ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พิกัด: 13°45′05″N 100°29′33″E / 13.751391°N 100.492519°E / 13.751391; 100.492519
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มุมมองจากพระบรมมหาราชวัง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระแก้ว
ที่ตั้งถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร 10200
กรุงเทพมหานคร
ไทย ประเทศไทย
ประเภทพระอารามหลวงชั้นพิเศษ
พระประธานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระสัมพุทธพรรณี พระชัยหลังช้าง พระคันธารราษฎร์ พระนาก
พระจำพรรษาไม่มี
ความพิเศษพระอารามประจำพระบรมมหาราชวัง
จุดสนใจสักการะพระแก้วมรกต ชมจิตรกรรมฝาผนัง ที่พระระเบียง
กิจกรรมเทศนาธรรม วันอาทิตย์และวันพระ
การถ่ายภาพไม่ควรใช้แฟลชในถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในพระอุโบสถ
หมายเหตุเข้าชมเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องทำหนังสือขออนุญาต ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารเงินตรา ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005574
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดภายในพระบรมมหาราชวัง ลักษณะเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังและการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2325 ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร รวมถึงเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสต่าง ๆ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เนื่องจากมีเฉพาะส่วนพุทธาวาส ไม่มีส่วนสังฆาวาส

ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด อาคารประธานของกลุ่มอาคารนี้ คือ พระอุโบสถ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิธาตุพิมาน หอพระราชพงศานุสรณ์ หอพระราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง และหอพระคันธารราษฎร์ ส่วนกลุ่มที่สองคือ กลุ่มฐานไพที เป็นกลุ่มอาคารที่ประดิษฐานบนฐานยกพื้นขนาดใหญ่บริเวณลานด้านทิศเหนือของกลุ่มพระอุโบสถ รองรับปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญ เช่น พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทพระเทพบิดร พระสุวรรณเจดีย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์ กลุ่มที่สามคือกลุ่มอาคารประกอบ ประกอบด้วย หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

นาม

[แก้]

คำว่า "พระศรีรัตนศาสดาราม" เป็นการสมาสสนธิระหว่างคำ คือ "ศรีรัตนศาสดา" กับ "อาราม" โดยคำว่าศรีรัตนศาสดา หมายถึงฉายาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นนามที่ใช้เรียกแทนพระองค์ว่าเป็นศาสดาที่เปรียบเป็นพระผู้ประเสริฐ เป็นศรีรัตน เปรียบได้กับแก้วอันประเสริฐ ซึ่งกล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเอกแห่งรัตนตรัย ซึ่งคือ แก้ว 3 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

คำว่า อาราม คือ วัด ดังนั้น "พระศรีรัตนศาสดาราม" หมายถึง วัดสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอารามซึ่งประดิษฐานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]

ประวัติ

[แก้]

ภูมิหลัง

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพิเคราะห์เห็นว่าชัยภูมิของกรุงธนบุรีไม่มั่นคงแข็งแรงสําหรับการต่อต้านข้าศึก สู้ชัยภูมิทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เพราะเป็นที่แหลมมีแม่น้ำเป็นขอบเขตกว่าครึ่ง ซึ่งอาจอาศัยแม่น้ำเป็นปราการต้านข้าศึกได้เป็นอย่างดี มูลเหตุสําคัญอีกประการหนึ่งคือ มีพระบรมราโชบายที่จะสร้างพระมหานครใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองละม้ายกรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิมโดยเร็วที่สุด

โดยสถานที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่เดิมเป็นที่ดินซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและบรรดาชาวจีนซึ่งเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารอยู่ในครั้งนั้นได้ตั้งเคหสถานบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน จึงได้พระกรุณาโปรดเกล็าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐีและบรรดาชาวจีนทั้งปวงยกย้ายไปตั้งเคหสถานบ้านเรือนไปอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง[2]

รัชกาลที่ 1

[แก้]
บุษบกที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
ภาพสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังและการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2325 โดยสร้างตามประเพณีการสร้างพระอารามหลวงในเขตพระราชวังที่มีมาตั้งแต่อดีต เช่น วัดมหาธาตุในพระราชวังของอาณาจักรสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังโบราณของอาณาจักรอยุธยา ลักษณะสำคัญของพระอารามหลวงในพระราชวังคือมีเพียงเขตพุทธาวาส ไม่มีเขตสังฆาวาส

มูลเหตุแห่งการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นนั้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุตหรือประเทศลาว แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่โรงด้านหน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีแล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เข้ามาประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ ในวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2327 แล้วพระราชทานนามพระอารามว่า "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม"[3] เมื่อแรกสถาปนามีปูชนียสถานอันเป็นหลักสำคัญของพระอารามพร้อมบริบูรณ์ คือ พระเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหารและหอไตร

ส่วนพระระเบียงรอบบริเวณพระอารามนั้น น่าจะสร้างขึ้นแต่ในระยะแรกด้วย เป็นแนวระเบียงที่ต่างจากปัจจุบัน กล่าวคือ แนวพระระเบียงด้านตะวันออกและตะวันตกสร้างเป็นแนวตรง ยังมิได้ต่อคดขยายไป มีประตูเป็นทางเข้าออกสี่ด้าน ด้านตะวันออกมี 2 ประตู ตรงหน้าพระอุโบสถประตูหนึ่ง ตรงหน้าหอพระมณเฑียรธรรมออกมาตรงกับประตูสวัสดิโสภาที่กำแพงพระบรมมหาราชวังประตูหนึ่ง ด้านตะวันตกมี 3 ประตู ด้านเหนือมี 1 ประตู ใกล้กับประตูมณีนพรัตน์ที่กำแพงพระบรมหาราชวัง ด้านใต้มี 1 ประตู ได้รับพระราชทานนามว่า ประตูศรีรัตนศาสดา ผนังพระระเบียงเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบ[4]

บริเวณถัดจากหอพระมณเฑียรออกไปในแนวเดียวกันตรงที่เป็นพระวิหารยอดในปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเทพบิดร หรือพระเชษฐบิดร ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา แล้วพระราชทานนามพระวิหารตามพระพุทธรูปว่า หอพระเชษฐบิดร เรียกกันสามัญว่า วิหารขาว ด้านตะวันออกของหอพระมณเฑียร ทรงสร้างพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองปิดทอง 2 องค์ ประดิษฐานอยู่มุมชั้นทักษิณด้านตะวันออกของปราสาทพระเทพบิดร[5]

ในการสถาปนาระยะที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2331–2352 ได้สร้างพระมณฑปขึ้นแทนหอพระมณเฑียรธรรมหลังเดิม ด้านตะวันออกของพระมณฑปนั้น เดิมมีพระสุวรรณเจดีย์ 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ มีสระก่ออิฐอยู่ระหว่างพระสุวรรณเจดีย์ และมีการสร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่ทางมุมพระระเบียงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อสร้างพระมณฑปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองเป็นการใหญ่ ต่อมามีการสร้างหอระฆังระหว่างพระอุโบสถกับพระระเบียงด้านใต้ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระนากขึ้นทางมุมพระระเบียงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ[6] หลังสถาปนาสิ่งต่าง ๆ ในพระอารามแล้วจึงมีงานสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2352

รัชกาลที่ 3

[แก้]

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มิได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งใดในอาราม เพราะได้บูรณะตกแต่งครั้งใหญ่ไว้เมื่อใกล้สิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมชนกนาถ[7] ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดพระศรีรัตนศาสดารามเริ่มทรุดโทรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2374 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2391 โดยในรัชกาลนี้เป็นการปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม โปรดให้กรมหมื่นศรีสุเทพและกรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ กรมขุนสถิตย์สถาพร ทรงตรวจการช่างต่าง ๆ พระยาศรีพิพัฒน์ และพระยาเพ็ชร์พิไชย เป็นนายงาน

ในจดหมายเหตุทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ของพระศรีภูมิปรีชา เจ้ากรมพระอารักษ์ในรัชกาลที่ 3 และนายมี ได้บรรยายไว้ว่า "มีพระศรีรัตนอุโบสถ พระมหามณฑป พระเสวตรเวชยันตะพิมานวิหารยอด แลหอพระมณเฑียรธรรม หอพระเชษฐบิดร แลพระมหาเจดีย์ 2 และพระอนุเจดีย์ 7 และพระอัษฎามหาเจดีย์ 8 พระองค์"[8]

พระอุโบสถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมใหม่ทั้งหลัง ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถยังคงเรื่องมารผจญและไตรภูมิไว้ นอกนั้นเขียนใหม่ทั้งหมด ผนังระหว่างหน้าต่างเดิมเป็นภาพเทพชุมนุม เขียนใหม่เป็นเรื่องปฐมสมโพธิ์และผนังหน้าต่างเดิมเป็นภาพปฐมสมโพธิ์ เขียนใหม่เป็นเรื่องชาดกต่าง ๆ ที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เดิมตั้งบุษบกทองคำต่อกับฐานชุกชี โปรดให้สร้างเบญจาสามชั้นหนุนบุษบกให้สูงสมทรงพระอุโบสถเช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน[9]

