วังปารุสกวัน
วังปารุสกวัน | |
---|---|
ตำหนักจิตรลดา | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปลี่ยนสภาพ |
ประเภท | วัง |
สถาปัตยกรรม | ฟื้นฟูคลาสสิก |
ที่ตั้ง | แขวงดุสิต เขตดุสิต |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
พิกัด | 13°46′05″N 100°30′38″E / 13.76806°N 100.51056°E |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2446 |
พิธีเปิด | 5 เมษายน พ.ศ. 2449 |
เจ้าของ | สำนักนายกรัฐมนตรี |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | ก่ออิฐถือปูน |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | มารีโอ ตามัญโญ นายสก็อตส์ นายเบย์โรเลรี |
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ตำรวจ |
วังปารุสกวัน หรือย่อว่า วังปารุสก์ ตั้งอยู่หัวมุมถนนพิษณุโลก ตัดกับถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2449 ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ตำรวจ
ประวัติ
[แก้]เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 โดยในวันที่ 30 ธันวาคม มีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างกำแพงยาว 275 เมตร รวมเป็นเงิน 22,075 บาท ต่อมาวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2447 จ่ายค่าก่อสร้างกำแพงส่วนที่เหลืออีกเป็นเงิน 61,173 บาท แต่ยังไม่รวมค่ากระเบื้องหลังคา แรกเริ่มมีสถาปนิก 3 คนช่วยกันออกแบบ คือ นายมารีโอ ตามัญโญ นายสก็อตส์ และนายเบย์โรเลรี แต่ 2 คนป่วยระหว่างการก่อสร้าง นายตามานโญป่วยเป็นอหิวาตกโรคและต้องเดินทางกลับยุโรป ส่วนนายสก็อตส์ป่วยเป็นไข้ทรพิษและเสียชีวิต เหลือแต่นายเบย์โรเลรี รับผิดชอบ จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2448[1] มีพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2449[2] และได้เสด็จประทับพระตำหนักนี้ตลอดพระชนมายุ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิก ก่ออิฐถือปูน ตามแบบวิลลาของอิตาลี ก่ออิฐถือปูน ทาสีครีม เดิมตัวพระตำหนักมี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นท้องพระโรง และห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ส่วนชั้นบนจัดเป็นบริเวณที่ประทับส่วนพระองค์ ห้องพระชายา ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง และห้องทรงพระอักษร ต่อมามีการต่อเติมตัวพระตำหนักเพิ่มเป็น 3 ชั้น โดยชั้นบนจัดเป็นห้องพระบรรทม
ชื่อวังปารุสกวันได้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มี 4 แห่งคือ สวนมิสกวัน สวนปารุสกวัน สวนจิตรลดาวัน และสวนนันทวัน
ภายในวังปารุสก์ยังมีตำหนักอีกองค์หนึ่ง คือ ตำหนักสวนจิตรลดา ซึ่งแต่เดิมเป็นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำหนักสวนจิตรลดา แลกเปลี่ยนกับที่ดินบริเวณท่าวาสุกรี ของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และโปรดฯ ให้รื้อกำแพงที่คั่นกลางออก รวมตำหนักทั้งสองเข้าด้วยกัน ส่วนกำแพงสร้างที่ใหม่ทรงให้ประดับตราจักรและกระบอง ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ ไว้ที่ประตูกำแพงโดยรอบ
เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต เมื่อ พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจตามกฎหมายระงับพินัยกรรมของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ทรงระบุให้ยกทรัพย์สินทั้งหมดแก่หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ชายาพระองค์ใหม่ โดยมีพระบรมราชโองการให้โอนวังปารุสกวันกลับคืนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 วังปารุสกวัน เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ก่อนจะย้ายไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม และที่เป็นพำนักของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีและพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จนถึงแก่อสัญกรรม[3] ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และอดีตที่ทำการกองบัญชาการตำรวจนครบาล
อนึ่ง มักมีผู้เข้าใจสับสนระหว่างตำหนักปารุสก์กับตำหนักสวนจิตรลดา โดยที่ตำหนักปารุสก์ คือ พระตำหนักที่อยู่ทางด้านถนนราชดำเนินนอกตัดกับถนนพิษณุโลก อยู่ติดกับวังจันทรเกษม ในขณะที่ ตำหนักจิตรลดา คือ ตำหนักที่อยู่ทางด้านถนนราชดำเนินนอกตัดกับถนนศรีอยุธยานั่นเอง
นอกจากนี้ ตำหนักจิตรลดา ยังเคยเป็นสถานที่แข่งขันรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์อัจฉริยะข้ามคืน ล้านที่ 5 อีกด้วย
ลักษณะอาคาร
[แก้]เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2-3 ชั้น มีรูปทรงและ ลวดลายปูนนั้นแบบยุโรป สร้างอย่างวิจิตรบรรจง หลังคาเป็นกระเบื้องว่าว ด้านหน้ามีมุข ยื่นออกมาจากตัวตำหนัก ด้านบนเป็นห้องส่วนตัว ด้านล่างเป็นที่เทียบรถ
มีมุขเทียบรถที่เป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมยุคนี้ เนื่องจาก เริ่มมีการใช้รถเป็นพาหนะแล้ว ซุ้มพระแกลชั้นบน เน้นด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก ชั้นล่างเน้นด้วยลายรูปโค้งลวดลายคล้ายกับ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สันนิษฐานว่าสร้างในเวลาใกล้เคียง กัน บานพระแกลที่ไม่ได้เป็นกระจกจะเป็น บานเกล็ดไม้ตอนล่างเปิดเป็นบานกระทุ้งได้ ตอนบนเป็นช่องแสงไม้ฉลุลายทุกบาน[4]
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์หนังสือ เกิดวังปารุสก์ ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของพระองค์ โดยให้เหตุผลการตั้งชื่อหนังสือว่า "วังปารุสก์เป็นศูนย์กลางอันสำคัญของรัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และต่อมาน่าจะมีคนรู้จักวังมากกว่ารู้จักข้าพเจ้า จึงเห็นว่า วังปารุสก์ จะสะดุดใจคน"[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์และไอลีน ฮันเตอร์, แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2551
- ↑ การขึ้นพระตำหนักปารุสกวันราชกิจานุเบกษา เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๓ วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๓๓๙ หน้า ๖๓
- ↑ ส.พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2555. 137 หน้า. ISBN 9740208754
- ↑ วังปารุสกวัน เก็บถาวร 2007-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน asa.or.th
- ↑ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์, 100 ปี จุลจักรพงษ์ 1908-2008.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, (ISBN 978-974-9863-63-3)
ดูเพิ่ม
[แก้]- พระนิพนธ์ "เกิดวังปารุสก์" ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- เจ้าวังปารุสก์ จาก วิชาการ.คอม เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วังปารุสกวัน
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์