ธงชาติเลบานอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติเลบานอน
การใช้ ธงชาติและธงชาติประจำเรือ
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2486
ลักษณะ สีแดง-ขาว-แดง ตามลำดับ โดยแถบสีขาวมีความกว้างเป็นสองเท่าของแถบสีแดง (สัดส่วนริ้วธง 1:2:1) ที่กลางธงในแถบสีขาวมีรูปต้นซีดาร์สีเขียว มีความกว้างเป็นหนึ่งในสามส่วนของด้านยาวของธง และความสูงของต้นซีดาร์นั้นจรดแถบสีแดงทั้งสองด้านพอดี[1]

ธงชาติเลบานอน (อาหรับ: علم لبنان) มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงภายในแบ่งเป็น 3 ส่วนตามแนวนอน เป็นสีแดง-ขาว-แดง ตามลำดับ โดยแถบสีขาวมีความกว้างเป็นสองเท่าของแถบสีแดง (สัดส่วนริ้วธง 1:2:1) ที่กลางธงในแถบสีขาวมีรูปต้นซีดาร์สีเขียว มีความกว้างเป็นหนึ่งในสามส่วนของด้านยาวของธง และความสูงของต้นซีดาร์นั้นจรดแถบสีแดงทั้งสองด้านพอดี[2] ธงนี้ได้ออกแบบขึ้นที่บ้านของซาเอ็บ ซาลาม (Saeb Salam) สมาชิกรัฐสภาเลบานอน ที่เมืองมูไซเบฮ์ (Mousaitbeh) และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแห่งเลบานอนให้ใช้เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2486

โดยทั่วไปแล้วมักเกิดความเข้าใจผิดว่า สีของลำต้นต้นซีดาร์ในธงนี้ควรเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล แต่ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเลบานอน หมวด 1 มาตรา 5 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า รูปต้นซีดาร์ต้องเป็นสีเขียวทั้งหมดเท่านั้น

สัญลักษณ์และความหมาย[แก้]

แถบสีแดงหมายถึงเลือดเนื้อที่หลั่งรินเพื่ออิสรภาพของชาวเลบานอน แถบสีขาวหมายถึงสันติภาพ หรือในอีกนัยหนึ่งยังหมายถึง หิมะที่ปกคลุมยอดภูเขาเลบานอนด้วย ต้นซีดาร์สีเขียว (หรือที่เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า อาร์ซ (Arz) จัดอยู่ในสปีชีส์ Cedrus libani เรียกกันทั่วไปว่า ต้นซีดาร์เลบานอน) หมายถึงความมั่นคงและการคงอยู่ของเลบานอนชั่วนิรันดร์

ต้นซีดาร์ดังกล่าวนี้ ถูกอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งจากข้อความในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า

คนชอบธรรม ก็งอกขึ้นอย่างต้นอินทผลัม เจริญขึ้นอย่างต้นสนซีดาร์ในเลบานอน

ในหนังสือธงชาติและตราแผ่นดินในโลก (Flags and arms of the World) ของวิทนีย์ สมิธ ฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ได้อ้างถึงที่มาของสีในธงชาติเลบานอนว่า "สีแดงและสีขาวมีความเชื่อมโยงกับชาวเคอีสไซต์ (Kayssites) และชาวเยเมไนต์ (Yemenites) ตามลำดับ ซึ่งเป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์ขั้วตรงข้าม (opposing clans) ที่แบ่งแยกสังคมเลบานอนในช่วงปี ค.ศ. 634 - ค.ศ. 1711" อย่างไรก็ตาม คำอธิบายดังกล่าวนี้เป็นที่รู้กันน้อยมากในวัฒนธรรมของชาวเลบานอน

พัฒนาการ[แก้]

ยุคก่อนประวัติศาสตร์[แก้]

ยุคกลาง[แก้]

ยุครัฐสุลต่าน[แก้]

ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า เลบานอนหรือหรืออย่างน้อยที่สุดคือในภูมิภาคเลบานอน ได้มีธงประจำดินแดนของตนเองใช้อยู่แล้วหลายรูปแบบตามแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นในสมัยของชาวฟีนิเชียน สมัยสุลต่านมัมลุค (Mamluk) หรือสมัยจักรวรรดิออตโตมัน

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 กลุ่มชาวมารอนไนต์ (Maronnites) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามแต่พูดภาษาอาหรับในเลบานอน ได้ใช้ธงรูปต้นซีดาร์สีเขียวบนพื้นสีขาว ต่อมาประมาณช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขบวนการชาตินิยมชาวเลบานอนจึงได้เพิ่มแถบกากบาทแนวทแยงมุมสีแดงบนพื้นธง ซึ่งมีความหมายถึงเลือดของผู้พลีชีพเพื่อชาวเลบานอน ต่อมาจึงหมายถึงสีธงประจำกองทหารต่างด้าวเลบานอน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยฝรั่งเศส ชาติผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเลบานอนในเวลานั้น และได้เป็นรากฐานสำคัญของกองทัพบกเลบานอนในเวลาต่อมา

รัฐในอาณัติฝรั่งเศส[แก้]

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เลบานอนมีสถานะเป็นรัฐในอาณัติ (Mandate) ของฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 - 2486 ธงชาติเลบานอนในยุคนี้มีลักษณะเป็นธงสามสี (le tricolore) ของประเทศฝรั่งเศส แต่ตรงกลางมีรูปต้นซีดาร์สีเขียว ซึ่งออกแบบโดย นาอูม มูการ์เซล (Naoum Mukarzel) ผู้นำขบวนการกู้ชาติเลบานอน (Lebanese Renaissance Movement)

สาธารณรัฐ[แก้]

เมื่อเลบานอนประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส และสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐขึ้นใน พ.ศ. 2486 สัญลักษณ์ของประเทศที่ก่อตั้งขึ้นใหม่นี้ก็คือธงชาติเลบานอนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งออกแบบครั้งแรกโดยบรรดาสมาชิกรัฐสภาเลบานอน ที่บ้านของซาเอ็บ ซาลาม (Saeb Salam) สมาชิกรัฐสภาเลบานอนผู้หนึ่งในขณะนั้น ในเมืองมูไซเบฮ์ (Mousaitbeh) ต่อมาจึงได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเลบานอน ให้ใช้เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2486 โดยกำหนดลงในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเลบานอน

ขบวนการทางการเมือง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเลบานอน หมวด 1 มาตรา 5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-05-03. สืบค้นเมื่อ 2008-02-21.
  2. Volker Preuß. "Flagge des Libanesische Republik" (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 2003-10-28.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]