เทศบาลเมืองแม่เหียะ
เทศบาลเมืองแม่เหียะ | |
---|---|
จากบนซ้ายไปล่างขวา: อุทยานหลวงราชพฤกษ์, เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ, วัดพระธาตุดอยคำ และวัดป่าจี้ | |
คำขวัญ: ดอยคำพันสี่ร้อยปี ประเพณีเลี้ยงดง สรงน้ำพระธาตุ ถิ่นปราชญ์ล้านนา ภูมิปัญญาท้องถิ่นดินขอ น้ำแม่เหียะหล่อชีวี | |
พิกัด: 18°44′41″N 98°57′4″E / 18.74472°N 98.95111°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
อำเภอ | เมืองเชียงใหม่ |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | กริณย์พล ไชยยาพิบูล (ตั้งแต่ 2567) |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 24.40 ตร.กม. (9.42 ตร.ไมล์) |
ประชากร (สิ้นปี 2564)[1] | |
• ทั้งหมด | 19,707 คน |
• ความหนาแน่น | 797.74 คน/ตร.กม. (2,066.1 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 04500103 |
ที่อยู่ สำนักงาน | 194 หมู่ 7 ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50100 |
โทรศัพท์ | 053-276491 |
เว็บไซต์ | www.maehia.go.th |
เทศบาลเมืองแม่เหียะ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลเมืองภายในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่เหียะทั้งตำบล แม่เหียะเป็นที่ตั้งของแปลงวิจัยเกษตรกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นที่ตั้งของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ กับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ตลอดจนวัดพระธาตุดอยคำ ทั้งหมดถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่
ตำบลแม่เหียะใช้เวลาเพียงสิบหกปีสามารถพัฒนาจากองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นเทศบาลเมือง เมืองแม่เหียะสามารถผลักดันตนเองจนกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมีการนำ เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานราชการส่วนท้องถิ่นและงานบริการประชาชนได้ก้าวหน้าที่สุดในไทย รัฐบาลกำหนดให้เมืองแม่เหียะเป็นต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัลแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2565
ประวัติ
[แก้]เทศบาลเมืองแม่เหียะ เดิมเป็นสภาตำบล[2] มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของส่วนราชการภูมิภาค ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 สภาตำบลแม่เหียะได้รับสถานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการท้องถิ่น[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นองค์การบริการส่วนตำบลจนถึง พ.ศ. 2550 จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล
ปี พ.ศ. 2554 จากการที่เทศบาลตำบลแม่เหียะ เป็นตำบลที่มีการพัฒนาและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว สภาเทศบาลตำบลแม่เหียะจึงได้มีมติให้ส่งเรื่องยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองไปยังรัฐสภา ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เทศบาลตำบลแม่เหียะจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น เทศบาลเมือง[4]
ภูมิศาสตร์
[แก้]ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ลาดเชิงเขา ที่เนิน สลับกับพื้นที่ค่อนข้างราบ มีเทือกเขาดอยสุเทพผ่านทางด้านทิศตะวันตกของตำบล ความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 300 เมตร โดยพื้นที่ลาดจะลาดจากทิศเหนือไปทิศใต้และจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก[5] แหล่งน้ำที่สำคัญคือ ลำห้วยแม่เหียะและคลองชลประทาน
ตำบลแม่เหียะมีอาณาเขตติดต่อ 5 ตำบลใน 2 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่[5]
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลสุเทพ และตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลหนองควาย และตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลหนองควาย และตำบลบ้านปง อำเภอหางดง
ตราสัญลักษณ์
[แก้]ตราประจำเทศบาล[6] เป็นรูปวงกลม ขอบบนวงกลมใหญ่มีอักษร "เทศบาลเมืองแม่เหียะ" และขอบล่างมีอักษร "จังหวัดเชียงใหม่" ในตราสัญลักษณ์ประกอบด้วย
- วัดพระธาตุดอยคำ แสดงถึงเป็นวัดสำคัญที่สุดของตำบล และเป็นสัญลักษณ์ของตำบล
- กระเบื้องดินขอ แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าของตำบล
- รัศมีที่เปล่งออกจากพระธาตุดอยคำ แสดงถึงความศรัทธาของชาวแม่เหียะ ที่ยึดมั่นในศาสนา
- รวงข้าว แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ การเจริญเติบโตอย่างมีคุณค่าและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
เขตการปกครอง
[แก้]ตำบลแม่เหียะแบ่งออกเป็น 10 หมู่[7] 12 หมู่บ้าน ได้แก่
- หมู่ 1 บ้านตำหนัก
- หมู่ 2 บ้านอุโบสถ
- หมู่ 3 บ้านป่าจี้, บ้านแม่เหียะใน
- หมู่ 4 บ้านท่าข้าม
- หมู่ 5 บ้านดอนปิน
- หมู่ 6 บ้านใหม่สามัคคี
- หมู่ 7 บ้านตำหนักใหม่
- หมู่ 8 บ้านวรุณนิเวศน์
- หมู่ 9 บ้านไทยสมุทร
- หมู่ 10 บ้านป่าเป้า, บ้านแกรนด์วิว
ประชากรและสังคม
[แก้]ปี | ประชากร | ±% |
---|---|---|
2537 | 9,997 | — |
2540 | 12,859 | +28.6% |
2543 | 13,989 | +8.8% |
2546 | 15,039 | +7.5% |
2549 | 16,021 | +6.5% |
2552 | 17,033 | +6.3% |
2555 | 18,135 | +6.5% |
2558 | 18,862 | +4.0% |
2561 | 19,297 | +2.3% |
2564 | 19,707 | +2.1% |
ที่มา: กรมการปกครอง[1] |
