เขตพระราชฐานชั้นใน (พระบรมมหาราชวัง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตพระราชฐานชั้นใน
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทเขตพระราชฐาน
ที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2325
เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง
เลขอ้างอิง0005574
ผังบริเวณ เขตพระราชฐานชั้นใน

เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นพื้นที่ที่มีพระตำหนักของเจ้าจอมมารดา พระมเหสี พระชายาต่าง ๆ เขตนี้จะห้ามผู้ชายเข้า หากจะเข้าต้องมีโขลนคอยดูแลอยู่ตลอด (โขลน คือ หญิงที่คอยกำกับดูแล ความเรียบร้อยในเขตพระราชฐานชั้นใน) ส่วนแถวเต๊ง เป็นตึกแถวยาวที่เคยเป็นกำแพงวังสมัยรัชกาลที่ 1 โดยมีประตูช่องกุดเป็นช่องทางเข้าออกของชาววัง ซึ่งอยู่ใกล้ประตูศรีสุดาวงศ์ ซึ่งเป็นประตูชั้นในที่จะต่อกับแถวเต๊ง บริเวณนั้นมีสวนขวาอันเป็นพระราชอุทยานซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างเป็นพระอภิเนาว์นิเวศน์ และมีสวนเต่า พวกเจ้านายจะทรงพระสำราญที่นี่ และเวลาไว้พระศพเจ้านายชั้นสูงก็จะไว้ที่หอธรรมสังเวชซึ่งอยู่ทางตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระตำหนัก[แก้]

พระตำหนักสมเด็จพระเจ้าบรมไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
ตำหนักประธาน สมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ตำหนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
พระตำหนักพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชาและพระองค์เจ้าทิพยาลังการ
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์พวงเจ้าสร้อยสอางค์
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์อรไทยเทพกัญญา
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย
ตำหนักพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา และเจ้าจอมมารดาอ่อน
เรือนเจ้าจอมเง็ก (อดีตเรือนเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.จิ๋ว กปิตถา)

พระตำหนักกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร[แก้]

เมื่อแรกสร้างเป็นพระตำหนักหมู่ใหญ่ ประกอบด้วยตำหนักที่ประทับ 2 หลังเชื่อมถึงกัน หลังนี้มี 2 ชั้น อีกหลังมี 3 ชั้น มีเรือนข้าหลวงและห้องเครื่องอยู่โดยรอบ ทางเข้าอยู่ทางทิศเหนือใกล้กับพระที่นั่งอมรพิมาณมณี ในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หลังจากกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรสวรรคตได้ 13 ปี พ.ศ. 2452 ได้มีการสำรวจพระตำหนักหมู่นี้พบบางหลัง และเรือนข้าหลวงทรุดโทรมมาก จึงรื้อพระตำหนัก 2 ชั้น เรือนข้าหลวงด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก เหลือแต่เรือนข้าหลวงด้านทิศตะวันตกและตำหนัก 3 ชั้น ตราบจนปัจจุบัน ลักษณะเป็นตำหนักตะวันตก ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หลังคาเดิมมุงกระเบื้องแบบจีนปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่ ผนังตกแต่งด้วยลวดบัวทั้งหลัง พระบัญชร (หน้าต่าง) แต่ละชั้นตกแต่งไม่เหมือนกัน

พระตำหนักหลังนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3

พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[แก้]

เป็นพระตำหนักเดี่ยวขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน มีลานกว้างทั้งด้านหน้าและด้านหลังตำหนัก ตัวพระตำหนักทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ทางเข้าพระตำหนักอยู่ทางทิศเหนือ ซุ้มพระทวารทำด้วยเหล็กหล่อ ตอนบนประดิษฐานตราจุลมงกุฎ 3 ชั้น ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หลังคามุงกระเบื้อง ชั้นล่างเป็นที่เก็บของและที่อยู่ของข้าหลวง ชั้นสองเป็นที่ประทับประกอบด้วยห้องต่าง ๆ หลายห้อง ซึ่งตกแต่งไว้งดงามเป็นพิเศษ ชั้นสามเป็นที่บรรทม และมีห้องแยกเป็นปีกหนึ่งของพระตำหนัก

เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี[แก้]

ตั้งอยู่หลังหมู่พระมหามณเฑียรตรงประตูสนามราชกิจ บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของตำหนักแดงที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระมเหสีในรัชกาลที่ 2 ลักษณะเป็นอาคารแบบอิตาลีตอนใต้ ก่ออิฐปูนสูงสองชั้น ทาสีชมพู ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หักศอกเป็นรูปตัวอี (E) หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว ฝาผนังตกแต่งด้วยการฉาบปูนแต่งผิวให้มีลักษณะเหมือนอาคารก่อด้วยหินรูปสี่เหลี่ยมแท่งใหญ่ เน้นขอบมุมของตำหนักทุกด้าน โครงสร้างเป็นไม้ทั้งหลัง ฉาบปูนทับตามกรรมวิธี

พระตำหนักหลังนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ประทับร่วมกับพระราชธิดาและพระขนิษฐา

ตำหนัก[แก้]

ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี[แก้]

ตั้งอยู่ริมถนนจากประตูราชสำราญใกล้กับตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา เป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐฉาบปูนสามชั้น ทาสีชมพูสลับเขียว สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยา

เป็นที่ประทับของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ทรงไปประทับที่เชียงใหม่ ตำหนักหลังนี้ก็ว่างลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มาประทับที่พระตำหนักหลังนี้ตราบจนสิ้นพระชนม์

ตำหนักพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชาและพระองค์เจ้าทิพยาลังการ[แก้]

ตั้งอยู่หลังหมู่พระมหามณเฑียรคู่กับพระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ลักษณะเป็นตำหนักแบบตะวันตก คล้ายคลึงกันทั้งในรูปแบบ การทาสีและลวดบัวประดับผนัง ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น ทาสีชมพู ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ข้าราชบริพาร

ตำหนักหลังนี้เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาลังการ และเจ้าจอมมารดาแส โรจนดิศ

ตำหนักพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี[แก้]

เป็นตำหนักที่มีสองส่วน คือส่วนที่ประทับเป็นอาคารสูงสองชั้นก่ออิฐปูนทาสีขาว มีบันไดขึ้นสู่ชั้นบนอยู่ด้านนอกอาคาร และส่วนห้องเครื่องเป็นอาคารทรงไทยหมู่ มีซุ้มประตูทางเข้าแยกกับส่วนที่ประทับ

ตำหนักหลังนี้เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค[แก้]

เป็นอาคารสูงสองชั้นชั้นล่างก่ออิฐปูนทาสีขาว ชั้นบนทำด้วยไม้ทาสีน้ำเงิน หลังคาทรงปั้นหยา เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าประพาฬรัศมี[แก้]

เป็นตำหนักหมุ่ทรงไทยสามหลัง ก่ออิฐปูน ทาสีขาว มีซุ้มประตูทางเข้า เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประพาฬรัศมี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าอรุณวดี[แก้]

เป็นตำหนักหมุ่ทรงไทยสามหลัง ก่ออิฐปูน ทาสีขาว มีซุ้มประตูทางเข้า เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักกรมหลวงวรเสรฐสุดา[แก้]

ตำหนักหลังนี้สร้างขั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรือนหมู่ทรงไทย ชั้นเดียว ก่ออิฐฉาบปูน จำนวน 4 หลัง ประกอบกันเป็นเรือนหมู่ ทุกหลังหันหน้าเข้าสู่ลานกลางซุ้มประตูทางเข้าตรงกับถนนหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

อาคารแต่ละหลังแยกหน้าที่ใช้สอยต่างกัน หลังแรกเป็นท้องพระโรง เป็นอาคารโล่งยกพื้นสูง หลังที่ 2 และ 3 เป็นที่ประทับวางขนานกัน และตั้งฉากกับอาารหลังที่ 1 มีชานชาลาต่อเชื่มถึงกัน หลังที่ 4 อยู่ด้านหลัง เป็นที่อยู่ของข้าลหวง และห้องประกอบอาหาร

ตำหนักหลังนี้เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3

ตำหนักพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา[แก้]

