พระราชวังสนามจันทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระวังสับสนกับ พระราชวังจันทน์
สำหรับความหมายอื่น ดูที่ สนามจันทร์ (แก้ความกำกวม)
พระราชวังสนามจันทร์
Sanamchandra 05.jpg
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ในพระราชวังสนามจันทร์
Map
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปลี่ยนสภาพ
ประเภทพระราชวัง
ที่ตั้งตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม
เมือง นครปฐม
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2450
ปรับปรุงพ.ศ. 2533
ข้อมูลทางเทคนิค
พื้นที่888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา
การออกแบบและการก่อสร้าง
ผู้พัฒนาโครงการพระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี)

พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ห่างจาก พระปฐมเจดีย์ ประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา สร้างขึ้นโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากพระองค์สวรรคต พระราชวังสนามจันทร์ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่าง ๆ ของจังหวัดนครปฐม รวมทั้งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 พระราชวังสนามจันทร์ เปิดให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกาย ช่วงเช้า เวลา 5:00 – 9:00 น. และช่วงเย็น เวลา 16:00 – 20:00 น.[1]

ประวัติ[แก้]

พระราชวังสนามจันทร์ เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนบริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า "เนินปราสาท" เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการ พระปฐมเจดีย์ และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤต

พระราชวังใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี โดยมี หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นแม่งาน และสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2450 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์" ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) "สระน้ำจันทร์" หรือ "สระบัว"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพินัยกรรมแสดงพระราชประสงค์ยกพระราชวังสนามจันทร์ให้เป็นสถานที่ตั้งของ โรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยมีใจความว่า

บรรดาที่ดินตึกรามทั้งใหญ่ น้อย ที่รวมอยู่ในเขตซึ่งเรียกว่า "พระราชวังสนามจันทร์" เป็นสมบัติส่วนตัวของข้าพเจ้าโดยแท้ไม่ได้รับมฤดกมาจาก สมเด็จพระบรมชนกนารถ มิได้ ข้าพเจ้าได้เก็บทุนในตำแหน่งหน้าที่ พระยุพราช และทุนอื่น ๆ สร้างที่สนามจันทร์ และสร้างพระที่นั่งซึ่งเรียกว่า พระพิมานประฐม นั้นขึ้นก่อน ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ราชสมบัติแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เอาเงินพระคลังข้างที่ทำนุบำรุงที่นี้ตลอดมาเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะเอาที่พระราชวังสนามจันทร์ไปรวมเข้ากับกองมรดกใหญ่นั้นหาควรไม่ ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ตามกฎหมายเหมือนสามัญชน ที่จะยกที่นี้ให้แก่ผู้ใดก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นตัวข้าพเจ้าไปแล้ว ข้าพเจ้าขอยกที่นี้ให้แก่รัฐบาลสยามเป็นสิทธิขาด เพื่อทำเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก

กรมศิลปากร ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พระราชวังสนามจันทร์เป็น โบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524[3]

แต่เดิม พระราชวังสนามจันทร์อยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักพระราชวัง โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธาน ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย นายนาวิน ขันธหิรัญ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย รองศาสตราจารย์ลิขิต กาญจนาภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ในขณะนั้น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์แก่สำนักพระราชวัง[4] ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโฉนดที่ดินพระราชวังสนามจันทร์ แก่ กระทรวงมหาดไทย[5] แล้วทางจังหวัดนครปฐม รับมอบต่อจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เพื่อนำมาดำเนินการรับผิดชอบเอง[6]

สิ่งก่อสร้าง[แก้]

พระที่นั่ง[แก้]

  • พระที่นั่งพิมานปฐม
พระที่นั่งพิมานปฐม

พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2450 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับเมืองร้อน ช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุฉลักเป็นลวดลายตามแบบไทยอย่างประณีตงดงาม พระที่นั่งชั้นบนประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ซึ่งยังมีป้ายชื่อปรากฏอยู่จวบจนปัจจุบัน คือ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นหอพระ มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่ง และยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งงดงามน่าชมมาก

พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับ (โดยเฉพาะก่อนเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลราชย์สมบัติ จนถึง พ.ศ. 2458) ที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ มากกว่าพระที่นั่งและพระตำหนักองค์อื่น ๆ ในปัจจุบันบนพระที่นั่งได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี

พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี ตั้งอยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นแบบตะวันตก ประดับลวดลายไม้ฉลุเหมือนกับพระที่นั่งพิมานปฐม โดยมีทางเชื่อมกับพระที่นั่งพิมานปฐม ใช้เป็นที่ประทับเจ้านายฝ่ายในในสมัยนั้น ปัจจุบันพระที่นั่งอภิรมย์ฤดีชั้นบนจัดแสดงห้องพระบรรทม ห้องทรงงาน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในสมัยก่อน ในปัจจุบันบนพระที่นั่งได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

  • พระที่นั่งวัชรีรมยา

พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยแท้วิจิตรงดงามตระการตา หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นหลังคา 2 ชั้นเหมือนกับหลังคาในพระบรมมหาราชวัง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง คันทวย มีมุขเด็จด้านทิศใต้ หน้าบันมุขเด็ดแกะสลักเป็นเข็มวชิราวุธอยู่ภายใต้วงรัศมีมีกรอบล้อมรอบ พร้อมด้วยลายกนกลงรักปิดทอง หน้าพระที่นั่งมีชานชาลาทอดยาวออกมาจรดกับพระที่นั่งพิมานปฐมด้วย พระทวารของบัญชรทั้ง 2 ชั้นของพระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะคล้ายกับเรือนแก้ว เป็นบันแถลงเสียบไว้ด้วยยอดวชิราวุธภายในมีเลข 6 อยู่ในลายพิจิตรเลขาเป็นมหามงกุฎ มีลายกนกลงรักปิดทองล้อมรอบบนพื้นที่ประดับตกแต่งไปด้วยกระจกสีน้ำเงิน พื้นเพดานชั้นบนของพระที่นั่งองค์นี้ทาด้วยสีแดงสดเข้ม มีดอกดวงประดับประดาละเอียดอ่อนทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง ส่วนชั้นล่างนอกจากจะทาสีแดงและปิดทองแล้วนั้น ชั้นล่างมีความแตกต่างกันตรงที่ลายฉลุนั้นเป็นดาวประดับพระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่ประทับเป็นครั้งคราว โดยมากจะใช้เป็นห้องทรงพระอักษรใน พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงซ้อมรบเสือป่าที่อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และพระองค์เสด็จกลับมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้เป็นเวลา 1 คืนก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังนันทอุทยาน 1 เดือน และกลับมาที่พระราชวังสนามจันทร์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนกลับ พระบรมมหาราชวัง

  • พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นพระที่นั่งที่มีส่วนเชื่อมต่อกับใกล้เคียงคือพระที่นั่งวัชรีรมยา หน้าบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์อยู่ทางทิศเหนือ เป็นรูปหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพรประทับอยู่ในปราสาทสามยอด พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ พระหัตถ์ซ้ายทรงประทานพร แวดล้อมด้วยบริวารซึ่งประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์ 5 หมู่ ท้องพระโรงยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีอัฒจันทร์ 2 ข้างต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา มีพระทวารเปิดถึงกัน 2 ข้าง ซุ้มพระทวารทั้ง 2 และซุ้มพระบัญชรใกล้ ๆ พระทวารทั้ง 2 ข้างแกะสลักเป็นรูปกีรติ มุขลงรักปิดทองภายในพระที่นั่งโดยรอบ มีเสานางจรัลแบ่งเขตท้องพระโรงกับเฉลียงส่วนที่เป็นเฉลียงลดต่ำลงมา 20 เซนติเมตร เสานางจรัลมีลักษณะเป็นเสาทรง 8 เหลี่ยมเช่นเดียวกับพระที่นั่งวัชรีรมยา ทำเป็นลายกลีบบัวจงกลโดยรอบเสาตลอดทั้งต้น เพดานพระที่นั่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพดานชั้นล่างพระที่นั่งวัชรีรมยา เพดานสีแดงเข้มปิดทองฉลุเป็นลายดาวประดับมีโคมขวดห้อยอย่างงดงาม

พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นสถานที่จัดงานหลายอย่าง เช่น งานสโมสรสันนิบาต เสด็จฯ ออกพบปะขุนนาง เป็นสถานที่ฝึกอบรม กองเสือป่า และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่าง ๆ เนื่องจากพระที่นั่งองค์นี้กว้างขวางและสามารถจุคนเป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกติดปากชาวบ้านว่า "โรงโขน" ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ได้เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระมหาเศวตฉัตรมาประดิษฐานไว้ภายในนี้ด้วย

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้ในพระราชพิธีพระราชทานเหรียญตราแก่นายทหาร และทรงประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแก่ทหารรวมทั้งเสือป่า และวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2465 มีงานพระราชทานเลี้ยงแก่ พระอินทราณี เนื่องในวันเกิด และให้ร่วมประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการ มีพระราชดำรัสว่าวันนี้พระองค์จะทรงหลั่งพระมหาสังข์แก่พระอินทราณี และทรงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี (พระยศในขณะนั้น)

  • พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย

"...ด้วยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๘ นี้ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาดึก ๒ ยาม กับ ๕๕ นาที ข้าพระพุทธเจ้าได้นั่งเล่นอยู่ที่เรือนสนามจันท์ มีข้าราชการและมหาดเล็กอยู่ด้วยกันเปนอันมาก ได้เห็นองค์พระปฐมมีรัศมีสว่างพราวออกทั้งองค์..."

จากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น เป็นหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่า เคยมีเหตุการณ์อันน่าประหลาดใจเกิดขึ้นกับ "พระปฐมเจดีย์" ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น "ปาฏิหาริย์" ที่เกิดขึ้นกับปูชนียสถานสำคัญแห่งนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ทรงพระอนุสรถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น แม้จะทรง 'พยายาม' หาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ก็มิสามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางดึกคืนนั้นได้ถี่ถ้วน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งโถงขนาดเล็กขึ้นหลังหนึ่งบนชาลาของพระที่นั่งพิมานปฐม ในจุดที่ทอดพระเนตรเหตุการณ์พระปฐมเจดีย์เปล่งรัศมี พระราชทานนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย

รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระที่นั่ง มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงขนาดเล็ก โครงสร้างเป็นไม้ทั้งสิ้น หลังคาประดับเครื่องลำยองแบบไทยประเพณีมุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล คือพระมหาวชิราวุธบนพานแว่นฟ้า แวดล้อมขวาซ้ายด้วยฉัตรเจ็ดชั้น มีเสาสลักลายปิดทองประดับกระจกสี่ต้นรับชั้นหลังคาหลักกลางพระที่นั่ง และเสาอีกสี่ต้นรับหลังคากันสาดโดยรอบ ดาวเพดานประดิษฐ์ลวดลายอย่างวิจิตร ไม่ซ้ำกันทั้งหมด ๒๔ ดวง ภายในยกเป็นพระแท่นที่ประทับ มีชาลายื่นออกไปทั้งสี่ด้าน

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ย้ายพระที่นั่งองค์นี้มาเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมด้วยศาลาลงสรง ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเช่นเดียวกัน โดยตั้งอยู่ข้างหมู่พระวิมาน ปัจจุบัน พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยอยู่ระหว่างการบูรณะครั้งใหญ่ ตามพระราชบัญชาของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย นับเป็นพระบรมราชานุสรณ์สำคัญซึ่งแสดงถึง "พระบุญญาธิการ" ของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า และเป็นมรดกศิลปกรรมชั้นยอดของชาติไทยอีกสถานหนึ่ง