พระมณฑป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์เครื่องบนและผนังภายนอก พระวิหารยอด โปรดให้รื้อหอพระเชษฐบิดร สร้างใหม่เป็นวิหารมีหลังคายอด โดยบานประตูด้านหน้าเป็นบานประดับมุก ฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นำมาจากบานประตูวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ส่วนพระระเบียง ซ่อมเปลี่ยนเครื่องบนใหม่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังลบเขียนใหม่ทั้งหมด แต่คงเป็นเรื่องราวรามเกียรติ์แต่ต้นจนจบเช่นของเดิม ผู้ร่างต้นแบบเขียนในครั้งนี้เป็นพระสงฆ์ ชื่อพระอาจารย์แดง หอพระนาก โปรดให้ซ่อมแปลงหอพระนากหลังเก่า โดยสร้างขยายใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม[10] พระอัษฎามหาเจดีย์ สันนิษฐานว่า ในรัชกาลที่ 3 ทรงซ่อมทำใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม ดังลักษณะในปัจจุบัน แล้วโปรดให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุในพระปรางค์ด้วย และทรงโปรดให้สร้างเก๋งบอกพระปริยัติธรรมภายในกำแพงแก้วพระอัษฎามหาเจดีย์ สำหรับเป็นที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณร โปรดให้ปั้นรูปยักษ์ 6 คู่[11] โดยรูปยักษ์คู่ทศกัณฐ์กับสหัสเดชะนั้นปั้นโดยหลวงเทพรจนา (กัน) นอกจากนั้นยังได้ทรงสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2[12]

รัชกาลที่ 4

[แก้]
หอระฆังที่ได้มีการรื้อของเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ในที่ตั้งเดิม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและสร้างปูชนียสถานเพิ่มเติม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมตัวไม้เครื่องบนของพระอุโบสถและเขียนภาพที่ฝาผนังใหม่ ยกเว้นภาพเรื่องมารผจญที่ผนังหุ้มกลองด้านหน้า และภาพเรื่องไตรภูมิที่ผนังหุ้มกลองด้านหลัง ฝีมือพระอาจารย์นาคแห่งวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารนั้นให้คงของเดิมไว้ พื้นพระอุโบสถเดิมปูเสื่อทองเหลือ ให้หล่อเป็นแผ่นอิฐทองเหลืองปูใหม่ บานหน้าต่างเดิมประดับมุกแกมเบื้อเปลี่ยนเป็นประดับมุกทั้งบาน รูปเซี่ยวกางที่บานประตูและรูปเทวดาที่ข้างหน้าต่าง เดิมเป็นลายเขียน แก้เป็นลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก เชิงไพทีและเชิงผนังรองพระอุโบสถ ประดับแผ่นกระเบื้องลายใหม่[13]

พระมณฑป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมเปลี่ยนตัวไม้เครื่องบนที่ผุ พื้นข้างในเดิมปูดาดแผ่นเงินให้เปลี่ยนเป็นสานเสื่อเงินปูแทน ฐานไพทีที่ตั้งพระมณฑป ให้ถมที่ต่อลานและชั้นทักษิณพระมณฑปออกไปทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกจนเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน มีกำแพงแก้วทำด้วยศิลาล้อมสองชั้น สร้างประตูซุ้มมณฑปและบันไดทางขึ้นบนฐานไพที 6 แห่ง พระระเบียง ต่อพระระเบียงย่อออกไปตรงด้านสะกัดฐานไพทีที่ต่อใหม่นั้นทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ทางด้านตะวันออกโอบพระอัษฎาหาเจดีย์เข้าไว้ในวงพระระเบียง 2 องค์ ทำประตูซุ้มมงกุฎประดับกระเบื้อง และมีพลับพลาเปลื้องเครื่องอยู่ข้างประตูข้างละหลัง ทางด้านตะวันตกทำประตูซุ้มจัตุรมุขมีพลับพลาเปลื้องเครื่องข้างเหนือประตูหลังหนึ่ง ตัวพระระเบียง โปรดให้ซ่อมและเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ใหม่ แต่การเขียนภาพยังค้างอยู่ มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 5 พระปรางค์ปราสาทบนลานทักษิณพระมณฑปที่ต่อใหม่ทางด้านตะวันออก ซึ่งเดิมเป็นสระนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทยอดปรางค์องค์หนึ่ง ด้วยทรงพระดำริจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และตั้งบุษบกให้ต่ำลงเพื่อจะได้ชมเนื้อแก้วได้ถนัด สร้างเสร็จรัชกาลที่ 5 แต่เนื่องจากสถานที่คับแคบไม่เหมาะแก่การพระราชพิธี จึงมิได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานไว้ดังพระราชดำริเดิม[14]

พระสุวรรณเจดีย์ 2 องค์ ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่บริเวณที่ต่อลานทักษิณออกไปใหม่นี้ โปรดให้ชะลอมาไว้ที่รักแร้ปราสาทพระเทพบิดรทั้งสองข้าง พระศรีรัตนเจดีย์บนลานทักษิณพระมณฑปที่ต่อใหม่ทางด้านตะวันตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่สูง 1 เส้นเท่ากับพระมณฑปตามแบบพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา สร้างแล้วเสร็จในรัชกาลแต่ยังมิได้ประดับกระเบื้องทอง และที่ลานทักษิณด้านเหนือพระมณฑป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสามภพพ่ายไปจำลองแบบนครวัดเพื่อสร้างถวายเป็นพุทธบูชา แต่การยังค้างอยู่จนสิ้นรัชกาล นครวัดจำลองที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นของสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 5 โปรดให้หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย เป็นผู้ทำ[15]

หอพระคันธารราษฎร์และมณฑปยอดปรางค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่มุมพระระเบียงหน้าพระอุโบสถ อาคารทั้งสองสร้างเสร็จและประดับผนังด้วยกระเบื้องเคลือบสีในรัชกาลที่ 5 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อหอระฆังเดิมครั้งรัชกาลที่ 1 แล้วสร้างใหม่ในที่เดียวกัน พระโพธิธาตุพิมานหลังพระอุโบสถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปยอดปรางค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทรงปรางค์ปิดทองของโบราณ ที่พระองค์ได้มาจากเมืองเหนือครั้งยังทรงผนวช สองข้างพระโพธิธาตุพิมาน สร้างหอน้อยข้างละหลัง พระราชทานนามว่า หอพระราชกรมานุสรและหอพระราชพงศานุสร[16]

รัชกาลที่ 5

[แก้]
พระอุโบสถในสมัยรัชกาลที่ 5

จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติไม่นาน จึงได้รีบเร่งสร้างและปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วให้สำเร็จทันวันฉลองพระนครครบร้อยปี ซึ่งมีงานฉลองในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425[17] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นนายงานทำการปฏิสังขรณ์พระอาราม โดยโปรดเกล้าให้จ่ายพระราชทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนพระคลังข้างที่ เป็นเงินในพระองค์ทรงจ่ายราชการฝ่ายใน ให้ทำวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนั้นให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระราชอุทิศไว้สำหรับซ่อมแซมพระอารามทั้งปวง[18]

ในการปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นการปฏิสังขรณ์ทั่วพระอารามคราวที่ 2 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลกรุงรัตนโกสินทร์ประดิษฐานไว้บนชั้นทักษิณพระพุทธปรางค์ปราสาท 3 แห่ง ประจำรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 แห่งหนึ่ง ประจำรัชกาลที่ 4 แห่งหนึ่ง ประจำรัชกาลที่ 5 แห่งหนึ่ง อนุสาวรีย์นั้นหล่อเป็นรูปตราแผ่นดินอยู่บนบุษบกตั้งบนฐานหินอ่อน และหล่อรูปพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลตั้งรายที่ฐานอนุสาวรีย์ เป็นเครื่องประดับเหมือนกันทั้ง 3 แห่ง นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งโคลงจารึกแผ่นหินอ่อนประดับพระระเบียง โครงเรื่องรามเกียรติประดับตามเสาตรงกับห้องที่เขียนเรื่อง โคลงเรื่องนารายณ์สิบปางและอสุรพงศ์ วานรพงศ์ ประดับผนังตรงที่เขียนเรื่องและรูปนั้น โครงทั้งปวงนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นกวีรับไปแต่งถวายบ้างจนครบบริบูรณ์[19]

ก่อนจะสิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระพุทธปรางค์ปราสาทเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง อันเนื่องจากเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 เวลา 22 นาฬิกาเศษ โดยทำเครื่องบนใหม่ทั้งหมดและทรงปฏิสังขรณ์ลวดลายประดับตกแต่งต่าง ๆ ไฟไหม้ครั้งนี้ทำให้พระประธานซึ่งอยู่ในพระพุทธปรางค์ปราสาทและพระพุทธรูปพระเทพบิดรซึ่งประดิษฐานอยู่ในมุขต้องละลายสูญไปด้วย จากนั้นพระพุทธปรางค์ปราสาทก็ว่างอยู่ตลอดรัชกาล[20]

