พระราชวังบวรสถานมงคล
พระราชวังบวรสถานมงคล | |
---|---|
พระบวรราชวัง | |
![]() | |
ประเภท | พระราชวัง |
ที่ตั้ง | แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
สร้างเมื่อ | พ.ศ. 2325 |
สร้างโดย | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท |
การใช้งานดั้งเดิม | สถานที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล |
สถานะ | ยังมีอยู่ |
สถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมไทย |
ผู้ดูแล | กรมศิลปากร |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | พระราชวังบวรสถานมงคล และกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) |
ขึ้นเมื่อ | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000015 |
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พระบวรราชวัง ตั้งอยู่ที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพระราชวังที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้สร้างขึ้น โดยเริ่มสร้างพร้อม ๆ กับพระบรมมหาราชวังใน พ.ศ. 2325 การก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ใช้พื้นที่ตั้งแต่ทิศเหนือของวัดสลัก (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) ขึ้นไปจรดคลองคูเมืองเดิม และได้ทำผาติกรรมที่ดินส่วนหนึ่งทางด้านเหนือของวัดสลัก เข้ามาเป็นเขตพระราชวังบวรสถานมงคลด้วย อาณาเขตของพระราชวังบวรสถานมงคลเดิมกว้างขวางมาก แต่ปัจจุบันได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง และถนน และเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประวัติ[แก้]
สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท[แก้]

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)[1] ได้มีการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพมหานคร และโปรดเกล้าให้สร้างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นในคราวเดียวกัน[2]
พระราชวังบวรสถานมงคลนั้นเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของผู้ดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงมีความสำคัญมาก พระราชวังแห่งนี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จและมีการฉลองพระราชวังพร้อมกับการสมโภชพระนครและฉลองพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2328 พระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อแรกสร้างนั้นเป็นเครื่องไม้ทั้งสิ้น ในการสร้างพระบรมมหาราชวังในระยะแรกนั้นได้ถ่ายแบบมาจากพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่พระราชวังบวรสถานมงคลนั้นไม่มีหลักฐานว่าถ่ายแบบมาจากพระราชวังจันทรเกษมซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ในการสร้าง พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ซึ่งเป็นท้องพระโรงนั้น ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของสระน้ำ ได้ถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น จึงมีบางคนเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งทรงปืน[3] หรือ บ้างก็เรียกพระที่นั่งทรงธรรม เนื่องจากใช้เป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วย[2]
พระราชมณเฑียรภายในพระราชวังสถานมงคลนั้น สร้างเป็นพระวิมาน 3 หลังเรียงติดกัน ได้แก่
ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระวิมานนั้น สร้างเป็นพระราชมณเฑียรขวางตลอดแนวพระวิมานทั้ง 3 หลัง โดยด้านหน้าพระวิมานถัดจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศนั้น มุขหน้าเป็นท้องพระโรงหน้า เรียกว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ ส่วนมุขหลังเป็นท้องพระโรงหลัง โดยมี พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข และพระที่นั่งอุตราภิมุข ล้อมรอบพระราชมณเฑียรทั้ง 4 ด้าน โดยชื่อพระที่นั่งทั้ง 4 นั้น มีขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ[4]

นอกจากนี้ ยังมี พระพิมานดุสิตา ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา และเมื่อ พ.ศ. 2330 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่ได้อัญเชิญลงมาหลังจากเสด็จขึ้นไปยังนครเชียงใหม่
บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง พระองค์โปรดให้สร้าง "วัดหลวงชี" ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จำศีลของนางชีนามว่า นักนางแม้น ซึ่งเป็นมารดาของนักองค์อีธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระองค์[5][6]
พระองค์ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลด้วยความประณีต ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสวรรคต ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวรฯ ตามแบบอย่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง[7]