พระตำหนัก[แก้]

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ บริเวณด้านหน้าเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ย่าเหล
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ด้านหลัง

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พระตำหนักและพระที่นั่งในพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2451 โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีเพียง 2 ห้อง ชั้นล่างมี 2 ห้อง มีระเบียงล้อมรอบ 3 ด้านของตัวพระตำหนักทั้ง 2 ชั้น จุดเด่นของพระตำหนักองค์นี้คือสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาท ซึ่งเป็นการผสมระหว่างศิลปะเรอแนซ็องส์ของประเทศฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของประเทศอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสมมาตร เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องบันได อีกด้านหนึ่งเป็นห้องเสวยและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนประกอบด้วยทางเดินกลางแบ่งอาคารเป็น 2 ข้าง แต่ละข้างมีห้องใหญ่เป็นห้องบรรทม และห้องเล็กเป็นห้องทรงพระอักษร ล้อมด้วยระเบียงสามด้านยกเว้นด้านหลัง ทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีเฉลียงเป็นรูปครึ่งวงกลม ประกอบด้วยเสาขนาดใหญ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง จุดเด่นของพระตำหนักอยู่ที่ป้อมหรือหอคอยที่มุมอาคาร ยอดหลังคาเป็นกรวยแหลม นอกจากนี้ทางเข้ากลางด้านหน้ายังทำเป็นมุขแบบชนบท ลายซุ้มหน้าบันเหนือระเบียงมีลายแบบยุคกลางของยุโรป ด้านใต้มีประตูเปิดไปสู่ฉนวนซึ่งทอดยาวไปพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์

ใน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์"[7] และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460

แต่เดิมพระตำหนักหลังนี้ชื่อว่า "พระตำหนักเหล" ซึ่งตั้งตามนามของ ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาล

พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์

พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกของประเทศทางตะวันตก แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้องและติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ในราว พ.ศ. 2459 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกคล้ายกระท่อมไม้ในชนบททาสีแดง หลังคาทรงปั้นหยายกจั่วสูง ผังอาคารเป็นรูปไม้กางเขนแต่แขนยาวไม่เท่ากัน ภายในแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยชั้นล่างด้านตะวันออกเป็นโถงใหญ่โล่งถึงชั้นบน ส่วนแกนเหนือใต้เป็นห้องโถงทางเข้าด้านหนึ่ง และห้องนอนมหาดเล็กชั้นบนมี 4 ห้อง ได้แก่ ห้องโถงทางทิศเหนือมีประตูเปิดสู่ฉนวนน้ำที่เชื่อมกับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ห้องทรงพระอักษรอยู่ทางทิศเหนือ ห้องบรรทมอยู่ทางทิศใต้มีประตูออกสู่ระเบียง และห้องสรงอยู่ด้านตะวันตกของห้องพระบรรทม

  • พระตำหนักทับแก้ว
พระตำหนักทับแก้ว

พระตำหนักทับแก้ว เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานสุนทรถวาย เป็นที่ประทับในฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการเสือป่า กองเสนารักษ์ราบเบารักษาพระองค์ระหว่างที่มีการซ้อมรบเสือป่า รวมทั้งเป็นสถานที่พระราชทานสัญญาบัตรแก่ข้าราชการ และเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและเสวยพระสุธารส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก เป็นตึก 2 ชั้นขนาดเล็กทาสีเขียวอ่อน ภายในมีเตาผิงและหลังคาปล่องไฟตามบ้านของชาวตะวันตก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนที่พักของปลัดจังหวัดนครปฐม จนกระทั่งได้รับการบูรณะใน พ.ศ. 2546

พระตำหนักทับแก้ว เคยเป็นวิทยาลัยทับแก้วของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ชื่อว่า "ม.ทับแก้ว"