รัชกาลที่ 6

[แก้]
ปราสาทพระเทพบิดร

สืบเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปรัชกาลต่าง ๆ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นที่พระบรมมหาราชวังเพื่อประดิษฐานพระบรมรูป ต่อมาเห็นว่าพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามว่างอยู่ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทแล้วอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้ารัชกาลมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2461 และพระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร จากนั้นให้มีบรมราชโองการให้มีการกราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัติยาธิราชเป็นประจำปี กำหนดในวันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบมา[21]

การบูรณะปราสาทพระเทพบิดร โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอพระสุวรรณเจดีย์ทั้งสององค์เลื่อนออกไปจากรักแร้ปราสาท ไปประดิษฐานไว้ที่มุมชั้นทักษิณด้านตะวันออกทั้งสองข้าง และรื้อซุ้มประตูกับบันไดขึ้นชั้นทักษิณปราสาทพระเทพบิดร ทั้งด้านตะวันออก เหนือ และใต้ ซึ่งสร้างแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ทำเป็นบันไดใหม่เป็นบันไดใหญ่ปูหินอ่อน ทางชั้นทักษิณขึ้นพระศรีรัตนเจดีย์ก็ได้ทำบันไดใหญ่แบบเดียวกันอีกบันไดหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้ทำพนมหมากที่กำแพงแก้วปราสาทพระเทพบิดรอีก 6 พาน

พระอุโบสถซ่อมเครื่องทองคำ เช่นบุกษบกต่าง ๆ ซ่อมรูปจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถบ้างเล็กน้อย แก้บันไดทางขึ้นทั้ง 6 บันได พระมณฑลได้ปฏิสังขรณ์เครื่องบนทั้งหมด พระสุวรรณเจดีย์ได้ปฏิสังขรณ์ทั้งสององค์เป็นการใหญ่ นอกจากนี้ยังได้ซ่อมศาลาราย พลับพลาเปลื้องเครื่องรูปยักษ์ ซุ้มเสมา เป็นการเล็กน้อย[22]

รัชกาลที่ 7

[แก้]

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นวาระกรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุได้ 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 จึงได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นนายก คณะกรรมการได้ประมาณเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเป็นจำนวน 600,000 บาท และกำหนดวิธีหาทุนดำเนินการด้วยการเปิดเรี่ยไรรับเงินบริจาคจากประชาชนทั่ววไปมาสมทบทุน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 200,000 บาท รัฐบาลออกเงินส่วนหนึ่ง 200,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือประชาชนได้บริจาคเข้ามา[23]

มีการบูรณปฏิสังขร์พระอุโบสถ ซุ้มเสมาและกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ศาลารายรอบพระอุโบสถ 12 หลัง พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทพระเทพบิดร พนมหมาก ซุ้มประตู และกำแพงแก้วรอบฐานไพที พระวิหารยอด หอพระมณเฑียรธรรม หอพระนาก หอพระราชกรมานุสร หอพระราชพงศานุสร หอพระคันธารราษฎร์ หอระฆัง พระระเบียง พลับพลาเกย 3 หลัง พระอัษฎามหาเจดีย์ สำหรับเก๋งบอกพระปริยัติธรรมในกำแพงแก้วพระอัษฎามหาเจดีย์ซึ่งสร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ในชั้นแรกมีรายการว่าจะทรงปฏิสังขรณ์ด้วย แต่เนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้รื้อออก ทั้งกำแพงแก้วล้อมพระอัษฎามหาเจดีย์ และยังได้รื้อศาลาเล็ก 2 หลัง ข้างพระวิหารยอดออกด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์พระอารามแล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงได้จัดงานพระราชพิธีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475[24]

รัชกาลที่ 8

[แก้]
จิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีเพียงการปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม แต่ที่เป็นการสำคัญ คือ การซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง อันเกิดจากในรัชกาลก่อน มีการเจาะอิฐก่อเชิงผนังของเดิมออก แล้วหล่อเฟโรคอนกรีตประกอบเป็นเชิงผนังโดยรอบ เพื่อป้องกันมิให้น้ำซึมขึ้นไปยังผนังตอนบนได้ แต่กระนั้นความชื้นของผนังก็ยังชำรุดร่อนหลุดมาได้ โดยซ่อมแซมระหว่าง พ.ศ. 2482 จนถึงสิ้นรัชกาล[25]

รัชกาลที่ 9

[แก้]

การบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเสด็จเสวยราชสมบัติ ระยะที่สอง คือ การปฏิสังขรณ์ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

การบูรณะในระยะแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงต่อจากในรัชกาลก่อน เป็นระยะ ๆ ถึง พ.ศ. 2509 สำนักพระราชวังซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการบำรุงรักษาพระอารามสนองพระบรมราชโองการได้เล็งเห็นว่าการบูรณะซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงทีละเล็กทีละน้อยที่ดำเนินการอยู่นั้นมิทันแก่การ จำเป็นต้องบูรณะปฏิสังขรณ์พระระเบียงและเขียน่อมภาพจิตรกรรมที่พระระเบียงทุกด้านพร้อมกันเป็นการใหญ่ ต่อมามีการแต่งตั้ง คณะกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเลขาธิการพระราชวัง นายกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ โดยมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระระเบียงที่เครื่องบนและผนังชำรุดแตกร้าว แก้ไขป้องกันความชื้นผนังและเสริมความมั่นคงของพระระเบียง โดยปรับโครงสร้างหลังคาให้ตรงระดับ[26]

ส่วนการซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนัง ได้พยายามรักษาภาพของเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่กระทำได้ จะลบภาพเดิมเขียนใหม่หรือแก้ไขภาพเดิมก็เมื่อภาพนั้นไม่มีคุณค่าในทางศิลปะเพียงพอ หรือภาพนั้นไม่ถูกลักษณะตามเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ หรือสีกายสีมงกุฎผิด เป็นต้น และยังเสริมความมั่นคงแก่ชั้นสี เพื่อยึดเหนี่ยวกับผนังหรือที่กำลังหลุดร่อน โป่งออก ไม่แนบแน่นกับผนัง การสรรหาช่างที่มีฝีมือเขียนซ่อมภาพในชั้นแรก ได้เชิญช่างเขียนที่เคยเขียนซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงมีครวปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชกาลที่ 7 ที่ยังมีชีวิตอยู่ 15 คน และได้ทดสอบฝีมือช่างเขียนรุ่นใหม่ โดยคัดเลือกมาได้อีก 21 คน โดยได้ดำเนินซ่อมภาพจิตรกรรมเสร็จทันการฉลองเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยเรียบร้อย[27] ดังความว่า

กรมศิลปากร ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการ และเหล่าช่างนายด้านทำการได้ลงมือ ปฏิสังขรณ์ตามโครงการ แต่เดือน ๙ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๓๓๙ ตรงกับพุทธศักราช ๒๕๒๐ สืบมาจนถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ จุลศักราช ๑๓๔๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๕๒๕ ประมวลเวลาที่เหล่าช่างและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ทำการมาด้วยความวิริยะอุตสาหะยิ่ง เป็นเวลาถึงกว่า ๔ ปี สิ้นเงิน ๓๕๐ ล้านบาท การแล้วเสร็จทุกสิ่งสรรพ สมดังพระราชประสงค์ทุกประการ

[28]

รัชกาลที่ 10

[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณะในชั้นต้นบางจุดสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562[29]

ผัง

[แก้]

วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการสถาปนาขึ้นภายในเขตพระบรมมหาราชวังเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชกุศลต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ พิธีการต่าง ๆ ของพระบรมมหาราชวังรวมถึงพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ ตำแหน่งของวัดจึงต้องอยู่ส่วนพระราชฐานชั้นนอกที่สามารถให้ราษฎรเข้ามานมัสการพระแก้วมรกตได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงส่วนประทับของพระมหากษัตริย์ได้[30]

การกำหนดทิศทางการหันทางเข้าด้านหน้าและตัวอาคารต่าง ๆ ยึดหลักตามหลักขนบธรรมเนียมประเพณีจึงหันทางหน้าวัดรับทิศตะวันออกและมีถนนสนามไชยเป็นถนนทางเข้าด้านหน้าวัดและยังถือหลักการวางตำแหน่งประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร โดยพระพุทธรูปหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สัมพันธ์กับเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนก่อนและตรัสรู้เป็นพระอรหันต์[31] อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าพระแก้วมรกตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองปกป้องรักษากรุงเทพมหานครให้พ้นจากผีร้ายภัยคุกคามจากภายนอก โดยหันพระพักตร์ทางทิศตะวันออกตรงกับประตูผี[32]

