสำคัญมากเทียบเท่ากับธงชาติ เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจอธิปไตยของชาติทางน้ำ ฉะนั้น การออกแบบธงราชนาวีโดยมากจึงอิงลักษณะพื้นฐานจากธงชาติ แต่จะมีการเพิ่มเติมรายละเอียดบางอย่างลงไปในธง ซึ่งจะต้องกำหนดไว้ในกฎหมายที่ว่าด้วยธงไว้ชัดเจน

ธงฉาน[แก้]

ธงฉาน หมายถึง ธงที่บัญญัติใช้เพิ่มเติมขึ้นจากธงชาติเพื่อใช้ชักขึ้นทางด้านหัวเรือรบ โดยจะใช้ชักในโอกาสสำคัญ ๆ หรือชักขึ้นเพื่อแสดงยศของนายทหารผู้บังคับการเรือ หรือชักขึ้นเพราะมีหน้าที่พิเศษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธง

สำหรับประเทศไทยนั้น หน้าที่ของธงฉานได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ว่า "...ธงนี้เป็นธงที่ใช้ในเรือพระที่นั่ง และเรือหลวง หรือ เป็นธงสำหรับหน่วยทหารเรือที่ยกพลขึ้นบก ซึ่งหน่วยทหารนั้นไม่ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพล"

ธงชัยเฉลิมพล (ธงประจำกองทหาร)[แก้]

ธงชัยเฉลิมพล หมายถึง ธงประจำหน่วยทหารซึ่งได้รับมอบจากประมุขของรัฐชาติ โดยมากออกแบบเพิ่มเติมจากลักษณะของธงชาติ เพื่อให้ธงนี้เป็นสัญลักษณ์แทนชาติและอุดมการณ์ของรัฐด้วย นอกจากนั้น ธงนี้จะเป็นเครื่องหมายระบุหน่วยทหารแล้วยังถือกันว่าเป็นขวัญกำลังใจของกองทหารเป็นอย่างยิ่ง เวลาที่หน่วยทหารออกรบจะต้องนำธงนี้ไปในสนามรบด้วยเสมอ และจะต้องรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต หากธงนี้ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายศัตรูก็ถือว่าเป็นการเสียเกียรติของชาติอย่างยิ่งทีเดียว

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้การปฏิบัติต่อธงชัยเฉลิมพลทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามพิธีการและระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน และโอกาสในการเชิญธงชัยเฉลิมพลออกใช้งาน จะต้องเป็นพิธีการที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศและเชิดหน้าชูตาเท่านั้น เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร เป็นต้น

มีข้อควรรู้เล็กน้อยว่าศัพท์ของธงชัยเฉลิมพลในภาษาอังกฤษนั้น นักแปลศัพท์ทหารในไทยจะใช้คำว่า Colours ในขณะที่ผู้ศีกษาเรื่องธงในต่างประเทศจะนิยมเรียกธงนี้ตามลักษณะกองทัพ เช่น ธงชัยเฉลิมพลกองทหารบก ก็เรียกว่า Army flag เป็นต้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]