เป็นพระตำหนักแบบตะวันตกมีสองหลังก่ออิฐปูน ทาสีครีม มีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสอง เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันใช้เป็นหอสมุดมหามงคล ในพระบรมมหาราชวัง

ตำหนักพระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน[แก้]

เป็นตำหนักหมุ่ทรงไทย ก่ออิฐปูน ทาสีขาว มีซุ้มประตูทางเข้า เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าวรลักษณาวดี[แก้]

เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงสองหลัง ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ตำหนักหลังนี้สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นเรือนพักเจ้าจอมมารดาหุ่น ต่อมามีตำแหน่งท้าวทรงกันดาล บางครั้งเรียกว่าคลังผ้าเหลือง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างตำหนักไม้เพิ่มขึ้นที่ลานกลางแล้วพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรลักษณาวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสุด

ตำหนักพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระองค์เจ้าสุจิตราภรณีและเจ้าจอมมารดาชุ่ม[แก้]

เป็นตำหนักขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขตพระราชฐานชั้นใน หลังตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาที่ถูกรื้อลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานแด่เจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกและพระราชธิดา คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี ต่อมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค

ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หักศอกเป็นรูปตัวแอล (L) โครงสร้างก่ออิฐปูนถือผสมไม้สูง 2 ชั้นครึ่ง หลังคาปั้นหยาทรง สูง ฝาผนังแต่ละชั้นแต่งปูนลายขวาง ทาสีชมพูสลับเหลือง ภายในตกแต่งพิเศษที่ห้องรับแขกชั้นสองเพียงชั้นเดียว ทิศตะวันตกมีห้องทรงและเครื่องสุขภัณฑ์แบบต่างประเทศ

ตำหนักพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา และเจ้าจอมมารดาอ่อน (ตำหนักแดง)[แก้]

เป็นตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ซึ่งเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมก๊กออผู้เป็นพี่ใหญ่

ลักษณะเป็นอาคารเชื่อมกับเรือนของเจ้าจอมเอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อนน้องสาวเจ้าจอมมารดาอ่อน โดยมีสะพานำไม้เชื่อมกันจากห้องโถงชั้นสอง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐปูนสูงสามชั้น ทาสีแดง สถาปัตยกรรมตะวันตกแบบอิตาลีใต้ หลังคาทรงปั้นหยา

ตำหนักพระองค์เจ้าพิบพับสรสร้อย[แก้]

เป็นพระตำหนักหมู่ทรงไทยก่ออิฐปูน ทาสีขาว มีซุ้มประตูทางเข้าสามด้าน อยู่ระหว่างอาคารทั้งสามหลัง เป็นที่ประทับของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิมพับสรสร้อย พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ[แก้]

เป็นตำหนักหมู่ทรงไทย ก่ออิฐปูน ทาสีขาว เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย[แก้]

ตำหนักหลังนี้ ตั้งอยู่กลางเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นอาคารแบบตะวันตกรูปตัวยู (U) ก่ออิฐปูนสูงสองชั้น เป็นตำหนักที่ประทับ อีกหลังหนึ่งเป็นเรือนสูงชั้นเดียว เป็นที่อยู่ของข้าหลวงและห้องเครื่อง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัยประทับร่วมกับพระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาทับทิม โรจนดิศ ในสมัยรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์พระสนมในรัชกาลที่ 5 พำนักที่ตำหนักนี้ตราบจนถึงแก่อนิจกรรม จึงมักเรียกตำหนักหลังนี้อีกว่า"เรือนคุณจอม"

ตำหนักพระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ[แก้]

เป็นอาคารสูงสองชั้น ก่ออิฐปูน ชั้นล่างเตี้ย ชั้นบนสูง เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผา ภายในอาคารคล้ายกับเรือนหมู่สมัยรัชกาลที่ 3 ห้องที่ประทับหันหน้าเข้าสู่ลานกลาง ห้องโถงเป็นห้องบันไดขึ้นไปที่ประทับชั้นบน

เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์

ตำหนักพระองค์เจ้าเหมวดี[แก้]