ทัศนียภาพวัดพระศรีรัตนศาสดารามจากท้องสนามหลวง
แผนผังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  1. พระอุโบสถ
  2. หอพระราชกรมานุสรณ์
  3. พระโพธิธาตุพิมาน
  4. หอพระราชพงศานุสรณ์
  5. ศาลารายรอบพระอุโบสถ
  6. เจ้าแม่กวนอิม
  7. พระฤๅษีชีวกโกมารภัจจ์
  8. ฐานไพที
  9. ปราสาทพระเทพบิดร
  10. พระมณฑป
  11. พระศรีรัตนเจดีย์
  12. พระสุวรรณเจดีย์
  13. บนพระบุษบกองค์ตะวันตกเฉียงเหนือ
  14. บนพระบุษบกองค์ตะวันตกเฉียงใต้
  15. บนพระบุษบกองค์ตะวันออกเฉียงใต้
  16. บนพระบุษบกองค์ตะวันออกเฉียงเหนือ
  17. พระเจดีย์ทรงเครื่อง
  18. นครวัดจำลอง
  19. รูปปั้นสัตว์หิมพานต์
  20. ประตูทิศใต้
  21. ประตูทิศตะวันตก
  22. วิหารยอด
  23. หอพระคันธารราษฎร์
  24. พระมณฑปยอดปรางค์
  1. หอระฆัง
  2. หอพระนาก
  3. หอมณเฑียรธรรม
  4. พระอัษฎามหาเจดีย์
  5. พระระเบียง
  6. ประตูเกยเสด็จ (หน้า)
  7. ประตูหน้าวัว
  8. ประตูศรีรัตนศาสดาราม
  9. ประตูพระฤๅษี
  10. ประตูเกยเสด็จ (หลัง)
  11. ประตูสนามไชย
  12. ประตูวิหารยอด
ยักษ์ทวารบาล
  1. สุริยาภพ
  2. อินทรชิต
  3. มังกรกัณฐ์
  4. วิรุฬหก
  5. ทศคีรีธร
  6. ทศคีรีวัน
  7. จักรวรรดิ
  8. อัศกรรณมารา
  9. ทศกัณฐ์
  10. สหัสเดชะ
  11. มัยราพณ์
  12. วิรุญจำบัง

อาคารต่าง ๆ แบ่งตามกลุ่ม

[แก้]

กลุ่มพระอุโบสถ

[แก้]

พระอุโบสถ

[แก้]
พระอุโบสถเเละศาลาราย
หน้าบันพระอุโบสถ
ฐานปัทม์ประดับครุฑยุดนาคหล่อด้วยโลหะปิดทอง

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ส่วนใต้ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม 8 ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327[33]

พระอุโบสถมีขนาด 15 ห้อง มีทางขึ้นพระอุโบสถ 6 ทาง ราวบันไดก่ออิฐฉาบปูนตอนปลายทำเป็นเสาเม็ดทรงมัณฑ์ และระดับพื้นพระอุโบสถมีบันไดทางขึ้นมุขทิศตะวันออกและตะวันตกด้านละ 3 ทาง บันไดกลางตรงกับพระทวารใหญ่เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินโดยเฉพาะ ส่วนบันไดอีก 2 ข้าง สำหรับประชาชนทั่วไป บริเวณพื้นเฉลียงสองข้างบันไดตั้งสิงห์สำริด ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปะแบบขอม มีทั้งสิ้น 6 คู่ ตัวพระอุโบสถมีระเบียงเดินได้โดยรอบ มีหลังคาเป็นพาไลคลุม รับด้วยเสานางรายปิดทองประดับกระจกทั้งต้น พนักระเบียงรับเสานางราย ทำเป็นลูกฟักประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีแบบจีน ตัวพระอุโบสถมีฐานปัทม์รองรับ ประดับครุฑยุดนาคหล่อด้วยโลหะปิดทอง จำนวน 112 ตน[34] มีเสารายเทียนหล่อด้วยทองแดงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน[35]

หลังคาพระอุโบสถลด 4 ระดับ 3 ซ้อน มีช่อฟ้า 3 ชั้น ปิดทองประดับกระจก มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ โดยมีลายกระหนกเครือเถาปิดทองเป็นลายก้านขด ปลายลายเป็นรูปเทพนมประดับอยู่โดยรอบ

ผนังพระอุโบสถ ในรัชกาลที่ 1 เขียนลายรดน้ำบนพื้นชาดแดง ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ปิดทองประดับกระจก เพื่อให้เข้ากับผนังมณฑป ปิดทองประดับกระจก ฝาผนัง รอบนอกเป็นลายรดน้ำปิดทองรูปกระหนกเครือแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกในบนพื้นสีชาด ฝาผนังด้านในเหนือประตูด้านสกัดเป็นภาพเรื่องมารวิชัยและเรื่องไตรภูมิ ส่วนฝาผนังด้านยาวเขียนภาพเทพชุมนุมตามแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ฝาผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเรื่องปฐมสมโพธิ พระทวารกลาง เป็นพระทวารใหญ่สูง 8 ศอกคืบ กว้าง 4 ศอกคืบ ตัวบานเป็นบานประดับมุกลายช่องกลม ส่วนพระทวารข้างเป็นทวารรองสูง 7 ศอก กว้าง 3 ศอก 1 คืบ 10 นิ้ว ตัวบานเป็นบานประดับมุกกลายเต็ม ซึ่งบานพระทวารทั้ง 2 แห่งนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานความเห็นว่า "เป็นฝีมือที่น่าชมยิ่ง ตั้งใจทำแข่งกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอด"

ผนังด้านในโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยสีฝุ่นผสมกาว เหนือกรอบประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถ เขียนภาพปฐมสมโพธิ แสดงภาพพระพุทธประวัติของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ผนังหุ้มกลองด้านหน้า ปรากฏภาพมารผจญ ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม และทรงชนะพญามาร ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผนังทางด้านทิศเหนือตั้งต้นจากด้านหน้า เป็นเรื่องต่อเนื่อง จากตอนตรัสรู้ เรื่อยมาจนถึงเสด็จปรินิพพาน และการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ผนังหุ้มกลองด้านหลัง เป็นภาพไตรภูมิ โดยเขียนเฉพาะเรื่องกามภพหรือกามาวจรภูมิ ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพทศชาติชาดก ขอบล่างหน้าต่างตอนล่างด้านทิศเหนือเป็นภาพกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ด้านทิศใต้เป็นภาพกระบวนพยุหยาตราชลมารค เหนือกรอบประตูหน้าต่างประดับภาพจิตรกรรมพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เขียนบนแผ่นกระจกใส่กรอบไม้ฉลุลายปิดทอง ประดับไว้กลุ่มละ 3 ภาพ รวมทั้งสิ้น 72 ภาพ[36]

พระพุทธรูปสำคัญภายในพระอุโบสถ

[แก้]

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนับแต่ พ.ศ. 2327[37] เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนตอนต้น ทำจากหินหยกสีเขียวเข้มทึบแสง ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก 43 เซนติเมตร สูง 55 เซนติเมตร[38]

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างอุทิศให้กับรัชกาลที่ 1 และ 2 ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร สูง 3 เมตร ทรงเครื่องต้นพระจักรพรรดิราช เป็นพระพุทธรูปสำริดหุ้มทองคำลงยาราชาวดี เครื่องต้นประดับเนาวรัตน์[39]

พระสัมพุทธพรรณี รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างใน พ.ศ. 2373 ตามอย่างพุทธลักษณะที่พระองค์ทรงสอบสวนได้ สร้างจากกะไหล่ทองคำ ปางสมาธิหน้าตักกว้าง 49 เซนติเมตร สูงถึงพระรัศมี 67.5 เซนติเมตร มีการเปลี่ยนพระรัศมีเป็นสีต่าง ๆ ตามฤดูกาล พร้อมกับการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต[40]

พระแก้ววังหน้า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ 58 เซนติเมตร สูงรวมฐาน 83 เซนติเมตร ทำจากหินสีหม่น ประดิษฐานหน้าฐานชุกชีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร[41]

ปูชนียวัตถุที่สำคัญภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  1. พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
  2. พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
  3. พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
  4. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  5. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
  6. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
  7. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
  8. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระศรีสุลาลัย
  9. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
  10. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (อยู่ด้านหลัง)
  11. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (อยู่ด้านหลัง)
  12. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ (อยู่ด้านหลัง)
  13. พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ (อยู่ด้านหลัง)
  14. พระแก้ววังหน้า
  15. พระสัมพุทธพรรณี
  16. ธรรมาสน์ศิลา

ศาลาราย

[แก้]

ศาลารายสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นศาลาโถงไม่มีฝา ตั้งอยู่รายรอบพระอุโบสถ ศาลารายทั้ง 12 หลังนี้มีลักษณะเหมือนกันทั้งรูปร่าง ขนาดและความสูง ลักษณะเป็นศาลาโถงขนาด 2 ห้อง หลังคาทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี หน้าบันเป็นรูปเทพนมปิดทองบนพื้นกระจกสีขาว ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้ง พื้นทำเป็น 2 ระดับ ปูด้วยหินอ่อน ใช้สำหรับนักเรียนสวดโอ้เอ้ในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[36]

