พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร | |
---|---|
ชื่อเต็ม | พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร |
ชื่อสามัญ | พระแก้วมรกต และ พระแก้ว |
ประเภท | พระพุทธรูป |
ศิลปะ | ศิลปะก่อนเชียงแสนปางสมาธิ |
ความกว้าง | 48.3 เซนติเมตร |
ความสูง | 66 เซนติเมตร |
วัสดุ | หยกอ่อน (เนไฟรต์) |
สถานที่ประดิษฐาน | พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ความสำคัญ | พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของ กรุงรัตนโกสินทร์ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ปัจจุบันประดิษฐานไว้อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดั่งมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน หลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ ตำบลเวียง เมืองเชียงราย[1] (ปัจจุบันคือ วัดพระแก้ว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย) ในปี พ.ศ. 1977 (หรือ ค.ศ. 1434) ฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง จึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิก (จมูก) เกิดกะเทาะออก เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกะเทาะปูนออกทั้งองค์ เห็นเป็นเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์
หลังจากนั้น พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ทราบข่าวการค้นพบพระพุทธรูปนี้ จึงเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่ช้างทรงพระแก้วมรกตกลับไม่เดินทางไปยังเชียงใหม่ แต่ไปทางลำปางหากช้างนั้นมีพระแก้วมรกตอยู่บนหลังช้าง เชียงใหม่เห็นว่าลำปางก็อยู่ในอาณาจักรล้านนาจึงนำไปไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้า ถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้เชิญพระแก้วมรกตมายังเชียงใหม่ สร้างปราสาทประดิษฐานไว้แต่ถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง ครั้นเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้างซึ่งเป็นญาติกับราชวงศ์ล้านนามาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาเสด็จกลับหลวงพระบาง ก็เชิญพระแก้วมรกตไปด้วยพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ ทางเชียงใหม่ขอคืนก็ได้แต่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ก็เชิญพระแก้วมรกตลงมาด้วย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบาง มาจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ (ลาว) ในครั้งนั้นประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงปัจจุบัน ส่วนพระบางได้คืนให้แก่ หลวงพระบาง (ลาว)
ตำนานพระแก้วมรกต
[แก้]ตำนานพระแก้วมรกตเดิมระบุว่าสร้างพ.ศ. 500 สร้างโดยเทวดาในประเทศอินเดีย แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชนิพนว่า สร้างโดยช่างโยนก ไม่ใช่สร้างในอินเดีย ที่น่าเชื่อถือจริงๆ คือประวัติตั้งแต่เชียงรายเป็นต้นไป เพราะดูจากพุทธศิลป์แล้ว เป็นแบบเบ้าของล้านนาเสียทั้งสิ้น ก่อนหน้านี้เป็นเรื่องแต่งทั้งสิ้น ดังนี้[ต้องการอ้างอิง]
พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในปี พุทธศักราช 500 โดยพระนาคเสนเถระ วัดอโศการาม กรุงปัฏนา ในแผ่นดินพระเจ้ามิลินท์ (เมนันเดอร์) สมเด็จพระอมรินทราธิราช พร้อมกับพระวิสสุกรรมเทพบุตร ได้นำแก้วโลกาทิพยรัตตนายก อันมีรัตนายกดิลกเฉลิม 1000 ดวง สีเขียวทึบ (หยกอ่อน) นำมาจำหลักเป็นพระพุทธรูปถวายให้พระนาคเสน ถวายพระนามว่า พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต พระนาคเสนจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงไปในพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต 7 พระองค์ คือพระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระเพลาซ้าย-ขวา แต่เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานแล้วนั้น เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนได้พยากรณ์ว่า พระแก้วองค์นี้ จะเสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ในเบญจประเทศ คือ ศรีลังกา กัมโพชะศรีอโยธยา โยนะวิสัย ปะมะหละวิสัย และ สุวรรณภูมิ[ต้องการอ้างอิง]
พุทธศักราช 800 โดยประมาณในแผ่นดินพระเจ้าศิริกิตติกุมาร พระเชษฐราชโอรสในพระเจ้าตักละราช ขึ้นครองราชสมบัติเมืองปาฏลีบุตร เป็นช่วงที่เมืองปาฏลีบุตรเกิดมหากลียุค ทั้งมีการจลาจลภายในและข้าศึกภายนอก ผู้คนในปาฏลีบุตรที่เคารพนับถือพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ลงสู่สำเภาแล้วเดินทางลี้ภัยไปยังลังกาทวีป เมื่อถึงลังกาทวีปพระเจ้าแผ่นดินลังกาทวีปในสมัยนั้น (ไม่ได้ระบุพระนาม) ทรงรับรักษาพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตเป็นอย่างดียิ่ง และทรงอุปถัมภ์ค้ำชูชาวปาฏลีบุตรเป็นอย่างดีสมควรตามความดีความชอบ[ต้องการอ้างอิง]