สำนักพระราชวังได้อนุญาตให้สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดแสดงเป็น "พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชกรณียกิจด้านกีฬาฟุตบอลของชาติ

พระตำหนักทับขวัญ

พระตำหนักทับขวัญ เป็นหมู่เรือนไทย มีชานเชื่อมต่อกันหมด เช่นหอนอน 2 หอ เรือนโถง เรือนครัว หอนกอยู่ที่มุมของเรือน ใช้วิธีเข้าไม้แบบโบราณ ฝาเรือนทำเป็นฝาไม้ปะกนกรอบลูกฟังเชิงชายและไม้ค้ำยันสลักสวยงาม ออกแบบโดย พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นนายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างรอบ ๆ เรือนปลูกไม้ไทย เช่น นางแย้ม นมแมว ต้นจัน และจำปี และพระตำหนักหลังนี้ได้รับการบูรณะเมื่อครั้ง พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา 1 คืน และเมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์

เรือน[แก้]

ในพระราชวังสนามจันทร์มีเรือนต่าง ๆ ดังนี้

  • เรือนพระนนทิการ

เดิมเป็นบ้านพักของ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวยกพื้นใต้ถุนสูง และเคยใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด

  • เรือนพระธเนศวร

เดิมเป็นบ้านพักของ พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) ในสมัยรัชกาลที่ 6 และใช้เป็นบ้านพักของ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อธิบดีผู้พิพากษาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง ตั้งอยู่บนเกาะในลำคูพระราชวังสนามจันทร์ด้านทิศเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 250 ตารางเมตร จัดเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ปานกลาง มีศาลาริมน้ำซึ่งมีสะพานเชื่อมกับตัวเรือน มีลวดลายฉลุตกแต่งแบบเรือนขนมปังขิงที่งดงาม

  • เรือนทับเจริญ

เดิมเป็นบ้านพักของ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) อธิบดีกรมมหาดเล็ก เป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยายกพื้นใต้ถุนสูง

  • เรือนพระกรรมสักขี

เดิมเป็นบ้านพักที่ของ พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) และบุตรี เครือแก้ว อภัยวงศ์ (ต่อมาเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี) ครั้งยังทรงพระเยาว์ เป็นเรือนไม้สัก โดยในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการบูรณะเรือนแห่งนี้ใหม่

  • เรือนพระสุรภี

เดิมเป็นบ้านพักของ ท้าวอินทรสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ) โดยในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการบูรณะเรือนแห่งนี้ใหม่

  • เรือนราชมนู

เดิมเป็นบ้านพักของราชองครักษ์

  • เรือนชานเล็ก

เดิมเป็นบ้านพักของข้าราชการกรมมหรสพ

  • เรือนพระนนทิเสน
  • เรือนสุภรักษ์
  • เรือนชาวที่
  • เรือนคฤหบดี
  • เรือนพระเอกทันต์
  • เรือนพระกรรติเกยะ
  • เรือนที่พักพระตำรวจหลวง
  • คลังแสง

สถานที่อื่น ๆ[แก้]

  • เทวาลัยคเณศร์
เทวาลัยคเณศร์ สามารถเห็นพระปฐมเจดีย์อยู่ด้านหลัง

ในพระราชนิเวศน์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น มักปรากฏ "ศาลเทพารักษ์" ประจำเขตพระราชฐาน ตามคติให้เทพยดารักษาอาณาบริเวณมิให้มีภัย ทั้งยังคุ้มครอง "เจ้าของพระราชวัง" แห่งนั้น ๆ ด้วย

สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวาลัยขึ้นองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า "เทวาลัยคเณศร์" เพื่อประดิษฐานเทวรูปพระคเณศ หรือพระพิฆเนศ พระเป็นเจ้าเหนืออุปสรรคตามคติพราหมณ์ โดยตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของพระราชวัง ทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทรงเคารพบูชานั้น ประดิษฐานในแนวแกนเดียวกันทั้งหมด คือ พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานภายในห้องพระเจ้า พระที่นั่งพิมานปฐม, เทวาลัยคเณศร์ เทพารักษ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์ และพระปฐมเจดีย์ ทางทิศตะวันออกของพระราชวัง เสมือนว่าการสักการะเพียงครั้งเดียว สามารถสักการะปูชนียสถานทั้งสามได้โดยพร้อมกัน

เทวาลัยคเณศร์ ถูกกะเกณฑ์การสร้างไว้ตั้งแต่ต้นรัชกาล ด้วยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่ามีพระราชดำริให้สร้างศาลเทพารักษ์แห่งนี้ หากไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด กระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการบวงสรวงสังเวยพระคเณศ ทรงจับสายสูตรเปิดผ้าคลุมเทวรูปเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑

รูปแบบสถาปัตยกรรมของเทวาลัยคเณศร์มีลักษณะแปลกตาเป็นเอกลักษณ์ ทรงอาคารคล้ายหอสูง ใช้วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นวัสดุที่แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยระยะหนึ่งแล้ว ส่วนหลังคาและตัวอาคารมีลักษณะคล้ายกูบช้าง มียอดขนาดเล็กด้านบน ทั้งสี่ด้านเป็นซุ้มโปร่งรูปเกียรติมุข สามารถแลเห็นเทวรูปพระคเณศได้รอบทิศ ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ซึ่งสูงมาก การใช้ฐานสิงห์ยืดขาสิงห์สูงเช่นนี้ ปรากฏในสถาปัตยกรรมยุคหลัง ที่ต้องการความสูงของอาคารมาก เช่น หอระฆังวัดราชาธิวาสวิหาร เป็นอาทิ

อนึ่ง การสร้างศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวัง เพื่อประดิษฐานเทวรูปพระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์องค์นี้ แสดงให้เห็นว่า ทรงนับถือบูชาพระคเณศในฐานะเทพผู้ขจัดอุปสรรค และเจ้าแห่งศิลปวิทยา บางคราวที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นร้อยกรอง มักขึ้นต้นด้วยบทพระราชนิพนธ์ "ไหว้ครู" ตามขนบการประพันธ์ ซึ่งปรากฏพระนามของ "พระคเณศ" อยู่ด้วยเสมอ

อนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยง โดยประดิษฐานไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ฉลองพระองค์ชุดเสือป่าราบหลวงอย่างเก่าแบบทรงม้า เป็นฝีมือของช่างจากกรมศิลปากร ส่วนราชการจังหวัดฯ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้กลางพระราชวังสนามจันทร์ หลังเทวาลัยคเณศร์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525

  • ศาลาธรรมมุเทศน์โอฬาร

ศาลาธรรมมุเทศน์โอฬาร ในราชกิจจานุเบกษาใช้ว่า "ศาลาธรรมเทศน์โอฬาร" คือ "ธรรมศาลาสำหรับพระราชวังสนามจันทร์" เป็นศาลาที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมใหญ่และอบรมเสือป่า เนื่องจากเสือป่ามีจำนวนมากขึ้นทุกปี เมื่อมีการประชุมใหญ่พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์จุเสือป่าได้ไม่เพียงพอ แต่จนสิ้นรัชกาลก็ไม่มีการสร้างศาลานี้

  • ปราสาทศรีวิไชย

ปราสาทศรีวิไชย เป็นอนุสาวรีย์แห่งพระเจ้ากรุงศรีวิไชย ตั้งอยู่บนเนินปราสาทเก่า อย่างไรก็ดีตลอดจนสิ้นรัชกาลไม่ปรากฏว่าได้สร้างปราสาทศรีวิไชยขึ้น

ถนนในพระราชวัง[แก้]

ในพระราชวังสนามจันทร์มีถนนที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีถนนสายใหญ่ ๆ 2 สาย ดังนี้