หอพระราชกรมานุสรณ์และหอพระราชพงศานุสรณ์

[แก้]

หอพระราชกรมานุสรณ์และหอพระราชพงศานุสรณ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว ด้านหลังพระอุโบสถทางทิศเหนือ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลต่าง ๆ ในสมัยอยุธยาหอหนึ่ง และในสมัยรัตนโกสินทร์อีกหอหนึ่ง

ลักษณะหอพระราชกรมานุสรณ์เป็นอาคารทรงไทยขนาดย่อม กว้าง 4.5 เมตร ยาว 8 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้สัก หลักคาทำเป็น 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ปั้นลมเป็นแบบนาคสะดุ้ง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักประดับกระจกสี หน้าบันแกะสลักเป็นรูปพานประดิษฐานพระมหามงกุฎอยู่ท่ามกลางลายกระหนก ทั้งหน้าบันและกระจังฐานพระลงรักปิดทองร่องลายประดับกระจกสี เชิงชายประดับกระจกสี คันทวยรับเต้าปีกนกโดยรอบ มีซุ้มหน้าต่าง 7 ซุ้ม ซุ้มประตู 1 ซุ้ม ลักษณะแบบซุ้มเรือนแก้วแบบไทย ตกแต่งซุ้มด้วยลายปูนปั้นแบบไทยผสมฝรั่ง ภายในเขียนภาพพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นฝีมือของขรัวอินโข่ง[42]

ลักษณะหอพระราชพงศานุสรณ์มีขนาดอาคารและรูปลักษณ์เท่ากับหอพระราชกรมานุสรณ์ ภายในมีภาพจิตรกรรมของขรัวอินโข่งเป็นภาพพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ และประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ในการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จะตั้งเครื่องสักการบูชาพระพุทธรูปในหอพระราชพงศานุสรณ์เป็นพิเศษอีกแห่งหนึ่ง[43]

พระโพธิธาตุพิมาน

[แก้]

พระโพธิธาตุพิมานเป็นที่ประดิษฐานของพระปรางค์โบราณ ซึ่งทรงอัญเชิญมาจากเมืองเหนือขณะผนวช ภายในพระปรางค์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและบรรจุพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา ลักษณะเป็นบุษบกยอดทรงมงกุฎประดับกระเบื้อง ยอดเป็นทรงมงกุฎกลม ประดับลวดลายเป็นลายดอกไม้และใบไม้ด้วยกระเบื้องถ้วยเคลือบ ยอดบุษบกเนื้อเม็ดน้ำค้างเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ทำด้วยโลหะปิดทอง[44]

หอระฆัง

[แก้]

หอระฆังตั้งอยู่ข้างกำแพงแก้วด้านข้างพระอุโบสถด้านทิศใต้ มีลักษณะเป็นบุษบกตั้งอยู่บนฐานทักษิณแบบปรางค์ ย่อมุมไม้สิบสอง ประดับกระเบื้องเคลือบสี ต่อจากฐานปรางค์เป็นอาคารย่อเหลี่ยมประดับกระเบื้องถ้วย ภายในอาคารมีบันไดขึ้นสู่บุษบกอันประดิษฐานระฆัง องค์บุษบกประดับด้วยลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก เพดานปิดทองฉลุลาย ในปัจจุบันไม่ได้มีการย่ำระฆังนี้แล้ว[45]

หนังสือ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในการฉลองพระนครครบรอบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 ระบุว่า ระฆังขุดพบคราวทรงปฏิสังขรณ์วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร บ้างก็ว่ามาจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อย่างไรก็ดีในกลอนเพลงยาวของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ระบุว่า ระฆังหล่อมาได้นาน 17 ปี ดังความว่า

ถึงจะทุ่มหนักเบาก็บันดาล ส่งกังวานเสนาะลั่นไม่พลิกแพลง
แต่แรกหล่อมาก็นานจนปานนี้ สิบเจ็ดปีที่เป็นนิตย์ไม่ผิดกระแสง

จึงสันนิษฐานว่า เป็นระฆังใหม่ซึ่งคงไม่ได้เอามาจากวัดสระเกศหรือวัดระฆัง[46]

หอพระคันธารราษฎร์และมณฑปพระเจดีย์โบราณ

[แก้]

หอพระคันธารราษฎร์ตั้งอยู่ที่มุมพระระเบียงด้านตะวันออกเฉียงใต้ หน้าพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศเหนือ ตัวอาคารเป็นหอขนาดย่อมก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานทักษิณด้านหน้ามณฑปพระเจดีย์โบราณ อาคารเป็นทรงจัตุรมุขยอดปรางค์แบบรัตนโกสินทร์ ทางเข้าด้านหน้าทำเป็นมุขลด 3 ชั้น ตัวอาคารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีพื้นเรียบ 2 สี สลับกัน หน้าบันทุกด้านมีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ เป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องถ้วยชามเป็นลวดลายเครือเถาดอกพุตตน ส่วนยอดอาคารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีและกระเบื้องถ้วย ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกับซุ้มหน้าบันมุข บานประตูหน้าต่างแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ภายในหอพระคันธาราษฎร์เป็นภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระราชพิธีพรุณศาสตร์และพืชมงคล[47]

มณฑปพระเจดีย์โบราณตั้งอยู่มุมพระระเบียงด้านตะวันออกเฉียงใต้ หน้าพระอุโบสถ หลังหอพระคันธารราษฎร์ มีลักษณะเป็นมณฑปยอดปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ผนังและยอดประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสลับสี ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นตรงกับหอพระคันธารราษฎร์ กำแพงพนักฐานทักษิณเป็นกำแพงมีลูกกรงเป็นลูกมะหวดเคลือบ ตัวมณฑปเจาะโปร่งเป็นซุ้มโค้งวงหยักทั้ง 4 ด้าน มีพนักลูกกรงที่ตอนล่างของซุ้มทุกซุ้ม ยกเว้นซุ้มที่เป็นทางขึ้น ภายในมณฑปประดิษฐานพระเจดีย์โลหะโบราณ[48]

รูปภาพสิ่งก่อสร้างในกลุ่มพระอุโบสถ

[แก้]

กลุ่มฐานไพที

[แก้]

พระศรีรัตนเจดีย์

[แก้]
พระศรีรัตนเจดีย์

พระศรีรัตนเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านทิศตะวันตก เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามแบบพระมหาเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ทรงได้มาจากลังกา ลักษณะของพระศรีรัตนเจดีย์ คือ มีฐานเขียงซ้อนกันหลายชั้นถัดมาเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายหนึ่งฐาน ส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชั้นลูกแก้วขนาดใหญ่วางซ้อนกัน 3 ชั้น เรียกว่า "มาลัยเถา" องค์ระฆังเป็นทรงระฆังกลมคว่ำแบบลังกาถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัลลังก์อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ที่ก้านฉัตรมีเสาหานซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงระฆังในสมัยอยุธยา เหนือบัลลังก์ขึ้นเป็นมีบัวฝาละมี ปล้องไฉนเเละปลี ปลายยอดสุดของเจดีย์ประดับเม็ดน้ำค้าง มีมุขทางเข้า 4 ด้าน[49] ต่อมาในคราวฉลองพระนครครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เสริมพอกแก้รูปทรงพระศรีรัตนเจดีย์ และประดับกระเบื้องทองภายนอกทั้งองค์[36] ภายในองค์พระเจดีย์เป็นห้องโถงกลม ผนังโบกปูนทาสีขาวสอบไปตามความสูงของพระเจดีย์ ตรงกลางห้อยฉัตรสีขาวตรงกับพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตรงกลางห้องประดิษฐานพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ฐานล่างเป็นรูปแปดเหลี่ยมมีมุขสี่มุข ฐานบนเป็นฐานบัวหงาย องค์เจดีย์มีลักษณะเหมือนกับพระศรีรัตนเจดีย์ทุกประการ ยกเว้นแต่เป็นเจดีย์ลงรักสีดำทั้งองค์[50]

พระมณฑป

[แก้]
พระมณฑป

พระมณฑปสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตรงตำแหน่งที่ตั้งของหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิมที่ถูกเพลิงไหม้เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกใบลานฉบับทองใหญ่[51] โดยสร้างขึ้นตามคติเขาพระสุเมรุ ส่วนยอดมณฑป 7 ชั้นซ้อน[52]

บันไดทั้ง 4 ด้าน ตกแต่งด้วยพลสิงห์รูปนาคจำแลง คือ นาคที่มีหน้าเป็นมนุษย์สวมมงกุฎ ตัวนาคปั้นปูนปิดทองประดับกระจก หัวนาคทั้ง 5 หัวและหางนาคเป็นโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปลายพลสิงห์ บันไดก่อเป็นฐานบัวประดับหินอ่อนตั้งประติมากรรมรูปยักษ์ถือกระบอง หน้ากระดานฐานปัทม์ตอนล่างประดับด้วยหิน ต่อจากนั้นเป็นกระจังและกระหนกเท้าสิงห์ประดับด้วยกระจกสี หลังกระจังเป็นครุฑพนมและอสูรทรงเครื่องนั่งพนมมือสลับกัน เหนือขึ้นไปมีเทพนมทรงเครื่องหล่อด้วยทองแดงปิดทอง ซึ่งสร้างตามคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุเช่นเดียวกัน