พุทธศักราช 1000 โดยประมาณในแผ่นดินศรีเกษตรพุกามประเทศ พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครขณะนั้นคือพระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช(ภาษาบาลี) หรือ มังมหาอโนรธาช่อ(ภาษามอญ) พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระอานุภาพมาก บริบูรณ์ด้วยพลช้างพลม้าและทหารมากมาย แต่พระองค์ก็เป็นกษัตริย์ที่ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง มีพระราชโองการ ให้ส่งพระราชสาส์นและเครื่องมงคลบรรณาการ ไปยังลังกาทวีป เพื่อขอคัดลอกพระไตรปิฎกและขอพระแก้วมรกตกลับมาด้วย แต่เรือที่บรรทุกพระแก้วมรกตถูกพายุพัด พลัดเข้าไปทางอ่าวไทยแทน พระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์ เจ้ากรุงอินทปัตถ์มหานคร กัมพูชา สั่งให้อำมาตย์คุมสำเภากลับไปถวายคืนแก่พระเจ้าอนุรุทธ แต่ส่งกลับไปเพียงพระไตรปิฎกเท่านั้น มิได้ส่งพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตไปด้วย [ต้องการอ้างอิง]
หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่กรุงอินทปัตถ์นานพอสมควร ในแผ่นดินพระเจ้าเสน่ห์ราช เกิดพายุฝนขนาดใหญ่ตกเป็นนิจกาลยาวนานหลายเดือน พระเจ้าเสน่ห์ราชก็สวรรคตด้วยอุทกภัยนั้น พระมหาเถระ (ไม่ปรากฏพระนาม) ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาหนีไปยังที่ดอน พระเจ้าอติตะราช (อาทิตยราช) เจ้าครองนครอโยธยา(หมายถึงอโยธยาโบราณ) ทราบเรื่องจึงเสด็จกระบวนพยุหยาตรา ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ในที่ปลอดภัย โดยทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานในพระมหาเวชยันตปราสาท และได้ประดิษฐานในนครอโยธยาอีกหลายรัชสมัย [ต้องการอ้างอิง]
ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระบรมญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น จึงทูลขอนำพระแก้วมรกตขึ้นไป ประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดพระแก้วกำแพงเพชร ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต่อมา เจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าผู้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือสามหัวเมือง คือเชียงราย เชียงแสน และเมืองฝางได้ลี้ภัยจากศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่ ไปอาศัยอยู่กับพระยาญานดิส เจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อจะกลับไปเมืองเชียงราย ก็ได้ทูลขอพระแก้วมรกตต่อพระเจ้ากำแพงเพชร พระเจ้ากำแพงเพชรจึงได้ถวายให้เจ้ามหาพรหม [ต้องการอ้างอิง]
เมื่อเจ้ามหาพรหมชราภาพลง ด้วยความเป็นห่วงในพระแก้วมรกต จึงได้ทำการพอกปูนจนทึบและลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปสามัญทั่วไป แล้วบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์วัดป่าญะในเมืองเชียงรายโดยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งเกิดอัสนีบาตลงเจดีย์ตามที่ปรากฏในพงศาวดารของล้านนา
ปัญหาการตีความทางประวัติศาสตร์
[แก้]พระแก้วมรกต พระบาง และพระพุทธรูปหลายองค์ มักมีตำนานเกี่ยวเนื่องกัน ว่าสร้างในกรุงปาฏลีบุตรบ้าง สร้างในกรุงราชคฤห์บ้าง ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเพื่อทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าตำนานนั้นเป็นเรื่องที่แต่งเติมขึ้น ในกรณีของพระแก้วฯ นั้น ตำนานระบุว่าสร้างในเมืองปาฏลีบุตร ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ, ประเทศอินเดีย โดยปี พ.ศ. 500 ที่ตำนานอ้างถึงนั้น อาณาจักรมคธ อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์กานวะ ส่วนพระนาคเสน และพระเจ้ามิลินท์ (ชื่อตามประวัติศาสตร์คือ พระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1) ที่กล่าวอ้างไว้ ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. 378 - พ.ศ. 413 อยู่ที่กรุงสาคละ (อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือหลายพันกิโลเมตร) ซึ่งไม่ตรงกันทั้งช่วงเวลาและสถานที่ อีกทั้ง ช่วงพ.ศ. 800 ที่ตำนานกล่าวถึงอีกครั้ง ในขณะนั้นแคว้นมคธได้ล่มสลายไปแล้ว อยู่ในช่วงต้นของอาณาจักรคุปตะ จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าตำนานช่วงต้นนั้นเห็นจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมา
ประเพณี
[แก้]เนื่องจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชอาณาจักร ดังนั้นประเพณีที่เกี่ยวข้อง ส่วนมากจึงเป็นพระราชพิธี เช่น
- พระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา
- พระราชพิธีศรีสัจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
- พระราชพิธีสงกรานต์
- พระราชพิธีฉัตรมงคล
- พระราชพิธีพืชมงคล
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอาสาฬหบูชา
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเข้าพรรษา
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง
- พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
- พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มีกำหนดการดังนี้
- เครื่องทรงฤดูร้อน ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4
- เครื่องทรงฤดูฝน ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง ซึ่งจะตรงกับวันเข้าพรรษาของทุกปี
- เครื่องทรงฤดูหนาว ทรงเปลี่ยน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12
- พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- พระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล
- พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร
- พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
การขึ้นทะเบียน
[แก้]- กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเป็นพระพุทธรูปสำคัญ ตามบัญชีแนบท้าย ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520
เครื่องทรง
[แก้]เครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นเครื่องทรง 3 ฤดู ของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ประดิษฐานอยู่ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เครื่องทรงแรกเริ่มจัดสร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีวงศ์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเครื่องทรงฯ ทั้ง 3 ฤดู มีสภาพชำรุดยากแก่การซ่อมบูรณะให้สวยงามเหมือนเช่นอดีต ประจวบกับในขณะนั้นเป็นวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 กรมธนารักษ์ผู้รับผิดชอบในการดูแลรักษาเครื่องทรงฯ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำเนินการจัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร 3 ฤดู ชุดใหม่แทนเครื่องทรงชุดเดิม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโรกาสดังกล่าว โดยเครื่องทรงชุดใหม่นี้เป็นชุดที่ใช้ในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงในปัจจุบัน
ชุดเดิม
[แก้]พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี ต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสนาดาขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรง พุทธศักราช 2327 และได้มีพระราชศรัทธาโปรดให้จัดสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝน ถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นพุทธบูชา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดสร้างเครื่องทรงฤดูหนาว ถวายเป็นพุทธบูชาเพิ่มอีกหนึ่งชุด พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจึงมีเครื่องทรงครบ 3 ฤดู ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงทั้งสามฤดูทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน
พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์จะทรงประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในวันเริ่มฤดูเป็นประจำทุกปี กรณีที่ทรงติดพระราชภารกิจอื่นไม่อาจเสด็จด้วยพระองค์เองได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ สำหรับกำหนดเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มีดังนี้
- ฤดูร้อน กำหนดวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ราวเดือนมีนาคม
- ฤดูฝน กำหนดวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ราวเดือนกรกฎาคม หรือหากปีใดเป็นปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง ซึ่งจะตรงกับวันเข้าพรรษา ของทุกปี[2]
- ฤดูหนาว กำหนดวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ราวเดือนพฤศจิกายน
ชุดปัจจุบัน