  • ถนนราชดำเนินใน
  • ถนนราชดำริห์ใน

และยังมีถนนสายเล็ก ๆ อีกดังต่อไปนี้

  • ถนนไก่ป่า
  • ถนนพญามังกร
  • ถนนฆรสรณี
  • ถนนสีมรกฏ
  • ถนนกลดหรูหรา
  • ถนนเมฆลาโยนมณี
  • ถนนปิติยาลัย
  • ถนนไวเวลา
  • ถนนฑีฆาภิรมย์
  • ถนนอาคมคเชนทร์
  • ถนนกระเวนสัญจร
  • ถนนกลอนสิบสอง
  • ถนนฆ้องปลาศ
  • ถนนระนาดประไลย
  • ถนนไฟสะดุ้ง
  • ถนนรุ่งสว่าง
  • ถนนส่างแสง
  • ถนนแย่งระบำ
  • ถนนดำนฤมิตร

สะพานในพระราชวัง[แก้]

สะพานในพระราชวังมีสะพานต่าง ๆ ดังนี้

  • สะพานรามประเวศน์
  • สะพานนเรศวร์จรลี
  • สะพานจักรียาตรา
  • สะพานสุนทรถวาย

สิ่งก่อสร้างในอดีต[แก้]

อาคารของสถานีรถไฟหัวหินในปัจจุบัน ซึ่งย้ายมาจากสถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์
  • ศาลาลงสรง

เป็นศาลาทรงจตุรมุข สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับทรงลงสรงน้ำ ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อศาลาลงสรงและพระที่นั่งปาฏิหารย์ทัศนัยมาประดิษฐานไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

  • โรงละคร

เป็นโรงละครที่สร้างขึ้นข้างพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ สร้างขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2461 เป็นโรงละครที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้น โดยโปรดที่จะมาซ้อมละครอยู่ทุกวันและมีการเล่นละครทุก ๆ คืน ปัจจุบันถูกรื้อไปสร้างเป็นโรงพยาบาลเรือนจำจังหวัดนครปฐม

  • สถานีรถไฟหลวงพระราชวังสนามจันทร์

ปัจจุบันย้ายไปประกอบใหม่ ตั้งอยู่ที่ สถานีรถไฟหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

  • เก๋งรถไฟ

ปัจจุบันถูกรื้อไปสร้างเป็นกุฏิพระสงฆ์ วัดเสนหาพระอารามหลวง

  • ศาลาเล็ก

ปัจจุบันถูกรื้อไปสร้างเป็นห้องสมุดที่ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศิลปากร[แก้]

มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่รู้จักในชื่อว่า "ม.ทับแก้ว" ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ ใช้เป็นที่ก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยประมาณ 428 ไร่

เป็นที่ตั้งของ คณะอักษรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทศโนโลยีอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนแบบสหศึกษาแก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 1–6 และชั้นมัธยมปีที่ 1–6 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยและพัฒนา ศูนย์วิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการต่าง ๆ

สาเหตุที่เลือกจังหวัดนครปฐมเป็นที่ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ พระราชวังสนามจันทร์ เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเหตุผลดังนี้[8][9]

  • ประการแรก พระราชวังสนามจันทร์เคยเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้สนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในทางโบราณคดีและศิลปะทั้งปวง ทรงเป็นนักโบราณคดีและศิลปินชั้นเยี่ยมโดยเฉพาะทางวรรณศิลป์ ทรงสนับสนุนนาฏศิลป์ตลอดรัชสมัยของพระองค์
  • ประการที่สอง บริเวณพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งของเทวาลัยคเณศร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น นอกจากนี้ พระพิฆเนศวรยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ และเป็นตราของทางมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่แล้ว
  • ประการสุดท้าย ที่จังหวัดนครปฐมมีพระปฐมเจดีย์ประดิษฐานอยู่ นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางของโบราณคดีและศิลปะที่สำคัญในประเทศไทย ดังนั้นบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จึงเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร

การเดินทาง[แก้]

ทางรถยนต์[แก้]

ให้ใช้แยกนครชัยศรีเป็นหลัก ซึ่งถ้าวิ่งมาจากกรุงเทพมหานคร จะสามารถมาได้จากถนนเพชรเกษมและถนนบรมราชชนนีเพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครปฐม ทั้งสองเส้นทางด้านบนจะต้องผ่านแยกนครชัยศรี

จากแยกนครชัยศรี ขับตรงไปประมาณ 8.5 กิโลเมตร จะถึงแยกบ้านแพ้ว (ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปบ้านแพ้ว ถ้าตรงไปจะไปนครปฐม) ให้ขับตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร จะพบสะพานไปตัวเมืองนครปฐม ให้ขับขึ้นสะพาน (ถ้าตรงไปจะไปจังหวัดราชบุรี) จากนั้นขับตรงไปอีกประมาณ 3.4 กิโลเมตร จะพบ 4 แยกไฟแดง (ถ้าตรงไปก็คือพระปฐมเจดีย์ ถ้าเลี้ยวขวาจะเข้าไปยังตลาดนครปฐม ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปจังหวัดสุพรรณบุรี) เลี้ยวซ้าย แล้วขับตรงไปประมาณ 200 เมตร จากนั้นเลี้ยวขวา แล้วขับตรงไปประมาณ 1.9 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาที่ไฟแดง เลี้ยวขวาแล้วให้ขับตรงไปประมาณ 400 เมตร ก็จะถึงพระราชวังสนามจันทร์

ทางรถโดยสารประจำทาง[แก้]

จากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) หรือสายใต้ใหม่ นั่งรถสายกรุงเทพฯ–สุพรรณบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2 สายเก่า) / กรุงเทพฯ–ดำเนินสะดวก / กรุงเทพฯ–ราชบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2) / กรุงเทพฯ–กาญจนบุรี (รถปรับอากาศชั้น 2) ไปลงที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จากนั้นเดินเท้าประมาณ 400 เมตร จะถึงพระราชวังสนามจันทร์

ทางรถไฟ[แก้]

มีขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟกรุงเทพ / สถานีรถไฟธนบุรี ไปยังสถานีรถไฟนครปฐมวันละหลายขบวน จากนั้นต่อรถรถจักรยานยนต์รับจ้างไปพระราชวังสนามจันทร์ รถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรีหลายขบวนหยุดที่ ที่หยุดรถไฟพระราชวังสนามจันทร์ สามารถเข้าพระราชวังสนามจันทร์ผ่านทางด้านมหาวิทยาลัยศิลปากร

อ้างอิง[แก้]

  1. 1 เม.ย. เปิด'วังสนามจันทร์' ให้ ปชช.ออกกำลังกาย, คมชัดลึก วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561
  2. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม, เว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา หน้า 352 – 353
  3. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๑๗๗ หน้า ๓๖๗๑ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๔
  4. http://www.palaces.thai.net/day/index_sc.htm สำนักพระราชวัง
  5. 'ในหลวงร.10'พระราชทานที่ดิน เพื่อประโยชน์ในทางราชการ, เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เวลา 6:59 น.
  6. แต่งไทยย้อนยุค เที่ยวชม พระราชวังสนามจันทร์ เต็มรูปแบบ 1 ก.ค. 61 นี้ เก็บถาวร 2019-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เอ็มไทย วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
  7. ประกาศพระราชทานนามพระตำหนัก ที่พระราชวังสนามจันทร์ เมืองนครปฐม, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๒ หน้า ๔๑๕ วันที่ ๙ มกราคม ๒๔๕๘
  8. บันทึกเรื่องการสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากร เก็บถาวร 2007-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  9. ประวัติการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม “เหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าได้จดไว้” เก็บถาวร 2013-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°49′07″N 100°02′46″E / 13.8184839°N 100.0460422°E / 13.8184839; 100.0460422