เป็นตำหนักแบบตะวันตกสูงสองชั้น ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างเตี้ยชั้นบนสูง หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผา ภายในอาคารคล้ายกับเรือนหมู่สมัยรัชกาลที่ 3 ห้องที่ประทับหันหน้าเข้าสู่ลานกลาง ห้องโถงเป็นห้องบันไดขึ้นไปที่ประทับชั้นบน

เป็นที่ประทับในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเหม อมาตยกุล

ตำหนักพระองค์เจ้าแม้นเขียน[แก้]

เป็นตำหนักหมู่ทรงไทย ชั้นเดียว ก่ออิฐปูน ประกอบด้วยเรือนสามหลัง แยกหน้าที่ใช้สอย เป็นตำหนักที่ประทับสองหลังและเรือนที่พักข้าหลวง และห้องเครื่องอยู่ทางด้านหลังหนึ่งหลัง แต่ละหลังหันห้าเข้าสู่ลานกลาง ผนังอาคารคือกำแพง

เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญมาพำนักอีกด้วย

ตำหนักพระองค์เจ้าแขไขดวง[แก้]

เป็นตำหนักหมู่สองหลัง หลังแรกเป็นตำหนักมีดาดฟ้าสูงชั้นเดียว หลังที่สองยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ทั้งสองหลังก่ออิฐปูน ทาสีขาว

เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา[แก้]

เป็นตำหนักแบบตะวันตกสูงสองชั้น ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างเตี้ยชั้นบนสูง หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผา ภายในอาคารคล้ายกับเรือนหมู่สมัยรัชกาลที่ 3 ห้องที่ประทับหันหน้าเข้าสู่ลานกลาง ห้องโถงเป็นห้องบันไดขึ้นไปที่ประทับชั้นบน

เป็นที่ประทับในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าปภัศร[แก้]

เป็นตำหนักแบบตะวันตกสูงสองชั้น ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างเตี้ยชั้นบนสูง หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผา ภายในอาคารคล้ายกับเรือนหมู่สมัยรัชกาลที่ 3 ห้องที่ประทับหันหน้าเข้าสู่ลานกลาง ห้องโถงเป็นห้องบันไดขึ้นไปที่ประทับชั้นบน

เป็นที่ประทับในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปภัศร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าผ่อง[แก้]

เป็นพระตำหนักหมู่ทรงไทย ก่ออิฐปูน ทาสีขาว เป็นตำหนักที่ประทับในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่อง พระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์[แก้]

เป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเที่ยง กล่าวกันว่าพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

ทรงสร้างพระตำหนักหลังนี้ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อสร้างเสร็จกลับไม่ทรงประทับด้วยไม่โปรดที่ตำหนักทึบเกินไป ลักษณะเป็นอาคารแบบตะวันตก ก่ออิฐปูนสูงสามชั้น ทาสีเหลืองอ่อน ชั้นล่างเป็นที่อยู่ข้าหลวง ชั้นสองและชั้นสามเป็นที่ประทับลักษณะแปลกกว่าตำหนักอื่นคือ ไม่มีซุ้มประตูและลานกลาง ประตูทางเข้าอยู่ที่ตัวอาคาร

ตำหนักพระองค์เจ้าเฉิดโฉม[แก้]

เป็นตำหนักหมู่ทรงไทย กำแพงติดกับตำหนักพระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ ซุ้มประตูทางเข้าลักษณะคล้ายเก๋งจีน เป็นที่ประทับของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสีดา

ตำหนักพระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ[แก้]

เป็นตำหนักหมู่ 2 หลัง หลังละ 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐปูน ชั้นบนเป็นอาคารไม้ หลังคาทรงปั้นหยา มีชานชาลาเชื่อมถึงกัน ตั้งอยู่ระหว่างตำหนักของพระองค์เจ้าเฉิดโฉมกับพระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ โดยมีกำแพงติดกัน ตำหนักหลังนี้เป็นที่ประทับของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสุ่นเล็ก

ตำหนักพระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ[แก้]

เป็นตำหนักหมู่ทรงไทย ก่ออิฐปูนสีขาว กำแพงติดกับตำหนักพระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ ตำหนักหลังนี้เป็นที่ประทับของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ที่ประสูติแต่จอมมารดาสุ่นใหญ่