[แก้]เครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรทั้ง 3 ฤดู กรมธนารักษ์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้นำออกจัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ไทย ภายในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างที่รอการผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาล ซึ่งเครื่องทรงฯ ทั้ง 3 ฤดูเริ่มมีสภาพชำรุดไปตามกาลเวลา เนื่องจากมีอายุกว่า 200 ปี และในโอกาสฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สำนักพระราชวังได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรทั้ง 3 ฤดู ในส่วนที่ชำรุด และได้มีการใช้ต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงทำให้เครื่องทรงฯ ชำรุดมากขึ้น ต้องทำการซ่อมแซมอีก แต่ด้วยเป็นศิลปโบราณวัตถุที่มีลวดลายที่ละเอียดอ่อนบอบบางและเป็นฝีมือช่างโบราณช่วงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาต่อกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงทำให้ไม่สามารถหาช่างฝีมือมาซ่อมแซมให้เหมือนเดิมได้
กรมธนารักษ์จึงได้ปรึกษากับเลขาธิการพระราชวัง ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเห็นว่าควรดำเนินการจัดสร้างเครื่องทรงฯ ชุดใหม่ขึ้นทดแทน เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฯ ตามฤดูกาลตามโบราณราชประเพณีและถวายเป็นพุทธบูชา รวมทั้งเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวโรกาสมหามงคลพระราชพิธีกาญจนาภิเษก จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2538 และในการจัดสร้างกรมธนารักษ์ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) เป็นองค์ประธานที่ปรึกษา ในโอกาสนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้บริจาคทรัพย์เพื่อร่วมสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรด้วย การจัดสร้างได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2538 จนแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2540 โดยเครื่องทรงฯ ฤดูหนาว ดำเนินการจัดสร้างแล้วเสร็จเป็นอันดับแรก และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2539 เครื่องทรงฯ ฤดูร้อน ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2540 และเครื่องทรงฯ ฤดูฝน ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2540
สำหรับเครื่องทรงฯ ชุดเดิมได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่า และจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเครื่องทรงฯ ชุดใหม่ ชุดใดที่มิได้ทรง จะเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ไทย ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชม ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ยกเว้นวันที่มีพระราชพิธี
องค์ประกอบของเครื่องทรงชุดปัจจุบัน
[แก้]- ฤดูหนาว - ใช้อัญมณีในการจัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรฤดูหนาว ชุดใหม่ รวมทั้งหมด 15,868 เม็ด น้ำหนัก 2,863.44 กะรัต น้ำหนัก 572.68 กรัม น้ำหนักลงยา 27.69 กรัม น้ำหนักทองสุทธิ 5,579.50 กรัม รวมน้ำหนักเครื่องทรงพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรฤดูหนาวชุดใหม่ 6,179.87 กรัม
- ฤดูร้อน - ใช้อัญมณีในการจัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรฤดูร้อน ชุดใหม่ รวมทั้งหมด 6,297 เม็ด น้ำหนัก 2,132.81 กะรัต น้ำหนัก 426.56 กรัม น้ำหนักลงยา 166.24 กรัม น้ำหนักทองสุทธิ 7,145.00 กรัม รวมน้ำหนัก 7,737.80 กรัม
- ฤดูฝน - ใช้อัญมณีในการจัดสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรฤดูฝน ชุดใหม่ รวมทั้งหมด 15,388 เม็ด น้ำหนัก 694.98 กะรัต น้ำหนัก 139.00 กรัม น้ำหนักลงยา 153.54 กรัม น้ำหนักทองสุทธิ 7,913.84 กรัม รวมน้ำหนัก 8,206.38 กรัม
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ตำนานพระแก้วมรกต เก็บถาวร 2006-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซด์วัดพระแก้ว เชียงราย
รูปภาพ
[แก้]-
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ขณะมิได้ประดับเครื่องทรง ในสมัยรัชกาลที่ 7
-
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในสมัยรัชกาลที่ 6
-
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
-
เครื่องทรงฤดูฝนของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
-
เครื่องทรงฤดูหนาวของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
-
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เครื่องทรงฤดูฝน
-
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เครื่องทรงฤดูร้อน
อ้างอิง
[แก้]- จดหมายเหตุการสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร,กรมธนารักษ์,กระทรวงการคลัง จัดทำ และพิมพ์ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
- ↑ หนังสือรัตนพิมพ์วงศ์ พระภิกษุพรหมราชปัญญา แต่งเป็นภาษาบาลีไว้ เมื่อ พ.ศ. 2272
- ↑ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูร้อน เป็นเครื่องทรงฤดูฝน ถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-21. สืบค้นเมื่อ 2019-09-20.