พระราชวังเมืองสมุทรปราการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชวังสมุทรปราการ
แผนที่
ที่มาเมืองสมุทรปราการ
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทพระราชวัง
สถาปัตยกรรมผสมผสาน
ที่ตั้งตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ
เมือง สมุทรปราการ
ประเทศ ไทย
พิกัด13°35′34″N 100°35′46″E / 13.59278°N 100.59611°E / 13.59278; 100.59611
เริ่มสร้างพ.ศ. 2400
รื้อถอนไม่ปรากฏ

พระราชวังสมุทรปราการ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงโปรดฯ ในการเสด็จประพาสเมืองปากน้ำ(สมุทรปราการในปัจจุบัน) เพราะมีหาดทรายขาว ลำน้ำสงบนิ่ง มีธรรมชาติของแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงาม (ครั้งยังไม่มีเรือใหญ่แล่นผ่าน) และที่สำคัญที่สุด คือ พระสมุทรเจดีย์ โดยเสด็จลงเรือข้ามจากฝั่งอำเภอเมือง ไปนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์หลายครั้ง บันทึกในพงศาวดารยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทรงปฏิบัติเช่นว่านี้มาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวช เมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริในการปฏิสังขรณ์องค์พระสมุทรเจดีย์ให้ยิ่งใหญ่ด้วยความสูงถึง ๑๙ วา ๒ ศอก ครอบองค์พระเจดีย์ดั้งเดิมที่ก่อสร้างมาแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างการปรับปรุงพระสมุทรเจดีย์ขึ้นใหม่นี้เอง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวัง เพื่อทรงเตรียมไว้เป็นที่ประทับ ในยามเสด็จมาตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการ พระราชวังใหม่สร้างขึ้นที่ฝั่งตัวเมือง (ฝั่งตลาด) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณถนนด่านเก่า ไปจรดพื้นที่รอบตลาดวิบูลย์ศรีในปัจจุบัน ทรงใช้โอกาสในวันสมโภชพระสมุทรเจดีย์องค์ใหม่ พระราชทานนามว่า “พระราชวังสมุทรปราการ”

หมู่พระที่นั่งต่างๆ[แก้]

พระราชวังสมุทรปราการ ได้รับการออกแบบ และก่อสร้างด้วยวัตถุประสงค์ ให้เป็นสถานที่แปรพระราชฐานในการตากอากาศโดยเฉพาะ มีอาณาเขตกว้างใหญ่เต็มตลาดปากน้ำในปัจจุบัน มีสิ่งปลูกสร้างโดยรอบที่ทรงพระราชทานนามเพิ่มเติม ด้วยว่า

  • พระที่นั่งสมุทาภิมุข สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับประกอบกิจต่างๆ
  • พระที่นั่งสุขไสยาศน์ เป็นที่บรรทม
  • อาคารนงนารถสำราญรมย์ อาคารที่พักสำหรับสนมกำนัล
  • อาคารสนมนิกร คือ ตึกแถวสำหรับนางข้าหลวง
  • สัณฐาคารสถาน(คนละองค์กับพระที่นั่งสัณฐาคารสถานในพระนครคีรี) คือ โรงละคร
  • โรงศึกษาสงคราม คือ ที่พัก และโรงฝึกทหาร

พระราชวังสมุทรปราการ ได้ถูกใช้เป็นเรือนที่ประทับเป็นครั้งแรก ในวันประกาศราชพิธีสมโภชพระสมุทรเจดีย์ ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ตามหมายกำหนดการดังต่อไปนี้

วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทานฤกษ์เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค แห่พระบรมธาตุ ๑๒ องค์ จากพระบรมมหาราชวัง มาบรรจุแทนองค์เก่าที่ถูกคนร้ายลักไปในสมัยรัชกาลที่ ๓ พร้อมด้วยพระไชย พระห้ามสมุทร (พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร) ลงไปเมืองสมุทรปราการ เสด็จพักที่วังสมุทรปราการ

วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ ได้บรรจุพระบรมธาตุ พระไชย พระห้ามสมุทร บนพระเจดีย์ เป็นห้องศิลาใหญ่ ลงรักปิดทอง ทรงจารึกแผ่นศิลาด้วยพระหัตถ์ที่ผนังห้องพระบรมธาตุทั้ง ๔ ด้าน รวมทั้งเพดานข้างล่างข้างบนเป็นคาถาต่างๆ จากนั้นก็ปิดแผ่นศิลาด้านทักษิณ ก่ออิฐสมทบปิดช่องนั้นเสีย แล้วโปรดให้มีการยิงสลุตที่เรือพระที่นั่ง และเรือกลไฟตามเสด็จ ลำละ ๒๑ นัด

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จข้ามมาทางฝั่งตัวเมืองสมุทรปราการ ทอดพระเนตรบริเวณงานรื่นเริงที่ข้าราชการเมืองปากน้ำได้ร่วมกันจัดงานสมโภชด้วยการแสดงยี่เก และ การมหรสพต่างๆ กำหนดการจัดงานเพิ่มอีกเป็นเวลา ๑ วัน ๑ คืน จนได้เวลาอันสมควร จึงเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งใหม่ (พระราชวังสมุทรปราการ) พระราชทานชื่อพระที่นั่ง และสถานที่โดยรอบ ประทับแรม ๑ คืน จากนั้นจึงเสด็จกลับพระนคร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ภายในพระราชวังสมุทรปราการบางส่วนเพื่อสร้างสถานีปลายทางรถไฟสายปากน้ำ และสถานที่เก็บโบกี้ (หัวโรงรถ) ส่วนอาคารพระราชวัง “สมุทาภิมุข” โปรดให้ใช้เป็นสถานที่ตั้งศาลาว่าการเมืองสมุทรปราการ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับสมัยที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเดินสายโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทยระหว่างกรุงเทพฯ ไปเมืองสมุทรปราการ โดยใช้ศาลาว่าการเมืองสมุทรปราการ เป็นสถานีรับ-ส่ง เพื่อความสะดวกแด่เจ้าเมืองสมุทรปราการ ได้ทำการแจ้งข่าวด่วนที่ปากน้ำอย่างทันท่วงที