ตำบลแม่เหียะมีประชากรทั้งหมด 19,707 คน แบ่งเป็น ชาย 8,896 คน หญิง 10,811 คน ข้อมูลเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2564[1]
ตำบลแม่เหียะเป็นตำบลแถบชานของเวียงเชียงใหม่ ในอดีตประชาชนดั้งเดิมในพื้นที่มีส่วนใหญ่มีฐานะยากจนทำเกษตรกรรมและหาของป่าเป็นหลัก เนื่องด้วยการเกิดขึ้นของทางหลวงสองสายที่เชื่อมกับตัวเมือง ได้แก่ ทางหลวงเชียงใหม่–ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) และถนนเลียบคลองชลประทาน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 121) ทำให้ความเจริญเริ่มเข้ามา ประชาชนในพื้นที่สามารถเดินทางไป-กลับจากตัวเมืองได้สะดวกมากขึ้น เริ่มมีโครงการบ้านจัดสรรเข้ามาในพื้นที่ จากการที่ตำบลด้านหลังติดภูเขา มีคลองชลประทานและลำห้วยแม่เหียะไหลผ่าน ทำให้มีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติที่สวยงาม นี่เองทำให้ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เริ่มมีชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาอาศัยในตำบลแม่เหียะ
ความเจริญของแม่เหียะก้าวกระโดดขึ้นอย่างจากการเกิดขึ้นของสามโครงการใหญ่ อย่าง ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี, อุทยานหลวงราชพฤกษ์ และเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สามโครงการนี้ทำให้แม่เหียะกลายเป็นตำบลแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ มีการเข้ามาของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โครงการบ้านจัดสรรตลอดจน ร้านอาหารมากมาย สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้แม่เหียะเป็นหนึ่งในตำบลที่เติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศไทย ใช้เวลาเพียง 16 ปีก็สามารถยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบล ขึ้นเป็นเทศบาลเมือง ในขณะที่จำนวนชาวต่างชาติที่พำนักในแม่เหียะก็มากขึ้นตามลำดับ
การคลัง
[แก้]ปีงบประมาณ | รายได้จัดเก็บเอง และภาษีที่ได้รับจัดสรร |
เงินอุดหนุน จากรัฐบาล |
รวมรายได้ |
---|---|---|---|
2557[8] | 82.66 | 38.52 | 121.18 |
2558[8] | 94.10 | 43.87 | 137.97 |
2559[8] | 91.93 | 44.12 | 136.05 |
2560[9] | 100.61 | 42.40 | 143.01 |
2561[10] | 120.22 | 41.34 | 161.56 |
2562[11] | 126.72 | 44.92 | 171.64 |
2563[12] | 80.92 | 52.20 | 133.12 |
2564[13] | 84.46 | 49.35 | 133.81 |
2565[14] | 115.02 | 54.77 | 169.79 |
การขนส่ง
[แก้]ตำบลแม่เหียะมีถนนสายหลัก 3 สาย ได้แก่
ชื่อถนน | เส้นทาง | ระยะทางในเขตเทศบาล |
---|---|---|
ถนนเชียงใหม่–ฮอด | เทศบาลนครเชียงใหม่–ตำบลแม่เหียะ–อำเภอหางดง | 2.9 กิโลเมตร |
ถนนเลียบคลองชลประทาน | เทศบาลนครเชียงใหม่–ตำบลสุเทพ–ตำบลแม่เหียะ–อำเภอหางดง | 1.7 กิโลเมตร |
ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี | ตำบลแม่เหียะ–อำเภอสารภี | 3.4 กิโลเมตร |
สถานที่สำคัญ
[แก้]
|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2564 ท้องถิ่นเทศบาลเมืองแม่เหียะ ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง
- ↑ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 2 มีนาคม 2538 ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 95 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเทศบาลเมืองแม่เหียะ เก็บถาวร 2012-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๒๙ ตอนพิเศษ ๑๓ง หน้า ๔๕. ๑๑ มกราคม ๒๕๕๕.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ข้อมูลตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง เชียงใหม่ เก็บถาวร 2015-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ไทยตำบล ดอตคอม
- ↑ ตราสัญลักษณ์เทศบาล เก็บถาวร 2009-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ "หมู่บ้านในตำบลแม่เหียะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-18. สืบค้นเมื่อ 2009-11-19.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 บทวิเคราะห์การคลัง เทศบาลเมืองแม่เหียะ ประจำปีงบประมาณ 2559 เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
- ↑ รายงานทางการเงิน ประจำเดือนกันยายน 2560 เก็บถาวร 2021-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กองคลัง เทศบาลเมืองแม่เหียะ
- ↑ รายงานทางการเงิน ประจำเดือนกันยายน 2561 เก็บถาวร 2021-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กองคลัง เทศบาลเมืองแม่เหียะ
- ↑ รายงานทางการเงิน ประจำเดือนกันยายน 2562 เก็บถาวร 2020-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กองคลัง เทศบาลเมืองแม่เหียะ
- ↑ รายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ 2563 เก็บถาวร 2022-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เทศบาลเมืองแม่เหียะ
- ↑ "รายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ 2564". เทศบาลเมืองแม่เหียะ.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "รายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ 2565". เทศบาลเมืองแม่เหียะ.[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์เทศบาลเมืองแม่เหียะ เก็บถาวร 2009-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข้อมูลทั่วไปตำบลแม่เหียะ เก็บถาวร 2009-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่คมนาคมตำบลแม่เหียะ เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่เทศบาลเมืองแม่เหียะ โดยกูเกิล แมปส์