ซุ้มพระทวารเป็นซุ้มยอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจก บานแผละเขียนลายกำมะลอมีพื้นสีม่วงลายทองเป็นรูปเซี่ยวกางถือหอกและตรียืนเหยียบหลังสิงโต บานพระทวารด้านนอกเป็นบานประดับมุก มีแม่ลายเป็นกระหนกก้านขดนกคาบ ตรงกลางเป็นราชสีห์ บานพระทวารนี้มีภาพจับเป็นลายประดับมุกที่สำคัญอยู่ในกรอบวงกลม 8 ดวง ด้วยกันทั้ง 2 บาน ผนังด้านในเป็นลายรดน้ำปิดทองทรงข้าวบิณฑ์ บนพื้นสีชาด พื้นพระมณฑปปูด้วยเสื่อเงินสานเต็มทั้งห้องถึงฐานตู้ที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก ตรงกลางห้องประดิษฐานตู้พระไตรปิฎกประดับมุกทรงมณฑปใหญ่ บรรจุพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์[50]

บริเวณฐานพระมณฑปทั้ง 4 มุม ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลามุมละ 1 องค์ พระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิพระหัตถ์ทำมุทราต่าง ๆ กัน มีพุทธลักษณะตามคติมหายาน มีประภามณฑลรูปเสมาขอบ สลักลายบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระพุทธรูปศิลาเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาจากชวา เมื่อครั้งเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2439[53]

ปราสาทพระเทพบิดร

[แก้]
ปราสาทพระเทพบิดร

ปราสาทพระเทพบิดรตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านทิศตะวันออก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระพุทธปรางค์ปราสาท เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2425 พร้อมกับงานฉลองพระนครครบ 100 ปี แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วทรงเห็นว่ามีขนาดไม่เพียงพอกับพระราชพิธีต่าง ๆ จึงมิได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐาน แต่โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองที่เคยตั้งเป็นประธานในพระพุทธมณเฑียรมาประดิษฐานแทน

ต่อมาเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 ทำให้ครื่องบนหลังคารวมทั้งพระเจดีย์กาไหล่ทองถูกเพลิงไหม้และหลอมไปด้วย ขณะเพลิงไหม้ได้ถอดบานพระทวารและพระบัญชรประดับมุกออกทั้งหมด ต่อมาได้มีการซ่อมแซมหลังคาและส่วนที่เสียหาย ส่วนบานพระทวารและพระบัญชรประดับมุก โปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดับที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[54] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์จนสำเร็จบริบูรณ์แล้วได้ตกแต่งภายใน และแก้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง 5 พระองค์ และให้แปลงนามเรียกว่า "ปราสาทพระเทพบิดร"[55]

ปราสาทพระเทพบิดรเป็นอาคารจัตุรมุขทรงไทย ยกยอดปราสาทเป็นทรงปรางค์ ประดับนพศูลรูปพระมหามงกุฎอยู่บนยอดปรางค์ หน้าบันมุขด้านทิศตะวันออกและมุขลด ประดิษฐานพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 4 หน้าบันมุขด้านทิศเหนือเป็นรูปอุณาโลม พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 มุขด้านทิศใต้เป็นรูปครุฑยุดนาค พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 2 มุขด้านทิศตะวันตกเป็นรูปพระวิมาน พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 3

ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มยอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระจก บานแผละทั้ง 2 ข้างปั้นปูนปิดทองเป็นลายพระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1–5 เพดานของซุ้มเป็นลายดวงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวง มีดารานพรัตน์เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยดาราจักรี ดาราจุลจอมเกล้า ดาราช้างเผือก และดารามงกุฎไทยบนพื้นกระจกสีขาว ภายในปราสาทพระเทพบิดรเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระราชวงศ์จักรี เพดานเหนือพระบรมรูปแขวนพระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น[50]

พระสุวรรณเจดีย์

[แก้]

พระสุวรรณเจดีย์มี 2 องค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นอุทิศถวายสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และพระราชมารดา มีขนาดและความสูงเท่ากัน เป็นพระเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมไม้ยี่สิบหุ้มด้วยแผ่นทองแดงหรือที่เรียกว่าทองจังโก แล้วลงรักปิดทองทับอีกชั้นหนึ่ง ฐานของพระเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยมบุด้วยหินอ่อน เหนือฐานแปดเหลี่ยม ตั้งประติมากรรมรูปยักษ์แบกและลิงแบกด้านละ 3 ตน และทุกย่อมุมอีกมุมละ 2 ตน รวมทั้งหมด 20 ตน เฉพาะตัวกลางทั้ง 4 ด้านที่ไม่สวมรองเท้าเป็นลิง นอกจากนั้นเป็นยักษ์หมด แต่ละตนมีใบหน้า เครื่องแต่งตัวและสีของกายเป็นไปตามลักษณะในเรื่องรามเกียรติ์[50]

พนมหมาก

[แก้]

พนมหมากสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา พนมหมากเป็นเครื่องตกแต่งฐานไพทีตรงส่วนย่อมุมด้านทิศตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งสิ้น 18 พุ่ม ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมประดับด้วยหินอ่อน พนมหมากสร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน ประดับกระเบื้องถ้วย ลักษณะคล้ายกรวยใบตอง ตั้งบนพานแว่นฟ้าย่อมุมไม้สิบสอง 2 ชั้น[36]

พระเจดีย์ทรงเครื่อง

[แก้]

พระเจดีย์ทรงเครื่อง 4 องค์ มีลักษณะเป็นพระเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานสิงห์ 3 ชั้น ฉาบปูนทาสีขาว มีฐานบัวหงายรอบรับองค์พระเจดีย์ซึ่งปิดทองประดับกระจก ตอนบนเป็นบัวกลุ่ม 7 ชั้น เหนือบัวกลุ่มเป็นปลีมีลูกแก้วคั่นถึงเม็ดน้ำค้างประดับกระจก[36]

นครวัดจำลอง

[แก้]

นครวัดจำลองตั้งอยู่บนฐานไพทีทางด้านเหนือตรงข้ามกับพระมณฑป เพื่อจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของมหัศจรรย์[56] ทำด้วยศิลาทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระสามภพพ่ายออกไปถ่ายแบบปราสาทที่นครวัดและจำลองขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[57] แต่ไม่เสร็จสิ้นในรัชกาล สร้างแล้วเสร็จในคราวฉลองสมโภชพระนคร ครบ 100 ปี นครวัดจำลองได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525[58]

พระบุษบก

[แก้]

ตั้งอยู่รอบพระมณฑปทั้ง 4 มุม เป็นบุษบกสร้างด้วยโลหะลงรักปิดทองประดับกระจก รอบบุษบกประดับด้วยฉัตร 7 ชั้น และ 5 ชั้น และรูปช้างยืนแท่นหล่อด้วยโลหะรมดำ ภายในประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์และพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า โดยด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ด้านตะวันตกเฉียงใต้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 4 ด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 5[59] และในการปฏิสังขรณ์ใหญ่เนื่องในการพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้สร้างบุษบกพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 9 เพิ่มขึ้น โดยประดิษฐานไว้ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

รูปสัตว์หิมพานต์

[แก้]

ปรากฏหลักฐานการสร้างรูปสัตว์หิมพานต์ชนิดแรก คือ สิงห์ 12 ตัว ซึ่งปัจจุบันย้ายไปตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ และนาคที่พลสิงห์บันไดชั้นทักษิณเดิม 6 คู่ ซึ่งบัดนี้เป็นพลสิงห์บันไดปราสาทพระเทพบิดร สัตว์หิมพานต์เท่าที่ตั้งประดับบนลานทักษิณในปัจจุบันมี เทพปักษี เทพนรสิงห์ อัปสรสีห์ กินนร อสุรปักษี สิงหาพานรและอสุรวายุภักษ์ อย่างละคู่ รูปสัตว์หิมพานต์เหล่านี้หล่อโลหะปิดทองประดับกระจก ยืนบนแท่นหินอ่อนสีเทาเข้ม[60]

รูปภาพสิ่งก่อสร้างบนฐานไพที

[แก้]

กลุ่มอาคารประกอบ

[แก้]

กลุ่มอาคารและสิ่งประดับอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มอาคารทั้งสองกลุ่ม ประกอบด้วย หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

พระอัษฎามหาเจดีย์

[แก้]
พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือ พระปรางค์ 8 องค์ ตั้งเรียงรายกันทางทิศตะว้นออกด้านหน้าวัด
พระอัษฎามหาเจดีย์

พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือ พระปรางค์ 8 องค์ ตั้งเรียงกันทางทิศตะว้นออกด้านหน้าวัด พระปรางค์ 8 องค์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 9.40 เมตร

พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่นอน ภายนอกพระระเบียง 6 องค์ ภายในพระระเบียง 2 องค์ พระอัษฎามหาเจดีย์เป็นชื่อที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อฉลองพระนครครบ 200 ปี มีมติให้เรียกชื่อรวมเป็นทางการตามชื่อที่ปรากฏในการบูรณปฏิสังขรณ์สมัย รัชกาลที่ 3 ของพระศรีภูริปรีชาวัตถุประสงค์ในการสร้างพระมหาเจดีย์เหล่านี้ก็เพื่ออุทิศ เป็นพระพุทธเจดีย์องค์หนึ่ง พระธรรมเจดีย์องค์หนึ่ง พระปัจเจกเจดีย์องค์หนึ่ง พระสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระภิกขุนีสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระชาฎกโพธิสัตว์องค์หนึ่ง พระสงฆเจดีย์องค์หนึ่ง และพระยาจักรเจดีย์องค์หนึ่ง

ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ประดับกระเบื้องเคลือบสีที่พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 เป็นการซ่อมส่วนที่ชำรุดเสียหายแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างแต่ประการใด

พระปรางค์ 8 องค์ มีชื่อเรียกเรียงตามลำดับนับจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ ดังนี้[61]

  • ปรางค์องค์สีขาว ชื่อ พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  • ปรางค์สีขาบหรือสีฟ้าหม่น ชิ่อ พระสัทธรรมปริยัติวรมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระธรรม
  • ปรางค์สีชมพู ชื่อ พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระอริยสงฆ์
  • ปรางค์สีเขียว ชื่อ พระอริยสาวิกาภิกษุสังฆมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระภิกษุณี
  • ปรางค์สีเทา ชื่อ พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอดีตชาติ
  • ปรางค์สีฟ้าอมเทา ชื่อ พระบรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์
  • ปรางค์สีแดง ชื่อ พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระโพธิสัตว์
  • ปรางค์สีเหลือง ชื่อ พระศรีอริยเมตตะมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอนาคต


หอพระนาก

[แก้]
หอพระนาก

หอพระนากเป็นอาคารทรงไทย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีขนาด 7 ห้อง ทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทำเป็นชาลากว้าง ประตูทางเข้ามีประตูเดียว เป็นซุ้มทรงมณฑปที่เน้นความสำคัญของทางเข้า แต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระนาก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อและแผลงด้วยนาก อัญเชิญมาจากพระนครศรีอยุธยา และใช้เป็นที่เก็บอัฐิเจ้านายฝ่ายในตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา และถือพระนากเป็นพระประธาน ในการพิธีเปรตพลีหรือการอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบูรณะซ่อมแซม แล้วประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ หลายองค์ ส่วนพระอัฐิเจ้านายนั้นเก็บอยู่ในตู้ผนังข้างหลังพระวิหาร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำพระโกศทรงพระอัฐิในหอพระนากทั้งหมด ส่วนพระพุทธรูปทั้งหมดที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระนากโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระวิหารยอด แต่ยังคงเรียกว่าหอนี้ว่า หอพระนากตามเดิม[36]

พระวิหารยอด

[แก้]
พระวิหารยอด

พระวิหารยอด แต่เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระเชษฐบิดร หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วิหารขาว สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งแต่เดิมเป็นเทวรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1[62] ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อลง เนื่องจากทรุดโทรมมาก แล้วโปรดฯ ให้สร้างใหม่เป็นวิหารมีหลังคายอดทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เรียกว่า พระเศวตรเวชยันตะพิมานวิหารยอด บ้าง พระบวรมหาเศวตกุฎาคารวิหารยอด บ้าง และยังได้ย้ายพระนากจากหอพระนาก มาประดิษฐานภายในพระวิหารแห่งนี้[50]

เมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในโอกาสฉลองสมโภชพระนครครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารยอด โดยซ่อมแซมหลังคาและยอดมงกุฎประดับกระเบื้องถ้วยขึ้นใหม่ ซ่อมซุ้มประตูและบานหน้าต่างภายนอกและภายในพร้อมทั้งประดับพระปรมาภิไธยย่อ "จปร." ภายใต้พระเกี้ยวยอดบนยอดโค้งแหลมของซุ้มโค้งรอบพระวิหาร มีประตูทางเข้าทางเดียวคือทางทิศเหนือ เป็นซุ้มยอดทรงมงกุฎ ประดับกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกับซุ้มหน้าต่าง บานประตูประดับมุกลายช่องกลม ฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้นำมาจากวิหารพระนอนวัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง บานประตูด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเซี่ยวกาง ซึ่งแต่งตัวแบบไทย[36]

หอพระมณเฑียรธรรม

[แก้]
หอพระมณเฑียรธรรม

หอพระมณเฑียรธรรมตั้งอยู่หอพระมณเฑียรธรรม สร้างขึ้นหลังจากที่หอพระมณเฑียรธรรมเดิมซึ่งอยู่กลางสระน้ำถูกเพลิงไหม้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่ เมื่อสร้างเสร็จโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ที่เหลือจากพระมณฑป พระไตรปิฎกฉบับครูเดิม และฉบับอื่น ๆ

หอพระมณเฑียรธรรมเป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเฉลียงรอบ หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันประดับกระจกสีขาวหน้าบันเป็นไม้ จำหลักลาย ตอนบนเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ ตอนล่างเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ล้อมรอบด้วยกระหนกก้านขดปลายลายเป็นเทพนม ส่วนที่แผงแรคอสองมีเทพนม 5 องค์ ผนังด้านทิศตะวันตกมีซุ้มประตู 3 ซุ้ม โดยมีซุ้มใหญ่ทรงมณฑปอยู่กลาง บานประตูประดับมุกเป็นลายพระพรหมทรงหงส์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระนารายณ์ทรงครุฑ ประกอบลายกระหนกก้านขด ปลายลายเป็นสัตว์หิมพานต์ ซุ้มประตูเล็กสองข้างเป็นซุ้มทรงบันแถลงทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นหน้าต่างในซุ้มทรงบันแถลงเช่นเดียวกัน[50]

ภายในมีตู้ประดับมุกเรียงรายอยู่ 2 แถว รวมทั้งหมด 9 ตู้ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตอนบนเหนือหน้าต่างเป็นรูปเทพชุมนุมบนพื้นสีดำสลับกับสีแดง ส่วนที่ชิดฝ้าเพดานเป็นรูปฤๅษีถือดอกบัว ถัดลงมาเป็นรูปเทวดาและนางฟ้าสลับกันเป็นคู่ ๆ คั่นด้วยตาลปัตร ระหว่างหน้าต่างตอนบนเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดาประนมมือ ตอนล่างเป็นรูปพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ต่าง ๆ เพดานประดับด้วยดาวเพดานปิดทองประดับกระจกมีดวงใหญ่อยู่กลาง มีดวงเล็ก 8 ดวงเป็นบริวาร[36]

พระระเบียง

[แก้]
พระระเบียงเเละจิตรกรรมรามเกียรติ์

พระระเบียงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือการสร้างเพิ่มเติมในแต่ละสมัย พระระเบียงสร้างแบบโอบล้อมทุกอาคารเพื่อให้แยกจากเขตพระราชฐานของพระบรมมหาราชวัง (ยกเว้นพระปรางค์ 6 องค์ทางทิศตะวันออก) มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่รอบพระระเบียง บางสมัยเขียนซ่อมแซม บางสมัยเขียนทับของเดิม สำหรับภาพรามเกียรติ์มีทั้งหมด 178 ภาพ เริ่มตั้งแต่ประตูทิศเหนือ เวียนไปถึงทิศตะวันตก นอกจากนั้นยังปรากฏภาพพระนารายณ์ปางต่าง ๆ และตัวละครสำคัญในรามเกียรติ์ ด้านล่างของภาพปรากฏชื่อและโคลงที่ข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ร่วมนิพนธ์ทุกภาพ[63]

ยักษ์ 6 คู่

[แก้]

รูปยักษ์ 6 คู่ หรือ 12 ตน อยู่ภายในวงพระระเบียง โดยตั้งอยู่สองข้างประตูทางเข้าประตูละ 1 คู่ ประตูด้านทิศตะวันออก 2 คู่ คือ รูปสุริยาภพและอินทรชิต อยู่ริมประตูพระระเบียงตรงบันไดขึ้นฐานไพที รูปมังกรกัณฐ์และวิรุฬหก อยู่ริมประตูพระระเบียงด้านหน้าพระอุโบสถ ประตูด้านทิศตะวันตก 3 คู่ เรียงจากเหนือไปใต้ คือ รูปวิรุณจำบังและไมยราพณ์ อยู่ริมประตูที่เข้ามาจากสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม รูปทศกัณฐ์และสหัสเดชะ อยู่ริมประตูที่เข้ามาจากพลับพลาเปลื้องเครื่องข้างศาลาสหทัยสมาคม รูปจักรวรรดิและอัศกรรณมาราสูร อยู่ริมประตูพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ ประตูด้านทิศใต้ ใกล้มุมพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ ซึ่งเป็นประตูผ่านเข้าไปสู่บริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง มี 1 คู่ คือ ทศคีรีธรและทศคีรีวัน[64]