เรือน[แก้]

เรือนเจ้าจอมก๊กออ[แก้]

เป็นเรือนในเขตพระราชฐานชั้นใน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นเรือนอยู่อาศัยของเจ้าจอมก๊กออ ในตระกูลบุนนาค (เจ้าจอมเอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน) ภายในพระบรมมหาราชวัง

เรือนของเจ้าจอมเอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน ใช้โครงสร้างเป็นไม้ทั้งหลัง ตั้งแต่เสา คาน พื้น และหลังคา สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูง 4 ชั้น ประตูทางเข้าอยู่ทิศเหนือทำเป็นรูปครึ่งวงกลม มีหน้าต่างเจาะเป็นรูปโค้ง และอยู่ตรงกันทุกชั้น ด้านหน้าชั้นที่สอง และชั้นที่สามทำเป็นเฉลียง ส่วนชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า บริเวณห้องโถงและส่วนที่เป็นเฉลียงปูพื้นด้วยหินอ่อนสีขาวสลับดำ ซึ่งผิดกับห้องอื่น ๆ ที่เป็นพื้นไม้ทั้งหมด

ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของบริวาร ส่วนชั้นที่สองเป็นที่อยู่ของเจ้าจอม และไว้ใช้รับแขก จึงมีการตกแต่งฝาผนัง ขอบประตูหน้าต่างและเพดานสวยงาม ห้องทางทิศตะวันออกจะใช้ไม้ปูพื้นเป็นลายขัดและมีขนาดใหญ่กว่าห้องทางทิศ ตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นไม้ลายขัดเช่นกัน ชั้นที่สามมีการจัดแบ่งห้องเหมือนกับชั้นที่สอง แต่การตกแต่งจะน้อยกว่า ขอบประตูหน้าต่างก็ไม่มีบัวปูนปั้นเหมือนกับชั้นที่สอง

เรือนเจ้าจอมเง็ก (อดีตเรือนเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.จิ๋ว กปิตถา)[แก้]

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขตพระราชฐานชั้นใน ตัวเรือนทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หน้าแถวเต๊งใน เป็นอาคารก่ออิฐปูน สูงสองชั้น ทาสีขาว หน้าต่างสีเขียว ลักษณะอาคารเป็นรูปตัวยู (U) สถาปัตยกรรมตะวันตก ตกแต่งประดับด้วยลายไม้ฉลุ กันสาด และชายหลังคาแบบลายขนมปังขิง (Ginger Bread) ลักษณะเด่นคือมีหน้าต่างรอบอาคาร แบบบานเฟี้ยม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นเรือนของเจ้าจอมมารดาม.ร.ว.จิ๋ว กปิตถา พระสนมเอกในพระองค์ ต่อมาเมื่อเจ้าจอมมารดาม.ร.ว.จิ๋ว ถึงแก่อนิจกรรมก็เป็นเรือนของเจ้าจอมเง็ก พระสนมในรัชกาลที่ ๕

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯใช้อาคารนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาคารสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

เรือนคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด)[แก้]

เป็นตำหนักหมู่ทรงไทย ยาว ก่ออิฐปูนทาสีขาว ตั้งอยู่ริมสนามหญ้า เป็นที่พำนักของเจ้าจอมมารดาวาด พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4

เรือนเจ้าจอมประยงค์[แก้]

เป็นตำหนักหมู่ทรงไทย ชั้นเดียว ก่ออิฐปูน ประกอบด้วยเรือนสามหลัง แยกหน้าที่ใช้สอย เป็นตำหนักที่อยู่สองหลังและเรือนที่พักบริวาร และห้องเครื่องอยู่ทางด้านหลังหนึ่งหลัง แต่ละหลังหันห้าเข้าสู่ลานกลาง ผนังอาคารคือกำแพง เป็นที่พำนักของเจ้าจอมประยงค์ พระสนมในรัชกาลที่ 5

เรือนทรงประเคน[แก้]

เป็นอาคารโถงโล่งสูง ก่ออิฐปูน ทาสีขาว ใช้เป็นห้องเครื่องในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงกำกับดูแลเครื่องเสวยทั้งหมด

อาคารอื่น ๆ[แก้]

พระคลังใน[แก้]

พระคลังในเป็นอาคารที่ใช้เก็บของของหลวง ที่จะต้องใช้เป็นประจำ และเก็บเครื่องใช้ไม้สอยประเภทเครื่องถ้วยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ลักษณะเป็นอาคารสูงสองชั้น มีสองหลังเชื่อมถึงกัน อาคารหลังใหญ่เป็นที่เก็บของ ยกพื้นสูงและมีห้องใต้ดิน ส่วนหลังเล็กเป็นที่พักของพนักงานดูแลพระคลังใน

แถวเต๊ง[แก้]

แถวเต๊ง เดิมเป็นอาคารแถวทิมชั้นเดียว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้ยกเป็นสองชั้น กั้นเขตพระราชฐานชั้นในกับพระราชฐานชั้นนอกด้านทิศใต้ แถวเต๊งในพระราชฐานชั้นในมีสองแถวดังนี้

แถวเต๊งในหรือเต็งแดง[แก้]

อาณาเขตตั้งแต่หลังเขตพระราชฐานชั้นกลางจนถึงแถวเต๊งในนี้ เป็นที่ตั้งของตำหนัก อาคารที่พักของพระมเหสี พระสนม พระราขธิดาในรัชกาลต่าง ๆ ลักษณะแถวเต๊งในนี้เป็นอาคารก่ออิฐปูนสูงสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องมอญทรงสูง ประตูหน้าต่างเป็นแบบไทยเดิม

แถวเต๊งกลางหรือโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบหรือเต๊งท่อ[แก้]

อาณาเขตตั้งแต่เต๊งแดงถึงเต๊งท่อ เป็นที่พำนักข้าราชบริพารและข้าราชการฝ่ายใน ปัจจุบันเป็นที่ทำการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มี 75 ห้อง

แผนที่[แก้]

แผนที่เขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง
  1. พระตำหนักสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
  2. พระตำหนักพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  3. พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
  4. ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี
  5. ตำหนักพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชาและพระองค์เจ้าทิพยาลังการ
  6. ตำหนักพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี
  7. ตำหนักพระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค
  8. ตำหนักพระองค์เจ้าประพาฬรัศมี
  9. ตำหนักพระองค์เจ้าอรุณวดี
  10. ตำหนักกรมหลวงวรเสรฐสุดา
  11. ตำหนักพระองค์เจ้าวรลักษณาวดี
  12. ตำหนักพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระองค์เจ้าสุจิตราภรณีและเจ้าจอมมารดาชุ่ม
  13. ตำหนักพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา และเจ้าจอมมารดาอ่อน (ตำหนักแดง)
  14. ตำหนักพระองค์เจ้าพิบพับสรสร้อย
  15. ตำหนักพระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ
  16. ตำหนักพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา
  17. ตำหนักพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย
  18. ตำหนักพระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ
  19. ตำหนักพระองค์เจ้าเหมวดี
  20. ตำหนักพระองค์เจ้าแม้นเขียน
  21. ตำหนักพระองค์เจ้าแขไขดวง
  22. ตำหนักพระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา
  23. ตำหนักพระองค์เจ้าปภัศร
  24. ตำหนักพระองค์เจ้าผ่อง
  25. ตำหนักพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์
  26. ตำหนักพระองค์เจ้าเฉิดโฉม
  27. ตำหนักพระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ
  28. ตำหนักพระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ
  29. เรือนเจ้าจอมก๊กออ
  30. เรือนเจ้าจอมเง็ก (อดีตเรือนเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.จิ๋ว กปิตถา)
  31. เรือนคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด)
  32. เรือนเจ้าจอมประยงค์
  33. เรือนทรงประเคน
  34. พระคลังใน
  35. แถวเต๊งในหรือเต็งแดง
  36. แถวเต๊งกลางหรือโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบหรือเต๊งท่อ

อ้างอิง[แก้]

  • วรรณพร บุญญาสถิตย์. จอมนางแห่งสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พ.ศ. 2549. 338 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 874-341-471-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5