ธงชาติอียิปต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติอียิปต์
การใช้ ธงชาติ
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2527
ลักษณะ ธงสามสีสามแถบแนวนอนขนาดเท่ากัน พื้นสีแดง-ขาว-ดำ มีรูปนกอินทรีแห่งซาลาดินที่กลางแถบสีขาว
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
ชื่ออื่น ธงชาติกองทัพอียิปต์
การใช้ ธงกองทัพ
สัดส่วนธง 2:3
ลักษณะ ธงชาติอียิปต์ มีดาบโค้งคู่ไขว้สีขาวที่มุมธงบนด้านคันธง
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
ชื่ออื่น ธงนาวีอียิปต์
การใช้ ธงนาวี
สัดส่วนธง 2:3
ลักษณะ ธงชาติอียิปต์ มีสมอคู่ไขว้สีขาวที่มุมธงบนด้านคันธง

ธงชาติอียิปต์ (อาหรับ: علم مصر) เป็นธงสามสีซึ่งประกอบด้วยแถบสีแนวนอนขนาดเท่ากันสามแถบ เรียงลำดับเป็นสีแดง สีขาว และสีดำ จากบนลงล่าง สีทั้งสามนี้เป็นสีที่มาจากธงขบวนการปลดแอกอาหรับ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์การปฏิวัติในอียิปต์เมื่อปี ค.ศ. 1952 ในธงดังกล่าวได้บรรจุรูปสัญลักษณ์นกอินทรีแห่งซาลาดิน อันเป็นรูปตราแผ่นดินของอียิปต์ ไว้ที่กลางแถบสีขาว ลักษณะของธงที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1984

ความหมาย[แก้]

ธงขบวนการปลดแอกอาหรับ (ปัจจุบันประเทศเยเมนรับมาใช้เป็นธงชาติของตนเอง)

คณะนายทหารซึ่งได้ทำการปฏิวัติล้มล้างราชบัลลังก์ของพระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์ในการปฏิวัติปี ค.ศ. 1952 ได้เป็นผู้กำหนดความหมายของแถบสีธงขบวนการปลดแอกอาหรับไว้แต่ละสี โดยสีแดงถือเป็นสัญลักษณ์ถึงช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติ อันเป็นยุคแห่งการต่อสู้เพื่อโค่นล้มการปกครองระบอบราชาธิปไตยของราชวงศ์มุฮัมมัดอาลีและการปกครองด้วยระบบอาณานิคมของสหราชอาณาจักร สีขาวหมายถึงการปฏิวัติที่เกิดขึ้นเป็นการปฏิวัติโดยปราศจากการนองเลือด ส่วนสีดำเป็นตัวแทนแห่งการสิ้นสุดยุคแห่งการกดขี่โดยระบอบราชาธิปไตยและจักรวรรดินิยมต่างด้าว

การใช้ธงขบวนการปลดแอกอาหรับของอียิปต์ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้บรรดารัฐอาหรับจำนวนหนึ่งนำธงดังกล่าวไปปรับใช้เป็นธงของตนเอง เช่น ประเทศอิรัก ประเทศซีเรีย ประเทศเยเมน (ในอดีตยังรวมถึงประเทศลิเบียด้วย) ซึ่งนอกจากการใช้ธงสามสีแบบเดียวกันแล้ว แต่ละชาติจะเพิ่มเครื่องหมายลงไปในธง หรือลบเครื่องหมายบางอย่างออกไปจากธง เพื่อแยกแยะความแตกต่างของธงแต่ละประเทศ

สีแดง สีขาว สีดำ สีทอง
RGB 206/17/38 255/255/255 0/0/0 192/147/0
Hexadecimal #ce1126ff #FFFFFF #000000ff #c09300ff
CMYK 0/92/82/19 0/0/0/0 0/0/0/100 0/23/100/25

ประวัติ[แก้]

ประวัติศาสตร์แห่งธงชาติอียิปต์ยุคใหม่ถือกันว่าเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์มุฮัมมัดอาลี ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ปกครองอียิปต์ร่วมกับดินแดนที่เป็นประเทศซูดานในปัจจุบัน และเติบโตมากขึ้นในสมัยแห่งลัทธิชาตินิยมอาหรับ

สมัยราชวงศ์มูฮัมมัด อาลี (ค.ศ. 1805–1923)[แก้]

เมื่อมูฮัมมัด อาลีแห่งอียิปต์สามารถเข้ายึดครองแผ่นดินอียิปต์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1805 ฐานะอย่างเป็นทางการของอียิปต์ในเวลานั้นนับเป็นเพียงมณฑลหนึ่งในความปกครองของจักรวรรดิออตโตมาน อย่างไรก็ตาม ตลอดรัชสมัยของพระองค์และสืบเนื่องต่อมาอีก 2 รัชกาล อียิปต์มีอิสระในการปกครองเสมือนว่าเป็นรัฐเอกราชในฐานะของรัฐเคดีฟ (Khedive) เพื่อเป็นการแสดงถึงสิทธิ์ในการปกครองตนเองของพระองค์ เคดีฟมุฮัมมัดอาลีจึงทรงริเริ่มในการใช้ธงใหม่ของอียิปต์ซึ่งเป็นรูปเดือนเสี้ยวและดาวสามคู่รวมอยู่ในพื้นธงสีแดง กล่าวกันว่าการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายถึงชัยชนะในกองทัพของพระองค์ที่มีต่อแผ่นดินสามทวีป อันได้แก่ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา และสะท้อนถึงพระราชอำนาจของพระองค์ที่มีเหนือแผ่นดินอียิปต์ ซูดาน และเฮจาซ)[1] การที่สัญลักษณ์ในธงนี้พ้องกันกับธงของจักรวรรดิออตโตมานนั้นเป็นไปอย่างจงใจ เพราะพระเจ้ามุฮัมมัดอาลีทรงคิดการใหญ่ไว้ในพระทัยว่าทรงประสงค์จะถอดถอนสุลต่านแห่งราชวงศ์ออสมัน และจะขึ้นยึดครองราชบัลลังก์แห่งจักรวรรดิออตโตมานเสียเอง

อียิปต์ยังคงใช้ธงนี้สืบต่อมาภายหลังอำนาจอธิปไตยของจักรวรรดิออตโตมานสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1914 และอียิปต์ได้ประกาศสถาปนาประเทศขึ้นเป็นรัฐสุลต่านอียิปต์ภายใต้การอารักขาของสหราชอาณาจักร

ในอีกด้านหนึ่ง หลังเกิดเหตุการณ์กบฏอูราบีในปี ค.ศ. 1882 สหราชอาณาจักรได้ส่งกองทัพเข้ายึดครองประเทศอียิปต์ เหตุการณ์ดังกล่าวได้จุดชนวนให้ฝ่ายชาตินิยมอียิปต์เกิดความไม่พอใจ และความไม่พอใจดังกล่าวได้ทวีขึ้นถึงขีดสุดในเหตุการณ๋การปฏิวัติอียิปต์ ค.ศ. 1919 เมื่อทั้งธงสีแดงที่พระเจ้ามุฮัมหมัดอาลีทรงคิดขึ้นและธงพิเศษพื้นสีเขียวมีรูปกางเขนและเดือนเสี้ยวถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านอังกฤษ ซึ่งธงอย่างหลังนั้น เป็นธงที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ร่วมของชาวอียิปต์ที่เป็นชาวมุสลิมและชาวคริสต์กลุ่มคอปติคใช้แสดงการสนุบสนุนขบวนการชาตินิยมต่อต้านการยึดครองของสหราชอาณาจักร

ราชอาณาจักรอียิปต์และซูดาน (ค.ศ. 1922–1953)[แก้]

ในปี ค.ศ. 1922 สหราชอาณาจักรได้ตกลงที่จะมอบเอกราชอย่างเป็นทางการให้แก่อียิปต์ โดยมีข้อแม้ประการหนึ่งว่าสุลต่านฟูอัดที่ 1 แห่งอียิปต์ จะต้องเปลี่ยนแปลงพระอิสริยยศของพระองค์จากสุลต่านเป็นกษัตริย์ (King) และเปลี่ยนแปลงสถานะประเทศจากรัฐสุลต่านเป็นราชอาณาจักร ซึ่งสุลต่านก็ทรงยินยอม หลังจากนั้นพระเจ้าฟูอัดที่ 1 กษัตริย์แห่งอียิปต์ จึงได้ออกพระบรมราชโองการให้แก้ไขธงชาติอียิปต์เสียใหม่เป็นธงเดือนเสี้ยวสีขาวล้อมดาวห้าแฉกสามดวงในพื้นสีเขียว

ในธงชาติที่ออกแบบใหม่นั้น รูปดาวสามดวงสีขาวหมายถึงดินแดนสามส่วนของราชอาณาจักร คือ อียิปต์ นิวเบีย และซูดาน ส่วนพื้นสีเขียวและเดือนเสี้ยวหมายถึงศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ รูปดาวทั้งสามดวงนั้นกล่าวกันว่ายังหมายถึงศาสนา 3 ศาสนาที่ประชาคมกลุ่มต่างๆ ในอียิปต์นับถือโดยหลัก อันได้แก่ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนายิว

สาธารณรัฐอียิปต์ (ค.ศ. 1953–1958)[แก้]

หลังการปฏิวัติล้มล้างระบอบราชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1952 คณะนายทหารผู้ทำการปฏิวัติได้คงธงชาติเดืมสมัยราชอาณาจักรไว้ แต่ได้เสนอธงของขบวนการปฏิวัติอาหรับเพิ่มขึ้นอีกธงหนึ่ง ซึ่งธงดังกล่าวเป็นพื้นแถบแนวนอนสีแดง สีขาว และสีดำ มีรูปนกอินทรีแห่งศอลาฮุดดีนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการปฏิวัติที่กลางแถบสีขาว ซึ่งรูปนกอินทรีแห่งซาลาดินในธงนี้มีลักษณะบางประการที่แตกต่างไปจากแบบได้ได้มีการประกาศใช้ในยุคหลัง ต่อมาแม้ราชอาณาจักรอียิปต์และซูดานจะได้สิ้นสภาพโดยสมบูรณ์จากการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐใหม่ในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 ก็ตาม แต่ธงของราชอาณาจักรก็ยังใช้ในทางราชการอยู่จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งสหสาธารณรัฐอาหรับขึ้นในปี ค.ศ. 1958

สหสาธารณรัฐอาหรับ (ค.ศ. 1958–1971)[แก้]

ในปี ค.ศ. 1958 ประเทศอียิปต์และประเทศซีเรียได้รวมตัวกันจัดตั้งประเทศใหม่ในนามสหสาธารณรัฐอาหรับ และได้มีการสร้างธงชาติใหม่ขึ้นโดยยึดตามต้นแบบจากธงขบวนการปลดแอกอาหรับ แต่ใช้รูปดาวห้าแฉกสีเขียวสองดวงเป็นสัญลักษณ์ในธงแทนตรานกอินทรีแห่งศอลาฮุดดีน สำหรับดวงตราดังกล่าวนั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขบางส่วนและได้ใช้เป็นตราแผ่นดินของสหสาธารณรัฐอาหรับแทนตราเดิมของอียิปต์


Colours scheme
สีแดง สีขาว สีเขียว สีดำ
RGB 206/17/38 255/255/255 0/122/61 0/0/0
Hexadecimal #ce1126ff #FFFFFF #007a3dff #000000ff
CMYK 0/92/82/19 0/0/0/0 100/0/50/52 0/0/0/100

สหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับ (ค.ศ. 1972–1977)[แก้]

แม้ในเวลาต่อมาประเทศซีเรียจะถอนตัวจากการเป็นรัฐสมาชิกของสหสาธารณรัฐอาหรับในปี ค.ศ. 1961 ก็ตาม แต่อียิปต์ก็ยังคงใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อของประเทศอย่างเป็นทางการต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1971 เมื่ออียิปต์ได้แก้ไขชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศเป็นสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt) ในปี ค.ศ. 1972 อียิปต์ได้ร่วมมือกับซีเรียและลิเบียจัดตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับ (Federation of Arab Republics) ธงของสหสาธารณรัฐเดิม (ซึ่งต่อมาซีเรียจะนำมาใช้เป็นธงชาติของตนเองในอีก 8 ปี ให้หลัง) จึงถูกแทนที่ด้วยธงชาติรัฐสมาชิกในสหพันธรัฐจะต้องใช้ร่วมกัน ธงใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ยังคงมีพื้นฐานมาจากธงของขบวนการปลดแอกอาหรับอยู่เช่นเดิม แต่ได้เปลี่ยนรูปสัญลักษณ์กลางธงเสียใหม่เป็นรูปเหยี่ยวแห่งกูเรช (Hawk of Qureish) ซึ่งเดิมใช้เป็นตราแผ่นดินของซีเรียก่อนการเข้าร่วมสหสาธารณรัฐอาหรับในปี ค.ศ. 1958 รูปดังกล่าวนี้ได้มีการนำมาใช้เป็นตราแผ่นดินของสหพันธรัฐด้วย


Colours scheme
สีแดง สีขาว สีดำ สีทอง
RGB 206/17/38 255/255/255 0/0/0 239/187/34
Hexadecimal #ce1126ff #FFFFFF #000000ff #efbb22ff
CMYK 0/92/82/19 0/0/0/0 0/0/0/100 0/22/86/6

สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (ค.ศ. 1984 - ปัจจุบัน)[แก้]

เมื่อสหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับได้ยุบตัวลงในปี ค.ศ. 1977 ประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ยังคงใช้ธงของสหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับเป็นสัญลักษณ์สืบต่อมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1984 จึงได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงธงชาติอียิปต์เสียใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ในแถบสีขาวจากรูปเหยี่ยวแห่งกูเรชมาเป็นรูปนกอินทรีแห่งซาลาดินอีกครั้ง ซึ่งรูปนกอินทรีที่ใช้ในธงนี้เป็นรุ่นที่มีการแก้ไขจากรุ่นดิมที่ใช้ในปี ค.ศ 1952 มาเป็นรุ่นที่ใช้ในปี ค.ศ. 1958 ลักษณะของธงดังที่ปรากฏนี้ยังคงใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้

ข้อบังคับในการใช้ ชัก และแสดงธง[แก้]

ธงชาติอียิปต์จะต้องมีการชักขึ้นประจำอาคารสำนักงานของทางราชการอียิปต์ในทุกวันศุกร์ ในวันหยุดราชการ วันเปิดการประชุมสภาแห่งชาติ เนื่องในโอกาสอื่นๆ ตามแต่กระทรวงมหาดไทยของอียิปต์จะกำหนด สำหรับด่านรักษาการณ์ชายแดน อาคารศุลกากร สถานกงสุลและสถานเอกอัครราชทูตของอิยิปต์จะต้องชักธงชาติเป็นประจำทุกวัน โดยสถานกงสุลและสถานเอกอัครราชทูตจะต้องประดับธงชาติในวันที่ 23 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่ระลึกแห่งการปฏิวัติอียิปต์ และในวันหยุดราชการอื่นๆ รวมทั้งในระหว่างที่ประธานาธิบดีของอียิปต์เดินทางเยือนประเทศที่อียิปต์มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย

การกระทำการใดซึ่งเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามธงชาติถือเป็นโทษทางอาญาตามกฎหมายของอียิปต์ เพราะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นต่ออำนาจของรัฐ ซึ่งเงื่อนไขการลงโทษดังกล่าวนั้นยังรวมความไปถึงการดูหมิ่นต่อธงชาติและตราแผ่นดินของต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Volker Preuß. "Flagge Ägyptens unter den Khediven 1867–1882" (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 2003-09-07.
  • "ธงชาติอียิปต์". กรมสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ รัฐบาลอียิปต์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-13. สืบค้นเมื่อ 2010-07-13.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]