ครั้นเมื่อพระองค์ทรงพระประชวรใกล้สวรรคตนั้น พระองค์มีรับสั่งว่า พระราชมณเฑียรสถานได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมายเป็นของปราณีตบรรจง ประชวรมาช้านานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นให้รอบคอบ จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย ดังนั้น จึงโปรดฯ ให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนยไปโดยรอบพระราชมณเฑียร โดยการเสด็จในครั้งนี้มีบางคนกล่าวว่า พระองค์ทรงบ่นว่า "ของนี้อุตส่าห์ทำขึ้นด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อนี้ไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น" และเล่าอีกอย่างหนึ่งว่า พระองค์มีรับสั่งว่า "ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง ก็สร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอให้ผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข" ซึ่งมีปรากฏในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย[7]
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชวังบวรสถานมงคลก็ถูกปล่อยให้รกร้าง เนื่องจากกรมพระราชวังสถานมงคลพระองค์ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรนั้น ไม่ได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังแห่งนี้ แต่ยังคงประทับที่พระราชวังเดิม ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์[แก้]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)[1] พระองค์ทรงสมรสกับพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยของพระองค์นั้น ไม่ได้มีการสร้างสิ่งใดเพิ่มเติมภายในพระราชวังบวรสถานมงคล แต่มีการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมลง พระองค์ทรงให้รื้อพระพิมานดุสิตาลง โดยนำไม้ที่ได้จากการรื้อไปใช้ในการสร้างวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร รื้อกุฎิวัดหลวงชีซึ่งชำรุด ทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย นอกจากนี้ ภายในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระองค์ทรงย้ายปราสาทปรางค์ 5 ยอด ซึ่งเดิมสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ แต่ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานภายในพระบรมมหาราชวังแล้ว พระองค์จึงทรงให้ตั้งพระที่นั่งเศวตฉัตรแทน เพื่อเป็นที่เสด็จออกแขกเมืองและพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360 ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ[แก้]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ออกพระนามว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ)[1] หลังจากนั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคลตลอดพระชนม์ชีพ โดยพระองค์ได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพระราชวังบวรสถานมงคลมากมาย
พระองค์ทรงซ่อมแซมพระราชมณเฑียรทั้ง 3 หลัง และต่อมุขบริเวณด้านหลังพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เรียกว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข และมุขด้านหน้า เรียกว่า พระที่นั่งพิมุขมณเฑียร พร้อมทั้งขนานนามพระที่นั่งที่ที่ล้อมรอบพระราชมณเฑียรทั้ง 4 มุมว่า พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข และพระที่นั่งอุตราภิมุข
พระองค์ยังให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อจากพระที่นั่งพิมุขมณเฑียรเพื่อใช้เป็นท้องพระโรง เรียกว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งสร้างเลียนแบบ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง และเปลี่ยนนามพระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์เป็นพระที่นั่งพรหมเมศธาดา เพื่อให้คล้องจองกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รวมทั้ง เปลี่ยนนามพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ด้วย
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้สร้างพระที่นั่งเครื่องไม้ ขนานนามว่าพระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก ขึ้นบริเวณสระน้ำที่เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งพิมานดุสิตา ภายหลังหักพังเสียหมด และสร้างวัดพระแก้ววังหน้า ขึ้น โดยโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานที่พระอุโบสถของวัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดบวรสถานสุทธาวาส[8]
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 โดยไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกตลอดรัชกาล ทำให้พระราชวังสถานมงคลว่างลงอีกครั้ง
สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลรับพระบวรราชโองการ พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 มีพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระราชวังบวรสถานมงคลว่า พระบวรราชวัง ขณะที่วังหลวงเรียกว่าพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าประทับในพระบวรราชวังซึ่งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ดังนั้น ในสมัยนี้จึงมีการปรับปรุง ซ่อมแซม พระบวรราชวังครั้งใหญ่เพื่อให้สมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีต้นแบบมาจากพระบรมมหาราชวังเป็นส่วนใหญ่
พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งคชกรรมประเวศเป็นองค์แรก บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งในการเกยช้าง พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้สร้างพระที่นั่งบริเวณมุมข้างใต้และเหนือของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย นามว่า พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งเอกอลงกฎ สร้างตามแบบพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระที่นั่งทั้ง 2 องค์มีที่เกยสำหรับทรงพระราชยาน รวมทั้ง ยังสร้างพระที่นั่งสนามจันทร์ และสร้างพลับพลาสูงตามแบบพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เหมือนอย่างพระราชวังหลวง และทรงย้ายตำหนักแดงจากพระราชวังเดิม มาปลูกไว้ที่พระบวรราชวังด้วย[9]
พระองค์โปรดให้สร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นตึกแบบฝรั่ง 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ และเสด็จเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างพระที่นั่งบริเวณหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนสำเร็จ พร้อมทั้งพระราชทานนามพระที่นั่งว่า พระที่นั่งบวรบริวัติ
เมื่อพระองค์จัดตั้งทหารวังหน้าขึ้น จึงมีการสร้างสถานที่สำหรับการทหารขึ้นภายในพระบวรราชวัง เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพาวุธ เป็นต้น รวมทั้ง ยังสร้างโรงช้างต้น และ ม้าต้น ตามแบบพระบรมมหาราชวังอีกด้วย
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น กลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิม
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกตลอดรัชกาล
สมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ[แก้]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการปรับปรุงพระบวรราชวังครั้งใหญ่ และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีการสร้างพระที่นั่งใหม่มากนัก พระองค์ทรงสร้าง พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส ต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนแล้วเสร็จและเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งองค์นี้
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 หลังจากนั้น ก็ไม่มีการสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดที่ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
จุดสิ้นสุดของพระราชวังบวรสถานมงคล[แก้]
หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้สถาปนาเจ้านายพระองค์ใดในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก แต่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. 2429 ทำให้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกยกเลิกไป ดังนั้น พระราชวังบวรสถานมงคลจึงไม่ได้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนับตั้งแต่นั้นมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลงสนามวังหน้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพิธีท้องสนามหลวง และรื้อป้อมปราการต่าง ๆ ลง และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานไปไว้ที่ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ในปี พ.ศ. 2430 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปี พ.ศ. 2469[10] ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, โรงละครแห่งชาติ และท้องสนามหลวงตอนเหนือฟากตะวันตก
สิ่งก่อสร้างที่ยังคงเหลือในปัจจุบัน[แก้]

พระราชมณเฑียร[แก้]
พระราชมณเฑียร หรือ หมู่พระวิมาน เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างเป็นหมู่พระที่นั่งประกอบกัน และมีการซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใช้เป็นสถานที่ที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์[แก้]
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อทำการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ เป็นต้น หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2330 พระองค์เสด็จไปยังเชียงใหม่ และไดัอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมา พระองค์จึงทรงพระราชอุทิศพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" ปัจจุบัน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน[แก้]
พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกขุนนาง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล การสร้างพระที่นั่งองค์นี้ถ่ายแบบพระที่นั่งมาจากพระที่นั่งทรงปืนที่พระราชวังหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น จึงมีบางคนเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งทรงปืน" อย่างไรก็ตาม เมื่อพระราชมณเฑียรสร้างแล้วเสร็จ พระที่นั่งองค์นี้ก็ใช้เป็นเพียงสถานที่เสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งทรงธรรม" พระที่นั่งแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ตั้งพระบรมศพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทด้วย ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์[แก้]
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นโดยมีลักษณะเป็นตึกฝรั่ง เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ ภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและพระบวรอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์จัดเป็นห้องพระบวรราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งคชกรรมประเวศ[แก้]
