พระมณฑป (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)
พระมณฑป | |
---|---|
พระมณฑป | |
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ที่ตั้ง | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เขตพระนคร |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
การสร้าง | |
สถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมไทย |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
เป็นส่วนหนึ่งของ | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
เลขอ้างอิง | 0005574 |
พระมณฑป ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่บนฐานไพทีตรงกลางระหว่างปราสาทพระเทพบิดรและพระศรีรัตนเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตรงตำแหน่งที่ตั้งของหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิมที่ถูกเพลิงไหม้เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกใบลานฉบับทองใหญ่[1] โดยสร้างขึ้นตามคติเขาพระสุเมรุ ส่วนยอดมณฑป 7 ชั้นซ้อน[2]
บันไดทั้ง 4 ด้าน ตกแต่งด้วยพลสิงห์รูปนาคจำแลง คือ นาคที่มีหน้าเป็นมนุษย์สวมมงกุฎ ตัวนาคปั้นปูนปิดทองประดับกระจก หัวนาคทั้ง 5 หัวและหางนาคเป็นโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปลายพลสิงห์ บันไดก่อเป็นฐานบัวประดับหินอ่อนตั้งประติมากรรมรูปยักษ์ถือกระบอง หน้ากระดานฐานปัทม์ตอนล่างประดับด้วยหิน ต่อจากนั้นเป็นกระจังและกระหนกเท้าสิงห์ประดับด้วยกระจกสี หลังกระจังเป็นครุฑพนมและอสูรทรงเครื่องนั่งพนมมือสลับกัน เหนือขึ้นไปมีเทพนมทรงเครื่องหล่อด้วยทองแดงปิดทอง ซึ่งสร้างตามคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุเช่นเดียวกัน
ซุ้มพระทวารเป็นซุ้มยอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจก บานแผละเขียนลายกำมะลอมีพื้นสีม่วงลายทองเป็นรูปเซี่ยวกางถือหอกและตรียืนเหยียบหลังสิงโต บานพระทวารด้านนอกเป็นบานประดับมุก มีแม่ลายเป็นกระหนกก้านขดนกคาบ ตรงกลางเป็นราชสีห์ บานพระทวารนี้มีภาพจับเป็นลายประดับมุกที่สำคัญอยู่ในกรอบวงกลม 8 ดวง ด้วยกันทั้ง 2 บาน ผนังด้านในเป็นลายรดน้ำปิดทองทรงข้าวบิณฑ์ บนพื้นสีชาด พื้นพระมณฑปปูด้วยเสื่อเงินสานเต็มทั้งห้องถึงฐานตู้ที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก ตรงกลางห้องประดิษฐานตู้พระไตรปิฎกประดับมุกทรงมณฑปใหญ่ บรรจุพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์[3]
บริเวณฐานพระมณฑปทั้ง 4 มุม ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลามุมละ 1 องค์ พระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิพระหัตถ์ทำมุทราต่าง ๆ กัน มีพุทธลักษณะตามคติมหายาน มีประภามณฑลรูปเสมาขอบ สลักลายบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระพุทธรูปศิลาเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาจากชวา เมื่อครั้งเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2439[4]
- ↑ "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว". สำนักพระราชวัง.
- ↑ โชติ กัลยาณมิตร, ทฤษฎีการกำหนดองค์ประกอบในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย (กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท., ม.ป.ป.), 328.
- ↑ ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. "การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 190.