พระราชวังรัตนรังสรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชวังรัตนรังสรรค์
แผนที่
ที่มาพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง)
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเสร็จสมบูรณ์
ประเภทพระราชวัง
สถาปัตยกรรมผสมผสาน
ที่ตั้งตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง
เมือง ระนอง
ประเทศ ไทย
พิกัด09°57′53″N 98°38′11″E / 9.96472°N 98.63639°E / 9.96472; 98.63639
เริ่มสร้างพ.ศ. 2433
ปรับปรุงพ.ศ. 2507

พระราชวังรัตนรังสรรค์ สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2433 โดยพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองในขณะนั้น เนื่องด้วยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกเป็นครั้งแรกที่จะได้เสด็จไปถึงเมืองระนองในวันที่ 23-25 เมษายน พ.ศ. 2433 พระยารัตนเศรษฐีจึงได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จที่บนเนินควนอันอยู่ใจกลางเมือง

ประวัติและตำนานของพระราชวัง[แก้]

เรื่องตำนานพระราชวังรัตนรังสรรค์นั้น เกี่ยวข้องตำนานเมืองระนอง โดยปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก เป็นครั้งแรกที่จะได้เสด็จไปถึงเมืองระนอง พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง เจ้าเมืองระนอง) สร้างที่ประทับรับเสด็จที่บนเนินควนอันอยู่กลางเมือง สร้างล้วนด้วยเครื่องก่อประกอบกับไม้แก่นอย่างมั่นคง ประสงค์จะถวายเป็นราชพลีสนองพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงชุบเลี้ยงสกุลวงศ์มา และทรงประทับแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เป็นเวลา 3 ราตรี ระหว่าง 23-25 เมษายน พ.ศ. 2433

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นดำรัสว่า“...ทำงดงามมั่นคงสมควรจะเป็นวัง ยิ่งกว่าจะเป็นพลับพลา...” จึงพระราชทานนามว่า “พระราชวังรัตนรังสรรค์” ให้เป็นเกียรติยศแก่เมืองระนอง และสกุลของพระยารัตนเศรษฐีด้วย แต่ทรงพระราชดำริว่า ที่เมืองระนองนาน ๆ จะเสด็จประพาสครั้งหนึ่ง วังทิ้งไว้เปล่าก็จะชำรุดทรุดโทรมเสีย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า โดยปกติให้ใช้พระราชวังนั้นเป็นศาลารัฐบาล และทำพิธีสำหรับบ้านเมือง ต่อเมื่อมีการเสด็จประพาสเมื่อใดจึงให้จัดเป็นที่ประทับ

การบูรณะปฏิสังขรณ์พระราชวัง[แก้]

ต่อมาองค์พระที่นั่งฯ ชำรุดทรุดโทรมลง ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คออยู่หงี่) เป็นเจ้าเมืองระนอง (พ.ศ. 2433-2460) จึงได้ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ปรับปรุง และดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ใหม่ โดยสร้างเป็นรูปเรือนตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว หันหน้ามุขไปทางด้านทิศตะวันตก และประดับตราพระครุฑพ่าห์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2444 แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนองเรื่อยมา พระที่นั่งรัตนรังสรรค์องค์ใหม่นี้ยังได้ใช้เป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อีก 3 ครั้ง

การเสด็จมาประทับ[แก้]

ครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เมืองระนองครั้งแรก คราวประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เสด็จฯ ประทับแรม 4 ราตรี ระหว่างวันที่ 16-19 เมษายน พ.ศ. 2452

ครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว คราวเสด็จฯ เยี่ยมหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก เสด็จฯ ประทับแรม 3 ราตรี ระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน พ.ศ. 2460

ครั้งที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จฯ ประพาสเยี่ยมหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตก เสด็จฯ ประทับแรม 1 ราตรี ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2471

สถาปัตยกรรม[แก้]

เป็นพระราชวังที่ทำด้วยไม้สักและไม้ตะเคียนทองสิ่งที่จัดแสดงภายในพระราชวังฯ อาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Europe cabanas มีห้องต่างๆ ได้แก่ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ชั้น 3) ห้องพระราชินี (ชั้น 2) มีจำนวน 6 ห้อง อาคารทรงแปดเหลี่ยม อาคารท้องพระโรง สะพานเชื่อมอาคารที่ประทับกับอาคารแปดเหลี่ยม