พระที่นั่งคชกรรมประเวศ เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นพระที่นั่งทรงปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นภายในพระบวรราชวัง ตั้งอยู่บริเวณหน้ามุขพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งมีลักษณะคล้ายพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระที่นั่งที่สร้างโดยเครื่องไม้มีเกยสำหรับขึ้นทรงช้างด้วย เนื่องจากพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นจากเครื่องไม้ ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปจึงเกิดการผุกร่อนและชำรุดมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์นี้ออก คงเหลือแต่ฐานปราสาทและที่เกยช้างที่ยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน
พระที่นั่งมังคลาภิเษกและพระที่นั่งเอกอลงกฎ[แก้]
พระที่นั่งมังคลาภิเษกและพระที่นั่งเอกอลงกฎ สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ให้ปรับปรุงและก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ภายในพระบวรราชวังเพื่อให้สมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งโถงคู่กันบนกำแพงแก้วหน้าท้องพระโรงบริเวณด้านเหนือ นามว่า "พระที่นั่งเอกอลงกฎ" และด้านใต้นามว่า "พระที่นั่งมังคลาภิเษก" ปัจจุบัน พระที่นั่งมังคลาภิเษกได้รื้อลงแล้วเนื่องจากชำรุดเสียหายมาก คงเหลือเพียงพระที่นั่งเอกอลงกฎเท่านั้น[2] อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระบุว่า ปัจจุบัน คงเหลือแต่พระที่นั่งมังคลาภิเษก ส่วนพระที่นั่งเอกอลงกฎนั้นได้รื้อลงแล้ว[11]
พระตำหนักแดง[แก้]
พระตำหนักแดง สร้างขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางพระองค์น้อยในพระองค์ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรื้อพระตำหนักฝ่ายในภายในเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อเปลี่ยนเป็นพระตำหนักตึกทั้งหมด ดังนั้น จึงโปรดให้รื้อพระตำหนักแดงไปปลูกที่พระราชวังเดิม เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โดยพระตำหนักแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกนั้นเป็นที่ประทับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา ปัจจุบัน พระตำหนักส่วนนี้ได้ถูกรื้อไปปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี ส่วนที่สองเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เก๋งนุกิจราชบริหาร[แก้]
เก๋งนุกิจราชบริหาร เป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีนภายในพระราชวังบวรสถานมงคลหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในปัจจุบัน สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างจีนทั้ง 3 ด้าน ปัจจุบัน เป็นสถานที่เก็บรักษาป้ายอวยพรขนาดใหญ่ซึ่งเข้าใจว่าเป็นของถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว[12]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 1.2 จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน, กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท,ปีที่ ๕, ฉบับที่ ๕๔, พฤศจิกายน ๒๕๓๘
- ↑ 2.0 2.1 2.2 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525
- ↑ "ตำนานวังหน้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-09. สืบค้นเมื่อ 2007-09-15.
- ↑ สุนิสา มั่นคง, วังหน้า รัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน, 2543, ISBN 974-322-030-5
- ↑ วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดในวัง สมัยรัตนโกสินทร์)
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เจ้านายไทย เก็บถาวร 2004-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นิตยสารสกุลไทย, ฉบับที่ 2607, ปีที่ 50, ประจำวันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2547
- ↑ 7.0 7.1 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 13, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท พระยาศรีสรราชภักดี ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 17 มีนาคม 2509, พระนคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, พระที่นั่งสุทธาศวรรย์ เก็บถาวร 2008-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2584, ปีที่ 50, 27 เมษายน 2547
- ↑ ตำหนักแดง เก็บถาวร 2008-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, คำกราบบังคมทูล ในการเปิดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร, เล่ม ๔๓, ตอน ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๓๐๓๘
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : พระที่นั่งมังคลาภิเษก
- ↑ เก๋งนุกิจราชบริหาร จากเว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ดูเพิ่ม[แก้]
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระราชวังบวรสถานมงคล
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′29″N 100°29′29″E / 13.757930°N 100.491482°E
- ตำนานวังหน้า เก็บถาวร 2007-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน