ข้ามไปเนื้อหา

วังรื่นฤดี

พิกัด: 13°44′43″N 100°33′05″E / 13.745326°N 100.551350°E / 13.745326; 100.551350
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วังรื่นฤดี
พระตำหนัก วังรื่นฤดี
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมโมเดิลยุค 2500
ที่ตั้งแขวงพระโขนง เขตคลองเตย
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2500
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างพระตำหนัก สระน้ำ สวน เรือนพัก
พื้นที่มากกว่า 7 ไร่
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกสมภพ ภิรมย์

วังรื่นฤดี เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสันติสุข สุขุมวิท 38 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร[1]

ประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เคยมีที่ประทับส่วนพระองค์แห่งแรก ณ พระตำหนักสวนรื่นฤดี ตรงถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย แต่ครั้นเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จออกไปประทับ ณประเทศอังกฤษ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเศรษฐกิจฝืดเคือง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จึงทรงขายที่ดินสวนรื่นฤดีให้แก่กองทัพบก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร [2]

ต่อมาเมื่อคราวทั้งสองพระองค์ ทรงพระดำริที่จะเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร ขณะพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประทับที่บ้านหลวงเสถียรโชติกสาร พระภาดา (ปัจจุบันเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย) ในซอยสุขุมวิท 38 ทรงถูกพระทัยที่ดินผืนหนึ่งตรงกันข้ามกับบ้านหลวงเสถียรฯ จึงทรงซื้อที่ดินทั้งจากนายแมนฟุ้ง เนียวกุลและนายเออี นานา ในท้ายซอยสันติสุข สุขุมวิท 38 ซึ่งมีพื้นที่กว่า 7 ไร่[3] แล้วพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงพระกรุณาโปรดให้มีพลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ ออกแบบตำหนักถวายให้ทอดพระเนตร และมีพระวินิจฉัย แล้วจึงให้ บริษัท สี่พระยาวัตถุโบราณ จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง สร้างวังขนาดย่อมขึ้นในพุทธศักราช 2500 เพื่อเป็นที่ประทับแล้วเสด็จไปประเทศอังกฤษอีกในปี พ.ศ. 2501 เพื่อทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร จากนั้นจึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502[3] เมื่อทรงประทับ ณ วังแห่งใหม่ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประทานนามว่า วังรื่นฤดี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503[4] อันมีความหมายว่า ความเบิกบานสบายใจ[3] ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร และพระองค์ได้ประทับอยู่ตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์[5] ส่วนในช่วงฤดูร้อนทั้งสองพระองค์จะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับไปยังพระตำหนักพัชราลัย ถนนเพชรเกษม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในปี พ.ศ. 2528 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก็ยังคงประทับอยู่ ณ วังรื่นฤดี โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญดอกไม้และผลไม้ และสังเกตพระอนามัยของพระองค์เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ มีการจัดตำรวจคอยอารักขาตลอดเวลา และโปรดฯให้ห้องเครื่องสวนจิตรลดาจัดเครื่องเสวยมาทุกวัน[6] นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังจัดกรมวัง และสารถีมาปฏิบัติหน้าที่ประจำทั้งภายในวังที่ประทับ และจัดเจ้าหน้าที่มาตกแต่งสถานที่ และปฏิบัติในเวลาที่มีงานพิเศษ เช่น งานวันคล้ายวันประสูติ และการทรงบำเพ็ญพระกุศลอย่างสมพระเกียรติยศทุกประการ[6]

วังรื่นฤดีมีสวนโดยรอบที่งดงาม มีสระน้ำขนาดใหญ่ นอกจากองค์ตำหนักซึ่งตั้งอยู่เป็นประธานแล้ว ในบริเวณยังประกอบด้วยอาคารต่างๆ สำหรับประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ กัน เช่น เรือนพักราชองครักษ์ ส่วนต่อเติมสำหรับสำนักผู้บริหารงานในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ศาลาที่พักรอเฝ้า ห้องพักกรมวัง และป้อมยามกองรักษาการณ์ เป็นต้น

งานสังคมสงเคราะห์

[แก้]
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงริเริ่มงานสังคมสงเคราะห์ในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งงานสังคมสงเคราะห์งานแรกที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระราชทานพระอนุญาตและทรงรับเป็นเจ้าภาพให้จัดขึ้นในวันรื่นฤดีคือ "เมตตาบันเทิง รื่นฤดี"[3][7] ตามคำทูลขอพระราชทานพระอุปถัมภ์ ของหม่อมสร้อยสุภิณ วรวรรณ ณ อยุธยา ในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นองค์ประธาน เพื่อหารายได้สมทบทุนสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งต่อมาจึงได้มีการจัดงานกุศลอีกหลายงาน[3] เช่น งานหาทุนสร้างหอพักเพชรรัตน ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, งานหาทุนสร้างตึกอุบัติเหตุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, งานหาทุนสร้างตึกเรียนวิทยาศาสตร์ วชิราวุธวิทยาลัย เป็นต้น[7]

แต่เมื่อเสร็จงานการกุศล พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ก็ต้องทรงดูแลพื้นสนามหญ้าภายในวัง ดังคำกล่าวของ ลุงสี มหาดเล็กประจำวัง ความว่า "พอเสร็จงาน เสด็จฯ จะทรงพระดำเนินสำรวจไปทั่ว ๆ วัง ในพระหัตถ์จะทรงหิ้วกระป๋องทราย คอยก้มหยอดอุดรูตามพื้นสนาม เพราะแขกมากันที ทั้งส้นรองเท้า ทั้งขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ เจาะพื้นสนามหญ้าของท่านเสียพรุน..."[7] แต่ทั้งสองพระองค์ก็ยังทรงรับจัดงานการกุศลโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย หรือทรงเข็ด ตามคำบอกเล่าของข้าในพระองค์ ความว่า "...วังรื่นฤดีแต่ก่อนจัดงานบ่อยทุกปี เดินแฟชั่นบ้าง ออกร้านบ้าง ..หารายได้เข้าการกุศลทั้งนั้น ส่วนมากพอคนเห็นว่าจัดงานที่นี่แล้วโก้หรู คนมางานกันแยะก็บริจาคเยอะ ได้เงินช่วยเหลือองค์กรการกุศลได้มาก ก็พากันมาขอพระราชทานพระอนุญาตใช้วัง ...ไม่เห็นจะทรงปฏิเสธสักครั้ง กลับจะทรงช่วยรับเป็นเจ้าภาพด้วยซ้ำ"[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "คุณูปการยิ่งใหญ่"สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ" ที่ประชาชนชาวไทย ไม่ค่อยรู้." (Press release). มติชน. 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. "ทุบตึกกอ.รมน.ปิดตำนาน"สวนรื่นฤดี"ต้านปฏิวัติ" (Press release). คมชัดลึก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-22. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "เจ้าฟ้าหญิง..ผู้ปิดทองหลังพระ" (Press release). กรุงเทพธุรกิจ. 1 สิงหาคม 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-15. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2552, หน้า 234
  5. พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  6. 6.0 6.1 "สกุลไทย - พระผู้ทรงเป็น "เพชรรัตน" แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-15. สืบค้นเมื่อ 2012-11-16.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 ""วังรื่นฤดี" จุดเริ่มต้นของงานสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย" (Press release). แนวหน้า. 7 เมษายน 2555. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′43″N 100°33′05″E / 13.745326°N 100.551350°E / 13.745326; 100.551350