ยักษ์ทวารบาล 6 คู่นี้ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 จำนวน 4 คู่ และสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 5 อีก 2 คู่ ยักษ์ทวารบาลทั้งหมดได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ. 2525[65]

พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

[แก้]
พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นโรงกษาปณ์ใช้ผลิตเงินตราเพื่อใช้ในประเทศ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสำนักงานพระคลังข้างที่ ดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ พ.ศ. 2439[66] เป็นอาคารรูปแบบตะวันตก

ในปี พ.ศ. 2525 ในวาระการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาๆ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณะจึงขอพระราชทานอาคารโรงกษาปณ์มาเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้[67] ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง เช่น ปืนใหญ่ที่ตั้งแสดงไว้ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ตุ๊กตาจีนที่ตั้งไว้หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ฉากลายรดน้ำ รูปพระราชพิธีอินทราภิเษก พระแท่นมนังคศิลาบาตรที่นำมาจากสุโขทัย พระแท่นที่ประทับของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งรัชกาลที่ 4 ชะลอมาไว้ที่อาณาจักรรัตนโกสินทร์

พระราชพิธี

[แก้]

ในหนึ่งปีมีพระราชพิธีมากมายที่กระทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระราชพิธีประจำที่มีหมายกำหนดการแน่นอน เริ่มจากเดือนมกราคมมีพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมมีพระราชพิธีกุศลมาฆบูชาและพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน เดือนเมษายนมีวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์และพระราชพิธีสงกรานต์ เดือนพฤษภาคมมีพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา เดือนกรกฎาคมมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน พระราชพิธีอุปสมบทนาคหลวง พิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา เดือนพฤศจิกายนมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว และเดือนธันวาคมมีพระราชพิธีวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นอกจากนี้ยังมีพระราชพิธีซึ่งไม่มีหมายกำหนดแน่นอน ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระราชลัญจกร ประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การตั้งสมณศักดิ์และสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชพิธีสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธสิหิงค์ และพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล เป็นต้น[68]

การท่องเที่ยว

[แก้]

การท่องเที่ยววัดพระศรีรัตนศาสดารามรวมถึงพระบรมมหาราชวัง เริ่มเกิดขึ้นราว พ.ศ. 2463 ในช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยแผนกโฆษณาการกรมรถไฟหลวงเป็นเจ้าหน้าที่นำนักท่องเที่ยวเข้าชมสถานที่ อันเนื่องจากนักท่องเที่ยวเดินทางมาโดยรถไฟ ซึ่งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ขออนุญาตกระทรวงวัง โดยยังไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม จน พ.ศ. 2501 สำนักพระราชวังได้กําหนดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันจันทร์และวันพฤหัสบดี แต่เนื่องจากสถานที่อยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซม จึงกำหนดให้นักท่องเที่ยวถ่ายได้เฉพาะอาคารที่ไม่ได้อยู่ในระหว่างการซ่อมแซม ส่วนพระอุโบสถห้ามถ่ายภาพ นอกจากได้รับพระบรมราชานุญาต เพราะถือว่าเป็นสถานที่ควรเคารพ จึงควรมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการถ่ายภาพ[69]

ต่อมากรมโฆษณาการเลิกหน้าที่นำนักท่องเที่ยว โดยนับแต่ พ.ศ. 2502 สำนักพระราชวังรับหน้าที่ได้มารับหน้าที่นี้แทน[70] นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2520 เปิดให้เข้าชมทุกวัน สถิตินักท่องเที่ยวเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เริ่มบันทึกตั้งแต่ พ.ศ. 2526 ในปีนั้นมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 94,759 คน อีก 30 ปีถัดมาคือ พ.ศ. 2556 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 4,671,567 คน[71]

อ้างอิง

[แก้]
  1. การศึกษาพัฒนาการการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, 271.
  2. รณกร เจริญศรี. "การจัดการการท่องเที่ยวในพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 7.
  3. โชติ กัลยาณมิตร, ทฤษฎีการกำหนดองค์ประกอบในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย (กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท., ม.ป.ป.), 59.
  4. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 10.
  5. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 13.
  6. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 20.
  7. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 33.
  8. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 34.
  9. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 35.
  10. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 37.
  11. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 41.
  12. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 43.
  13. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 47.
  14. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 49.
  15. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 50.
  16. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 53.
  17. "รัชกาลที่ 5 ทรงเร่งสร้าง "วัดพระแก้ว" ให้เสร็จทันฉลองกรุง 100 ปี". ศิลปวัฒนธรรม.
  18. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 61.
  19. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 69.
  20. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 90.
  21. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 91.
  22. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 93.
  23. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 94.
  24. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 103.
  25. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 128.
  26. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 130.
  27. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 133.
  28. "การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-01. สืบค้นเมื่อ 2021-08-01.
  29. "บูรณะวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก". โพสต์ทูเดย์.
  30. การศึกษาพัฒนาการการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, 272.
  31. การศึกษาพัฒนาการการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, 274.
  32. "พระแก้วมรกต พบที่เชียงราย ฝีมือช่างล้านนา ไม่มาจากอินเดีย". มติชน.
  33. "พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  34. ศรัณย์ ทองปาน. "ดาวดึงส์ ณ วัดพระแก้ว – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 88". สารคดี.
  35. "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี.
  36. 36.0 36.1 36.2 36.3 36.4 36.5 36.6 36.7 ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. "การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  37. พระสุชาติ วชิรปญฺโญ (นาอุดม). "ศึกษาวิเคราะห์พระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. pp. ก.[ลิงก์เสีย]
  38. "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)". ศูนย์ข้อมูลกลางด้านศาสนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-19. สืบค้นเมื่อ 2023-11-19.
  39. "พระพุทธรูปฉลองพระองค์". คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-11. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
  40. เผ่าทอง ทองเจือ. "มงคลการบูชาพระพุทธสัมพรรณี". ไทยรัฐ.
  41. ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. "การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 84.
  42. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 247.
  43. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 256.
  44. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 250.
  45. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 259.
  46. ส.พลายน้อย. "เถียงไปเถียงมา! "ระฆัง" วัดพระแก้ว เอามาจากไหนกันแน่?". ศิลปวัฒนธรรม.
  47. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 263.
  48. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 265.
  49. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 99.
  50. 50.0 50.1 50.2 50.3 50.4 50.5 ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. "การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  51. "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว". สำนักพระราชวัง.
  52. โชติ กัลยาณมิตร, ทฤษฎีการกำหนดองค์ประกอบในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย (กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท., ม.ป.ป.), 328.
  53. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 190.
  54. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง, 276.
  55. เสมียนอัคนี. ""ปราสาทพระเทพบิดร" ที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช". ศิลปวัฒนธรรม.
  56. "ตามรอย 10 สุดยอดงานศิลป์ที่ซ่อนตัวอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม". เดอะคลาวด์.
  57. สถาปัตยกรรม นครวัดจำลอง
  58. ส.สต. "นครวัดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ในวัดพระแก้ว". โพสต์ทูเดย์.
  59. "สถาปัตยกรรม". พระบรมมหาราชวัง.
  60. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 174.
  61. "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร.
  62. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง, 268
  63. ""อินทรชิตดูดนมนางมณโฑ" และภาพกาก เกร็ดน่ารู้ในวัดพระแก้ว ที่ไม่ได้มีแค่พระแก้วมรกต". ศิลปวัฒนธรรม.
  64. จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 272.
  65. "ยักษ์วัดพระแก้ว". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  66. "สมบัติของชาติล้ำค่าน่าชม! พิพิธภัณฑ์พระแสงปืนโบราณ ในพระบรมมหาราชวัง!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  67. "พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". มิวเซียมไทยแลนด์.
  68. ศิริพร บัวพันธุ์ชั้น. "ความหมายและการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมกรณีศึกษา : วัดพระแก้ว" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 114.
  69. ชิวห์ บุญนาค. (2525). เรื่องวัดพระศรีรัตนศาสดารามกับเรื่องพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร. กรุงเทพฯ: กิตติวรรณ ปิ่นเกล้า
  70. สํานักพระราชวัง. (2531). ประวัติสํานักพระราชวัง. กรุงเทพฯ: กิตติวรรณ ปิ่นเกล้า.
  71. รณกร เจริญศรี. "การจัดการการท่องเที่ยวในพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 74.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • กรมศิลปากร, จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525. (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น จำกัด, 2525),
  • สำนักราชเลขาธิการ, สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2531).
  • สรรพศิริ, ชาญวิทย์. การศึกษาพัฒนาการการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

พิกัดแผนที่

[แก้]

13°45′05″N 100°29′33″E / 13.751391°N 100.492519°E / 13.751391; 100.492519